บวบเหลี่ยม ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
บวบเหลี่ยม งานวิจัยและสรรพคุณ 28ข้อ
ชื่อสมุนไพร บวบเหลี่ยม
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะนอย , หมักนอย ,มะนอยเหลี่ยม (ภาคเหนือ),บักบวม (ภาคอีสาน) , มะนอยหวาน (แม่ฮ่องสอน),กะตอรอ(ปัตตานี) , เดเรส่า , เดเรเนอมู (กะเหรี่ยง) , หมากไห (ไทยใหญ่) อ๊อซีก่วน (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Luffa acutangula (Linn.) Roxb.
ชื่อสามัญ Angled gourd , Angled loofah
วงศ์ Cucurbitaceae
ถิ่นกำเนิดบวบเหลี่ยม
บวบเหลี่ยมมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนเขตเอเชียใต้ โดยเชื่อกันว่าอยู่ในประเทศอินเดีย (เพราะมีการสำรวจพบพืชป่าที่มีลักษณะเดียวกันกับบวบเหลี่ยมในบริเวณ ตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย) ต่อมาได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังบริเวณใกล้เคียง เช่น ศรีลังกา บังคลาเทศ เนปาล และยังมีการแพร่กระจายพันธุ์มาจนถึง ภูมิภาค เอเชียอาคเนย์ ได้แก่ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทุกภาค ซึ่งถือว่าเป็นพืชชนิดหนึ่งที่คนไทยนิยมปลูกกันมาก
ประโยชน์และสรรพคุณบวบเหลี่ยม
- ช่วยบำรุงร่างกาย
- แก้ร้อนใน
- ช่วยขับปัสสาวะ
- ช่วยขับเสมหะ
- รักษาคางทูม
- ช่วยลดไข้
- แก้บิด
- แก้ปวดท้อง
- ช่วยขับน้ำนม
- ช่วยทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ
- รักษาอาการไอเจ็บคอ
- แก้หอบ
- ช่วยใช้รักษาสตรีที่ตกเลือด
- รักษาแผลเรื้อรัง
- รักษากลากเกลื้อน
- รักษาแมลงสัตว์กัดต่อย
- ใช้แก้ปวดศีรษะ
- แก้จมูกอักเสบ
- แก้เจ็บคอ
- แก้บวมช้ำ
- ช่วยระบายท้อง
- แก้หวัด
- แก้ปวดท้อง
- แก้เหน็บชา
- ช่วยขับพยาธิตัวกลม(เนื้อในเมล็ด)
- ช่วยขับนิ่ว
- ช่วยทำให้อาเจียน
- แก้อาการปวดเอวเรื้อรัง
คนไทยรู้จักบวบในฐานะเป็นผักอย่างหนึ่งมากที่สุด ซึ่งบวบเหลี่ยมนับเป็นผักที่รู้จักแพร่หลายหาซื้อได้ในตลาดทั่วประเทศไทยและมีตลอดปี ผลอ่อนของบวบเหลี่ยมใช้ประกอบอาหารได้หลายประเภท โดยจะนิยมต้มหรือนึ่งให้สุกเสียก่อน ส่วนในภาคอีสานบางท้องถิ่นใช้ยอดอ่อนของบวบเหลี่ยมเป็นผักด้วย ซึ่งจะใช้ปรุงอาหารเช่นเดียวกับผลอ่อน แต่จะมีรสขมกว่าผลอ่อน นอกจากใช้ผลอ่อนเป็นผักแล้ว เมื่อผลบวบแก่จนแห้งแล้วจะมีเส้นใยที่เหนียว โปร่ง ยืดหยุ่นได้ดี จึงมีการ นำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ใช้ถูตัว หรือนำมาขัดถูล้างถ้วยชามแทนฝอยขัดชนิดต่าง นอกจากนี้ยังนำมาใช้ตกแต่งเป็นดอกไม้ประดิษฐ์รูปแบบต่าง ๆ ได้อีกด้วย รวมทั้งใช้รองป้านชา และยัดในรองเท้า เพื่อรักษารูปทรงได้อีกด้วย
ลักษณะทั่วไปบวบเหลี่ยม
