สายน้ำผิ้ง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

สายน้ำผึ้ง งานวิจัยและสรรพคุณ 35 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร สายน้ำผึ้ง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เหยิ่นตงเถิง, จินหยิงฮวา, จินหยิงฮัง, ซวงฮัง (จีนกลาง), หยิ่มตังติ่ง, กิมงิ่งฮวย (จีนแต้จิ๋ว)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Lonicera japonica Thunb.
ชื่อสามัญ Honeysuckle, Japanese Honeysuckle, Chinese Honeysuckle, Woodbine
วงศ์ Caprifoliaceae 

ถิ่นกำเนิดสายน้ำผึ้ง

ต้นสายน้ำผึ้งเป็นพืชจากต่างประเทศโดย มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในเขตอบอุ่นของทวีปเอเชียตะวันออก เช่นใน ญี่ปุ่น และจีน ดังนั้นจึงมีชื่อภาษาอังกฤษ ว่า Japanese Honey suckle และ Chinese Honey suckle สำหรับในประเทศไทยสันนิษฐานว่ามีผู้นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยเมื่อไม่เกิน 100 ปีมานี้เอง ชื่อสายน้ำผึ้ง ที่เรียกก็ภาษาไทยคงมาจาก ชื่อ ภาษาอังกฤษที่มีคำว่า Honey นั่นเอง ในปัจจุบันสามารถพบได้ประปรายในประเทศไทยส่วนมากมักพบขึ้นมากทางป่าแถบภูเขาทางภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้

ประโยชน์และสรรพคุณสายน้ำผึ้ง

  • ใช้เป็นยาขับพิษร้อนถอนพิษไข้
  • แก้อาการร้อนใน
  • แก้กระหายน้ำ
  • รักษาไข้หวัดใหญ่
  • รักษามีไข้ตัวร้อน ครั่นเนื้อครั่นตัว
  • รักษาโรคผิวหนัง
  • แก้ลำไส้อักเสบ
  • แก้ท้องเสีย
  • แก้พิษงูสวัด
  • ช่วยทำให้เจริญอาหาร
  • เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อปอดและหัวใจ
  • ช่วยทะลวงลมปราณ
  • แก้บิด
  • แก้ถ่ายเป็นเลือด
  • แก้ปวดเมื่อยตามข้อ
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • ช่วยลดไข้
  • แก้ไข้หวัด
  • ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
  • แก้แผลฝีต่างๆ
  • รักษาเหงือกอักเสบ
  • รักษาปากนกกระจอก
  • แก้เจ็บคอ
  • แก้เมา
  • แก้ท้องร่วง
  • รักษาโรคลำไส้
  • รักษาโรคกระเพาะอาหาร
  • มีฤทธิ์ผ่อนคลาย
  • ช่วยกระจายความร้อน
  • ช่วยขับพิษ
  • รักษาแผลเปื่อย บวม
  • แก้สตรีที่มีอาการตกเลือด
  • แก้อาเจียนเป็นเลือด
  • รักษาเลือดกำเดาไหล
  • แก้ปากมดลูกอักเสบเป็นหนอง

           ต้นสายน้ำผึ้ง ถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องดื่ม และขนมหวานต่างๆ ยังถูกนำมาใช้เป็นน้ำหอม มีการใช้เป็นหัวน้ำมันในอุตสาหกรรมน้ำหอม หรือ ใช้ในทางสุคนธบำบัด (Aromatherapy) ส่วนชาวตะวันตก เชื่อว่ากลิ่นของสายน้ำผึ้ง สามารถทำให้จิตใจร่าเริงเบิกบาน คลายความโศกเศร้า และความกลัวได้ ทำให้รู้สึกเป็นสุข อบอุ่น และปลอดภัย เชื่อว่าสายน้ำผึ้งเหมาะกับผู้ป่วยทางจิต เพราะกลิ่นของสายน้ำผึ้งช่วยปลอบประโลมจิตใจ ทำให้ปล่อยวางความเครียด หรือ ความวิตกกังวลที่คั่งค้างในใจ และหันมามีความสุขกับชีวิตในปัจจุบันได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป หรือ ปลูกให้ขึ้นพันกับต้นไม้ หรือ รั้วบ้านเพื่อเพิ่มความสวยงามให้กับรั้วบ้าน เพราะเป็นพันธุ์ไม้ที่ดอกมีกลิ่นหอม และสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปีอีกด้วย

