ข้าวฟ่าง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นและข้อมูลงานวิจัย

ข้าวฟ่าง งานวิจัยและสรรพคุณ 16 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ข้าวฟ่าง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ข้าวป้าง, ข้าวป้างนก, ข้าวป้างหาช้าง (ภาคเหนือ), ข้าวฟ่างสมุทรโคดม, จังหันมะพูด (ภาคกลาง), โมกโคดม (ภาคใต้), เกาเลี้ยง,ฮวงซู่ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Sorghum bicolor (L.) Moench 
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Sorghum vulgare Pers.
ชื่อสามัญ Milletgrass, Negro guinea grass
วงศ์ POACEAE-GRAMINEAE


ถิ่นกำเนิดข้าวฟ่าง

ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของข้าวฟ่างนั้น คือ เป็นเรื่องไม่ทราบแน่ชัด แต่เมื่อพิจารณาจากพันธุ์ป่ารวมถึงชนิดของข้าวฟ่าง แล้ว พอจะสันนิษฐานได้ว่าข้าวฟ่างน่าจะมีแหล่งกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะทางตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา ในพื้นที่ของประเทศเอธิโอเปีย โดยมีการสันนิษฐานว่าเริ่มมีการเพราะปลูกข้าวฟ่างในประเทศเอธิโอเปียเมื่อประมาณ 3000-4000 ปี และแพร่กระจายไปในทวีปต่างๆ ทางการค้าขาย และเดินเรือ สำหรับในประเทศไม่มีหลักฐานว่ามีการนำเข้ามาปลูกแต่เมื่อใดแต่มีรายงานว่าพันธุ์ข้าวฟ่างพันธุ์แรกที่นำเข้ามาในประเทศไทยมาจากประเทศอินเดียเป็นชนิด durra


ประโยชน์และสรรพคุณข้าวฟ่าง

  • ช่วยบำรุงร่างกาย
  • ให้พลังงาน
  • แก้บิด
  • ขับปัสสาวะ
  • แก้อหิวาตกโรค
  • ช่วยสมานลำไส้
  • ช่วยกระเพาะอาหาร
  • ใช้แก้ไอหอบ ระงับอาการหอบ
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้ปวดกระเพาะอาหาร
  • ช่วยสงบประสาท
  • แก้ตกเลือดหลังคลอด
  • แก้โรคประสาท ควบคุมอารมณ์ไม่อยู่
  • ช่วยเร่งคลอด
  • แก้เจ็บกระเพาะอาหาร (ปวดเจ็บบริเวณหน้าอก)
  • ช่วยห้ามเลือด

           มีการนำส่วนต่างๆ ของข้าวฟ่าง มาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ หลายด้านอาทิเช่น ใช้เมล็ดนำมาเป็นอาหารโดยสามารถนำมาต้ม คั่วทำเป็นโจ๊ก หรือ นำมาใช้ทำเป็นแป้งทำขนม หรือ อาหารต่างๆ และยังสามารถนำเมล็ดมาหมักกับเหล้าซึ่งจะได้เหล้าที่มีกลิ่นหอม หรือ อาจนำมาหมักทำเบียร์ และทำน้ำส้มสายชูก็ได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังสามารถนำเมล็ดมาทำเป็นอาหารสัตว์ก็ได้

