พะยูง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

พะยูง งานวิจัยและสรรพคุณ 7 ข้อ


ชื่อสมุนไพร พะยูง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ประดู่ลาย, ประดู่เสน, ประดู่ตม, แดงจีน (ภาคตะวันออก), ขะยูง, กระยูง, กระยง (ภาคอีสาน), พะยูงไหม (สระบุรี), หัวลีเมาะ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Dalbergia cochinchinensis Pierre
ชื่อสามัญ Siamese rosewood, Thailand rosewood, Rosewood, Black wood, Tracwood
วงศ์ PAPILIONNACEAE


ถิ่นกำเนิดพะยูง

พะยูง จัดเป็นพันธุ์ไม้พื้นถิ่นของไทยชนิดหนึ่ง โดยมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของเอเชียบริเวณภูมิภาคอินโดจีน ได้แก่ ประเทศไทย เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม สำหรับในประเทศไทยสามารถพบขึ้นกระจัดกระจายทั่วไปตามป่าเบญจพรรณชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าโปร่ง แต่จะพบมากทางภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 100-300 เมตร


ประโยชน์และสรรพคุณพะยูง

  • ใช้เป็นยารักษาอาการไข้พิษเซื่องซึม
  • ใช้เป็นยาอมรักษาโรคปากเปื่อย ปากแตกระแหว
  • แก้มะเร็ง
  • ใช้เป็นยาทาปาก ยางสด
  • รักษาโรคปากเปื่อย
  • ทาแก้เท้าเปื่อย
  • แก้เบาหวาน แก่น

           ไม้พะยูงเป็นไม้มงคล 9 ชนิด ที่คนไทยนิยมนำมาร่วมในพิธีการต่างๆ หลายพิธีโดยเฉพาะพิธีวางศิลาฤกษ์ เนื่องจากชื่อพะยูง หมายถึง พยุง หรือ ช่วยประคับประคองฐานะให้เกิดความมั่นคง และพยุงให้เกิดความมั่นคงตลอดไป ส่วนเนื้อไม้สีแดงอมม่วงเนื้อละเอียดสวยงาม แข็งแรงทนทานมีน้ำมันในตัวสามารถชักเงาได้ดี ทำให้เป็นไม้ที่มีราคาสูง เป็นที่นิยมของตลาด และมีความนิยมในการนำมาทำเครื่องเรือน เครื่องใช้ งานแกะสลัก เครื่องดนตรี เช่น ซอ ขลุ่ย โทน รำมะนา ลูกระนาด หรือ ทำเป็นวัตถุมงคล ในอดีตยังมีการนำพะยูงมาใช้เลี้ยงครั่งซึ่งไม้พะยูงเป็นไม้ที่สามารถนำมาเลี้ยงครั่งได้ดี โดยสามารถให้ผลผลิตครั่งเกรด A สูงถึงต้นประมาณ 50 กิโลกรัม เลยทีเดียว นอกจากนี้พะยูงยังมีประโยชน์อีกประการ คือ ประโยชน์ในด้านการทำฟืนและถ่านไม้ โดยไม้พะยูงสามารถให้ความร้อน 5,115 แคลลอรี่ต่อวัน ให้ถ่านไม้ที่สามารถให้ความร้อน 7,352 แคลลอรี่ต่อวัน

พะยูง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้รักษาโรคปากเปื่อย และปากแตกระแหง โดยใช้เปลือกต้นพะยูง สด หรือ แห้ง สับเป็นชิ้นพอประมาณ ต้มน้ำให้สะอาดเคี่ยวให้เหลือครึ่งหนึ่ง ใช้อมกลั้วคอวันละ 3 เวลา ก่อนนอน หรือ หลังอาหาร อาจใช้ยางสดจากต้นมาทาก็ได้ ใช้รักษาโรคเท้าเปื่อยโดยใช้ยางสดจากลำต้นทาบริเวณที่เป็นใช้รักษาอาการไข้พิษเซื่องซึม โดยใช้รากสด หรือ แห้งสับเป็นชิ้นพอประมาณต้มในน้ำสะอาดเคี่ยวให้เหลือครึ่งหนึ่ง กรองเอาน้ำดื่มวันละ 3 เวลา ก่อนอาหาร ใช้แก้มะเร็งโดยนำเปลือกต้นหรือแก่นพะยูง แก่นขี้เหล็ก แก่นสนสามใบ และแก่นแสมสาร นำมาต้มกับน้ำดื่ม

