ส้มผด ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ส้มผด งานวิจัยและสรรพคุณ 36 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ส้มผด
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะเหลี่ยมหิน, มะผด, ซุง (ภาคเหนือ), สำค้ำ (ภาคอีสาน), เส่ชิสะ (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Rhus chinensis Mill
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Rhus javanica var. chinensis (Mill.)) T. Yamaz.
วงศ์ ANACARDIACEAE


ถิ่นกำเนิดส้มผด

ส้มผด จัดเป็นพืชในวงศ์มะม่วง (ANACARDIACEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตอบอุ่นของทวีปเอเชีย บริเวณเอเชียตะวันออก เช่นใน จีน ไต้หวัน ฮ่องกง และญี่ปุ่น จากนั้นจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตอบอุ่นและเขตร้อนทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยส้มผด จัดเป็นไม้ป่า พบส้มผดได้ในป่าดงดิบทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 600-1,000 เมตร


ประโยชน์และสรรพคุณส้มผด

  1. แก้ไข้
  2. แก้ไอ
  3. ช่วยลดน้ำมูก
  4. แก้หวัด
  5. แก้แสบลิ้นปี่
  6. แก้อาหารไม่ย่อย
  7. แก้ปวดท้อง
  8. แก้อาหารเป็นพิษ
  9. แก้ริดสีดวง
  10. ใช้แก้เจ็บคอจากหวัด
  11. แก้ฝีหนอง
  12. ช่วยสมานแผล
  13. แก้อาการคันจากพิษยางต้นรัก
  14. ใช้แก้ตุ่มพอง
  15. แก้ผื่นคัน
  16. รักษาโรคผิวหนัง
  17. ช่วยห้ามเลือด
  18. ช่วยเร่งมดลูกให้เข้าอู่ในสตรีหลังคลอด
  19. ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
  20. ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต
  21. แก้ไอเป็นเลือด
  22. แก้คออักเสบ
  23. กล่องเสียอักเสบ
  24. แก้ท้องเสีย
  25. ใช้แก้โรคท้องร่วง
  26. รักษาโรคน้ำอสุจิออกมากผิดปกติ
  27. รักษาโรคมาลาเรีย
  28. รักษาโรคดีซ่าน
  29. ใช้แก้อาการจุกเสียด
  30. แก้ตับอักเสบ
  31. โรคไขข้อ
  32. แก้เบาหวาน
  33. แก้อักเสบ
  34. แก้โรคในช่องปาก
  35. รักษาการติดเชื้อที่ผิวหนัง
  36. รักษาแผลไฟไหม้

           มีการนำส้มผดมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ดังนี้

  • ผลส้มผด มีรสเปรี้ยวใช้ปรุงอาหาร ช่วยทำให้อาหารมีรสเปรี้ยวและมีการนำผลส้มผดมาตำใส่เกลือและพริกรับประทาน หรือ นำผลส้มผดมาคลุกกับเกลือ หรือ กะปิก็ได้
  • ใบส้มผดอ่อนใช้แกงกับหน่อไม้รับประทาน
  • เปลือกต้นส้มผดนำมาขุดใส่ลาบเพื่อช่วยเพิ่มปริมาณและทำให้รสชาติอร่อย

ส้มผด

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้แก้ไข้ แก้หวัด แก้ไอ ลดน้ำมูก แก้ปวดแสบลิ้นปี่ แก้ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย อาหารเป็นพิษ ใช้รากส้มผดต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้เจ็บคอ แก้หวัด โดยนำลำต้นและเปลือกต้นส้มผดมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ไอ โดยนำผลส้มผดไปต้มน้ำดื่มผสมกับขิง รับประทาน
  • ใช้แก้ริดสีดวง โดยนำผลส้มผดมาเคี้ยวกินแล้วดื่มน้ำตาม
  • ใช้แก้บาดแผล สมานแผล โดยนำลำต้น หรือ เปลือกต้นส้มผดมาตำพอกบริเวณที่เป็น
  • ใช้แก้แผลฝีหนอง แก้พิษจากยางต้นรัก โดยนำลำต้นส้มผดใช้ต้มกับน้ำล้างบริเวณที่เป็น
  • ใช้รักษาแผล สมานแผล ช่วยห้ามเลือด โดยนำใบสดส้มผดมาตำพอกบริเวณที่เป็น
  • ใช้แก้ผดผื่นคัน โรคผิวหนัง และช่วยให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็วในสตรีหลังคลอด โดยใช้ใบส้มผด มาต้มกับน้ำอาบ