บวบเหลี่ยมจัดเป็นพรรณไม้เถาเลื้อยหรือเป็นล้มลุกมีอายุเพียงปีเดียว ชอบเลื้อยพาดพันไปตามต้นไม้อื่นหรือทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน เถาหรือลำต้นเป็นเหลี่ยม ตามบริเวณข้อเถามีมือสำหรับใช้ยึดเกาะเป็นเส้นยาว บางทีแยกเป็นหลายแขนง โคนต้นจะมีขนาดใหญ่กว่าปลายยอด ใบดอกเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบทั่วคล้ายกับใบบวบหอม แต่จะมีรอยเว้าเข้าตื้นกว่า ลักษณะของใบเป็นรูป 5-7 เหลี่ยม ปลายใบแหลม โคนใบมนเว้า หลังใบและท้องใบเรียบ มองเห็นเส้นใบได้ชัดเจนทั้งสองด้าน เนื้อใบค่อนข้างหนา ก้านใบเป็นเหลี่ยม โดยยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ดอกออกเป็นดอกเดี่ยว แยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียวกัน ดอกจะออกเป็นช่อๆ ตามซอกใบ กลีบดอกเป็นสีเหลือง มีกลีบดอก 5 กลีบ เป็นรูปไข่กลมบางและย่น โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ด้านนอกมีขนสั้นและอ่อนนุ่มปกคลุมอยู่ ดอกเพศผู้จะมีเกสรเพศผู้ประมาณ 2-3 ก้าน ส่วนดอกเพศเมียรังไข่จะเป็นรูปขอบขนาน ท่อรังไข่เป็นรูปทรงกระบอกภายในรังไข่มีช่อง 3 ช่อง และมีไข่อ่อนเป็นจำนวนมาก ผลเป็นรูปทรงกระบอก มีขนาดสั้นกว่าบวบหอม แต่ผลจะมีเหลี่ยมเป็นสันตามความยาวของผล โดยผลจะมีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร เปลือกของผลหนา ปลายผลโตโคนผลเรียวเล็ก เนื้อในผลมีรสขม ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดเมื่อแห้งจะเป็นเมล็ด สีมีลักษณะสีดำแบนมันวาว ในหนึ่งผลจะมีเมล็ดเป็นจำนวนมาก
การขยายพันธุ์บวบเหลี่ยม
บวบเหลี่ยมสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ดโดยมีขั้นตอนการขยายพันธุ์ดังนี้
การเตรียมแปลงสำหรับปลูกควรไถดินตากแดดประมาณ 7-10 วัน เพื่อทำลายวัชพืชและศัตรูพืชแล้วไถพรวนซ้ำอีกครั้ง แล้วจึงหว่านปูนขาว และใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกอัตรา 2,000 กิโลกรัม/ไร่ ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 30 กิโลกรัม/ไร่ เสร็จแล้วให้ยกแปลงสูง 4-5 นิ้ว กว้าง 120 ซม. เสร็จแล้วจึงทำการขุดหลุมปลูก โดยมีระยะห่างระหว่างต้น 75 ซม.และระหว่างแถว 100 ซม.สำหรับการปลูกมี 2 วิธี คือ
1. การเพาะกล้า โดยการเตรียมเมล็ดพันธุ์ แช่น้ำอุ่นที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส 30 นาที แล้วจึงนำไปวางในอุณหภูมิห้องจนกว่าเมล็ดงอกและมีรากยาวประมาณ 0.5 ซม.จึงจะนำไปเพาะ จากนั้นให้เตรียมดินเพาะกล้า โดยมีอัตราส่วนดิน:ปุ๋ยคอก 2:1 แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากันใส่ในถาดหลุมเพาะเมล็ด เพื่อเตรียมหยอดเมล็ดแล้วจึงนำเมล็ดที่เตรียมไว้หยอดลงในหลุมเพาะเมล็ด กลบดินประมาณ 1 ซม.แล้วนำถามเพาะกล้าไปไว้ในบริเวณที่ร่ม หรือมีวัสดุพรางแสง รดน้ำทันทีด้วยบัวฝอย เมื่อมีใบจริง 3-4 ใบ จึงนำย้ายปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ คลุมด้วยฟาง รดน้ำให้ชุ่มพร้อมทำค้างทันที
