ยาสูบ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย
ยาสูบ งานวิจัยและสรรพคุณ 17 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ยาสูบ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ยาเส้น ยาฉุน ยาตั้ง (ทั่วไป) ยาขื่น(ภาคเหนือ) จะวั้ว(สุรินทร์,เขมร) ยาชุ ยาชุล่ะ เกร๊อะ หร่าเหมาะ(กะเหรี่ยง) อิงเช้า เยียนฉาว(จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Nicotiana tabacum Linn.
ชื่อสามัญ Tobacco
วงศ์ Solanaceae
ถิ่นกำเนิดยาสูบ
ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของยาสูบนั้นตั้งอยู่ในเขตร้อนของทวีปอเมริกา โดยชาวอินเดียแดงเป็นผู้ที่ใช้ยาสูบเป็นพวกแรกต่อมา ในปี ค.ศ.2492 คริสโตเฟอร์โคลัมบัส นักสำรวจอิตาลีเดินเรือจากสเปนเพื่อไปทวีปเอเชีย ซึ่งระหว่างทางเขาค้นพบแผ่นดินใหม่ (ทวีปอเมริกา) เขาบันทึกไว้ว่าเห็นชาวพื้นเมืองที่นั่นนิยมนำใบต้นยาสูบมาเผาและสูดควันเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ จากนั้น ค.ศ.1535 ชาร์ก การ์ดิเย่ร์ ล่องเรือมาสำรวจอเมริกา เขาทดลองสูดควันดูบ้างพบว่ารู้สึกปลอดโปร่งดี จึงนำกลับไปเผยแพร่ที่ยุโรปส่วนในทวีปเอเชียประเทศที่ปลูกยาสูบเป็นประเทศแรก คือ ฟิลิปปินส์ จากนั้นจึงแพร่หลายไปใน อินเดีย จีน และหมู่เกาะชวาและบอร์เนียว สำหรับในประเทศไทยไม่มีหลักฐานว่า เริ่มปลูกเมื่อไหร่และใครเป็นผู้นำเข้ามา มีเพียงบันทึกของมิชชันนารีที่เขาเข้ามาเมืองในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ระบุว่าพบเห็นคนไทยสูบยากันทั่วไทย โดยชอบใช้ยาสูบอย่างฉุน ทั้งผู้ชาย และผู้หญิง อีกทั้งใบยาที่ใช้ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น ได้จากกรุงมะนิลาบ้าง จากเมืองจีนบ้าง และที่ปลูกในประเทศไทยบ้าง
ประโยชน์และสรรพคุณยาสูบ
- ใช้เป็นยาถอนพิษ
- แก้หวัดคัดจมูก
- ช่วยรักษาโรคผิวหนัง
- ช่วยรักษาเหา
- ใช้ระงับประสาท
- เป็นยาระงับประสาท ทำให้นอนหลับ ทำให้ผอม
- ทำให้อาเจียน
- แก้หิด
- ช่วยขับพยาธิในลำไส้
- ช่วยขับปัสสาวะ
- แก้นิ่ว
- แก้หอบหืด
- ช่วยสมานบาดแผล
- ช่วยขับเสมหะ
- ใช้ห้ามเลือด
- แก้ลมพิษ
- ช่วยแก้พิษงู
ยาสูบถูกนำมาใช้เป็นประโยชน์หลักๆคือ นำมาใช้เป็นใบยาในการผลิตบุหรี่สูบ ซึ่งอาจจะนับได้ว่ามีโทษมากกว่าประโยชน์ ในทางการเกษตร ยังมีการนำใบยาสูบมาใช้เป็นยาฆ่าแมลงที่มากัดกินผลผลิตทางการเกษตรอีกด้วย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยาสูบ
ใช้แก้หวัดคัดจมูก โดยใช้ใบยาอย่างฉุนจัดๆ ผสมกับปูนแดงและใบเนียม กวนใช้ทำเป็นยานัตถุ์ ใช้รักษาเหา โดยใช้ยาฉุนหรือยาตั้ง (ใบยาสูบแก่ตากแห้ง) 1 หยิบมือ ผสมกับน้ำมันก๊าดประมาณ 1-4 ช้อนแกง ชโลมทั้งหน้าและยาเส้นลงบนผมทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง แล้วสระให้สะอาด ทำติดต่อกัน 3-4 วัน ใช้แก้หิดแก้โรคผิวหนัง โดยใช้ยางสีดำๆ ในกล้องยาสูบของจีนใส่แต้มแผล แก้หิดได้ดีมาก ใช้เคี่ยวกับน้ำมันทารักษาโรคผิวหนังต่างๆ ได้ด้วย ใช้เป็นยาถอนพิษ แก้ลมพิษ รักษาแผลน้ำร้อนลวกโดยใช้ยาเส้นหรือยาตั้ง 1 หยิบมือ คลุกกับน้ำมันมะพร้าว ใช้ระงับประสาทแก้หอบหืด ขับเสมหะ โดยใช้ใบมามวนสูบ ใช้แก้ฝีฝักบัวโดยใช้ใบสดแช่เหล้าอุ่นให้ร้อนแล้วนำมาปิดบริเวณที่เป็นส่วนในทางการเกษตรกรรม ใช้ทำเป็นยาฉีดแมลงและเพลี้ยต่างๆ โดยใช้นิโคติน 1 ส่วน สบู่อ่อน 20 ส่วน ในน้ำ 2,000 ส่วน ยานี้มีพิษ
