ผักแพวแดง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ผักแพวแดง งานวิจัยและสรรพคุณ 20 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ผักแพวแดง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ผักแพวสวน, ผักแผ่วแดง, ผักอีแปะ (ทั่วไป), ละอองใบด่าง (ภาคเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Iresine herbstii Hook
ชื่อสามัญ Bloodleaf, Beefsteak Hook
วงศ์ AMARANTHACEAE
ถิ่นกำเนิดผักแพวแดง
ผักแพวแดง จัดเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์บานไม่รู้โรย (ZMARANTHACEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในทวีอเมริกาใต้ บริเวณประเทศเปรู และบราซิล ต่อมาจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยมีการปลูกผักแพวแดง กันมากบริเวณภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และลำพูน เป็นต้น
ประโยชน์และสรรพคุณผักแพวแดง
- ใช้แก้เลือดลม
- แก้หืด
- แก้หอบ
- แก้ไอ
- แก้ปวดเมื่อยตามข้อ และกระดูก
- แก้ปวดท้อง
- แก้ท้องขึ้น ท้องอืดเฟ้อ
- ใช้ขับเหงื่อ
- แก้ปวด
- ใช้แก้ลมในลำไส้
- แก้กระเพาะพิการอาหารไม่ย่อย
- แก้อุจจาระพิการ
- แก้แน่นท้อง จุกเสียด
- แก้ท้องมาน
- แก้หืดไอ
- แก้ริดสีดวงจมูก
- แก้เลือดตีขึ้น
- แก้เส้นประสาทพิการ
- แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ
- ช่วยกระจายเลือดลมให้ไหลเวียนได้สะดวก
ส่วนตำรับยาปลูกไฟธาตุ ก็ยังมีการใช้ผักแพวแดง เป็นส่วนประกอบในตำรับยาโดยได้ระบุถึงสรรพคุณเอาไว้ว่า ช่วยกระจายเลือดลมให้ไหลเวียนได้สะดวก สำหรับผู้หญิงที่ประจำเดือนไม่มา กระตุ้นให้ประจำเดือนมา และสำหรับผู้หญิงหลังคลอด โดยกระตุ้นให้มีน้ำนมมากขึ้นและยังใช้เป็นยาอายุวัฒนะอีกด้วย
ผักแพวแดง ถูกนำมาใช้เป็นไม้ประดับเพื่อปลูกประดับตามสวนสาธารณะ สวนหย่อม หรือ ปลูกประดับตามอาหารสถานที่ต่างๆ เนื่องจากมีลำต้นสีแดง สวยสะดุดตา อีกทั้งยังเป็นพันธุ์ไม้ที่ปลูก และขยายพันธุ์ได้ง่ายอีกด้วย
นอกจากนี้ในตำราจุลพิกัด ยังมีการใช้ “ผักแพวทั้งสอง” ได้แก่ ผักแพวแดง และผักแพวขาว แก้ธาตุพิการ แก้ปวดท้อง และช่วยย่อยอาหารอีกด้วย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- กรณีใช้รักษาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น อาการหืด ไอ และคัดแน่นจมูก มักนำเข้าตำรับยาบรรเทาไข้หวัดอื่นๆ เช่น เปราะหอม, หัวหอม, ว่านหอมแดง, ผิวมะกรูด เป็นต้น โดยนำสมุนไพรสดมาโขลกหยาบๆ แล้วห่อด้วยผ้าขาวบาง นำมาสุมกระหม่อนในเด็กที่มีอาการไข้หวัด
- กรณีใช้รักษาเกี่ยวกับโรคในระบบทางเดินอาหาร มักนำผักแพวแดงมาเข้าตำรับยาขับลมอื่นๆ เช่น ขิง, พริกไทย, ดีปลี เป็นต้น โดยนำตัวยาสมุนไพรมาต้มน้ำเดือด ใส่น้ำ 3 ส่วน แล้วต้มให้น้ำงวดเหลือ 1 ส่วน รับประทานหลังอาหารวันละ 3 ครั้ง หรือหลังมีอาการ
- กรณีใช้รักษาเกี่ยวกับอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือ บำรุงเลือดลมในสตรี มักนำผักแพวแดงมาเข้าตำรับยาบำรุงเลือดอื่นๆ เช่น ไพล แสมสาร และเจตมูลเพลิง โดยนำสมุนไพรมาต้มในน้ำเดือด ใส่น้ำ 3 ส่วน แล้วต้มให้น้ำงวดเหลือ 1 ส่วน รับประทานหลังอาหารวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 15 วัน
- กรณีใช้เพื่อรักษาอาการเกี่ยวกับระบบกล้ามเนื้อและกระดูก มักนำผักแพวแดงมาเข้าตำรับกับสมุนไพรอื่นๆ เช่น ม้ากระทืบโรง กันเกรา และโมกมัน โดยนำสมุนไพรมาดองในเหล้า 40 ดีกรี ดื่มรับประทาน
