Guaijaverin

Guaijaverin

ชื่อสามัญ Quercetin 3- arabinoside, Quercetin 3-O-b-L-arabinoside, 3-(α-L-Arabinopyranosyloxy) -3, 4, 5, 7-tetrahydroxyflavone

ประเภทและข้อแตกต่างของสาร Guaijaverin

สาร Guaijaverin (กัวจาเวริน) จัดเป็นสารประกอบของ Quercetin ชื่ออยู่ในกลุ่ม flavonoids ชนิดหนึ่งที่พบได้ในธรรมชาติ มีสูตรทางเคมี คือ C20 H18 O11 มีมวลโมเลกุล 434.353 g/mol โดยสารดังกล่าวมีฤทธิ์ชีวภาพที่สำคัญ จึงถูกนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สำหรับประเภทของสาร Quaijaverin นั้น จากการศึกษาวิจัยพบว่ามีเพียงชนิดเดียวเท่านั้น

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาของสาร Guaijaverin

สาร Quaijaverin จัดเป็นสารที่สามารถพบได้จากพืชธรรมชาติอีกชนิดหนึ่ง โดยสามารถพบได้ในส่วนใบของต้นฝรั่ง (Psidium guajava L.) ซึ่งเป็นพันธุ์พืชที่นิยมนำมาใช้รับประทาน เป็นผลไม้ในประเทศไทย นอกจากพบสารดังกล่าวแล้วในใบของฝรั่งยังพบสารอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ เช่น น้ำมันหอมระเหย ซึ่งประกอบด้วย Caryophyllene cineol นอกจากนี้ ยังมี Tannin, sesquiter penoids และ triterpenoid compounds และยังพบสารสำคัญ คือ quercetin, quercetin 3-O-b-D-glucoside (isoquercetin), quercetin 3-O-b-D-galactoside (hyperin), quercetin 3-O-b-L-rhamnoside (quercitrin) และ quercetin 3-O gentiobioside เป็นต้น

Guaijaverin

ปริมาณที่ควรได้รับสาร Guaijaverin

สำหรับปริมาณและขนาดการใช้ต่อวันของสาร guaijaverin ที่สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยนั้นในปัจจุบันพบว่ายังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์การใช้รวมถึง ขนาดและปริมาณการใช้สารดังกล่าว และในการใช้และการได้รับสาร guaijaverin นั้น ก็ยังเป็นการใช้และการได้รับในรูปแบบของสารผสมมากกว่าใช้เป็นสารเดี่ยวอีกทั้งการใช้ตั้งแต่ในอดีตก็เป็นการใช้ในรูปแบบสมุนไพร แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันได้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสาร guaijaverin ทั้งในสัตว์ทดลองและในมนุษย์ นอกจากนี้ยังได้มีการสกัดเอาสารดังกล่างรวมถึงสารอื่นๆ ที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาคล้ายคลึงกันจากใบฝรั่ง เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางยาแล้วในต่างประเทศ

ประโยชน์และโทษสาร Guaijaverin

ประโยชน์ของสาร guaijaverin ที่มีการศึกษาวิจัยและนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ ใช้รักษาอาการท้องเสีย ใช้รักษาโรคอุจจาระร่วง ใช้ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคอุจจาระร่วง สาเหตุของกลิ่นปาก สาเหตุของการอักเสบในช่องปากและใช้ลดการทำลาย DNA damage จากการใช้ยาบางชนิดรักษาโรคมะเร็ง เป็นต้น นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการสกัดเอาสาร Guaijaverin มาใช้ประโยชน์ในด้านผลิตภัณฑ์เสริมความงามและเครื่องสำอาง รวมถึงผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอื่นๆ ในต่างประเทศอีกด้วย

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องสาร Guaijaverin

มีรายงานการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสาร guaijaverin หลายฉบับดังนี้

           ฤทธิ์ลดการหดเกร็งของลำไส้ มีการศึกษาวิจัยพบว่าสาร quercetin และสารกลุ่ม quercetin glycosides ที่แยกได้จากใบฝรั่ง ได้แก่ quercetin 3 - O-α-L-arabinoside (guajavarin), quercetin 3 - O-β-D-glucoside (isoquercetin), quercetin 3- O-β-D-galactoside (hyperin), quercetin 3- O-β-L-rhamnoside (quercitrin) และ quercetin 3-O-gentiobioside  สามารถลดการหดเกร็งของลำไส้เล็กหนูตะเภา และลดความสามารถในการซึมผ่านผนังหลอดเลือดฝอยบริเวณท้อง ซึ่งมีผลช่วยรักษาอาการท้องเสียได้