ข้าวฟ่าง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

แก้ไอหอบ ใช้รากแห้ง 15 กรัม ตุ๋นน้ำตาลกรวดดื่ม แก้เจ็บกระเพาะอาหาร (ปวดเจ็บบริเวณหน้าอก) ใช้รากข้าวฟ่าง สดมาต้มน้ำดื่มตอนอุ่นๆ แก้โรคประสาท ควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ ใช้รากแห้ง 30 กรัม ร่วมกับเหล้าว่านน้ำเล็ก หญ้าปล้องจีน อย่างละ 15 กรัม ใบไผ่ขมจีน 5 ใบต้มน้ำดื่ม แก้เด็กระบบย่อยอาหารไม่ดี ใช้เมล็ดแห้ง 30 กรัม คั่วจนเหลืองผสมกับลูกพุทรา เอาเมล็ดออกคั่วจนเกรียมรวมบดเป็นผง เด็กอายุ 2 ขวบ กินครั้งละ 6 กรัม อายุ 3-5 ขวบ กินครั้งละ 10 กรัม วันละ 2 ครั้ง สตรีคลอดลูกยาก ใช้รากตากตากแห้ในที่ร่มเผาเป็นเถ้าแล้วบดเป็นผง กินครั้งละ 6 กรัม ผสมกับเหล้าดื่ม สตรีตกเลือด ตกเลือดหลังคลอดใช้รากสด 7 ต้น ผสมน้ำตาลทรายแดง 15 กรัม ต้มน้ำดื่ม ใช้เป็นยาบำรุงร่างกายโดยใช้เมล็ดแห้งประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มน้ำดื่ม ใช้รักษาโรคอหิวาตกโรค บิด ช่วยฝาดสมานลำไส้ และกระเพาะอาหาร ด้วยการใช้เมล็ดแห้งประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มน้ำดื่ม


ลักษณะทั่วไปของข้าวฟ่าง

ข้าวฟ่าง จัดเป็นพืชตระกูลหญ้า และยังจัดเป็นพืชปีเดียว ลำต้นทรงกระบอกแข็งตั้งตรง มีความสูงตั้งแต่ 0.5-5 เมตร บริเวณข้อต้นจะมีขนสั้นๆ สีน้ำตาลขึ้นปกคลุม และอาจมีการแตกกอ หรือ ไม่มีการแตกกอจากข้อที่โคนลำต้นนอกจากนี้ยังมีรากพิเศษที่เจริญจากข้อล่างสุดของลำต้นช่วยในการหยั่งลงพื้นดิน โดยรากหยั่งลึกลงดินได้ตั้งแต่ 90-180 ซม. และมีระบบรากแผ่กว้างได้ถึง 1.5 เมตร

           ใบ ออกเป็นใบเดี่ยว ออกแบบเรียงสลับคล้ายใบหอก ลักษณะของใบจะแคบเป็นเส้นกว้างประมาณ 2-15 ซม. และยาวประมาณ 30-20 ซม. โคนใบตั้งตรงปลายใบโค้งลง แหลมคมเส้นกลางใบแข็ง ขอบใบ และหลังใบจะมีขนสั้นๆ ปกคลุมแต่บริเวณท้องใบไม่มีขน และจะมีไขสีขาวนวลติดอยู่

            ดอก ออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงบริเวณปลายยอดโดยดอกจะออกแยกกระจายออกจากกัน ความยาวของช่อดอกขึ้นกับสายพันธุ์ ตั้งแต่ 4-25 ซม. ส่วนช่อดอกย่อยจะประกอบด้วยดอกสมบูรณ์เพศที่ไม่มีก้านดอกย่อยจำนวน 1 ดอก ส่วนดอกอื่นๆ เป็นดอกเพศผู้ หรือ ดอกที่เป็นหมันซึ่งมีก้านดอกย่อย

           เมล็ดข้าวฟ่างมีลักษณะกลม หรือ รี ขนาดเท่าเมล็ดพริกไทย ค่อนข้างแบนส่วนขนาด และสีแตกต่างกันไป ตามสายพันธุ์ มีตั้งแต่สีขาว สีขาวขุ่น สีเหลืองนวลไปจนถึงสีเหลือง สีชมพู สีแดง สีน้ำตาล สีน้ำตาลแดง

