สิงหโมรา ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
สิงหโมรา งานวิจัยและสรรพคุณ 19 ข้อ
ชื่อสมุนไพร สิงหโมรา, ผักหนามฝรั่ง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ว่านสิงหโมรา, ผักหนามฝรั่ง, ผักหนามแดง (ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cyrtosperma johnstonii (N.E.Br.)
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Alocasia johnstonii N.E.Br.
วงศ์ ARACEAE
ถิ่นกำเนิดสิงหโมรา
สิงหโมรา จัดเป็นพืชในวงศ์บอน (ARACEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ บริเวณหมู่เกาะโซโลมอนและปาบัวนิวกินี จากนั้นจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ ในทวีปเอเชียและออสเตรเลีย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบสิงหโมรา ได้ทุกภาคของประเทศ บริเวณข้างลำธารที่เป็นดินโคลนเลน หรือ ตามป่าดิบชื้น ที่มีแสงแดดรำไร
ประโยชน์และสรรพคุณสิงหโมรา
- ใช้แก้โลหิตจาง
- ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ
- ช่วยบำรุงโลหิต
- ช่วยเจริญอาหาร
- ช่วยขับน้ำคาวปลาในสตรี
- ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น
- รักษามดลูกสำหรับสตรีหลังการคลอดบุตรใหม่
- ช่วยย่อยอาหาร
- ใช้ทาแก้ปวดเนื่องจากแผลแมงป่องและตะขาบ
- ใช้รักษาริดสีดวงทวาร
- ช่วยทำให้ประจำเดือนมาปกติ
- ใช้บำรุงธาตุ
- ใช้บำรุงกำลัง
- แก้ลมวิงเวียนบ่อยๆ หน้ามืด ซูบซีด
- ช่วยแก้ฝีหนอง
- ใช้บำรุงกล้ามเนื้อ
- ช่วยบำรุงเส้นเอ็น
- ใช้ดูดพิษ กำจัดพิษ
- แก้โรคอยู่ไฟไม่ได้ หรือ โดนเลือดลมกระทำ
สิงหโมราถูกนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับตามสวนสาธารณะ ตามอาคารบ้านเรือน โดยถูกนำมาปลูกลงดิน หรือ ปลูกเป็นไม้กระถางเพื่อวางประดับตามในอาคารต่างๆ เนื่องจากมีทรงพุ่มสวยแปลกตาและมีใบที่มีริ้วประดับสีสวยตัดกันอีกด้วย นอกจากนี้สิงหโมรา ยังถูกนำมาใช้เป็นสมุนไพรตามตำรายาไทยและตำรายาพื้นบ้าน
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้เป็นยาเจริญอาหารและฟอกเลือดบำรุงโลหิต แก้โรคอยู่ไฟไม่ได้ หรือ โดนเลือดลมกระทำ อันเป็นเหตุให้ผอมแห้งแรงถอย โดยนำก้านใบสิงหโมรา มาดองเหล้ากิน โดยให้ดื่มกินครั้งละ 2 ถึง 3 ช้อนโต๊ะก่อนอาหาร
- ใช้แก้ริดสีดวงทวารและช่วยให้สตรีมีประจำเดือนเป็นปกติ โดยนำดอกสิงหโมราสด มาปิ้งไฟห่อด้วยผ้าขาวบางแล้วนำไปดองเหล้าดื่ม
- ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงธาตุในร่างกาย บำรุงกำลัง ช่วยย่อยอาหาร แก้ลมวิงเวียนบ่อยๆ หน้ามืด ซูบซีด โดยนำต้นและใบสิงหโมรามาหั่นเป็นชิ้นบางๆ ผสมกับมะตูมอ่อน และกล้วยน้ำว้า ห่าม นำมาดองกับเหล้า 15 วัน ดื่มวันละ 3-5 ช้อนโต๊ะ หรือ บดให้เป็นผงละเอียดผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอน ใช้รับประทานครั้งละ 1 เม็ด เช้าและเย็น
- ใช้บำรุงกล้ามเนื้อ และบำรุงเส้นเอ็น โดยนำก้านใบสิงหโมรามาดองกับเหล้าดื่ม
- ช่วยทำให้มดลูกเข้าอู่เร็ว รักษามดลูกสำหรับสตรีหลังการคลอดบุตรใหม่ โดยนำต้นและใบสิงหโมรา มาต้มกับน้ำดื่มและอาบ