           ฤทธิ์ลดการเคลื่อนไหวของลำไส้ มีการศึกษาวิจัยพบว่า สาร quercetin และ quercetin-3-arabinoside จากใบฝรั่ง สามารถต้านการหดตัวของลำไส้เล็กที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยอะเซทิลโคลีน ทำให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหวน้อยลง ส่วนอีกการศึกษาวิจัยหนึ่ง ระบุว่าสาร quercetin 3-arabinoside มีฤทธิ์เหมือน morphine ในการต้านการหลั่งของ acetylcholine (ซึ่งกระตุ้นลำไส้เล็กส่วนปลายให้มีการ movement มากขึ้น ทำให้เกิดอาการท้องเสีย) โดยทำการทดลองในลำไส้เล็กส่วนปลาย (ileum) ของหนูตะเภาในขนาดความเข้มข้น 1.6 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร พบว่าสามารถต้านการหลั่ง acetylecholine ได้

           ฤทธิ์แก้ท้องเสีย มีการศึกษาวิจัยสารสกัดเมทานอลของใบฝรั่ง (ซึ่งมีสาร guaijavera เป็นส่วนประกอบ) ในขนาดความเข้มข้น 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ป้อนให้กับหนู (mouse) เพศผู้ ซึ่งเหนี่ยวนำให้เกิดอาการท้องเสียด้วยน้ำมันละหุ่ง (Castrol oil) ทางสายยางให้อาหารพบว่าสามารถรักษาอาการท้องเสียได้ และเมื่อป้อนสารสกัดน้ำของใบฝรั่งสด ขนาดความเข้มข้น 0.2 มิลลิลิตร/กิโลกรัม ในหนูเพศผู้ซึ่งเหนี่ยวนำให้เกิดอาการท้องเสียโดยใช้ยา Microlax พบว่าสามารถยับยั้งอาการท้องเสียได้ผลถึง 65% (ลดจำนวนครั้งที่อุจจาระ) ซึ่งขนาดความเข้มข้นที่ใช้นี้เปรียบเทียบได้กับการใช้ morphine sulphate 0.2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) นอกจากนี้ยังมีการศึกษาในผู้ป่วย 122 คน ที่เป็นโรคอุจจาระร่วง ซึ่งอยู่ในช่วงอายุ 16-55 ปี เป็นชาย 64 คน และหญิง 58 คน โดยทำการศึกษาเปรียบเทียบโดยวิธีสุ่มตัวอย่าง โดยนำใบฝรั่งอบแห้งแล้วบดเป็นผง (มี guaijavera เป็นส่วนประกอบ) บรรจุแคปซูล ขนาด 250 มิลลิกรัม ลักษณะเดียวและขนาดเดียวกับ tetracyclin และบริหารยาเช่นเดียวกัน คือ 500 มิลลิกรัม ทุก 6 ชม. เป็นเวลา 3 วัน ทั้งสองกลุ่ม พบว่าใบฝรั่งลดจำนวนอุจจาระและจำนวนน้ำเกลือที่ให้ทดแทนได้

           ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย มีการศึกษาวิจัยน้ำมันหอมระเหยจากใบฝรั่งที่มีสาร Guaijaverin และ guercetin พบว่าสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย S.aureus S.enteritidis และ B.cereus ได้แต่ไม่มีผลต่อเชื้อ Bacillus subtilis, E. coli, และ S. typhimurium ในจานเพาะเลี้ยงเชื้อ และพบว่าสาร morin 3-O-lyxoside และสาร morin 3-O-arabinoside จากใบฝรั่งมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ S. enteritidis และ Bacillus cereus ดีกว่าสาร guaijaverin และ quercetin นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ ของสาร guaijaverin อีกเช่น สาร Quercetin-3 arabinoside มีสมบัติในการยับยั้งเอนไซม์ cyclo-oxygenase และรบกวนการสังเคราะห์ของ Postaglandin ซึ่งทำให้ลดอาการอักเสบและไข้ และลดการเหนี่ยวนำในการทำลายดีเอ็นเอ (DNA damage) จากการใช้ Mitomycin C ในการรักษามะเร็งในคน ฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย พบว่าเกิดจากฤทธิ์ของ quercetin (3, 3, 4, 5, 7-pentahydroxyflavone) avicularin (3-L-4-4-arabinofuranoside) และ guajavarin (3-L-4-pyranoside) โดยมีฤทธิ์ในการต้านและทำลายเชื้อ Escherichia coli) Staphylococus aureus, staphylococcus epidermis, Bacilus subtitis salmonella enteritidis และ Bacillus cereus, Samonella typhi, Protues mirabilis และ Shigella dysenteria นอกจากนี้ยังสามารถยับยั้งการติดเชื้อ Rotavirus และเชื้ออะมีบา (antiamoebic)  ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียได้อีกด้วย

โครงสร้าง Guaijaverin

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

ในการใช้สาร Guaijaverin ทั้งในรูปแบบสมุนไพรหรือการสกัดควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรและสารสกัดชนิดอื่น โดยควรใช้ในขนาดที่พอดีไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาวได้ สำหรับ เด็ก สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ไม่ควรใช้สาร Guaijaverin ในรูปแบบของสารสกัดเพราะยังไม่มีรายงานด้านความปลอดภัย ส่วนผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง หากจะใช้สารดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเสมอ

เอกสารอ้างอิง guaijaverin
  1. อรัญญา ศรีบุษราคัม. แก้ท้องเสียด้วยฝรั่ง. รอบรู้เรื่องสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. 9 หน้า.
  2. ปัญจางค์ ธนังกูล และ ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ. การศึกษาผลทางคลินิกของใบฝรั่งในโรคอุจจาระร่วง. สารศิริราช 2530;39 (5) : 263-7.
  3. พนิดา ใหญ่ธรรมสาร. ศักยภาพของฝรั่งกับโรคอุจจาระร่วง. จุลสารข้อมูลสมุนไพร ปีที่ 19. ฉบับที่ 4. กรกฎาคม 2545. หน้า 4-11
  4. อัมพวัน อภิสริยะกุล นุชนารถ ชัยชนะ วิลาสินีอยู่สุข. การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของเคอร์ซิทิน (Quercetin) ซึ่งพบในใบฝรั่ง (Psidium guajava, Myrtaceae) ต่อการหดตัวของลำไส้เล็กหนูขาวและหนูตะเภา. วารสารเภสัชวิทยา. 2536;14-15:35-40.
  5. นันทริกา ชันซื่อ. คุณสมบัตของสารสกัดหยาบใบฝรั่งในการต่อต้านเชื้อแอโรโมนาสไฮโดรฟิลล่าในปลาคาร์พ. วารสารสงขลานครินทร์ ฉบับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปีที่ 29. ฉบับพิเศษ 1 มีนาคม 2550. หน้า 69-81
  6. Voravuthikunchai, S., Lortheeranuwat, A., JeeJu, W., Sririrak, T., Phongpaichit, S. and Supawita, T. 2004. Effective medicinal plants against enterohaemorrhagic Escherichua coli 0157:H7. J. Ethnopharmacology 94, 49-54.
  7. George D. Ihhibition of gastrointestinal releasa of acetylcholine by quercetin as apossible mode of action of Psidium guajava leaf extracts in the treatment of acute diarrheal disease. J ethnopharmacol 1989; 25(3) : 235-47.
  8. Goncalves, J.L.S., Lopes, R.C., Oliveira, D.B., Costa, S.S., Miranda, M.M.F.S., Romanos, M.T.V., santos, N.S.O. and Wigg, M.D. 2005. In vitroanti-rotavirus activity of some medicinal plants used in Brazil against diarrhea. J. Ethnopharmacology 99, 403-407.
  9. Roengsumran S, Petsom A, Thaniyavarn S, Pornpakakul S, Khantahiran S.  Antibacterial activity of some essential oils. J Sci Res Chula Univ 1997;22(1):13-9.
  10. Lin, J., Puckree, T. and Mvelase, T.P. 2002. Anti diarrhoeal evaluation of some medicinal plants used by Zulu traditional healers. J. Ethnopharrmacology 79, 53-56.
  11. Olajide OA, Awe SO, Makinde JM: Pharmacological studies on the leaf of Psidium guajava. Fitoterapia 1999;70(1):25-31
  12. Rabe, T. and Staden, J.V. 1997. Antibacterial activity of south African plants used for medicinal purposes. J. Ethnopharmacology 56, 81-87.
  13. วันชัย ไอรารัตน์ วีรพล คู่รงวิริยพันธุ์ จินตนา สัตยาศัย. การศึกษาฤทธิ์ต้านอาการท้องร่วงของน้ำสกัดใบฝรั่งและเปลือกผลทับทิมตากแห้งในสัตว์ทดลอง. ศรีนครินทร์เวชสาร 2543;15(1):3-11. 
  14. Iwu, M.M. 1993. Handbook of African Medicinal Plants. CRC Press, 42-44.
  15. Lutterodt GD. Inhibition of gastrointestinal release of acetylcholene by quercetin as a possible mode of action of Psidium quajava leaf extracts in the treatment of acute diarrhoeal disease. J Ethnopharmacol 1989;25(3):235-47.
  16. Undeger, U., Aydin, S., Basaran, A. and Basaran, N. 2004. The modulating effect of qercetin and rutin on the mitomycin Cinduced DNA damage. Toxiology Letters 151, 143-149.
  17. Zhang WJ, Chen BT, Wang CY, zhu QH, Mo ZX. Mechanism of quercetin as an antidiarrheal agent. Di Yi Jun Yi Da Xue Xue Bao. 2003;23 (10): 1029-31.
  18. Lozoya X., Meckes M., Abou-Zaid M., Tortoiello J. Nozzolillo C. and Arnason J.T. 1994. Quercetin glycosides in Psidium guajava L. leaves and determination of a spasmolytic principle. Arch.Med. Research 25(1), 11-15.
  19. Lutterodt GD. Inhibition of Microlax-induced experimental diarrhea with narcotic-like extracts of Psidium guajava leaf in rats. J Ethnopharmacol 1992;151-7.
  20. Oliver-Bever, B. 1986. Medicinal Plants in tropical West Africa. Cambridge University Press, Cambridge.
  21.   Danno G, Arima H. Antibacterial flavonoid glycosides from guava.  Patent: Jpn Kokai Tokkyo Koho Jp 2004250406 2004:12pp.