ใบระบาด ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

ใบระบาด งานวิจัยและสรรพคุณ 12 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ใบระบาด
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่ ผัดระบาด, เมืองมอน
ชื่อวิทยาศาสตร์  Argyruia nervosa (Burm.f) Bojer
ชื่อสามัญ  Baby Hawaiian Woodrose, Baby Wood Rose, Morning Glory
วงศ์  CONVOLVOLACEAE

ถิ่นกำเนิดใบระบาด

ใบระบาดเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชีย อาทิเช่น อินเดีย, ศรีลังกา, พม่า, ไทย, ลาว, กัมพูชา และมาเลเซีย เป็นต้น แต่อีกข้อมูลหนึ่งระบุว่าใบระบาดเป็นพืชพื้นเมืองของประเทศอินเดีย โดยมีชื่อทางภาษาสันสกฤตว่า (Vidhara) ส่วนในปัจจุบันนั้นใบระบาดได้มีการกระจายพันธุ์ไปทั่วโลก ซึ่งจะพบได้ในพืชที่รกร้างที่มีแสงแดดจัด และดินร่วนซุย โดยจะพบได้มากในเกาะฮาวายและประเทศในแถบทะเลแคริบเบียน

ประโยชน์และสรรพคุณใบระบาด

  1. รักษาผื่นคัน
  2. รักษาโรคผิวหนังต่างๆ
  3. ใช้รักษาพอกฝี
  4. รักษาะบาดแผล
  5. แก้หูอักเสบ
  6. ใช้ขับน้ำเหลือง
  7. ช่วยบำรุงกำลัง
  8. แก้ไขข้ออักเสบ
  9. ช่วยขับปัสสาวะ
  10. ใช้กระตุ้นกำหนัด
  11. รักษาโรคอ้วน
  12. แก้แผลอักเสบ

           นอกจากนี้ยังมีการนิยมนำต้นใบระบาดมาปลูกเป็นไม้ประดับ ตามอาคารสถานที่ต่างๆ หรือ ตามซุ้มประตู สวนสาธารณะเนื่องจากมีใบเป็นทรงพุ่ม และมีดอกสีสันสวยงาม อีกด้วย 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

การใช้สมุนไพรใบระบาดในตำรายาไทยได้มีการระบุถึงรูปแบบ และขนาดวิธีใช้ ดังนี้ ใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน โดยใช้ใบสด 2-3 ใบ นำมาล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียด ใช้ทาบริเวณที่เป็นโรคผิวหนัง วันละ 2-3 ครั้ง ติดต่อกัน 3-4 วันจะเห็นผล ใช้พอกฝีโดยใช้ใบตำให้ละเอียด ทา หรือ พอกวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น จนอาการทุเลาลง ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง รักษาโรคอ้วนที่เกิดจากการสะสมของไขมัน ขับปัสสาวะ กระตุ้นกำหนัด ขับน้ำเหลืองเสียโดยใช้รากใบระบาดพอประมาณมาต้มกับน้ำดื่ม


ลักษณะทั่วไปใบระบาด

ใบระบาดจัดเป็นพรรณไม้เถาในวงศ์ผักบุ้ง (Convolvulaceae) ลำต้น หรือ เถาสามารถยาวได้ถึง 10 เมตร โดยตามเถาจะมีขนสีขาวปกคลุม ทุกส่วนและยังมียางสีขาวในทุกๆ ส่วนของต้น (เถา) อีกด้วย ใบเป็นแบบเดี่ยวลักษณะเป็นรูปหัวใจ โคนใบมนเว้า ออกแบบเรียงสลับ ปลายใบแหลม หลังใบเรียบเป็นสีเขียวเข้ม ด้านล่างของใบมีขนนุ่มสีขาวคล้ายเส้นไหมขึ้นปกคลุม มีขนาดกว้างประมาณ 9-20 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ และข้อต้นโดยช่อหนึ่งจะมีดอกย่อยประมาณ 3-5 ดอก ซึ่งจะเป็นสีชมพูอมม่วง รูปกรวย ยาวประมาณ 6 เซนติเมตร โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายบาน และหยักเป็นแฉกตื้นๆ ตรงกลางดอกข้างในหลอดเป็นสีม่วงเข้ม เมื่อดอกบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 เซนติเมตร และมีใบประดับเป็นรูปไข่ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ มีขนาดไม่เท่ากัน ผลออกเป็นผลสด รูปทรงกลมสีน้ำตาลอมเหลือง มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร ปลายผลมีติ่ง ส่วนเมล็ดเล็กมีสีดำ

