หูเสือ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
หูเสือ งานวิจัยและสรรพคุณ 35ข้อ
ชื่อสมุนไพร เนียมหูเสือ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ใบหูเสือ (ทั่วไป,ภาคกลาง),หอมด่วนหลวง,หอมด่วนหูเสือ (ภาคเหนือ),เนียมหูเสือ (ทั่วไป,ภาคอีสาน),ผักฮ่านใหญ่(ไทยใหญ่),โฮ่อิ๋มเช่าชี่ปอ, โฮว่ฮีเช่า,เนียมอีไหลหลึง(จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Plectranthus amboinicus (Lour.) Spreng.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Coleus aromaticus Benth., Coleus amboinicus Lour. Coleuscrassifolius Benth.,
ชื่อสามัญ Indian borage, French thyme, Country borage, Mexican mint, Spanish thyme, Oreille.
วงศ์ LAMIACEAE - LABIATAE
ถิ่นกำเนิดเนียมหูเสือ
หูเสือเป็นพืชพื้นถิ่นของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในแถบประเทศไทย พม่า ลาว กัมพูชา ฯลฯ แล้วมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก เช่น อินเดีย , จีน ตอนใต้ รวมถึง บางประเทศในทวีปแอฟริกา สำหรับในประเทศไทย สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศแต่พบได้มากในภาคเหนือ โดยมักจะพบขึ้นตามที่ชื้นแฉะทั่วไปหรือตามที่รกร้างต่างๆที่มีความชื้นสูง
ประโยชน์และสรรพคุณเนียมหูเสือ
- ต้นนำมาตำหรือบดใช้ซักผ้า หรือสระผมได้
- ใบสามารถนำไปทำเป็นยานัตถุ์ได้ เพราะมีกลิ่นหอม
- นำมาใส่ในยุ้งข้าวเพื่อไล่แมลงก็ได้
- ช่วยบำรุงร่างกาย
- แก้พิษฝีในหู
- แก้ปวดหู
- แก้หูน้ำหนวก
- ช่วยเจริญอาหาร
- แก้ไข้หวัดในเด็ก
- แก้โรคหืด
- บำรุงร่างกาย
- แก้ไอเรื้อรัง หืดหอบ
- แก้อาการปวด
- ลดไข้
- ช่วยรักษาอาการหวัดคัดจมูก
- รักษาหิด
- แก้ลมชักบางประเภท
- แก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ
- กินหลังคลอดขับน้ำคาวปลา
- ช่วยขับลม
- แก้ปวดท้อง
- อาหารไม่ย่อย
- แก้แมลง สัตว์ กัดต่อย
- รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
- รักษาอาการบวม
- แก้ปวดข้อ
- ใช้ขยี้ทาห้ามเลือด
- รักษาแผลเรื้อรัง
- ช่วยดับกลิ่นปาก
- แก้ปวดฟัน
- ป้องกันฟันผุ
- ใช้เป็นยาบำรุงเลือดลม
- บำรุงร่างกายขับน้ำนมหลังคลอด
- ช่วยย่อยอาหาร
- แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
หูเสือเป็นสมุนไพรที่คนไทยและคนจีนรับประทานเป็นอาหารมาอย่างยาวนาน เนื่องจากหูเสือมีกลิ่นหอมชวนให้รับประทาน โดยรับประทานเป็นผักสดแกล้มกับอาหาร เพื่อดับกลิ่นคาวและทำ ให้อาหารมีกลิ่นหอมหรือนำ ยังมีการนำใบของต้นหูเสือ มาใช้เป็นเครื่องเทศประกอบอาหารไทย ฝรั่ง โดยกลิ่นหอมของใบหูเสือจะมีกลิ่นคล้ายกับเครื่องเทศ "ออริกาโน" (Oregano) ที่ใช้โรยหน้าพิซซ่า ซึ่งสามารถนำมาใช้แทนออริกาโนได้
ลักษณะทั่วไปเนียมหูเสือ
หูเสือจัดเป็นไม้ล้มลุกมี อายุ 2-3 ปี สูงประมาณ 0.3-1 เมตร ลำต้นอวบน้ำ หักได้ง่าย ลำต้นและกิ่งค่อนข้างกลม ต้นอ่อนมีขนหนาแน่น เมื่อแก่ขนจะค่อยๆหลุดร่วงไป ใบ เป็นใบเดี่ยว สีเขียวอ่อน ออกตรงข้าม ใบรูปไข่กว้างค่อนข้างกลม หรือรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า ใบกว้าง 2.5-5 เซนติเมตร ยาว 3-8 เซนติเมตร ใบขยี้ดมมีกลิ่นหอมฉุน ปลายใบกลมมน โคนใบกลมหรือตัด ขอบใบจักเป็นคลื่นมนรอบๆใบ ใบหนา อวบน้ำ ผิวใบมีขนอ่อนนุ่มปกคลุมทั่วทั้งใบ แผ่นใบนูน เส้นใบลึก ก้านใบยาว 2-4.5 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อ ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร อยู่ตามปลายกิ่งหรือยอด ดอกย่อยติดหนาแน่นเป็นวงรอบแกนกลาง เป็นระยะๆ มีขน ช่อหนึ่งๆ มีดอกประมาณ 6-8 ดอก ทยอยบานทีละ 1-2 ดอก กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกสีม่วงขาว รูปเรือ ยาว 8-12 มิลลิเมตร โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว 3-4 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็น 2 กลีบ กลีบบนสั้น ตั้งตรง มีขน กลีบล่างยาว เว้า ก้านเกสรเพศผู้เชื่อมติดกันเป็นหลอด ตอนโคนล้อมก้านเกสรเพศเมียไว้ กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆัง ยาว 2-4 มิลลิเมตร มีขน และมีต่อม ปลายแยกเป็น 5 แฉก แฉกบนรูปไข่กว้าง ปลายแหลม แฉกข้างๆ รูปหอกแคบ แฉกล่างยาวกว่าแฉกอื่นเล็กน้อย ใบประดับรูปไข่กว้าง ยาว 3-4 เซนติเมตร ปลายแหลม ก้านสั้น ผล มีเปลือกแข็ง เล็ก กลมแป้น สีน้ำตาลอ่อน ผิวเรียบ กว้างประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 0.7 มิลลิเมตร
การขยายพันธุ์เนียมหูเสือ
หูเสือสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการปักชำยอด หรือต้นโดยเลือกกิ่งที่แข็งแรงแล้วนำมาตัดใบออกบางส่วน แต่อย่างตัดให้กิ่งโดนก้านใบเพราะจำทำให้ตาที่จะแตกยอดใหม่ถูกต้องไปด้วยจากนั้นจึงนำมาปักลงในดินที่เตรียมไว้ให้ลึกประมาณ 5-10 เซนติเมตร แล้วรดน้ำให้ชุ่มทุกๆวัน จากนั้น 1-2 สัปดาห์ จะเริ่มมีรากออกมาและแตกกิ่งก้านสาขาไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ หูเสือสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินอุดมสมบูรณ์ที่มีอินทรียวัตถุสูง แต่ก็สามารถขึ้นได้ทุกสภาพดินเป็นพืชที่ชอบความชื้นมาก และชอบแสงแดดปานกลาง
องค์ประกอบทางเคมี
สารสำคัญที่พบในใบของต้นหูเสือ เช่น น้ำมันหอมระเหย thymol, carvacrol, γ-terpinene, cyperene เป็นต้น
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของหูเสือ
ที่มา : Wikipedia
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใบสดคั้นเอาน้ำมาหยอดหู แก้ปวดหู แก้พิษฝีในหู แก้หูน้ำหนวก บำรุงเลือดลม ให้ใช้รากหูเสือนำมาต้มกับน้ำกิน แก้ปวดฟัน ป้องกันฟันผุ ด้วยการนำรากหูเสือมาแช่กับน้ำธรรมดา แล้วนำมากินและอมบ่อย ๆ ใบนำมาขยี้ดม จะช่วยแก้อาการคัดจมูกเนื่องจากหวัดได้ แก้อาการไอ ไอเรื้อรัง แก้เจ็บคอ คออักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ ระบุให้ใช้ใบสดประมาณ 4-5 ใบ นำมาฉีกเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำไปต้มกับน้ำ 1 ลิตร กินครั้งละครึ่งแก้ววันละ 3 เวลา ต้มดื่มเรื่อย ๆ หรือใช้ใบหูเสือสดประมาณ 4-5 ใบ นำมาสับกับหมูไม่ติดมันให้ละเอียด ใช้ต้มกินแบบแกงจืด ใส่เกลือป่น โดยให้กินทั้งน้ำและเนื้อ 2 มื้อ เช้าและเย็น ส่วนตำรับยาแก้ไอในเด็ก ระบุให้นำใบหูเสือมานวดกับเกลือ คั้นเอาน้ำใส่ช้อนทองเหลืองอุ่นให้เดือด แล้วนำมาให้เด็กกิน ช่วยขับลม แก้อาการปวดท้อง อาหารไม่ย่อยโดยใช้ยางจากใบใช้ผสมกับน้ำตาลกิน ใบนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ กินหลังคลอดจะช่วยขับน้ำคาวปลา แก้อาการท้องอืดในเด็กโดยนำต้นและใบนำมาขยี้ใช้ทาท้องเด็ก ใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ด้วยการนำใบหูเสือมาล้างให้สะอาด ตำแล้วนำมาโปะตรงที่เป็นแผล จะช่วยทำให้แผลไม่เปื่อย ไม่พอง และไม่ลุกลาม ใบนำมาคั้นเอาใช้เป็นยาทารักษาแผลเรื้อรัง แผลที่มีน้ำเหลือง น้ำหนอง หรือเป็นตุ่มพุพอง ใบนำมาขยี้ทารักษาหิด ไปใช้ภายนอกนำมาขยี้ทาหรือใช้เป็นยาพอกแก้แมงป่องต่อย ตะขาบกัด ช่วยรักษาอาการบวม โดยใช้ใบตำพอกแก้ปวดข้อ
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
