กระเทียมเถา ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

กระเทียมเถา งานวิจัยและสรรพคุณ 16 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กระเทียมเถา
ชื่อวิทยาศาสตร์ Mansoa alliacea (Lam.) A.H. Gentry
ชื่อสามัญ Garlic vine, Asos sacha, False garlic
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์  Pachyptera hymenaea (DC.) A. Gentry Mansoa hymenaea (Lam.) A. Gentry Pseudocalymma hymeneae (A.P. de Candole) Sanwish
วงศ์  BIGNONIACEAE


ถิ่นกำเนิดกระเทียมเถา

กระเทียมเถา เป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ เช่น ในบราซิล ซุรีนัม โบลิเวีย โคลัมเบีย เปรู ไปจนถึง อเมริกากลาง เช่น แม็กซิโก คอสตาร์กา ปานมา และนิการากัว เป็นต้น ต่อมาจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ


ประโยชน์และสรรพคุณกระเทียมเถา

  • ใช้บรรเทาอาการปวดไขข้ออักเสบ
  • แก้ไข้หวัด
  • แก้เจ็บคอ
  • รักษาโรคปวดตามข้อ
  • ใช้เป็นยาลดไข้
  • แก้หวัด
  • แก้ไข้หวัดใหญ่
  • รักษาโรครูมาติก
  • ใช้ขับพยาธิ
  • แก้ไข้มาลาเรีย
  • แก้ปวด
  • แก้อักเสบ
  • ช่วยลดไข้
  • ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง
  • ใช้เป็นยาชา
  • ใช้ขับลม

           กระเทียมเถา ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการปลูกเป็นไม้ประดับทั้งในรูปแบบไม้ถาง หรือ ไม้เลื้อยตามซุ้มประตู หรือ บริเวณรั้วบ้านเนื่องจากมีช่อดอกเป็นพวง และมีสีสันที่สวยงามสะดุดตา ส่วนยอด และใบอ่อนของกระเทียมเถานั้นยังสามารถนำมาใช้รับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริกได้ อีกทั้งในปัจจุบันยังมีการนำใบของกระเทียมเถามาสกัดเอากลิ่นที่เหมือนกระเทียมมาใช้เป็นสารแต่งกลิ่นในอาหารอีกด้วย

กระเทียมเถา

รูปแบบและขนาดวิธีใช้กระเทียมเถา

ใช้แก้หวัด แก้เจ็บคอ บรรเทาอาการปวด แก้ไขข้ออักเสบ แก้ปวดตามข้อโดยใช้รากกระเทียมเถา และใบมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้ขับพยาธิโดยใช้ทั้ง 5 ส่วน (ราก เถา ใบ ดอก ฝัก) มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้ลดไข้ แก้ไข้หวัดใหญ่ แก้หวัด แก้เจ็บคอ รักษาโรครูมาติกโดยใช้ รากเถา และใบมาต้มกับน้ำดื่ม


ลักษณะทั่วไปของกระเทียมเถา

กระเทียมเถา จัดเป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อย หรือ ไม้เถาเนื้อแข็งโดยลำต้น หรือ เถาสามารถเลื้อยไปได้ไกลถึง 10 เมตร กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยมสีเขียว กิ่งแก่กลมสีเทาอมน้ำตาล มีช่องอากาศกระจัดกระจายทั่วไป ปลายกิ่งมีมือจับ

           ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก เรียงตรงกันข้าม ใบย่อย 1 คู่ เรียงตรงกันข้ามบริเวณข้อเถามีลักษณะเป็นรูปรี หรือ รูปไข่กว้าง 2-4.5 เซนติเมตร ยาว 5-9.5 ซม. โคน และปลายใบแหลมขอบใบเรียบ และเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบบางแต่แข็งกรอบด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีอ่อนกว่าเมื่อขยี้ใบจะมีกลิ่นคล้ายกระเทียม ส่วนก้านใบยาว 1 เซนติเมตร