           ผลแก่จะมีเนื้อแข็ง ผิวภายนอกผลเป็นมัน ส่วนเมล็ดจะเป็นสีน้ำตาลอกเทา และมีแป้งมาก

ข้าวฟ่าง

ข้าวฟ่าง

การขยายพันธุ์ข้าวฟ่าง

ข้าวฟ่าง สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ดดังนี้

           การเตรียมดิน ควรไถดินให้ลึกประมาณ 13-16 เซนติเมตร เพื่อพลิกดินให้แตก และทำลายวัชพืช แล้วตากดินไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นจึงไถแปร หรือ ไถพรวนเพื่อย่อยให้ดินร่วน ส่วนการปลูกใช้วิธีการปลูกเป็นแถว โดยใช้วิธีหยอดเป็นหลุม หรือ ไถเปิดร่องให้ลึก 5-8 เซนติเมตร แล้วโรยเมล็ดให้ห่างกันได้ระยะแล้วจึงกลบซึ่งระยะปลูกที่แนะนำ คือ ระยะห่างระหว่างแถว 50-60 เซนติเมตร ระหว่างต้น 10 เซนติเมตร หรือ ระยะระหว่างแถว 60 เซนติเมตร ระหว่างหลุม 30 เซนติเมตร และควรหยอดเมล็ดพันธุ์ 3 ต้นต่อหลุม


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของเมล็ดข้าวฟ่าง ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น เปลือกผลมีสาร eriodictyol, pelaogonidin, Apigenin-6-glucoside เมล็ดมีสาร aspartic acid, lysine, glutamic acid, proline, lysolecithin, unsaponifiel matter; lactic acid, phytic acid ส่วนน้ำมันจากเมล็ดมีสาร linoleic acid stearic acid, palmitic acid อีกด้วย นอกจากนี้ใบต้นอ่อน และยอดอ่อนยังพบสารที่เป็นอันตรายต่อสัตว์ได้แก่ dhurrin, ydrocyanic acid, hordenine, cdaverind, putrescine เป็นต้น 

โครงสร้างข้าวฟ่าง

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของข้าวฟ่าง

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของข้าวฟ่างระบุเอาไว้ว่ามีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ในหลอดทดลองโดยได้มี การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิด HCT-116 และ HT-29 ของสารสกัด*จากพืชที่มีสารแอนโทไซยานินในปริมาณสูงจำนวน 11 ชนิด ได้แก่ (1) องุ่นแดง, (2) องุ่นม่วง, (3) มันม่วง, (4) แครอทม่วง, (5) ถั่วดำ, (6) ถั่วแขกม่วง, (7) ถั่วเลนทิลดำ, (8) ถั่วลิสงดำ, (9) ข้าวฟ่าง, (10) ข้าวดำ และ (10) ข้าวสาลีสีฟ้า พบว่าสารสกัดจากถั่วเลนทิลดำ, ข้าวฟ่าง, และองุ่นแดง มีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ HCT-116 และ HT-29 ได้ดี โดยความสามารถในการออกฤทธิ์มีความสัมพันธ์กับผลรวมของสารฟีนอลิกในพืช โดยสาร delphinidin-3-O-glucoside (เป็นสารในกลุ่มแอนโทไซยานิน) สามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ HT-29 ได้ดีมาก โดยค่าความเข้มข้นที่สามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งทั้ง 2 ชนิดได้ ร้อยละ 50 (IC50) ของสารสกัดจากถั่วเลนทิลดำ, ข้าวฟ่าง , และองุ่นแดง อยู่ในช่วง 0.9 – 2.0 มก./มล. (ยา oxaliplatin ซึ่งใช้ในการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่มีค่า IC50 ต่อเซลล์ HCT-116 และ HT-29 เท่ากับ 13.5±0.7 และ 18.4±2.3 มคก./มล. ตามลำดับ) กลไกการออกฤทธิ์ของสารสกัดดังกล่าว คือ ลดการแสดงออกของโปรตีนที่มีฤทธิ์ยับยั้งการตายของเซลล์แบบอะพอพโตซิส (anti-apoptotic proteins) ได้แก่ survivin, cIAP-2, XIAP และเหนี่ยวนำให้เกิดการตายของเซลล์แบบอะพอพโตซิส รวมทั้งขัดขวางกระบวนการแบ่งเซลล์ในระยะ G1 นอกจากนี้การทดสอบแบบ in silico ยังพบว่าสารแอนโทไซยานินมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ tyrosine kinase (เป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการอยู่รอดของเซลล์) โดยสาร cyanidin-3-O-glucoside สามารถจับกับ tyrosine kinase ทุกชนิดได้ดี โดยเฉพาะกับชนิด Abelson tyrosine-protein kinase 1; ABL1 นอกจากนี้ สาร cyanidin-3-O-glucoside และ delphinidin-3-O-glucoside ยังสามารถยับยั้งการทำงานของ epidermal growth factor receptor; EGFR (ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างหลอดเลือดที่มาหล่อเลี้ยงเซลล์) โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 0.10 และ 2.37 ไมโครโมลาร์ ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่า สารแอนโทไซยานินโดยเฉพาะ cyanidin-3-O-glucoside และ delphinidin-3-O-glucoside ซึ่งพบได้มากในพืชที่มีสีม่วงแดง มีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมีการศึกษาอีกฉบับหนึ่งได้ให้หนูที่มีไขมันในเลือดสูงรับประทานข้าวฟ่างหางกระรอก และข้าวฟ่างนกซึ่งหลังจากการศึกษาทดลองพบว่าการบริโภคข้าวฟ่างทั้ง 2 สายพันธุ์ ส่งผลให้ระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดลดลงอย่างเห็นได้ชัด จึงอาจลดโอกาสในการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือดให้น้อยลงไปด้วย มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ให้ผู้ป่วยที่มีความทนต่อน้ำตาลกลูโคสบกพร่องซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน รับประทานข้าวฟ่างหางกระรอกในปริมาณ 50 กรัมต่อวัน เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ผลปรากฏว่า การบริโภคข้าวฟ่าง ช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดลงได้


