วิตามินบี 5
วิตามินบี 5
ชื่อสามัญ Pantothenic acid
ประเภทและข้อแตกต่างวิตามินบี 5
วิตามินบี 5 หรือ กรดแพนโทธีนิค (Pantothenic acid) จัดเป็นวิตามินชนิดที่ลลายได้ในน้ำ และยังอยู่ในกลุ่มวิตามินบีรวม โดยเป็นสารประกอบอินทรีย์เคมีที่เป็นกรดอิสระ มีลักษณะเป็นของเหลวหนืดสีเหลืองอ่อน สลายตัวง่ายเมื่อถูกความร้อนกรดแก่ และด่างแก่ ซึ่งเป้นสารชนิดเดียวกันกับสารที่เป็นปัจจัยการเจริญเติบโตของยีสต์ โดยชื่อของกรดนี้มาจากคำว่า panthos ในภาษากรีก ที่แปลว่า “มีทุกที่ทุกฤดูกาล” หมายความว่าสารอาหารชนิดนี้ (Pantothenic acid) มีอยู่ในสัตว์ และพืชเกือบทุกชนิดตลอดทั้งปี ยังมีประวัติการค้นพบเมื่อ ค.ศ.1938 โดย Dr.R.R. William ซึ่งได้แยกกรดแพนโทเธนิคออกจากตับ และยีสต์
สำหรับประเภทของวิตามินบี 5 (Pantothenic acid) นั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ประเภทที่มีอยู่ในแหล่งอาหารทั่วไปทั้งในสัตว์ และพืช ซึ่งเมื่อรับประทานเข้าไปแล้วร่างกายจะแปรเปลี่ยนเป็นวิตามินบี 5 (Pantothenic acid) ต่อไป และประเภทที่เกิดจากการสกัดแหล่งอาหารที่มีวิตามินบี 5 (Pantothenic acid) โดยจะได้เป็นสารบริสุทธิ์ออกมาในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แต่โดยส่วนมากแล้ว สารสกัดวิตามินบี 5 นี้ มักจะผสมอยู่ในรูปของวิตามินบีรวมมากว่ารูปแบบวิตามินบี 5 เดี่ยวๆ
แหล่งที่พบและแหล่งที่มาวิตามินบี 5
โดยปกติแล้วร่างกายของเราสามารถสังเคราะห์วิตามินบี 5 (Pantothenic acid) ขึ้นเองได้ด้วยแบคทีเรียในลำไส้ โดยสามารถสร้างได้ถึง 2.2 mg/kg. ของน้ำหนักอุจจาระต่อวัน (คนปกติมีอุจจาระในลำไส้ประมาณ 500 กรัม) ทำให้สังเคราะห์วิตามินบี 5 (Pantothenic acid) ประมาณวันละ 1 mg.
ซึ่งก็เป็นประมาณที่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายใน 1 วัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาวิตามินบี 5 จากแหล่งอื่นมาเสริม สำหรับแหล่งของวิตามินบี 5 ในธรรมชาตินั้นอยู่ในรูปของอาหารต่างๆ โดยเฉพาะยีสต์ที่มีปริมาณกรดแพนไทธีนิคสูงมาก
นอกจากนี้ยังพบมากในเนื้อเยื่อต่างๆ ของสัตว์ เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ เช่น หัวใจ ตับ ไต ไข่ ไก่ (ไข่แดง) เนยแข็ง โยเกิร์ต ธัญพืชไม่ขัดสี และพืชสีเขียว
ชนิดอาหาร (100 กรัม) ปริมาณกรดแพนโทธีนิค (มิลลิกรัม)
น้ำนมพาสเจอร์ไรซ์ 0.35
โยเกิร์ตไขมันต่ำ 0.45
นมผงชนิดละลายได้ทันที 4.02
โมเดลลิน 3.03-4.24
ตับ 8.0
ไข่ไก่ ทั้งฟอง 1.77
ไข่แดง 4.6
เนื้อวัว เนื้อแกะ 0.6
เนื้อหมู 0.7-1.1
Royal Jelly (fresh) 11.3
สาหร่ายเกลียวทอง 0.11
เครื่องดื่มมอลด์สกัด 1.72-8.96
ข้าวขาว 0.4
กะหล่ำปลี 0.2
บร็อคโคลี่ 1.2
หัวผักกาด 0.25
เห็ด 2.0
ข้าวโพดหวาน 0.7
ยีสต์ (สำหรับทำขนมปัง) 11.0