2. การหยอดเมล็ด เมื่อเตรียมดินและหลุมปลูกตามที่ระบุไว้ในข้อ 1 แล้ว ให้ทำการหยอดเมล็ด 3-4 เมล็ด ต่อหลุมกลบดิน คลุมด้วยฟาง รดน้ำให้ชุ่ม
สำหรับการทำค้างให้ใช้ไม้ไผ่ที่มีลำต้นตรง ความยาว 2-2.5 เมตร ปักตั้งฉากกับพื้นดิน ให้สูงเหนือผิวแปลง 2 เมตร หลุมละ 1 ค้างแล้วใช้ไม้อีกอันประกบส่วนปลายค้างให้ต่ำกว่าปลายค้าง 25 ซม.ให้ไม้ค้างที่ประกบขนานกับผิวแปลง แล้วใช้ไม้คำยันหัวท้ายข้างละ 2 อันไขว้ไม้ค้ำยันตรงบริเวณที่ไม้ประกบมัดติดกับปลายไม้ค้างส่วนบน ให้โคนไม้ค้ำยันห่างจากไม้ค้างที่ปักข้างละ 20 ซม. เพื่อใช้ยืดต้นพืชและกันการกระพือของลมแรง และรับน้ำหนักเถาบวมได้เต็มที่
ทั้งนี้การปักค้างควรทำทันทีที่หยอดเมล็ดดีกว่าปักเมื่อมีต้นพืชงอกขึ้นมาแล้ว เพราะไม้ค้างที่ปักในภายหลังอาจทำให้รากพืชขาดเสียหายได้ นอกจากนี้การปักค้างก่อนยังช่วยบอกตำแหน่งของหลุมที่ต้นพืชจะงอกขึ้นมาอีกด้วย
องค์ประกอบทางเคมีบวบเหลี่ยม
จากการศึกษาวิจัยพบว่าในส่วนต่างๆ ของบวบเหลี่ยมมีสารอยู่หลายชนิด เช่น เมล็ดบวบมีรสขมจะมีสาร Cucurbitacin B และยังมีสาร Elatarin ที่มีฤทธิ์เป็นยาระบาย นอกจากนี้ในส่วนของผล ยังมีสารต่างๆอีกเช่น Oleic acid, Stearic acid, Palmitic acid และมี Lignoceric acid, Linoleic acid, Apigenin , P-Coumaric acid เป็นต้น นอกจากนี้ บวบเหลี่ยมเมื่อนำมาบริโภคยังมีคุณค่าทางโภชนาการอีกดังนี้
คุณค่าทางโภชนาการของผลบวบเหลี่ยม ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 18 กิโลแคลอรี
- น้ำ 95.4 กรัม
- เถ้า 0.4 กรัม
- ใยอาหาร 0.3 กรัม
- โปรตีน 0.7 กรัม
- ไขมัน 0.2 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 3.3 กรัม
- เบตาแคโรทีน 30 ไมโครกรัม
- วิตามินเอ 5 RE
- วิตามินบี 1 0.02 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 2 0.04 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 3 0.4 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 15 มิลลิกรัม
- แคลเซียม 5 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 24 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 0.7 มิลลิกรัม
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของบวบเหลี่ยม
ที่มา : Wikipedia
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
แก้โพรงจมูกอักเสบเรื้อรัง ด้วยการนำรากบวบเหลี่ยมนำมาต้มกับน้ำใช้ดื่ม หรือจะใช้ดอกสดตำร่วมกับฮั่วเถ่าเช่าสด ใช้เป็นยาพอกก็ได้หรืออาจจะใช้เถาบริเวณใกล้กับรากนำไปเผาให้เป็นถ่าน แล้วบดให้เป็นผงผสมกับเหล้ากิน