สายน้ำผึ้ง

สายน้ำผึ้ง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ 

การนำสายน้ำผึ้ง เพื่อที่จะแก้อาการท้องเสีย, ท้องร่วง, โรคบิด ใช้เถาสด 100 กรัม สับเป็นท่อนเล็กๆ ใส่ลงในหม้อเคลือบ เติมน้ำลงไป 200 มิลลิลิตร แช่น้ำไว้ 12 ชั่วโมง แล้วต้มด้วยไฟอ่อนๆ 3 ชั่วโมง แล้วเติมน้ำให้ได้ 100 มิลลิลิตร กรองเอาน้ำรับประทานวันละ 1.6-2.4 มิลลิลิตร ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ให้เพิ่ม หรือ ลดขนาดของยาตามอาการ โดยทั่วไปเริ่มต้นให้รับประทาน 20 มิลลิลิตร ทุก 4 ชั่วโมง เมื่ออาการดีขึ้นให้รับประทานครั้งละ 20 มิลลิลิตร ทุก 6 ชั่วโมง หลังจากอาการท้องร่วงหายไปให้รับประทานต่ออีก 2 วัน แก้ลำไส้อักเสบ ท้องเสีย ใช้ดอกตูมแห้ง 10-30 กรัม ทำเป็นยาชง หรือ ต้มดื่มต่างน้ำชา แก้ฝีฝักบัว และแผลเปื่อย ใช้เถา หรือ ใบ หรือ ดอกแห้งจำนวนพอควร ดองเหล้ากิน ใช้เป็นยาแก้ไข้หวัด แก้คอแห้ง ให้ใช้ใบ หรือ เถา หรือ ดอกแห้ง 30 กรัม ถ้าเป็นสดให้ใช้ 90 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินบ่อยๆ แก้ปากมดลูกอักเสบเป็นหนอง ให้ใช้ดอกสายน้ำผึ้งแห้ง 1,000 กรัม นำมาบดให้เป็นผง แล้วนำไปแช่กับเหล้าขาว 40 ดีกรี ในปริมาณ 1,500 ซีซี โดยให้แช่ทิ้งไว้ 2 วัน จากนั้นให้กรองเอาแต่เหล้าประมาณ 400 ซีซี ใช้ทาบริเวณปากมดลูก โดยให้ทาติดต่อกันประมาณ 7-12 วัน รักษาแผลงูสวัด ให้ใช้ดอกสายน้ำผึ้ง 10 กรัม, ใบโด่ไม่รู้ล้ม 10 กรัม, ข้าวเย็นเหนือ 30 กรัม, และข้าวเย็นใต้ 30 กรัม (แบบแห้งทั้งหมด) นำมาต้มรวมกันในน้ำ 1 ลิตร จนเดือด ใช้ดื่มในขณะอุ่นครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น โดยให้ดื่มไปเรื่อย และอาการจะค่อยๆ ดีขึ้น และหายไปในที่สุด

           ส่วนขนาดที่ใช้รักษาโรคต่างๆ ตามสรรพคุณในตำราจีนที่กล่าวมาให้ใช้เถา หรือ ดอกแห้งในขนาด 6-15 กรัม นำมาต้มเอาแต่น้ำดื่ม แต่ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะเย็นพร่องของม้าม และกระเพาะอาหาร

           นอกจากนี้ในตำรับยาแก้ไข้หวัดของจีน อีกตำรับหนึ่งระบุให้ใช้ดอกสายน้ำผึ้ง 15 กรัม, โหล่วกิง 20 กรัม, เหลี่ยงเคี้ยว 15 กรัม, ใบไผ่เขียว 15 กรัม, เต่าซี่แห้ง 10 กรัม, เก็งสุ่ย 6 กรัม, หงู่ผั่งจี้ 5 กรัม, กิ๊กแก้ 5 กรัม, ใบสะระแหน่ 3 กรัม, และชะเอม 3 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำรับประทาน

ลักษณะทั่วไปของสายน้ำผึ้ง

ต้นสายน้ำผึ้ง จัดเป็นไม้เลื้อยยืนต้น หรือ ไม้เถาเลื้อยพันโดยมี ลำต้น เป็นเถาแข็งยาวราว 5-8 เมตร ลำต้นและ กิ่งอ่อนมีขนนุ่มปกคลุม กิ่งแก่เปลือกเป็นสีน้ำตาลเกลี้ยงมัน ใบ เป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ตามข้อของลำต้นก้านใบยาว 4-10 มิลลิเมตร ใบเป็นรูปไข่ขอบขนานโคนใบมน ปลายแหลม มีหางสั้น ขอบใบเรียบท้องใบสีอ่อน หน้าใบสีเขียวเข้มเรียบเป็นมัน แผ่นใบค่อนข้างหนาและแข็ง กว้างราว 2.5 ซม. ยาวราว 5 ซม. ดอก ออกตามปลายกิ่ง หรือ ซอกใบ ออกเป็นช่อๆ ช่อละประมาณ 15 ดอก ก้านช่อดอกสั้น โคนดอกของแต่ละดอกมีใบประดับ 1 คู่ กลีบดอกติดกันเป็นท่อยาวราว 5 ซม. ปลายดอกเป็นกลีบแยกออกจากกัน ด้านบนติดกันเป็น 4 กลีบ ด้านล่างแยกออกมา 1 กลีบ มีเกสรตัวผู้เป็นเส้นยื่นออกมากลางดอก 5 เส้น มีเกสรตัวเมีย 1 อัน กลีบดอกตูม และเมื่อเริ่มบานมีสีขาว จากนั้น 2-3 วัน เปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน และเหลืองเข้ม มีกลิ่นหอมเย็น และกลิ่นแรงขึ้นในเวลากลางคืน ผลเป็นผลสด ลักษณะเป็นรูปทรงกลม มีขนาดประมาณ 6-7 มิลลิเมตร ผิวผลเกลี้ยง เรียบเป็นมันเงา ผลเมื่อสุกจะเป็นสีดำ


การขยายพันธุ์สายน้ำผึ้ง 

สายน้ำผึ้ง สามารถขยายพันธุ์ได้โดย วิธีการเพาะเมล็ด การปักชำ และการตอนกิ่ง แต่วิธีที่ให้ผลดีที่สุดและเป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ วิธีการปักชำ ส่วนวิธีการปักชำก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการปักชำไม้เถาเลื้อยอื่นๆ เช่น เถาวัลย์เปรียง, ตำลึง , เถาเอ็นอ่อน เป็นต้น


องค์ประกอบทางเคมี

ผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสายน้ำผึ้ง พบว่าในส่วนต่างๆ พบสารดังนี้

  • ใบ มี lonicerin และ luteolin-7-rhamnoglucoside
  • ดอก มี luteolin, luteolin-7-glucoside, inositol, lonicerin และ saponin
  • ผล มี Cryptoxanthin
  • เถา มี lonicerin, loganin, syringin, luteolin-7-rhamnoglucoside, sweroside

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของสายน้ำผึ้ง
โครงสร้างสายน้ำผึ้ง

ที่มา : wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของสายน้ำผึ้ง

ฤทธิ์ต้านเบาหวาน การศึกษาฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของสายน้ำผึ้ง (Lonicera japonica Thunb.) ในหนูแรทที่ป้อนอาหารที่มีไขมันสูงและฉีดสาร streptozotocin เพื่อเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวาน จากนั้นป้อนสารสกัด 70% เอทานอลจากต้นสายน้ำผึ้ง ขนาด 100 มก./กก.น้ำหนักตัว เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าสารสกัดจากต้นสายน้ำผึ้งช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และปรับปรุงภาวะดื้ออินซูลินในหนูที่เป็นเบาหวาน นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มน้ำหนักตัว และความอยากอาหารที่ลดลงจากการเกิดเบาหวานให้กลับสู่ค่าปกติ และยังช่วยป้องกันความเสียหายต่อเบต้าเซลล์ของตับอ่อน โดยพบว่าสารสกัดจากต้นสายน้ำผึ้งมีผลเพิ่มการแสดงออกของ peroxisome proliferator-activated receptor gamma และ insulin receptor subunit-1 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเมตาบอลิสมของกลูโคสและการหลั่งอินซูลินในร่างกาย การศึกษานี้จึงสรุปได้ว่าสายน้ำผึ้งมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด โดยอาศัยการกระตุ้นทำงานของ peroxisome proliferator-activated receptor gamma เป็นกลไกสำคัญ

           ฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานิน การศึกษาแยกสาร sweroside จากต้นสายน้ำผึ้ง และทดสอบในเซลล์ melan-a พบว่า sweroside 300 ไมโครโมล มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเมลานิน โดยไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์ และมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์รวมทั้งโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์เม็ดสีเมลานิน ได้แก่ tyrosinase, tyrosinase-related protein-1 (TRP-1) และ TRP-2 ผ่านกลไกกระตุ้นกระบวนการ phosphorylation ของ Akt และ ERK โดยขึ้นอยู่กับขนาดของสาร นอกจากนี้จากการทดสอบในปลาม้าลาย (in vivo) พบว่า sweroside มีฤทธิ์ยับยั้งเม็ดสีและเอนไซม์ tyrosinase เช่นเดียวกัน จากผลการทดสอบจึงสรุปได้ว่าสาร sweroside ที่แยกได้จากต้นสายน้ำผึ้ง มีฤทธิ์ช่วยทำให้ผิวขาวขึ้นผ่านการควบคุมการแสดงออกของกระบวนการ phosphorylation ของ mitogen activated protein kinase และเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเมลานิน 

           นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัย ระบุว่า สารลูทีโอลิน (luteolin) ที่ได้จากดอกมีฤทธิ์ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ โดยทดลองกับลำไส้เล็กของกระต่ายนอกร่างกาย แต่มี ฤทธิ์อ่อนกว่าปาปาเวอรีน (papaverine) และมีฤทธิ์ขับปัสสาวะอย่างอ่อนด้วย และลูทีโอลินที่ความเข้มข้น 1 : 2,000 ทำให้ความแรงในการบีบตัว และอัตราการเต้นของหัวใจกบ ซึ่งทดลองนอกร่างกายลดลงเล็กน้อย รวมทั้ง ทำให้ปริมาณของเลือดที่ฉีดออกมาแต่ละครั้งลดลง แต่ถ้าใช้ความเข้มข้น 1 : 5,000 ทำให้ความแรงในการบีบตัว และอัตราการเต้นของหัวใจหนูตะเภา ที่ทดลองนอกร่างกายเพิ่มขึ้น

           น้ำที่ต้มได้จากดอกสายน้ำผึ้ง มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ Stepto coccus, Staphelo coccus, Bacillus inuza, เชื้อไทฟอยด์ในลำไส้ และเชื้อวัณโรคได้ ซึ่งจากการทดลองดังกล่าวยังพบว่า น้ำที่ใช้แช่ดอกสายน้ําผึ้งจะมีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อมากกว่าน้ำที่ต้มกับดอกสายน้ำผึ้ง และสาร Luteolin ที่ความเข้มข้น 1 : 350,000 สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ Bacillus subtilis และ Staphylococcus spp. ได้


การศึกษาทางพิษวิทยาของสายน้ำผึ้ง

มีผลการศึกษาวิจัยพบว่าสารสกัดไม่ระบุส่วนที่ใช้ (parts used) ของสายน้ำผึ้ง ไม่มีความเป็นพิษเฉียบพลันหลังจากป้อนสารสกัด 5000 มก/กก. ให้หนูขาวแล้วปรากฏว่าหนูขาวไม่ตาย แต่พบว่าสารสกัดสายน้ำผึ้ง มีผลก่อกลายพันธุ์ 


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้สมุนไพรสายน้ำผึ้ง ก็มีข้อควรระวังเช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ คือ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเกินกว่าที่ระบุไว้ในตำรับยา หรือ ตำรายาต่างๆ และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว ส่วนในตำรายาจีนได้มีข้อห้ามใช้สมุนไพรสายน้ำผึ้ง ในผู้ที่มีภาวะเย็นพร่อง (หยางพร่อง) ของม้าม และกระเพาะอาหาร

เอกสารอ้างอิง สายน้ำผึ้ง
  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “สายน้ำผึ้ง”. หน้า 554.
  2. ฤทธิ์ต้านเบาหวานของสายน้ำผึ้ง. ข่าวความเคลื่อนไหว.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “สายน้ำผึ้ง (Sai Nam Phueng)”. หน้า 299.
  4. ปิยะ เฉลิมกลิ่น. หอมกลิ่นดอกไม้เมืองไทย. บริษัท จิรวัฒน์ เอ็กซ์เพรส จำกัด. 2546 กรุงเทพฯ 336 หน้า (221)
  5. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “สายน้ำผึ้ง Japanese Honey-suckle”. หน้า 134.
  6. ฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานินของสายน้ำผึ้ง (Lonicera japonica). ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  7. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “สายน้ําผึ้ง”. หน้า 781-782.
  8. เดชา ศิริภัทร.สายน้ำผึ้ง.คอลัมน์ ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 346. กุมภาพันธ์. 2551
  9. สายน้ำผึ้ง. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plant_data/herbs2herbs_28_7.htm.
  10. ดอกสายน้ำผึ้ง.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.manidol.ac.th/user/reply.asp?id=5354