การศึกษาทางพิษวิทยาของข้าวฟ่าง

มีรายงานผลการศึกษาทางพิษวิทยาของต้นอ่อน และยอดอ่อนของข้าวฟ่างระบุว่า ต้นอ่อน ยอดอ่อน และผลสด มีสารไซยาโนเจเนติค กลัยโคไซด์ และมีมากสุดในต้นอ่อนอายุ 3 อาทิตย์ พออาทิตย์ที่ 7 ปริมาณก็จะลดลงเรื่อยๆ จนถึงระยะมีดอก สารนี้จะเหลือปริมาณน้อยมากข้าวฟ่าง ชนิดพันธุ์เบา อายุ 60 วัน ชนิดพันธุ์หนักอายุ 80 วัน


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สตรีมีครรภ์ห้ามทาน หรือ ใช้ข้าวฟ่างเป็นสมุนไพร เพราะมีฤทธิ์ยับยั้งกี่บีบรัดมดลูก และมีฤทธิ์เร่งคลอด นอกจากนี้การรับประทาน หรือ ใช้ข้าวฟ่างเป็นสมุนไพรควรระมัดระวังในการใช้เพราะเมล็ดมีเชื้อราจำพวก Rhizopus nigricans ซึ่งจะมีสารที่เป็นพิษ คือ สาร alfatoxin โดยหากเมื่อกินเข้าไปแล้ว อาจทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย กระหายน้ำ ปัสสาวะมาก เสียน้ำมาก และเป็นตะคริว
 

เอกสารอ้างอิง ข้าวฟ่าง
  1. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. ข้าวฟ่างสมุทรโคดม. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 120-124.
  2. ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ. ข้าวฟ่างสมุทรโคดม และขี้เหล็กเทศ. คอลัมน์อื่นๆ. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 24. เมษายน 2524.
  3. จินดา จันทร์อ่อนและจุฬี ทิพยรักษ์. 2525. ประวัติการปรับปรุงพันธุ์ข้างฟ่าง และธัญพืชเมล็ดเล็กในประเทศไทย. น.113-123. ในเอกสารวิชาการ เล่มที่ 8 ความก้าวหน้าของการปรับปรุงพืชของกรมวิชาการเกษตร. กรมวิชาการเกษตร. กรุงเทพฯ.
  4. กลไกการออกฤทธิ์ของสารแอนโทไซยานินในพืชสีม่วงในการยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงาข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. ข้าวฟ่าง พืชจิ๋ว สรรพคุณแจ๋ว. พบแพทย์ดอทคอม (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.pobpad.com
  6. Vanderlip. R.L. and H.E. Reeves. 1972. Growth stage of sorghum Sorghum bicolor L Moench. Agron.J. 64:13-16.