แต่อย่างไรก็ตามการคงสภาพของวิตามินบี 5 นี้จะไม่คงทนเพราะมักจะถูก ทำลายโดยความร้อน และกรด เช่น น้ำส้ม น้ำส้มสายชู รวมถึงต่าง เช่น Baking Soda เป็นต้น นอกจากนี้วิตามินบี 5 ในอาหารจะลดลงตามกาลเวลา เช่น อาหารกระป๋อง อาหารแห้ง รวมถึงวิตามินแบบเม็ดจะสูญเสียวิตามินบี 5 ไปประมาณ 50% ในเวลา 1 ปี ผล หรือ ไม้สดในอุณหภูมิห้อง 1 สัปดาห์ จะเสียกรดแพนโทเธนิคไปประมาณ 20%
ปริมาณที่ควรได้รับวิตามินบี 5
สำหรับปริมาณวิตามินบี 5 (Pantothenic acid) ที่ควรได้รับในแต่ละวัน อ้างอิงตามตารางสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคประจำวันสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป (THAI RDI) ตามบัญชีหมายเลข 3 แนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 182) พ.ศ.2541 ระบุว่า ควรบริโภควิตามินบี 5 (Pantothenic acid) 6 มิลลิกรัม/วัน ในส่วนของสารสกัดวิตามินบี 5 ในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งมักจะอยู่ในรูปวิตามินบีรวม มีขนาดที่แนะนำให้บริโภค คือ 10-300 มิลลิกรัม/วัน
ประโยชน์และโทษวิตามินบี 5
วิตามินบี 5 (Pantothenic acid) มีประโยชน์หลายประการ เช่น สลายคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน ให้เป็นพลังงานเพื่อใช้ในแต่ละวัน, สร้างวิตามินเอ และ วิตามินดี ในร่างกาย, สร้าง Acetylcholine ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่สำคัญของระบบพาราซิมพาเทติก, สร้างฮิโมโกลบินและ electron-carrying cytochrome proteins ในเลือด, ช่วยสร้างกรดอะมิโน leucine, arginine และ methionine, สร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค ช่วยลดพิษของยา เช่น ผลจากยาปฏิชีวนะ และผลข้างเคียงของตัวสร้างภูมิคุ้มกัน, รักษาความสมดุลของ ของเหลวเนื้อเยื่อ, ช่วยลดความเจ็บปวดจากโรคข้ออักเสบ, รักษาอาการเหน็บชาที่มือ เท้า และยังช่วยลดความเครียด (Anti-stress vitamin) และมีบทบาทหน้าที่เสริมฤทธิ์ทำงานร่วมกับวิตามินบีอื่นๆ เพื่อรักษาระดับปริมาณวิตามินในร่างกายให้อยู่ในสมดุลอีกครั้ง
สำหรับโทษของวิตามินบี 5 (Pantothenic acid) นั้น หากเป็นการรับประทานในรูปแบบของอาหารทั่วไป ยังไม่มีรายงานการเกิดพิษ เพราะเป็นวิตามินที่ละลายได้ในน้ำ และร่างกายก็สามารถขับออกได้ แต่ส่วนมากมักจะเกิดกับคนที่รับประทานวิตามินบี 5 ในรูปแบบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่รับประทานเกินขนาดมากกว่า 10–20 กรัม โดยจะมีอาการท้องเสีย มีน้ำคั่งในเยื่อหุ้มปอด และเยื่อหุ้มหัวใจ เป็นต้น ส่วนในกรณีที่ร่างกายขวดวิตามินบี 5 นั้นจะส่งผลกระทบต่อร่างกายมากกว่าโดยมีอาการดังนี้ มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เมื่อยล้า อ่อนเพลีย กระตุก หรือ เป็นตะคริวได้ง่าย โดยเฉพาะบริเวณหน้าท้อง มีอาการปวดศีรษะคลื่นไส้อาเจียน แสบร้อนตามผิวหนังเหมือนมีเข็มทิ่มมือ เท้า โลหิตจาง และอาจมีปัญหาการไหลเวียนของเลือด ระบบประสาทผิดปกติ จนเป็นผลให้รู้สึกเหนื่อยง่าย หงุดหงิด และมีภาวะตึงเครียด ผมหงอกขาว ติดเชื้อง่ายมีภูมิต้านทานต่ำ เป็นต้น