           นอกจากนี้ในประเทศต่างๆ ของทวีปเอเชียยังมีการนำส้มผด มาใช้เป็นยาสมุนไพรพื้นบ้าน ดังนี้

  • ใบส้มผดใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต แก้ไอเป็นเลือด คออักเสบ และกล่องเสียอักเสบ แก้ปวดท้อง ท้องเสีย
  • รากส้มผดใช้แก้โรคท้องร่วง โรคน้ำอสุจิออกมากผิดปกติ โรคมาลาเรีย แก้ไอ และโรคดีซ่าน
  • ผลส้มผดใช้แก้อาการจุกเสียด ท้องเสีย บิด ดีซ่าน และตับอักเสบ
  • เมล็ดส้มผดใช้แก้ไข้ อาการไอ บิด ดีซ่าน โรคตับอักเสบ และโรคไขข้อ
  • หูดจากลำต้นส้มผด ใช้แก้ท้องเสีย เบาหวาน แก้อักเสบ ใช้เป็นยาฝาด สมานห้ามเลือด แก้ไอเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด แก้โรคในช่องปาก แก้ไข้ มาเลเซีย การติดเชื้อที่ผิวหนัง แผลไฟไหม้และริดสีดวงทวาร


ลักษณะทั่วไปของส้มผด

ส้มผด จัดเป็นไม้พุ่ม หรือ ไม้ยืนต้นขนาดกลาง ทรงพุ่มทึบ สูงได้ 8-10 เมตร ลำต้นกลมเป็นนอกเป็นสีน้ำตาลอมขาวหม่น เมื่อต้นยังอ่อนจะมีรูอากาศขนาดใหญ่สีน้ำตาลอมขาวหม่น เมื่อแก่มีรูอากาศขนาดใหญ่สีน้ำตาลอมแดงและจะมียางสีขาวหม่น หรือ ขาวอมเหลือง กิ่งอ่อนมีขนละเอียดๆ สั้นๆ ขึ้นปกคลุมกิ่งอ่อนข้างเปราะหักง่าย

           ใบส้มผด เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเรียงสลับเวียนระหว่างช่อ รอบกิ่ง หรือ ต้น โดยช่อใบยาว 25-40 เซนติเมตร ส่วนก้านช่อใบยาวประมาณ 8-11 เซนติเมตร ใน 1 ช่อใบจะมีใบย่อยออกเป็นคู่ตรงข้ามกันประมาณ 3-6 คู่ ไม่มีก้านใบ ใบย่อยมีลักษณะเป็นรูปไข่กว้าง หรือ รูปไข่แกมขอบขนานถึงรูปใบหอกมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-8 เซนติเมตร โคนใบโค้งมน หรือ อาจจะสอบแคบ ปลายใบแหลม หรือ อาจเป็นติ่งแหลม ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยเล็กๆ ใบอ่อนมีสีเขียวอ่อน มีขนละเอียดสีน้ำตาลขึ้นปกคลุมหนาแน่น เมื่อแกจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้มและจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้มก่อนจะร่วง

           ดอกส้มผด ออกเป็นช่อกระจะแบบแยกแขนงขนาดใหญ่ โดยมักจะออกบริเวณปลายกิ่งใน 1 ช่อดอกจะมีดอกย่อยจำนวนมาก ซึ่งดอกย่อยจะเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ หรือ แยกเพศแยกช่ออยู่บนต้นเดียวกัน หรือ แยกเพศต่างต้นกันก็ได้ โดยช่อดอกเพศผู้จะยาว 30-40 เซนติเมตร ส่วนช่อดอกเพศเมียยาว 15-50 เซนติเมตร สำหรับดอกย่อยมีขนาดเล็กมีกลีบดอก 5 กลีบ เป็นสีขาวแกมเหลือง หรือ เหลืองอ่อนอมเขียวและมีลักษณะเป็นรูปรีกว้าง หรือ รูปขอบขนานมีขนาดกว้าง 1-1.5 มิลลิเมตร ยาว 1.8-2.2 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงสั้น มีโคนเชื่อมติดกันส่วนปลายแยกออกเป็นแฉกรูปสามเหลี่ยม 5 แฉก ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน โดยเกสรที่ไม่เป็นหมันจะยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ส่วนเกสรที่เป็นหมันจะยาวเพียง 1-1.5 มิลลิเมตร รังไข่ค่อนข้างกลมนูนอยู่เหนือฐานวงกลีบรวม มีขนละเอียดขึ้นปกคลุมอย่างหนาแน่น