ลักษณะทั่วไปของพะยูง

พะยูง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบทรงพุ่มโปร่งเป็นรูปไข่ หรือ แผ่กว้างลำต้นสูง 15-30 เมตร ลำต้นเปลาตรงลำต้นสีเทาเรียบ หลุดร่อนเป็นแผ่น เปลือกใยสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อไม้มีสีแดงอมม่วงถึงแดงเลือดหมู เนื้อละเอียดสวยงามมีความแข็งแรงทนทาน

           ใบ เป็นใบประกอบออกแบบช่อรูปขนนก ออกแบบเรียงสลับยาว 10-15 เซนติเมตร โดยในแต่ละช่อมีใบย่อยรูปรี หรือ รูปไข่ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ 7-9 ใบ โดยปลายสุดเป็นใบเดี่ยว ลักษณะแผ่นใบบางเหนียวคล้ายแผ่นหนัง รูปไข่แกมรูปขอบขนาน โคนใบมนแล้วค่อยๆ เรียวสอบแหลมไปทางปลายใบส่วนปลายใบแหลม หลังใบมีสีเขียวเข้มท้องใบสีจาง ใบเกลี้ยงไม่มีขนทั้งสองด้าน ขอบใบเรียบหรือมีคลื่นเล็กน้อย ก้านใบยาว 2.5-5 เซนติเมตร แกนใบยาว 6.5-15 เซนติเมตร

           ดอก ออกเป็นช่อแบบแยกแขนง โดยจะออกบริเวณซอกใบ และปลายกิ่งช่อดอก ยาว 10-20 เซนติเมตร ซึ่งใน 1 ช่อดอก จะมีดอกย่อยจำนวนมาก และมีก้านเรียงสลับบนแกนกลาง มีใบประดับที่ช่อดอก กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 5 กลีบ กลีบดอกรูปขอบขนานปลายมนมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปดอกถั่วสีขาวนวล มีกลิ่นหอมอ่อนๆ เมื่อบานเต็มที่จะกว้าง 5-8 มิลลิเมตร และมีเกสรเพศผู้ 10 อันเชื่อมติดกัน รังไข่เกลี้ยงก้านมีขนปกคลุม ก้านดอกค่อนข้างสั้น

           ผล ออกเป็นฝักลักษณะรูปขอบขนาน บางและแบนมีขนาดกว้าง 1.2 เซนติเมตร ยาว 4-6 เซนติเมตร ผิวฝักเกลี้ยง ตรงกลางมีกระเปราะหุ้มเมล็ด บริเวณที่หุ้มฝักจะมองเห็นเส้นแขนงไม่ชัดเจนและเมื่อฝักแห้งจะไม่แตก

           เมล็ด รูปไตสีน้ำตาลถึงน้ำตาลเข้ม ผิวค่อนข้างมัน กว้างประมาณ 4 มิลลิเมตร ยาว 7 มิลลิเมตร โดยใน 1 ฝักจะมีเมล็ด 1-4 เมล็ด ต่อฝัก

พะยูง

พะยูง

การขยายพันธุ์พะยูง

พะยูง สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น เพาะเมล็ด ตอนกิ่ง และปักชำ แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การเพาะเมล็ด โดยมีวิธีการดังนี้ เริ่มจากนำเมล็ดจากฝักแก่ที่ร่วงหล่นมาแกะเมล็ดออกแล้วนำมาแช่ในน้ำเย็น 24 ชั่วโมง แล้วจึงนำมาเพาะในกระบะเพาะที่เตรียมวัสดุเพาะเอาไว้ก่อนนำไปชำโดยหว่านให้กระจายทั้งกระบะเพาะแล้วโรยทรายกลบบางๆ รดน้ำให้ชุ่ม จากนั้นเมล็ดจะงอก ภายใน 7 วัน และเมื่อกล้าไม้อายุ 10-14 วัน หรือ มีความสูงประมาณ 1 นิ้ว และมีใบเกลี้ยง 1 คู่ จึงสามารถย้ายชำในถุง หรือ ภาชนะที่เตรียมไว้ หรือ ทำการชำต่อจนต้นกล้าไม้มีความสูง 20-30 เซนติเมตร จึงย้ายลงปลูกต่อไป