ลักษณะทั่วไปของยาสูบ
ยาสูบจัดเป็นไม้ล้มลุกที่มีอายุเพียงปีเดียว มีความสูงประมาณ 1-1.5 เมตร ลำต้นไม่แตกกิ่งก้านสาขา ตามลำต้นและยอดมีขนที่อ่อนนิ่มปกคลุมอยู่ และทุกส่วนของต้นมีต่อมน้ำยางเหนียว
ใบ ออกเป็นแบบใบเดี่ยวเรียงสลับ ตามข้อของลำต้นใบมีสีเขียวขนาดใหญ่และหนาเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง 10-20 เซนติเมตร ยาว 30-60 เซนติเมตร ปลายใบมน โคนใบเรียวสอบ ท้องใบและหลังใบมีขนปกคลุม ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย
ดอก ออกเป็นช่อยาว โดยจะออกตรงปลายยอด มีดอกย่อยเป็นสีชมพูอ่อนปนขาว มีกลับดอก 5 กลีบ ซึ่งโคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ปลายกลีบแหลมมีขนสีขาวปกคลุม มีกลีบเลี้ยงเป็นสีเขียว โคนเชื่อมติดกันปลายแยกเป็นแฉกแหลม โดนดอกจะบานจากส่วนล่างไปหาส่วนบน ตามลำดับ
ผล เป็นผลแห้งคล้ายแคปซูลรูปขอบขนาน ผลอ่อนสีเขียวเมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาล และแตกออกด้านในมีเมล็ด ขนาดเล็กสีน้ำตาลจำนวนมาก
การขยายพันธุ์ยาสูบ
ยาสูบสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ดโดย เริ่มต้นจากการเพาะต้นกล้าจากเมล็ดพันธุ์ โดยการเตรียมกินขึ้นแปลงขนาดความกว้าง 1 เมตร พรวนดินให้ร่วนซุย จากนั้นรดน้ำบนแปลงให้ชุ่ม หว่านเมล็ดยาสูบที่เตรียมไว้แล้วนำแกลบดิบ โรยหน้าแปลงทับเมล็ดยาสูบ รดน้ำให้ชุ่มทุกๆวันวันละ 1-2 ครั้ง เช้าและเย็น จากนั้น 1 สัปดาห์จะพบว่าเมล็ดเริ่มงอก จากนั้นหมั่นรดน้ำทุกเช้าเย็น จนต้นกล้ามีอายุครบ 45 วัน ซึ่งต้นกล้าจะยาว 10-15 เซนติเมตร จึงสามารถถอนต้นกล้าไปปลูกได้ สำหรับการปลูกให้นำต้นกล้าที่ได้จากแปลงเพาะลงปลูกโดยการใช้การขุดให้ได้หลุมพอสำหรับสอดต้นกล้าลงปลูก โดยการปลูกจะปลูกในระยะห่างระหว่างต้น 60X60 เซนติเมตร หลังปลูกรดน้ำให้ชุ่ม
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของใบยาสูบพบว่า มีสารออกฤทธิ์ต่างๆ อาทิเช่น สารอัลคาลอยด์ นิโคติน โดยมีอยู่ถึง 64% และอัลคาลอยด์จำพวก Phrodine ที่ลักษณะเป็น oily, volatile liquid ที่ไม่มีสีจนถึงมีสีเหลือง แต่ถ้าถูกอากาศอาจเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล มีกลิ่นเผ็ดร้อน เช่น nicotinic acid , oxynicotin, nicotirine, cotinine, myosmine และยังมีสารที่จะทำให้เกิดมีกลิ่นหอม มีชื่อว่า “nicotianin” หรือ “tobacco camphor” อีกด้วย
นอกจากนี้เมื่อใบยาสูบถูกเผาไหม้ สารนิโคตินจะสลายและให้สารอื่นๆ ที่เป็นพิษต่อร่างกาย เช่น furfural, collidine และ hydrocyanin acid เป็นต้น นอกจากสารกลุ่มอัลคาลอยด์ที่ได้กล่าวมาแล้วในใบยาสูบยังมีสารอื่นๆอีกเช่น malic acid, rutin, quercetin oxalic acid, chlorogenic acid และ citric acid อีกด้วย