- ใช้เป็นยาพอกฝีที่ไม่เป็นหนองให้แห้ง โดยนำใบสิงหโมรามาตำผสมกับเหล้าพอกบริเวณที่เป็น
- ใช้บรรเทาอาการปวดแผลที่ถูกแมงป่องและตะขาบกัด โดยนำสิงหโมราฝน เหล้ากับน้ำ หรือ ฝนสิงหโมรากับเหล้าแล้วนำไปปิดปากแผล
ลักษณะทั่วไปของสิงหโมรา
สิงหโมนา จัดเป็นไม้ล้มลุก ที่มีหัวขนาดใหญ่อยู่ใต้ดิน ลำต้นสั้นมักจะพ้นผิวดินขึ้นมาเล็กน้อย ลำต้นอวบน้ำเป็นสีชมพูอ่อน มีลายสีน้ำตาล
ใบสิงหโมรา เป็นใบเดี่ยว มักจะออกเป็นกระจุกใกล้ราก โดยจะแทงออกมาจากหัวใต้ดิน ใบมีลักษณะเป็นรูปหัวใจปลายแหลม หรือ เงี่ยง มีความยาวประมาณ 60-80 เซนติเมตร โคนใบเป็นรูปเงี่ยง หรือ รูปลูกศร ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบแผ่นใบเรียบสีเขียวเป็นมัน มีเส้นสีชมพูตรงกลางใบและมีก้านใบยาวประมาณ 60 เซนติเมตร ซึ่งก้านใบจะมีหนามหู่และมีจุดประสีขาว สีเขียว สีน้ำตาล และชมพู
ดอกสิงหโมรา ออกเป็นช่อแบบแท่งมีลักษณะเป็นแท่งกลมยาว ซึ่งจะแทนออกมาจากกาบใบและจะมีดอกย่อยที่ส่วนใหญ่จะเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ ดอกย่อยมีลักษณะคล้ายกับดอกของพืชในวงศ์บอน อื่นๆ และมีใบประดับเป็นกาบขนาดใหญ่ สีน้ำตาลถึงดำ หุ้มอยู่ด้านหนึ่ง
ผลสิงหโมรา เป็นผลสดขนาดเล็ก มีเนื้อนุ่มหุ้มด้านนอก ส่วนภายในผลมีเปลือกหุ้มเมล็ดที่แข็ง
การขยายพันธุ์สิงหโมรา
สิงหโมราสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การเพาะเมล็ด การแยกเหง้า หรือ แยกหน่อย และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นต้น แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การแยกหน่อจากต้นแม่ โดยมีวีการดังนี้
เริ่มจากนำหน่อที่แยกจากต้นสิงหโมรา แม่มาเพาะในกระถาง ที่มีดินโคลน ดินเลน หรือ ดินร่วนที่มีความชื้นสูง ให้ต้นสูงประมาณ 30 เซนติเมตร แล้วค่อยย้ายไปปลูกลงแปลงที่เป็นดินร่วนปนทราย หรือ เป็นดินโคลน จากนั้นผสมคลุกเคล้าด้วยใบพืชที่ย่อยสลายแล้ว หรือ เปลือกมะพร้าวสับ รดน้ำทุกวันให้ชุ่มแต่อย่าให้น้ำท่วมขัง ใส่ปุ๋ยสูตร 16-16-16 เพื่อบำรุงต้น, ใบเดือนละครั้ง
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนเหง้าของสิงหโมรา ระบุว่า พบสารออกฤทธิ์ต่างๆ ดังนี้
สารประกอบกลุ่มพอลิฟีนอล (polyphenol) สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoid) ได้แก่ rutin quercetin, isorhamnetin, isorhamnetin-3-O-rutinoside, narcissin รวมถึงสารในกลุ่ม แคโรทีนอยด์ (carotenoids) เช่น β-carotene, α-carotene และ lutein เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสิงหโมรา
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดสิงหโม จากเหง้าของสิงหโมราระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ดังนี้
ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีรายงานผลการทดสอบ ABTS ของสารสกัดอะซิโตน จากเหง้าของสิงหโมราพบว่า แสดงฤทธิ์กำจัดอนุมูลอิสระสูงสุดโดยมีค่า TEAC เท่ากับ 19.2 mM/mg ซึ่งสูงกว่าสารสกัดเมทานอล (6.9 mM/mg) ประมาณสามเท่าและสูงกว่าค่าของสารสกัดเอทิลอะซิเตท (1.5 mM/mg) และเฮกเซน (0.6 mM/mg) ประมาณ 12 และ 34 เท่าตามลำดับ และว่าสารสกัดอะซิโตนมีค่า EC สูงสุด (19.24 mM/mg) ในขณะที่สารสกัดเฮกเซนมีค่า EC ต่ำสุด (0.06 mM/mg) ส่วนค่า EC ของเอทิลอะซิเตทและสารสกัดเมทานอลมีค่า EC เท่ากับ 0.67 และ 6.03 mM/mg ตามลำดับ และผลของกิจกรรมรีดิวซ์ในการทดสอบ FRAP สอดคล้องกับผลของกิจกรรมกำจัดอนุมูลอิสระในการทดสอบ ABTS ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสารสกัดอะซิโตนมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่แรงที่สุด
ฤทธิ์ความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง มีรายงานผลการศึกษาวิจัยระบุสารสกัดจากส่วนเหง้าของสิงหโมรา ที่ได้จากตัวทำละลายต่างชนิดกันจะออกฤทธิ์ต่อเซลล์มะเร็งที่ทดสอบได้ในระดับที่แตกต่างกัน โดยสารสกัดอะซิโตนและเอทิลอะซิเตท จะแสดงฤทธิ์ต่อเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ไวต่อยาได้สูงที่สุด โดยมีค่า IC 50เท่ากับ 11 µg/ml สำหรับเซลล์มะเร็งที่ดื้อยา มีเพียงสารสกัดอะซิโตนเท่านั้นที่แสดงฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งได้อย่างรุนแรง โดยมีค่า IC 50เท่ากับ 29 ± 3 µg/ml สำหรับเซลล์มะเร็งปอด สารสกัดอะซิโตน แสดงระดับความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งสูงสุด โดยมีค่า IC 50เท่ากับ 6 ± 0 และ 5 ± 2 µg/ml สำหรับเซลล์มะเร็งที่ไวต่อยาและดื้อยา ตามลำดับ
ส่วนการศึกษาวิจัยอีกฉบับหนึ่งระบุว่า สารสกัดแยกส่วนในชั้นอะซิโตนของสิงหโมรา มีประสิทธิภาพดีเยี่ยม ในการยับยั้งเซลล์มะเร็งหลายชนิด ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก มะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ดื้อยาและมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็กที่ดื้อยา (ค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งเซลล์มะเร็งร้อยละ 50 อยู่ระหว่าง 5-65 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร) และการศึกษาโดยเทคนิคเอบีทีเอสและเอฟอร์เอพีพบว่าสารสกัดสิงหโมราในชั้นอะซิโตนมีประสิทธิภาพสูงในการต้านอนุมูลอิสระ โดยให้ค่าทีแอด = 19.2 มิลลิโมล/มิลลิกรัมและอีซี = 19.2 มิลลิโมล/มิลลิกรัม ตามลำดับ อีกทั้งผลการศึกษายังพบว่าสารสกัดจากสิงหโมราในความเข้มข้นสูงสุด (100 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร) ไม่มีพิษร้ายแรงต่อเซลล์ปกติ ส่วนการศึกษากลไกการต้านเซลล์มะเร็ง โดยใช้โฟลไซโตเมทริและย้อมเซลล์ด้วยโพรพิเดียม ไอโอ ไดต์ พบว่าสารสกัดสิงหโมราในชั้นนะซิโตร สามารถยับยั้งวัฏจักรของเซลล์ในระยะจี 2/เอ็ม และเหนี่ยวนำให้เกิดการตายแบบอะป๊อบโทสีส
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสิงหโมรา
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สำหรับการใช้สิงหโมรา เป็นสมุนไพร ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสม ที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง สิงหโมรา
- ดร.นิจศิริ เรืองรังสี. ธวัชชัย มังคละคุปต์. สิงหโมรา (Singha Mora) หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 304.