ใช้ระยายท้อง แก้เจ็บคอ แก้อาการบวมช้ำ โดยนำรากบวบตากแห้งต้มกับน้ำ ชงเป็นชาดื่ม
ใช้รักษาคางทูม โดยใช้ใยผล (รังบวบ) เผาเป็นถ่าน ผสมกับน้ำใช้ทาบริเวณที่ปวด
ใช้ขับเสมหะขับปัสสาวะให้นำใบบวบตากแห้ง 5 กรัม ชงกับน้ำร้อน 1 แก้วกาแฟ ดื่มก่อนอาหาร เช้า-เย็น
ใช้รักษาอาการไอ เจ็บคอ และหอบ ด้วยการใช้ดอกแห้งประมาณ 6-10 กรัมผสมต้มแล้วรินมาผสมกับน้ำผึ้งใช้จิบเป็นยา หรือจะใช้น้ำจากเถาสดผสมกับน้ำตาลทรายเล็กน้อยจิบกินพอประมาณก็ใช้เป็นยาแก้ไอ ได้เช่นกัน
ใช้รักษาหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โดยใช้เถาแห้งประมาณ ประมาณ 250 กรัม หั่นเป็นฝอยแล้วแช่กับน้ำจนพองตัว แล้วนำไปต้มแยกเอากากออก ใส่น้ำตาลพอประมาณ แล้วกินวันละ 2-3 ครั้งติดต่อกันประมาณ 10 วัน ใบแก้บิด ใช้ใบให้ใช้ประมาณ 500-600มิลลิกรัม นำมาต้มกับน้ำกิน
ใช้ขับพยาธิตัวกลม นำเมล็ดแก่มาเคี้ยวกินตอนท้องว่าง (เด็กให้กินครั้งละประมาณ 30 เม็ด หากเป็นผู้ใหญ่ให้ใช้ 40-50 เม็ด) ติดต่อกัน 2 วัน หรือจะนำมาเมล็ดแห้งบดให้ละเอียดใส่แคปซูลกินวันละครั้งก็ได้
ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ โดยใช้ดอกแห้งประมาณ 10กรัมนำไปต้มกับน้ำดื่ม หรือใช้ใบสด 1 กำมือนำมาต้มกับน้ำ ใส่น้ำพอท่วมแล้วต้มจนเดือดแล้วนำน้ำที่ได้มาดื่ม
แก้อาการบวมน้ำ ด้วยการใช้น้ำจากเถาผสมกับน้ำตาลทรายกิน หรือนำราก มาต้มกับน้ำดื่ม หรือจะช่วยบำรุงร่างกาย แก้ร้อนใน ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ ลดไข้โดยการนำผลอ่อนมาประกอบอาหารรับประทานหรือจะนำผลอ่อนใส่น้ำพอท่วมต้มให้เดือดใช้ดื่มวันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น ก็ได้
แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย แก้พิษคัน รักษาบาดแผลเรื้อรัง แผลจากแมลงสัตว์กัดต่อย ผิวหนังเป็นผดผื่นคัน รักษากลากเกลื้อน ด้วยการใช้ใบนำมาต้มเอาแต่น้ำใช้ชะล้าง หรือใช้ใบสดตำพอก หรือใช้ใบแห้งบดให้เป็นผงละเอียดผสมเป็นยาทาก็ได้
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
สรรพคุณทางยาของบวบเหลี่ยม ฤทธิ์ปกป้องตับจากสารพิษ มีการศึกษาวิจัยสารสกัดน้ำผสมแอลกอฮอล์ ที่แสดงฤทธิ์ปกป้องตับจากสารพิษ (carbon tetrachloride และ rifampicin) ในหนูทดลอง โดยมีกลไกหลายชนิด เช่น เพิ่มประสิทธิการทำงานของสารต้านอนุมูลอิสระที่ร่างกายสร้างขึ้นได้ ทั้งที่เป็นเอนโซม์ (catalase และ superoxide dismutase) และกลูต้าไธโอน (glutathione) ทำให้ลักษณะของเซลล์ตับดีขึ้นและลดปฏิกิริยาการเกิดออกซเดชั่นของไขมัน ทำให้ระดับเอนไซมืที่บ่งถึงการอักเสบของตับ (AST , ALT , ALP และ LDH) ในเลือดสัตว์ทดลองลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์ทดลองกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้กินสารสกัด