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของยาสูบ
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของใบยาสูบส่วนมากแล้วจะเป็นการศึกษาวิจัยถึงโทษของใบยาสูบที่นำมาใช้ทำเป็นบุหรี่สูบ เช่น ใน ค.ศ.1950 แพทย์ชาวอังกฤษและนักระบาดวิทยาชาวอังกฤษก็ทำการศึกษาและได้ข้อสรุปทางสถิติว่าบุหรี่เป็นสาเหตุของมะเร็งปอด และในปัจจุบันมีผลการศึกษาวิจัยระบุว่า ควันบุหรี่มีสารพิษและสารก่อมะเร็งไม่ต่ำกว่า 42 ชนิดและเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคที่คุกคามชีวิตประชากรโลกอย่างน้อย 25 โรค โดยสารพิษที่สำคัญคือนิโคติน จากการศึกษาพบว่านิโคตินจะเข้าสู่กระแสเลือดและไปยังสมองเร็วมาก โดยใช้เวลาแค่ 6 วินาที จากนั้นมันจะไปจับกับตัวรับนิโคตินทำให้เกิดการหลั่งสารโดปามีน เป็นผลให้ผู้สูบมีอารมณ์เป็นสุขซึ่งมีกลไกเดียวกับเฮโรอีน โคเคนและยาบ้า เมื่อเลิกสูบบุหรี่อย่างเฉียบพลันจำทำให้เกิดอารมณ์หงุดหงิดเรียกว่าอาการถอนนิโคติน และหากทนไม่ได้ก็จะกลับไปสูบบุหรี่อีก นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยฤทธิ์กำจัดลูกน้ำยุงลายของสารสกัดใบยาสูบโดยระบุไว้ว่า มีการศึกษาวิจัยประสิทธิภาพในการกำจัดลูกน้ำยุงลายของสารสกัดใบยาสูบแบบเหลวและแบบผงพบว่าสกัดแบบเหลวและผงมีประสิทธิภาพในการกำจัดลูกน้ำยุงลายได้เฉลี่ยร้อยละ 100.0และ 96.0 ตามลำดับ ที่ความเข้มข้นร้อยละ (v/v) 3.00 โดยมีระยะเวลาออกฤทธิ์ 24 ชั่วโมง และต่ำสุดที่ความเข้มข้นร้อยละ (v/v) 1 ระยะเวลาออกฤทธิ์ 12 ชั่วโมง และสามารถกำจัดลูกน้ำยุงลายได้เฉลี่ยร้อยละ 17.3 และ 9.3 ตามลำดับสำหรับค่าความเข้มข้นเฉียบพลันที่ทำให้ลูกน้ำยุงลายระยะที่ 4 ตายร้อยละ 50 (LC50) สอดคล้องกับประสิทธิภาพในการกำจัดลูกน้ำยุงลายของสารสกัด โดยมีค่าสูงสุดในสารสกัดแบบผงที่ระยะเวลา 12 ชั่วโมง 3.31 % (w/v) และต่ำสุดในสารสกัดแบบเหลวที่ระยะเวลา 24 ชั่วโมง 1.10 % (v/v)
การศึกษาทางพิษวิทยาของยาสูบ
มีรายงานการศึกษาทางพิษวิทยาของใบยาสูบในฐานะบุหรี่มากมายดังนี้
ในควันบุรี่ที่เกิดการเผาไหม้และระเหยจะมีสาร นิโคตินทาร์คาร์บอนไดออกไซด์คาร์บอนมอนอกไซด์ แอมโมเนียม ไฮโดรเจนซัลไฟต์ ไฮโดรเจนไซยาไนด์ ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อปอด ถุงลม เยื่อบุกระเพาะ โดยนิโคตินจะทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง การบีบตัวของหลอดเลือด ทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดได้ และสารทาร์จะทำให้เกิดมะเร็งปอดนอกจากนิโคตินแล้วบุหรี่ยังมีสารเคมีที่เป็นพิษอีกมากมาย เช่น 4-aminobiphenyl Nitrosamines, Hydrogen cyanide, Carbon monoxide และในควันบุหรี่ยับพบสาร Benzo-a-pyrene, Benzene, Acrolein, Polonium และสารตะกั่วนิโคตินจากบุหรี่จะเกิดผลกระทบต่อประสาทส่วนกลางภายใน 10 วินาที หากมีการเคี้ยวยาสูบจะมีผลทำให้เกิดเส้นเลือดตีบ เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และหากกินเป็นเวลา 