ทั้งนี้ผู้ที่ขาดวิตามินบี 5 ก็มักขาดวิตามินบีตัวอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ส่วนการขาดวิตามินบี 12 วิตามินบี 9 วิตามินบี 7 ก็เป็นสาเหตุให้ขาดวิตามินบี 5 เพราะสารตัวดังกล่าวจำเป็นสำหรับเมตาบอลิซึมของกรดแพนโทเธนิค
การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องวิตามินบี 5
มีผลการศึกษาวิจัยระบบ metabolism ของวิตามินบี 5 (Pantothenic acid) ระบุว่า Pantothenic acid เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์โคเอนไซม์เอ (Coenzyme A) มีบทบาทสำคัญในกระบวนการเมแทบอลิซึมของคาร์โบไฮเดรด และลิปิด โดยเฉพาะกรดไขมัน โดยเป็นองค์ประกอบของสารตัวกลาง ในกระบวนการเมแทบอลิซึมที่สำคัญ คือ อะซิติลโคเอ (AcetylcoA) และเกี่ยวข้องในการสังเคราะห์ฮีม (Heme) ยังเป็นสาระสำคัญในกระบวนการ Kreb’s cycle โดยจะดูดซึมบริเวณลำไส้เล็ก ซึ่งจะดูดซึมเข้าไปในร่างกาย และเนื้อเยื่อต่างๆ จากนั้นก็จะถูกเปลี่ยนเป็นโคเอนไซม์ เอ เพื่อเข้าสู่กระบวนการเมตาบิลิซึม เพื่อเป็นพลังงานต่อไป สำหรับ (Pantothenic acid) ส่วนที่เหลือก็จะถูกขับถ่ายออกมาทางปัสสาวะ (ซึ่งอาจจะมีการขับถ่ายทางเหงื่อเล็กน้อย)
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาทางคลินิกเกี่ยวกับฤทธิ์ลดปริมาณไขมันบนใบหน้าของ (Pantothenic acid) ด้วยวิธีการศึกษาแบบ Randomized, double-blind placebo contrclled trial โดยคัดเลือกอาสาสมัครที่มีปัญหาผิวหน้ามัน มาวัดปริมาณไขมันบนใบหน้าด้วยเครื่อง sebumeter ซึ่งเกณฑ์ของอาสาสมัครต้องได้ค่ามากกว่า 100 µg sebum/cm2 จากนั้นอาสาสมัคร 40 คน ได้รับการสุ่มการรักษาเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกได้รับ Pantothenic acid และกลุ่มที่สอง ได้รับยาหลอกในปริมาณ 500 มิลลิกรัม โดยให้รับประทานวันละ 2 ครั้งหลังอาหาร เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ ซึ่งมีการนัดตรวจติดตามปริมาณไขมันบนใบหน้าที่ตำแหน่งต่างๆ ได้แก่ หน้าผาก จมูก แก้มสองข้างที่ 2, 4 และ 8 สัปดาห์หลังการรักษา หลังจากนั้นวัดปริมาณไขมันบนใบหน้าอีกครั้งหลังหยุดยาเป็นเวลา 4 สัปดาห์ และทำการประเมินผลข้างเคียง รวมทั้งความพึงพอใจของอาสาสมัครโดยใช้แบบสอบถาม ใช้สถิติในการประเมินการเปลี่ยนแปลงก่อน และหลังการรักษาด้วย Pair-Samples t-test แล้วเปรียบเทียบผลการักษาระหว่าง ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มอาสาสมัครที่ได้รับแพนโธทีนิค เอซิต มีปริมาณไขมันบริเวณใบหน้าเฉลี่ย ลดลงในสัปดาห์ที่ 8 ซึ่งเหลว (แต่หายได้เอง) ในกลุ่มที่ได้รับแพนโธทีนิค เอซิด คิดเป็นร้อยละ 9.1 และยังพบว่าสามารถลดปริมาณไขมันเฉลี่ยทั่วใบหน้าได้ร้อยละ 14.80 ที่ 8 สัปดาห์ เมื่อเทียบกับยาหลอก