ฤทธิ์รักษาภูมิแพ้ผิวหนัง จากการศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่ง ระบุผลการทดลองว่า หลังจากทาสารสกัดจากบวบในบริเวณที่มีอาการเป็นเวลา 4 สัปดาห์ จะช่วยลดการอักเสบและยับยั้งการเกิดผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้
ฤทธิ์แก้อักเสบในโรคไซนัสอักเสบ มีการศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งระบุผลการศึกษาทดลองว่า การใช้ยาพ่นจมูกที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากบวบมีประสิทธิภาพในการรักษาไซนัสอักเสบได้ดี เมื่อเทียบกับการรักษาโดยใช้สารละลายน้ำเกลือ
การศึกษาทางพิษวิทยา
มีผลการศึกษาทางพิษวิทยาของบวบเหลี่ยมระบุว่า เมล็ดมีผลทำให้หนูแท้ง และสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์จากเมล็ดบวบเหลี่ยมในขนาด 1 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม มีผลทำให้สุนัขที่กินเข้าไปตาย โดยก่อนตายจะมีอาการน้ำลายฟูมปากอาเจียน และยังพบว่ามีเลือดออกในลำไส้
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน เมล็ดแก่ของบวบเหลี่ยมเพราะมีผลการศึกษาวิจัยพบว่าทำให้หนูทดลองแท้ง
- เมล็ดแก่ของบวบเหลี่ยมมีฤทธิ์เป็นยาระบาย และทำให้ท้องเสียอย่างรุนแรงได้ หากรับประทานเข้าไปมาก เพราะมีสาร Elaterin และอาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย
- ในการใช้บวบเหลี่ยมเป็นอาหารไม่มีอันตรายแต่อย่างใด แต่หากใช้เป็นสมุนไพรนั้น ควรระมัดระวังในการใช้ โดยควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสมไม่ใช้มากเกินไป และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องการรับประทานยาต่อเนื่อง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้บวบเหลี่ยมเป็นสุมนไพรในการรักษาโรคเสมอ
เอกสารอ้างอิง
- รศ.พร้อมจิต ศรลัมพ์.แกงเลียง...อาหารเด็ด ของคนไทย.จุลสารข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.ปีที่30.ฉบับที่3.เมษายน2556.หน้า2-8
- ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. . “บวบเหลี่ยม”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 หน้า 410-412.
- เดชา ศิริภัทร.บวบ:ผักผลพื้นบ้าน ดอกนั้นสีงาม.คอลัมน์ ต้นไม้ใบหญ้า.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 201.มกราคม.2539
- ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์.“ขยัน (Khayan)” หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. . หน้า 58.
- การปลูกบวบ ฟักทอง มะระ แตงกวา ถั่วฝักยาว.เอกสารเผยแพร่.กลุ่มส่งเสริมการผลิตผัก สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- ความเป็นพิษของเมล็ดบวบ.กระดาน ถาม-ตอบ .สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=5464