ฤทธิ์กระตุ้นความอยากอาหาร ศึกษากระตุ้นความอยากอาหารของหูเสือ (Coleus aromaticus ) ในอาสาสมัครสุขภาพดีจำนวน 32 คน (เพศชาย 24 คน และ เพศหญิง 8 คน) แบ่งเป็น 4 กลุ่ม (กลุ่มละ 8 คน โดยในแต่ละกลุ่มให้มีอาสาสมัครเพศชาย 6 คน และอาสาสมัครเพศหญิง 2 คน) กลุ่มที่ 1 ให้เป็นกลุ่มควบคุม กลุ่มที่ 2 - 4 ให้ดื่มน้ำคั้นสดใบหูเสือความเข้มข้น 12, 18 และ 24% ตามลำดับ โดยให้ดื่มขนาด 170 มล. หลังจากนั้น 30 นาทีทำการเก็บตัวอย่างเลือดของอาสาสมัครเพื่อวิเคราะห์ค่าทางชีวเคมี และประเมินความอยากอาหารของอาสาสมัคร โดยใช้แบบสอบถาม visual analog scale ผลจากการทดลองพบว่า อาสาสมัครที่ดื่มน้ำคั้นสดใบหูเสือความเข้มข้น 12 และ 18% มีค่าระดับฮอร์โมน leptin ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมความอิ่มหรือทำให้ไม่อยากอาหารลดลง โดยกลุ่มที่ดื่มน้ำคั้นสดใบหูเสือที่ความเข้มข้น 12% ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม แต่ในกลุ่มที่ดื่มน้ำคั้นสดใบหูเสือเข้มข้น 24% ระดับฮอร์โมน leptin จะมีค่าเพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับผลการประเมินความรู้สึกอยากอาหารของอาสาสมัคร โดยพบว่า อาสาสมัครในกลุ่มที่ดื่มน้ำคั้นสดใบหูเสือความเข้มข้น 12 และ 18% จะมีความรู้สึกอยากอาหารเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม แต่ในกลุ่มที่ดื่มน้ำคั้นสดใบหูเสือความเข้มข้น 24% จะมีความอยากอาหารลดลง ผลจากการทดลองแสดงให้เห็นว่าการดื่มน้ำคั้นสดใบหูเสือมีฤทธิ์กระตุ้นความอยากอาหารได้ แต่การดื่มที่ความเข้มข้นสูงเกินไปก็จะทำให้ร่างกายรู้สึกอิ่ม และขนาดความเข้มข้นที่พอเหมาะสำหรับดื่มเพื่อกระตุ้นความอยากอาหารคือ 12% และยังมีรายงานผลการศึกษาวิจัยในต่างประเทศของต้นหูเสืออีกหลายเรื่อง เช่น น้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด ทั้งประเภท gram-positive และ gram-nagative และน้ำยาที่สกัดจากเนียมหูเสือสามารถยับยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ยั้บยั้งเชื้อราและยีสต์ ยับยั้งเอนไซม์ protease ที่เกิดจากเชื้อ HIV เป็นต้น
การศึกษาทางพิษวิทยา
ในการทดสอบความเป็นพิษ พบว่าน้ำยาสกัดจากจากต้นหูเสือ ทั้งต้นโดยใช้เอทานอล 50% เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักรในอัตราสูงกว่า 1 มก. ทำให้หนูตาย 50%(LD50) แสดงว่ามีความเป็นพิษมาก
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- สตรีมีครรภ์และสตรีที่ให้นมบุตรไม่ควรรับประทานต้นหูเสือรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปต่างๆ จากต้นหูเสือ
- ในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ต้นหูเสือเสมอเพราะอาจส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพได้
- ไม่ควรรับประทานส่วนต่างๆของต้นหูเสือทั้งรับประทานแบบสดๆหรือรูปแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆของต้นหูเสือในปริมาณที่มากและนานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง
- ราชันย์ ภู่มา และ สมราน สุดดี. (บรรณาธิการ). (2557). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557. กรุงเทพฯ: ส้านักงานหอพรรณไม้ ส้านักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืชกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.https://medthai.com/เนียมหูเสือ/
- หลากหลายสรรพคุณกับสมุนไพรไทย.คอลัมน์เก็บมาฝาก.หนังสือพิมพ์กสิกร.กรมวิชาการเกษตร.ปีที่85.ฉบับที่4.กรกฎาคม-สิงหาคม.2555 หน้า53-61
- ฤทธิ์กระตุ้นความอยากอาหารของเนียมหูเสือ(Coleus aromaticus).ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ใบหูเสือ.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.main.php?action=viewpage&pid=173
- หูเสือ.ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.phorgarden.com/main.php?action=viewpage&id=5439
- หูเสือ,ตะลิงปลิง.กลุ่มยารักษาตาคางทูม แก้ปวดหู.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_29_4.htm.
- มะแขว่นและเนียมหูเสือ.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.medplnt.mahidol.ac.th/user/repiy.asp?id=5558