- สิงหโมรา. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 98.
- วุฒิ วุฒิธรรมเวช. 2540.ว่านสิงหโมรา ผักหนามฝรั่ง, หน้า 411. ใน ร่วมอนุรักษ์มรดกไทย สารานุกรมสมุนไพร รวมหลักเภสัชกรรมไทย.โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮ้าส์:กรุงเทพฯ
- บุณค้ำ ไชยพรหมวงศา. 2537. ผักหนามฝรั่ง (สิงหโมรา), ในคู่มือเซียนว่าน. แองแตร์นาติองนาล แปรสส์. กรุงเทพฯ.ฟรินน์ดอทคอม. 2558. หน้า 90-91.
- สุลักษณ์ แจ่มจำรัส, รัตนา เอการัมย์, มณฑา วงศ์มณีโรจน์, รงรอง หอมหวน และสนธิชัย จันทร์เปรม.2557.การขยายพันธุ์สิงหโมราโดยใช้เทคนิคเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ. ในประชุมทางวิชาการ ครั้งที่ 52. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หน้า 446-453
- อารียา อนุเถกิงกุล, นฤมล จารุเดช, สุชาดา กิตติศรีโสภิต, อินทัช ศักดิ์ภักดีเจริญ และ อรุณพร อิฐรัตน์.2553.การศึกษาฤทธิ์ความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ของสารสกัดตำรับอายุวัฒนะจากตำรับยาแผนโบราณ, หน้า 77 ในการประชุมวิชาการ การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ ครั้งที่ 7. ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี.
- ว่านสิงหโมรา. กระดานถาม-ตอบ. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=5328
- Khan N, Sultana S. (2005). Chemomodulatory effect of Ficus racemosa extract against chemically induced renal carcinogenesis and oxidative damage response in Wistar rats. Life Sci, 77, 1194-1210.
- Okonogi S, Khonkarn R, Mankhetkorn S, Unger FM, Viernstein H. Antioxidant activity and cytotoxicity of Cyrtosperma johnstonii extracts on drug sensitive and resistant leukemia and small cell lung carcinoma cells. Pharm Biol. 2013;51(3):329-38.
- Zhang S, Yang X, Morris ME. (2004). Flavonoids are inhibitors of breast cancer resistance protein (ABCG2)-mediated transport. Mol Pharmacol, 65, 1208-1216.
- Englberger L, Schierle J, Kraemer K, Aalbersberg W, Dolodolotawake U, Humphries J, Graham R, Reid AP, Lorens A, Albert K, Levendusky A, Johnson E, Paul Y, Sengebau F. (2008). Carotenoid and mineral content of Micronesian giant swamp taro (Cyrtosperma) cultivars. J Food Comp Anal, 21, 93-106.
- Okonogi S, Duangrat C, Anuchpreeda S, Tachakittirungrod S, Chowwanapoonpohn S. (2007). Comparison of antioxidant capacities and cytotoxicities of certain fruit peels. Food Chem, 103, 839-846.
- Mueller M, Zartl B, Schleritzko A, Stenzl M, Viernstein H, Unger FM. Rhamnosidase activity of selected probiotics and their ability to hydrolyse flavonoid rhamnoglucosides. Bioprocess Biosyst Eng. 2018;41(2):221-8.