สิรินธรวัลลี ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

สิรินธรวัลลี งานวิจัยและสรรพคุณ 19 ข้อ


ชื่อสมุนไพร สิรินธรวัลลี
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ประดงแดง, สามสิบสองประดง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Bauhinia sirindhorniae (K.Larsen & S.S.Lasen)
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Phanera sirindhornia
วงศ์ LEGUMINOSAE


ถิ่นกำเนิดสิรินธรวัลลี

สิรินธรวัลลี จัดเป็นไม้เถาที่เพิ่งค้นพบครั้งแรกในโลก จ.หนองคาย ของไทย เมื่อไม่นานมานี้ โดยประมาณปี พ.ศ.2538 ดร.ชวลิต นิยมธรรม และคณะ ได้เดินทางเข้าสำรวจพันธุ์ไม้บนเทือกเขาในจังหวัดหนองคาย และได้พบต้นเสี้ยวที่มีลักษณะแตกต่างกับกับเสี้ยวชนิดอื่นๆ ต่อมา ศาสตร์จารย์ Kai Larsen ชาวเดนมารก์ นักพฤกษศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้ได้เดินทางมาตรวจสอบ ตัวอย่างต้นเสี้ยวที่พบอย่างละเอียด ปรากฏว่า ตัวอย่างต้นเสี้ยวดังกล่าว เป็นพันธุ์ไม้ชนิดใหม่ที่ยังไม่เคยค้นพบมาก่อน ดังนั้นทางกรมป่าไม้จึงขอพระราชทานการตั้งชื่อประจำเสี้ยวพันธุ์นี้ ด้วยการใช้พระนามาภิไธยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เนื่องจากพระองค์ได้ทรงสนพระทัยเกี่ยวกับทางด้านพฤกษศาสตร์มาตลอด ในชื่อว่า Bauhinia sirindhorniae K.& S.S. Larsen และต่อมาปี พ.ศ.2542 นักพฤกษศาสตร์ได้มีการค้นพบแหล่งของสิรินธรวัลลี พิ่มขึ้นมาอีก คือ บริเวณเทือกเขาภูพาน จ.สกลนคร ในปัจจุบันสามารถพบ สิรินธรวัลลี ได้เพิ่มเติม ทั้งในภาคอีสานของไทยและในประเทศลาว ในระดับความสูง 150-200 เมตร จากระดับน้ำทะเล โดยจะพบได้มากใน จังหวัดหนองคาย จังหวัดสกลนคร นครพนม และจังหวัดใกล้เคียง ที่บริเวณป่าดิบแล้ง หรือ ป่าเบญจพรรณ

ประโยชน์และสรรพคุณสิรินธรวัลลี

  • ใช้บำรุงกำลัง
  • รักษาอาการประดงที่เกิดจากระบบโลหิตในร่างกายต่างๆ ประดงทั้งสามสิบสองประการ
  • แก้ผื่นคัน
  • แก้ผื่นแพ้
  • แก้ลมพิษ
  • แก้ปวดแสบปวดร้อน
  • แก้น้ำเหลืองเสีย
  • แก้ภูมิแพ้ต่างๆ
  • แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • แก้โรคผิวหนัง
  • ช่วยรักษาแผลสด
  • แก้แมลงสัตว์กัดต่อย 
  • ช่วยขับพยาธิ
  • รักษาแผลมีน้ำหนอง
  • ช่วยเจริญอาหาร
  • ช่วยบำรุงระบบประสาท
  • ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือด
  • บำรุงร่างกาย
  • ช่วยขับปัสสาวะ

           ประโยชน์หลักๆ ของสิรินธรวัลลี คือ การนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ และใช้เป็นยาสมุนไพร โดยในการนำสิรินธรวัลลี มาปลูกเป็นไม้ประดับนั้น เนื่องจากดอกสิรินธรวัลลีออกดอกเป็นช่อใหญ่ และมีสีน้ำตาลแดงสวยงาม ส่วนลำต้นเป็นเถาเลื้อยหนา และแตกใบดกร่มตลอดปี จึงเหมาะในการทำซุ้มสำหรับเป็นร่มเงาบังแดด


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้แก้ประดงทั้ง 32 ประการ แก้น้ำเหลืองเสีย ลมพิษ ภูมิแพ้ และบำรุงกำลัง โดยนำเถาสิรินธรวัลลี มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ประดงข้อ ประดงผิวหนัง แก้ปวดเมื่อย โดยนำราก หรือ เถามาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้โรคผิวหนัง ผดผื่นคัน ลมพิษ โดยนำราก หรือ เปลือกต้นมาต้มกับน้ำอาบ ใช้รักษาแผลสด แผลมีหนอง โดยใช้รากมาฝนทาบริเวณที่เป็น หรือ ใช้ใบสดมาบดประคบก็ได้ ใช้ขับพยาธิโดยใช้ใบมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้บำรุงประสาท บำรุงร่างกาย กระตุ้มการไหลเวียนของโลหิต ช่วยเจริญอาหาร ขับปัสสาวะ โดยนำดอกมาตากแห้ง นำมาต้ม หรือ ชงกับน้ำร้อนดื่ม