           ดอก ออกเป็นช่อโดยจะออกบริเวณง่ามใบ ซึ่งใน 1 ช่อ จะมีดอกย่อย 10-20 ดอก และเมื่อดอกบานเต็มที่พร้อมกันช่อดอกดูแน่นเป็นพวง ดอกมีสีม่วง หรือ ชมพูอมม่วง แล้วจะซีดลงจนเกือบเป็นสีขาว หรือ ชมพูอ่อน กลีบดอกเป็นรูปกรวยมีอยู่ 5 กลีบ ยาว 4-6 เซนติเมตร เมื่อดอกบานเต็มที่จะกว้าง 3.5-5 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนบนมีกลีบใหญ่ เป็นแผ่นกลม 2 กลม ส่วนกลีบล่างมีกลีบย่นขนาดเล็กกว่าเล็กน้อยจำนวน 3 กลีบ มีก้านดอกยาว 0.8-1.2 เซนติเมตร และมีกลีบเลี้ยงยาว 4-5 มิลลิเมตร ติดกันคล้ายรูประฆังขอบกลีบด้านบนมนเป็นคลื่นเล็กน้อย

           ผล ออกเป็นฝัก ลักษณะเป็นฝักแบนแคบ ปลายแหลมรูปขอบขนานกว้าง 1-1.5 เซนติเมตร ยาว 14-20 เซนติเมตร ตามผนังฝักมีเส้นเป็นแนวยาวจากปลายไปหาโคนเมื่อฝักแก่จะแตกตามแนวนี้ด้านในมีเมล็ด ลักษณะแบนมีจำนวนมาก โดยด้านข้างของเมล็ดมีด้านข้างมีปีกบางใสทั้งสองด้าน ขนาดยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร

กระเทียมเถา

กระเทียมเถา

การขยายพันธุ์กระเทียมเถา

กระเทียมเถาสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด การปักชำ และการตอนกิ่ง แต่วิธีที่เป็นที่นิยม คือ การเพาะเมล็ด ส่วนการตอนกิ่งหากจะให้ติดดี จะต้องใช้ฮอร์โมนช่วย และการปักชำกิ่งที่ใช้ต้องเป็นกิ่งที่ไม่อ่อน หรือ แก่เกินไป และต้องเด็ดใบออกทิ้งให้หมด ก่อนนำไปปักชำในที่ร่มรำไร ทั้งนี้กระเทียมเถา สามารถเจริญเติบโตได้ดี ในสภาพแล้ง และที่มีแสงแดดจัด แต่การปลูกต้องมีการทำค้าน หรือ ที่ยึดเกาะให้กับกระเทียมเถาด้วย เนื่องจากในธรรมชาติของกระเทียมเถา จะไม่เลื้อยขึ้นต้นไม้อื่น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องช่วยผูกนำในช่วงแรกของการปลูกเมื่อเลื้อยได้ตามปกติจึงนำเชือกที่ผูกไว้ออก


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารพฤกษเคมีจากส่วนต่างๆ ของกระเทียมเถา ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น

           น้ำมันหอมระเหยจากใบพบสาร Allyl methyl trisulfide, Allyl Propyl trisulfide, dithaiciclopentene, allyl propyl disulfide, allyl methyl disulfide, diallyl disulfide, Diallyl sulfide, Diallyl trisulfide, Diallyl tetrasulfide, Trisulfide, Allyl methyl disulfide, Allyl methyl tetrasulfide, propenyl propyl trisulfide, trithaicyclohexene, cis-dipropenyl disulfide, trans-dipropenyl disulfide, methyl salicylate, nonanethiol, diisoamyl disulfide

           สารสกัดจากใบพบสาร n-alkanoids, focosterol, 32-hydroxyhexatriacontan-4-one, 19-hydroxyhexentraicontan-18-one, pentatriacont-1-en-17-ol, Beta-sitosterol, Stigmasterol

           น้ำมันหอมระเหยจากดอกพบสาร  Diallyl disulfide, Diallyl tetrasulfied, diallyl trisulfide