ส่วนในตำรับยาปลูกไฟธาตุนั้นระบุว่าให้ใช้ผงยา พริกไทยล่องหนัก 50 กรัม ผักแพวแดง (ทั้งต้น)หนัก 5 กรัม รากชะพลู หนัก 5 กรัม ดีปลีหนัก 5 กรัม ลูกผักชีล้อม หนัก 5 กรัม ผิวมะกรูดหนัก 5 กรัม เถาสะค้าน หนัก 5 กรัม เหง้าขิงแห้งหนัก 5 กรัม เหง้าว่านน้ำ หนัก 5 กรัม หัวแห้วหมูหนัก 5 กรัม ลูกพิลังกาสา หนัก 5 กรัม มาผสมกันจะได้ 100 กรัม/1แคปซูล แล้วนำมารับประทาน ช่วยกระจายเลือดลมให้ไหลเวียนได้สะดวก สำหรับผู้หญิงที่ประจำเดือนไม่มา กระตุ้นให้ประจำเดือนมา และสำหรับผู้หญิงหลังคลอด ช่วยกระตุ้นให้มีน้ำนมมากขึ้น และยังใช้เป็นยาอายุวัฒนะอีกด้วย
ลักษณะทั่วไปของผักแพวแดง
ผักแพวแดง จัดเป็นพืชล้มลุก ลำต้นมีสีแดง ลักษณะลำต้นกลมอวบน้ำมีความสูงประมาณ 50 เซนติเมตร ลำต้น และกิ่งเปราะหักง่าย
ใบผักแพวแดง เป็นใบประกอบแบบที่มีใบย่อยใบเดียว ออกเรียงตรงข้ามกัน บริเวณลำต้น และกิ่งก้าน ใบมีลักษณะเป็นรูปวงรี หรือ รูปไข่หัวกลับ กว้าง 2-4 เซนติเมตร และยาว 3-6 เซนติเมตร โคนใบกลม หรือ แหลมปลายใบหยักเว้าเบี้ยว แผ่นใบเป็นร่องนูนๆ ออกจากเส้นกลางใบด้านบนใบเป็นมันมีสีแดงเข้มออกม่วง มองเห็นเส้นใบสีแดงชัดเจน และมีแถบขวางสีชมพู
ดอกผักแพวแดง ออกเป็นช่อกระจุกบริเวณปลายกิ่งโดยใน 1 ช่อ จะมีดอกย่อยสีขาวแกมเหลืองจำนวนมาก ซึ่งจะมีทั้งดอกสมบูรณ์เพศ และดอกแบบแยกเพศบนต้นเดียวกัน
ผลผักแพวแดง เป็นผลแห้งไม่มีรอยแตก
การขยายพันธุ์ผักแพวแดง
ผักแพวแดง สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด และการปักชำต้น แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การใช้เมล็ด โดยมีวิธีการเพาะเมล็ด และการปลูกเช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดไม้ล้มลุกชนิดอื่นๆ ที่อยู่ในวงศ์บานไม่รู้โรย (AMARANTAHACEAE) ซึ่งได้กล่าวถึงมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนใบของผักแพวแดง ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญอาทิเช่น iresinin I (acylated amaranthine), 2,5-Dimethoxy-6,7-(methylenedioxy)-isoflavone,acylated betacyanins, pentadecanoic acid, undecane, 5-methyl, 3-chloromethyl furan, n-octylethynyl ether และ C15 -epimer iresinin II เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของผักแพวแดง
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดผักแพวแดง จากใบของผักแพวแดงระบุว่ามีฤทธิ์ในการเพิ่มจำนวนเม็ดเลือดแดง โดยได้มีการศึกษาผลของผักแพวแดงต่อหนูแรทเพศผู้ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นโรคโลหิตจาง โดยทำการเปรียบเทียบหนูแรทระหว่างกลุ่มที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นโรคโลหิตจางที่ไม่ได้รับการรักษา และถูกเหนี่ยวนำให้เป็นโรคโลหิตจางที่ได้รับการรักษาด้วยสารสกัดจากใบผักแพวแดง ขนาด 100, 200 และ 400 mg/kg BW เป็นเวลา 14 วัน จากนั้นทำการวิเคราะห์ และประเมินผลทำงโลหิตวิทยาได้แก่ ค่าปริมาตร เซลล์อัดแน่น (packed cell volume: PCV) ความเข้มข้นของฮีโมโกลบิน (haemoglobin concentration: Hb) และค่าจำนวนนับเซลล์เม็ดเลือดแดง (red blood cellcounts: RBC) พบว่าค่าเฉลี่ยของน้ำหนักตัวและค่า RBC ในหนูกลุ่มที่ได้รับการรักษาสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างมีนัยสำคัญ (p <0.05) แต่ในส่วนของค่า PCV และ Hb ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ และมีการสรุปได้ว่าผลการศึกษาในครั้งนี้พบว่าสารสกัดจากใบผักแพวแดง ในขนาด 400 mg/kg BW สามารถช่วยเพิ่มจำนวนเม็ดเลือดแดงในหนูแรทเพศผู้ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นโรคโลหิตจำง และยังช่วยเพิ่มน้ำหนักตัวในหนูกลุ่มที่ได้รับสำรสกัดจำกใบผักแพวแดง I. herbstii ทั้ง 3 ขนาดได้อีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยในต่างประเทศระบุว่า สารสกัดจากใบของผักแพวแดง ยังมีฤทธิ์ลดไข้, ต้านการอักเสบ, ต้านอนุมูลอิสระ, ขับปัสสาวะ และมีฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ได้อีกด้วย
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของผักแพวแดง
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยด้านพิษวิทยาของสารสกัดจากใบของผักแพวแดงระบุว่า มีการศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลัน ของสารสกัดใบผักแพวแดงในหนูแรทเพศผู้ที่มีน้ำหนักตัว 270-300 กรัม โดยให้ได้รับสารสกัดจากใบผักแพวแดง ในขนาด 10, 100, 1000, 1600, 2900 และ 500 mg/kg BW จากนั้นได้ทำการสังเกตความเป็นพิษ หรือ การตายเป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมง พบว่าไม่พบความเป็นพิษหรือการตายในหนูที่ได้รับสารสกัดในทุกขนาด โดยมีค่า LD50 มากกว่า 5000 mg/kg BW
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้ผักแพวแดงเป็นยาสมุนไพร โดยเฉพาะในรูปแบบการรับประทานเนื่องจากผักแพวแดง มีฤทธิ์บำรุงเลือดลม กระตุ้น ประจำเดือนในสตรี ซึ่งอาจเป็นอันตรายในสตรีมีครรภ์ได้ นอกจากนี้ในตำรับยาปลูกไฟธาตุ ซึ่งมีผักแพวแดง เป็นส่วนประกอบยังมีข้อห้ามใช้ คือ ห้ามใช้ในหญิงตกเลือดหลังคลอด หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีไข้ และควรระวันในการใช้ร่วมกับยา Phenytoin, Propranolol, Theophylline และ Rifampicin เนื่องจากตำรับนี้มีพริกไทยในปริมาณสูง
เอกสารอ้างอิง ผักแพวแดง
- สยาม ภัทรานุประวัติ. แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา, 2542.
- บังอร ศรีพานิชกุลชัย, วนัสนันท์ แป้นนางรอง, การศึกษาความปลอดภัย และประสิทธิผลของตำรับยาปลูกไทยธาตุในมารดาที่ได้นมบุตร. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ ศูนย์วิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น. มกราคม2563. 130 หน้า
- กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1. กรุงเทพมหานคร. โรงพิมพ์การศาสนา; 2546.
- คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิริรุกขชาติ (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก www.pharmacy.mahidol.ac.th
- คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ บัญชียาหลักแห่งชาติ (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/E/086/11.PDF
- Nweze NE, Nwachukwu KA, Adieme IC. The effect of Iresine herbstii Hook on somehaematological parameters of experimentally induced anaemic rats. Comp Clin Pathol 2006;
- Cai Y, Sun M, Corke H. HPLC characterization of betalains from plants in the Amaranthaceae. JChromatograp Sci 2005; 43: 454-460.
- Vasinová M, Marek J, Vanco J, Suchý V. Tlatlancuayin. Acta Cryst 2004; E60: o2019-o2021