ลักษณะทั่วไปของสิรินธรวัลลี

สิรินธรวัลลี จัดเป็นไม้เถาขนาดใหญ่เนื้อแข็ง เถามีความยาว 10-20 เมตร กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดงขึ้นปกคลุม กิ่งแก่สีน้ำตาลอมเทาผิวเกลี้ยงบริเวณเถามีมือเกาะม้วนงอ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกแบบเรียงสลับกันบนกิ่ง แผ่นใบเป็นรูปไข่เกือบกลมคล้ายรูปหัวใจ มีขนาดกว้าง 4-17 เซนติเมตร ยาว 5-18 เซนติเมตร โคนใบกว้าง เว้าตรงกลางลึกจนเกือบถึงโคนใบคล้ายฐานรูปหัวใจ ปลายใบสอบ โค้งมน แผ่นใบหนา และหยาบ แผ่นใบ ขอบใบเรียบ แผ่นใบด้านบนมีสีเขียวเข้ม เป็นมัน แผ่นใบด้านล่างมีสีจางกว่า มีขนปกคลุมเล็กน้อยและมีก้านใบยาว 2-6.5 เซนติเมตร ดอก ออกเป็นช่อกระจุกซ้อนที่ปลายกิ่ง หรือ ปลายยอดช่อดอกยาวได้ถึง 15 เซนติเมตร ในแต่ละช่อมีดอกย่อยสีน้ำตาลแดงจำนวนมาก ลักษณะของดอกตูมเป็นรูปรี ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร เมื่อบานจะกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร และมีใบประดับ 2 ใบ รูปใบหอก ด้านในเกลี้ยง ด้านนอกมีขน มีก้านดอกย่อยยาว 1.5-2 เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่ม กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ โคนเชื่อมกันปลายแยก ยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร กว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร ผิวนอกมีขนหนาแน่น กลีบดอก มี 5 กลีบ รูปใบหอกแคบ สีส้มแดง ถึงน้ำตาลแดงกว้าง 3-6 มิลลิเมตร ยาว 9-13 มิลลิเมตร ด้านนอกมีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น ผลออกเป็นฝัก มีลักษณะแบนรูปขอบขนานปลายมีติ่งแหลม ฝักกว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 15-20 เซนติเมตร เปลือกฝักมีสีน้ำตาลแดง และมีขนสีน้ำตาลแดงปกคลุมแน่น ด้านในฝักมีเมล็ดลักษณะกลมแบนเปลือกเมล็ดสีดำ 5-7 เมล็ด  โดยขนาดเมล็ดมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5-2 เซนติเมตร

สิรินธรวัลลี

สิรินธรวัลลี

การขยายพันธุ์สิรินธรวัลลี

สิรินธรวัลลีสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การเพาะเมล็ด การตอนกิ่งและการปักชำกิ่ง ทั้งนี้ สิรินธรวัลลี สามารถเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย หรือ ดินร่วนที่มีการระบายน้ำได้ดี และยังเป็นพืชที่ชอบแสงแดดตลอดวัน ชอบน้ำปานกลาง สำหรับวิธีการขยายพันธุสิรินธรวัลลีทั้งการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง หรือ การปักชำกิ่ง ก็สามารถทได้เช่นเดียวกันกับ การเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และการปักชำกิ่ง พันธุ์ไม้ชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากราก และเถาของสิรินธรวัลลี ระบุว่า พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทเช่น (25)-eriodictyol,(25)-naringenin, luteolin, isoliquiritigenin4-methyl ether, lithospermoside, menisdaurin, lupeol, (+)-taxifolin, glutinol, (-)-epicatechin,5,7-dihydroxychromone, protocatechuic acid เป็นต้น