           สารสกัดจากดอกพบสาร Aliin, Beta amyrin, Apigenin-7-glucoside, Apigenin-7-o-methylglucuronide, cyaniding-3-rutinoside, Beta-sitosyerol, Beta-sitosteryld-glucoside, Luteolin, Ursolic acid

           และส่วนของเนื้อไม้หรือเถาพบสาร p-coumaric cid, ferulic acid, betulinic acid, cafeic acid, resveratrol

โครงสร้างกระเทียมเถา 

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกระเทียมเถา

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากใบ ดอก ลำต้น และรากของกระเทียมเถา ระบุว่าถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ดังนี้ สารสกัดจากใบมีฤทธิ์ต้านเชื้อรา Aspergillus flavus Aspergillus niger และ Microsporum gypseum. มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus, Bacillus subtilis และฤทธิ์ต้านไวรัส ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอลในเลือด ส่วนสารสกัดจากดอกราก และลำต้นมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านมาลาเรีย ต้านการแพ้ ต้านอักเสบ ต้านแบคทีเรีย ต้านอนุมูลอิสระ และต้านมะเร็ง


การศึกษาทางพิษวิทยาของกระเทียมเถา

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้กระเทียมเถาเป็นสมุนไพร ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับ เด็ก สตรีมีครรภ์ ไม่ควรใช้กระเทียมเถาเป็นสมุนไพรเนื่องจากยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยรับรอง
 

เอกสารอ้างอิง กระเทียมเถา
  1. ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษรก. กรุงเทพฯ: เพื่อนพิมพ์.
  2. กระเทียมเถา. คู่มือประมวลสรรพคุณสมุนไพร. กรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. หน้า 19.
  3. กระเทียมเถา. คอลัมน์ไม้ประจำฉบับ. นิตยสาร เพื่อนแท้เกษตรไทย ปีที่ 16. ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2552. หน้า 1.
  4. กระเทียมเถา. ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง. คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
  5. Zoghbi, M.G.B; Ramos; Maia, J.G.S.; Miriam L. da Silva, M.L.S; Luz, A.I.R. Volatile Sulfide of the Amazonian Garlic Bush. J. Agric. Food Chem. 1904, 32, 1009-1010.
  6.  Domingos da Silveira, G.; Jung Motta, M.; Sabo Miller, L.; Lameira, O.; Athayde, M.L. Piana, M.; Barcelos Da Rosa, M.; Viana, C.; Machado De Carvalho, L. Determination c Phenolic Antioxidants in Amazonian Medicinal Plants by HPLC with Pulsed Amperometri Detection. Journal of Liquid Chromatography & Related Technologies. 2015, 0: 1-8.
  7. The encyclopedia of plants in Thailand (สารานุกรมพืชในประเทศไทย)
  8. Zoghbi, M.G.B.; Oliveira, J.; Skelding, G.M.; Guilhon, P. The genus Mansoa (Bignoniaceae): ce of organosulfur compounds. Revista Brasileira de Farmacognosia Brazilian Jou Pharmacognosy.2009, 19(3): 795-804
  9. Zoghbi, M.dG.B.; Andrade, E.H.A.; Maia, J.G.S. Volatile constituents from Adenocalymm alliaceum Miers and Petiveria alliacea L., two medicinal herbs of the Amazon. 2009, Flavou Fragr.J.2002;17:133-135
  10. BGO Plant Database, The Botanical Garden Organization, Ministry of Environment and Natural Resources, Thailand
  11. Misra, T.N.; Singh, R.S.; Pandey, H.S.; Prasad, C. A Novel Pentacyclic triterpene acid fror Adenocalymma alliaceum leaves. Journal of Natural P&J. I995, Vol. 58.
  12. Granados-Echegoyen, C.; Perez-Pacheco, R.; Soto-Hernandez, M.; Ruiz-Vega, J.; Laguner Rivera, L.; Alonso-Hernandez, N.; Gato-Armas, R. Inhibition of the growth and development c mosquito larvae of Culex leaves of Pseudocalymma alliaceum (Bignonaceae). 2014, Asian Pacific Journal of Tropica uinquefasciatus (Diptera: Culicidae) treated with extra Medicine, 594-601