ใบระบาด

ใบระบาด

การขยายพันธุ์ใบระบาด

ใบระบาดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ชอบแสงแดดจัด และชอบดินส่วนซุยที่มีความชื้นปานกลาง ซึ่งสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธีเช่น การตอนกิ่ง การปักชำ การเพาะเมล็ด และการทาบกิ่ง เป็นต้น ส่วนวิธีที่เป็นผลดี และเป็นที่นิยม คือ การตอนกิ่ง สำหรับการปลูกขนาดหลุมที่ใช้ปลูกควรให้มีความ กว้างxยาวxลึก ประมาณ 30 เซนติเมตร และผสมดินที่ปลูกด้วยปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมักในอัตรา 2:1 และควรทำซุ้ม ทำร้าน ทำค้าง หรือ ปลูกริมรั้ว เพื่อให้สามารถเกาะเลื้อยไปได้ นอกจากนี้ในแต่ละปีควรให้ปุ๋ยประมาณ 4-5 ครั้ง โดยใช้ปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมักใส่ประมาณต้นละ 0.5-1 กก. และควรให้น้ำสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง

องค์ประกอบทางเคมีใบระบาด

สำหรับองค์ประกอบทางเคมีของส่วนต่างๆ ของสมุนไพรใบระบาดนั้น จากการศึกษาค้นคว้ายังไม่ค่อยมีการศึกษาถึงองค์ประกอบทางเคมีของพืชชนิดนี้มากนัก ดังนั้นจึงยังไม่สามารถนำมาเสนอในบทความนี้ได้ ซึ่งจากการศึกษาค้นคว้าพบข้อมูลเพียงว่า เมล็ดของใบระบาดมีสารในกลุ่ม ergotalkaloid ได้แก่ lysergic acid amide (LSA) ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท โดยสามารถทำให้ประสาทหลอน และปรับเปลี่ยนการมองเห็นของสีได้ ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่า ในส่วนของเมล็ดใบและผลของพืชชนิดนี้จะมีสาร cyanogenic glycosides ซึ่งมีความเป็นพิษเช่นเดียวกัน

โครงสร้างใบระบาด 

การศึกษาทางเภสัชวิทยาใบระบาด

มีข้อมูลผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสมุนไพรใบระบาดพบว่า สารสกัดด้วยน้ำของใบระบาดมีฤทธิ์ลดการอักเสบในหนูแรท และยังมีรายงานการใช้ใบระบาดตำ และพอกบริเวณแผลในคนไข้ พบว่าทำให้แผลแห้ง และหายในที่สุด ซึ่งมีการศึกษาวิจัยพบว่าใบระบาดมีส่วนทำให้แผลแห้ง และหายเร็วขึ้นได้ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ ของสมุนไพรใบระบาดพบว่า มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา ต้านการหดเกร็งของกล้ามเนื้อลำไส้ ลดความดันโลหิต ส่งเสริมปริมาณ และการเคลื่อนไหวของอสุจิ และยังมีฤทธิ์ฆ่าพยาธิ filarial อีกด้วย

การศึกษาทางพิษวิทยาใบระบาด

มีการศึกษาทางพิษวิทยาของสมุนไพรใบระบาดพบว่าส่วนที่เป็นพิษของสมุนไพรดังกล่าว ได้แก่ส่วนของใบ ผล และเมล็ด โดยพบว่ามีสาร Lysergic acid amide (LSA) และ Cyanogenic glycosides ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดพิษ เป็นส่วนประกอบ

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ใบของใบระบาดเป็นสมุนไพรที่ใช้เฉพาะภายนอกห้ามรับประทาน เนื่องจากหากรับประทานเข้าไป อาจทำให้คลุ้มคลั่ง ตาพร่า มึนงง ส่วนเมล็ดก็มีความเป็นพิษเช่นกันโดยหากรับประทานเข้าไป จะทำให้ประสาทหลอนได้เช่นกัน

เอกสารอ้างอิง ใบระบาด
  1. สวนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพฯ: บริษัทประชาชน จำกัด. 2544.
  2. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “ใบละบาท” หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย. หน้า 443-444.
  3. พร้อมจิต ศรลัมพ์, วงศ์สถิต ฉั่วกุล, สมภพ ประธานนุรารักษ์. สารานุกรมสมุนไพร เล่ม 1 สมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. กรุงเทพฯ: บริษัทประชาชน จำกัด. 2548.
  4. ธาตรี ผดุงเจริญ, สุชาดา สุขสร่อง. พืชสมุนไพรจากไม้ดอกม่วง. ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 71 หน้า.
  5. เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, นิจศิริ เรืองรังสี, กัญจนา ดีวิเศษ. สมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : บริษัท สามเจริญพานิชย์ (กรุงเทพ) จำกัด. 2549.
  6. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “ใบระบาด (Bai Rabat)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 168.
  7. นันทวัน บุญยะประภัศร, อรนช โชคชัยเจริญพร, บรรณาธิการ. สมุนไพรไม้พื้นบ้าน. กรุเทพฯ: บริษัท ประชาชน จำกัด. 2543.
  8. ใบระบาด. กลุ่มยารักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน กลากเกลื้อน. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants-data/herbs/herbs-02_5.htm