ส่วนผลการศึกษาความเป็นพิษของวิตามินบี 5 (Pantothenic acid) ระบุว่าพบผู้ป่วยที่รับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มี Pantothenic acid วันละ 10-20 กรัม (ซึ่งร่างกายต้องการเพียงวันละ 6 มิลลิกรัม) มีอาการท้องเสีย และมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดรวมถึงเยื่อหุ้มหัวใจชนิดที่มีเม็ดเลือดอิโอสิโนฟิลสูง นอกจากนี้พบว่าการรับประทาน Pantothenic acid ในขนาดที่สูงยังรบกวนการดูดซึมไบโอตินของร่างกายอีกด้วย
ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ
- วิตามินบี 5 มีการทำงานร่วมกับวิตามินอื่นๆ เช่น วิตามินบี 2, 7, 9, 12 ซึ่งหากขาดวิตามินชนิดใดชนิดหนึ่ง อาจทำให้เกิดภาวะขาดวิตามินชนิดอื่นๆ ได้ ดังนั้นควรรับประทานอาหารที่มีสารอาหาร และวิตามินให้ครบเป็นประจำ
- วิตามินบี 5 (Pantothenic acid) สามารถสลายตัวได้ง่าย เมื่อโดนความร้อนกรด และด่าง ดังนั้น ในการเตรียมวัตถุดิบในการเตรียมอาหารหรือการเก็บวิตามินบี 5 ที่เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจึงควรหลีกเลี่ยงสภาวะดังกล่าว
- การรับประทานวิตามินบี 5 ในรูปแบบอาหารเสริมไม่ควรรับประทานเกินขนาดที่ระบุไว้ เพราะมีรายงานการเกิดพิษจากการรับประทานเกินขนาด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้
เอกสารอ้างอิง วิตามินบี 5
- ศรีนวล เจียจันทร์พงษ์, ผู้แปลและเรียบเรียง.อาหาร และสุขภาพ.ฉบับที่ 30. กรุงเทพฯ : ธนวัชช์การพิมพ์, มปป. หน้า 28.
- อรทัย ลีลาพจนาพร. การประยุกต์ใช้กรดแพนโทธีนิค-วิตามินบี 5 ในผลิตภัณฑ์สุขภาพ. วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ปีที่ 50. ฉบับที่ 160. กันยายน 2545. หน้า 28-31
- Earl Mindell and Hester Mundis Arrnonk.The New vitamin bible.New York.2004.
- Machlin,L.J.,edil.Handbook of vitamins.2nded. New York: Marcel Dekker, 1991. P.430-447.
- Gaddi, A., Descovich, G.C., Noseda, G., & Frgiacomo, C. (1984). Controlled evaluation of pantethine , a natural hypolipideimic compound , in patient with different forms of hyperliproproteinemia. Atherosclerosis,50(1), 73-83.
- Kutsky,R.J., Handbook of vitaminsminerals and hormones. 2nd ed. New York:Van Nostrand Rcinhols,1981. P.286-295.
- Murai, A., Miyahara, T., Tanaka, T., & Sako, Y. (1983). Effects of pantethine on lipid and lipoprotein abnormalities insurvivors of cerebrak infarction. Artery, 12(4), 234-243.
- The Technology of vitamins in food. Edited by P.B. Ottaway, Glasgow: Blackies Academic & Professional, 1993. P.35-37.