3-5 นาที จะทำให้เกิดผลต่อระบบประสาท CNS นอกจากนี้ยังทำให้เบื่ออาหารและเป็นโรคถุงลมโป่งพอง ประสาทรับรู้รสและกลิ่นเสียไป ปอดจะถูกทำลายหากสูบเป็นเวลานาน และจะเป็นสาเหตุของโรคปอด โรคหลอดเลือด โรคมะเร็ง และโรคหัวใจได้สำหรับคนที่ติดบุหรี่มากเมื่อไม่ได้รับนิโคติน จะเกิดอาการกระสับกระส่าย สมาธิสั้น นอนไม่หลับ 20 นาทีหลังจากการอดบุหรี่ ความดันโลหิตจะลดลง ชีพจรเต้นช้าลง แต่เมื่อผ่านไป 8 ชั่วโมง ระดับออกซิเจนในเลือดจะเพิ่มขึ้นจนถึงระดับปกติ แต่ในขณะเดียวกันระดับคาร์บอนมอนอกไซด์ก็จะลดลงด้วย และหลังจากหยุดสูบบุหรี่ 2 วัน ระบบความรู้สึก การรับรสและกลิ่นต่าง ๆ จะทำงานได้ดีขึ้น เมื่อผ่านไป 3 เดือน การเคลื่อนไหวของร่างกาย และการทำงานของปอดก็จะดีขึ้น
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ในการใช้ยาสูบมาทำเป็นบุหรี่นั้นนับว่าเป็นอันตรายต่อร่างกายในระยะยาวเนื่องจาก อาการต่างๆ จะเกิดช้า โดยอาจใช้ระยะเวลาเป็นสิบๆ ปี ทำให้หลายๆ คนไม่รู้สึกตระหนักถึงอันตรายของยาสูบโดยหากเสพเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ หงุดหงิด มีอาการฉุนเฉียวง่าย ขาดสมาธิและนอนไม่หลับ รวมถึงผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคมะเร็งต่างๆ เช่นมะเร็งช่องปาก กล่องเสียง เต้านม กระเพาะ ลำไส้ใหญ่ หลอดอาหาร หลอดไต ตับอ่อน ไต มดลูก และเม็ดเลือด และคนที่สูบบุหรี่จัดมักมีอายุสั้นเพราะป่วยด้วยโรคหลายโรค ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด หากมีการสูบบุหรี่ด้วยก็จะยิ่งมีโอกาสสูงในการเสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วยด้วยโรคเดียวกันนี้ถึง 3 เท่า
เอกสารอ้างอิง ยาสูบ
- ดร.นิจศิริ เรืองรังษี,ธวัชชัย มังคละคุปต์. “ยาสูบ Ya sup)”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย เล่ม1. หน้า 253.
- นพ.ธีรวัฒน์ บูรวัฒน์. มหันตภัยเงียบ. คอลัมม์เล่าสู่กันฟัง. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 270. มิถุนายน 2550.
- ขวัญฤทัย คำฝาเชื้อ 2551 พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยง ที่ตำบลบ้านจันทร์และแจ่มหลวง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 271 หน้า.
- ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “ยาสูบ”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 658-660.
- วิภาวรรณ กิติวัชระเจริญ. (2548). ยาสูบพืชเศรษฐกิจของไทย. กลุ่มวิชาการ สถาบันวิจัยพืชไร่, กรมวิชาการเกษตร; กรุงเทพฯ.
- หิรัญวดี สุวิบูรณ์, สมพงศ์ หนิยุนุ, บุคอรี คงหนู. การศึกษาสารสกัดแบบเหลวและแบบผงจากใบยาสูบ (พันธุ์พื้นเมือง) ในการกำจัดลูกน้ำยุงลาย (Aedes Asegypti Linn.). เอกสารประกอบการประชุมหาดใหญ่วิชาการระดับชาติและนานาชาติครั้งที่ 9. หน้า 823-829.
- ยาสูบ. กลุ่มยารักษาหิด จี๊ด. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีฯ (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_22.5.htm