โครงสร้างสิรินธรวัลลี

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสิรินธรวัลลี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดสิรินธรวัลลี จากส่วนต่างๆ ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการอาทิเช่น มีการศึกษาวิจัยโดยนำสารสกัดจากเถาสิรินธรวัลลีใน 20% เอทานอลมาทดสอบปฏิกิริยาเปลี่ยน L-Dopa ไปเป็นโดปาโครม (Dopachrome) โดยเอนไซม์ไทโรซิเนสจากเห็ด โดยเทียบกับสารละลายมาตรฐาน kojic acid พบวาสารละลายตัวอย่างทุกความเข้มข้นมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส จากเถาสิรินธรวัลลีมีค่า IC50 = 0.08 มก./มล. เมื่อเทียบกับค่า IC50 ของสารละลายมาตรฐาน kojic acid (IC50 = 0.0023 มก./มล.) และมีการได้ศึกษาฤทธิ์ต้านแบคทีเรียเบื้องต้นด้วยวิธี agar diffusion ของสิ่งสกัดหยาบจากราก และลำต้นของต้นสิรินธรวัลลี ได้แก่ สิ่งสกัดเฮกเซนคลอโรฟอร์ม และ 95% เอทานอล พบว่าสิ่งสกัด 95% เอทานอล จากรากและลำต้นมีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรีย Bacillus subtilis และ Staphylococcus aureus

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาผลของสารสกัดหยาบเอทานอลจากใบสิรินธรวัลลี ต่อการเจริญของจุลินทรีย์ก่อโรคได้แก่ Escherichia coli, Bacillussubtilis และ Staphylococcus aureus ซึ่งมีอายุที่ 48 ชั่วโมง โดยมีเซลล์เริ่มต้น คือ 1.43x105, 2.5x1010 และ 2.1x109 CFU/ml ตามลำดับ โดยได้ทำการทดสอบด้วยวิธีการสกัดหยาบ (crude extract) จากใบสิรินธรวัลลี และใช้ตัวทำละลาย Dimethyl sulfoxide (DMSO) โดยจะใช้อัตราส่วนของสารสกัดหยาบเอทานอลจากใบสิริธรวัลลีต่อ DMSO เป็น 100 มิลลิกรัมต่อ 1 มิลลิลิตร และตรวจสอบผลการยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์โดยการวัดวงใส (clear zone) ผลการทดลองพบว่า สารสกัดหยาบเอทานอลจากใบสิริธรวัลลี สามารถยับยั้งการเจริญของ Staphylococcus aureus ได้ดีที่สุด โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางของวงใสขนาด 9.4 มิลลิเมตร และสามารถยับยั้งการเจริญของ Escherichia coli, Bacillus subtilis ได้ดีรองลงมา โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางของวงใสขนาด 7.7 และ 6.5 มิลลิเมตร ตามลำดับ และสามารถยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ได้ดีกว่า DMSO ซึ่งเป็นกลุ่มควบคุม


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสิรินธรวัลลี

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สตรีมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการใช้สิรินธรวัลลีเป็นสมุนไพร โดยเฉพาะการรับประทาน เนื่องจากในตำรายาไทยระบุว่ามีฤทธิ์ขับระดู ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรได้ ส่วนในผู้ที่มีสุขภาพร่างกายเป็นปกติ ก็ควรระมัดระวังในการใช้สิรินธรวัลลี เป็นสมุนไพร เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาที่นานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง สิรินธรวัลลี
  1. เจษฏา อุดมพิทยาสรรพ์. การศึกษาเอกลักษณ์สมุนไพรด้านจุลทรรศน์ลักษณะต้นสิรินธรวัลลี. เอกสารประกอบการประชุมหาดใหญ่วิชาการระดับชาติ และนานาชาติ ครั้งที่ 12 (25 มิถุนายน 2564) .หน้า 1586-1595
  2. ศิริวรรณ อธิคมกุลชัย, นงลักษณ ศรีอุบลมาศ และนิจศิริเรืองรังษี. (2548). องค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ตานแบคทีเรียของตนสิรินธรวัลลี. วารสารวิจัยวิทยาศาสตรการแพทย์, 19(1), 147-153.
  3. บุปผาชาติ พตด้วง, มณีรัตน์ มีพลอย. การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสของเถาสิรินธรวัลลี (สามสิบสองประดง), 2549.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 21(3):69-78
  4. พรรณี คงพลปาน. (2555). ผลของสารสกัดหยาบเอทานอลจากใบสิริธรวัลลีต่อการเจริญของจุลินทรีย์ก่อโรค. กรุงเทพฯ: คณะวิทยาศาสตร์ มหาววิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ.
  5. สิรินธรวัลลี. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.[hargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=165
  6. สิรินธรวัลลี/ประดงแดง ประโยชน์และสรรพคุณสิรินธรวัลลี. พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  7. Larsen, K. and S.S. Larsen. (1997). Bauhinia sirindhorniae sp. Nov. (Leguminosae - Caesalpinioideae) a remarkable new species from Thailand. Nordic Journal of Botany, 17(2),113-118.