           ผลส้มผด เป็นผลสด มีลักษณะเป็นรูปกลมแบน มีขนาด 4-6 มิลลิเมตร มีกลีบเลี้ยงรองรับผลอ่อนเป็นสีขาวอมเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนสีชมพูถึงสีแดงจัด ผิวมียางเหนียวและมีขนละเอียดขึ้นปกคลุมอย่างหนาแน่น ด้านในผลมีเมล็ดลักษณะค่อนข้างกลม 1 เมล็ดโดยเมล็ดมีชั้นหุ้มแข็ง

ส้มผด
ส้มผด

การขยายพันธุ์ส้มผด

ส้มผดสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด ซึ่งการขยายพันธุ์ส้มผดนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติ ไม่ค่อยมีการนำมาปลูก โดยมนุษย์ดังนั้นการขยายพันธุ์ของส้มผดจึงเป็นการขยายพันธุ์โดยเมล็ดที่ร่วงลงพื้น หรือ สัตว์ป่ามากินผลแล้วถ่ายมูลที่มีเมล็ดลงสู่พื้น แล้วเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและการปลูกส้มผด นั้น ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและการปลูกไม้พุ่ม หรือ ไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ที่เคยได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของส่วนต่างๆ ของส้มผด ระบุว่ามีพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น gallic acid, methyl gallate, pentagalloylglucose, 3-oxo-6β-hydroxyolean-12-en-28-oic acid, moronic acid, betulinic acid, gallicin, fisetin, dimethylcaffic acid, dihydroxytoluene และ 6-pentadecyl salicylic acid เป็นต้น

โครงสร้างส้มผด
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของส้มผด

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาจากส่วนต่างๆ ของส้มผด ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ดังนี้

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านการอักเสบของสาร Penta-O-galloyl-β-D-glucose (PGG) ซึ่งเป็นสารที่พบปริมาณสูงในสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ได้แก่ ส้มผด (Rhus chinensis) โบตั๋น (Paeonia suffruticosa) เมเปิ้ลซานตง (Acer truncatum) และสมอไทย (Terminalia chebula) โดยสาเหตุของการอักเสบส่วนหนึ่งมาจากการทำงานของนิวโทรฟิล ซึ่งเป็นเม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่ ทำลายเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย โดยกระตุ้นการหลั่ง proteolytic enzymes, pro-inflammatory mediators, adhesion molecules และการผลิตอนุมูลอิสระ (reactive oxygen species [ROS]) จึงทำให้เกิดการอักเสบตามมา ดังนั้นจึงได้ทำการศึกษาผลของ PGG ต่อการทำงานของนิวโทรฟิลที่ถูกกระตุ้นด้วย lipopolysacharide (LPS) และ angiotensin II (Ang II) และที่ไม่ถูกกระตุ้น โดยวัดระดับอนุมูลอิสระ[ROS], เอ็นไซม์ metalloproteinase-9 (MMP-9), ไซโตไคน์ interleukin-8 (IL-8) และวัดการแสดงออกของ adhesion molecules ได้แก่ β2 integrin (CD11b) และ L-selectin (CD62L) ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบ นอกจากนี้ยังวัดการเกิด apoptosis ในการทำลายนิวโทรฟิล ผลการทดสอบพบว่า PGG ที่ความเข้มข้น 5 μM-20 μM มีผลยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระ (ROS) การหลั่ง IL-8 ในนิวโทรฟิลที่ถูกกระตุ้นด้วย LPS และ Ang II ได้ แต่ไม่มีผลต่อการปริมาณ MMP-9 สาร PGG และยังสามารถลดการแสดงออกของ β2 integrin และกระตุ้นการเกิด apoptosis ในนิวโทรฟิลที่ถูกกระตุ้นด้วย LPS และลดการแสดงออกของ L-selectin ซึ่งเป็นโมเลกุลยึดเกาะที่ปรากฏบนผิวเซลล์ ส่งผลให้ป้องกันการเกาะติดของนิวโทรฟิลที่เซลล์เยื่อบุผิวของผนังหลอดเลือด ดังนั้นจากผลการทดลองจึงสรุปได้ว่าสาร PPG ที่พบได้สูงในสมุนไพรที่กล่าวมาข้างต้นมีฤทธิ์ในการต้านการเกิดการอักเสบโดยการลดการทำงานของนิวโทรฟิล

           ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย มีรายงานผลการศึกษาวิจัยระบุว่า สารกลุ่ม gallo tannins ที่พบในส้มผด รวมถึง gallic acid และ methylgallate สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด Bacillus subtilis, B. cereus, Escherichia coli, Enterobacter cloacae, Helicobacter pylori, Klebsiella oxytoca, Lactobacillus casei, L. acidophilus, L. salivarius, Salmonella derby, S. minesota, S. typhimurium, S. enteritidis, Shigella dysenteriae, Staphylococcus aureus, Streptococcus mutans, S. sobrinus, Ureaplasma urealyticum โดยมีความเข้มข้นต่ำสุดที่ยับยั้งได้ (MIC) ในช่วง 0.5-8 มก./มล. นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า gallic acid และ methyl gallate จากส้มผดยังมีฤทธิ์ ยับยั้งแบคทีเรีย S.mutans ที่เป็นสาเหตุของโรคปริทันต์ (MIC=1 มก./มล.) และลดการก่อนตัวของไบโอฟิล์มในหลอดทดลอง อย่างมีนัยสำคัญ

           ฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส มีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสเริมของสารสกัดจากส้มผด ในหนูทดลองมีประสิทธิภาพในการป้องกันและรักษาโรคเริม (HSV) ชนิดที่ 1 (HSV-1) และสารสกัดนี้ยังมีประสิทธิภาพต่อเชื้อ HSV-1 และ HSV ชนิดที่ 2 (HSV-2) ที่ดื้อต่อยาอะไซโคลเวียร์ในหนูอีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาของยาอะไซโคลเวียร์ในหนูที่ติดเชื้อ HSV-1 ได้อีกด้วย

           ฤทธิ์ต้านมะเร็ง มีรายงานผลการศึกษาวิจัยระบุว่าสาร pentagalloylglucose gallic acid มีฤทธิ์ต้านมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอดและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน อีกทั้งยังมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตและการลุกลามของมะเร็งเต้านม มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งผิวหนัง และมะเร็งตับในหลอดทดลอง


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของส้มผด

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้ส้มผด เป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ ตามสรรพคุณนั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสม ที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง ส้มผด
  1. ชยันต์ พิเชียรสุนทร และ วิเชียร จีรวงศ์. คู่มือเภสัชกรรมแผนไทยเล่ม 5 คณะเภสัช. พิมพ์ครั้งที่ 2. กทม. อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 2548. หน้า 123
  2.  ขวัญฤทัย คำฝาเชื้อ 2551 พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยง ที่ตำบลบ้านจันทร์และแจ่มหลวง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ วิทยานิพนธ์. วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 271 หน้า
  3. มะเหลี่ยมหิน. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา, ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 185.
  4. ทิพย์สุดา ตั้งตระกูล. 2541. พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของชาวขมุ ชาวลัวะและชาวถิ่นในบางพื้นที่ของจังหวัดน่านวิทยานิพนธ์. วิทยาศาสตรมหาบัณฑิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 242 หน้า
  5. ผลของสาร Penta-O-galloyl-β-D-glucose(PGG) ในการลดการแสดงออกของ L-selectin ที่มีผลต่อการทำงานของ นิวโทรฟิล (neutrophils). ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. Chayamarit,K.(2010).Anacardaceae.ln Flora of Thailand Vol.10(3):312-317.
  7. Wu-Yuan CD, Chen CY, Wu RT. 1988. Gallotannins inhibit growth, water-insoluble glucan synthesis, and aggregation of Mutans Streptococci. J Dental Res 67: 51-55.
  8. Huh JE, Lee EO, Kim MS et al. 2005. Penta-O-galloyl-beta-D-glucose suppresses tumor growth via inhibition of angiogenesis and stimulation of apoptosis: roles of cyclooxygenase-2 and mitogen‐activated protein kinase pathways. Carcinogenesis 26: 1436-1445.
  9. Min, T. and A. Barfod. (2008).Anacardiaceae.ln Flara of China Vol.11:346.
  10. Hu H, Lee HJ, Jiang C et al. 2008. Penta-1,2,3,4,6-O-galloyl-beta-D-glucose induces p53 and inhibits STAT3 in prostate cancer cells in vitro and suppresses prostate xenograft tumor growth in vivo . Mol Cancer Ther 7: 2681-2691
  11. Kang MS, Oh JS, Kang IC, Homg SJ, Choi CH. 2008. Inhibitory effect of methyl gallate and gallic acid on oral bacteria. J Microbiol 46: 744-750.
  12. Zhang J, Li L, Kim SH, Hagerman AE, Lü J. 2009. Anti-cancer, anti-diabetic and other pharmacologic and biological activities of penta-galloyl-glucose. Pharm Res 26: 2066-2080.
  13. Kurokawa M, Nagasaka K, Hirabayashi T et al. 1995a. Efficacy of traditional herb medicines in combination with acyclovir against herpes simplex virus type 1 infection in vitro and in vivo. Antivir Res 27: 19-37.