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของส่วนต่างๆ จากต้นพะยูงระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น มีการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของกิ่งพะยูง (Dalbergia cochinchinensis Pierre) พบว่าพบสารประกอบในกลุ่ม rotenoids เช่น 12aα-hydroxymorphiginin และ 12aβ-hydroxymorphiginin นอกจากนี้ยังพบอนุพันธุ์ของสารประกอบ benzoic acid ได้แก่ 4-hydroxy-3-methoxybenzoic acid และ 4-hydroxybenzoic acid และพบสารประกอบอีก 2 ชนิด คือ sigmasta-5, 22-dien-3β-ol-7-one และ formononetin ส่วนใบพบสาร Galangin, 7-hydroxy-6-methoxyflavone และแก่นลำต้นพบสาร calycosin, formononetin, Zenognosin B ส่วนลำต้นพบสารฟีนอลิก และฟลาโวน เช่น 6,4-dihydroxy-7-methoxyflavone, 9-hydroxy-6,7-dimethoxydalbergiquinol, 2,2,5-trihydroxy-4-methoxybemzophenone, 6-hydroxy-2,7-dimethoxyneoflavone, 7-hydroxy-6-methoxyflavone

พะยูง

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของพะยูง

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของพะยูงระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังนี้ มีรายงานว่าสารฟีนอลิกจากลำต้นมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ 5alpha-reductase ซึ่งมีผลให้ลดปริมาณการสร้างฮอร์โมนเพศชาย (แอนโดรเจน) ซึ่งผลการศึกษานี้ทำให้อาจนำสารสกัดพะยูง ไปพัฒนายารักษาฌรคที่มีสาเหตุจากฮอร์โมนแอนโดรเจนมากเกินไปได้ นอกจากนี้จากการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของพะยูงในต่างประเทศพบว่ามีฤทธิ์ต่างๆ ดังนี้ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง ขยายหลอดเลือด ต้านการแข็งตัวของเลือด ต้านการอักเสบ ลดไขมันในเลือด และมีฤทธิ์กล่อมประสาท ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากเนื้อไม้พะยูง ยังมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของพะยูง

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้พะยูงเป็นสมุนไพร นั้นควรระมัดระวังใรการใช้เช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรายาต่างๆ โดยไม่ควรใช้ในขนาดและปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้ นอกจากนี้ผู้ที่มีปัญหาเรื่องการแข็งตัวของเลือด หรือ ผู้ที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือด ไม่ควรใช้พะยูงเป็นสมุนไพรเพราะพะยูง มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด และฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือดซึ่งอาจจะเสริมฤทธิ์กันได้

เอกสารอ้างอิง พะยูง
  1. เต็ม สมิตินันท์ 2557. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. กรุงเทพฯ: สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.
  2. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. พะยูง. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 552-553.
  3. โชติ อนันต์. 255. พรรณไม้มงคลสมุนไพรพระราชทานประจำจังหวัด. ดวงกมลพัลลิชซิ่ง. กรุงเทพฯ.
  4. ราชันย์ ภู่ม่า. 2559. สารานุกรมพืชประเทศ (ฉบับย่อย) เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา. กรุงเทพฯ : สำนักงานหอพรรณไม้สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้ และพรรณพืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพรรณพืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม.
  5. สมพันธ์ ปานะถึก. 2539.ไม้เมืองไทย.รุ่งเรืองรัตน์ กรุงเทพฯ.
  6. ธงชัย เปาอินทร์. 2551. ต้นไม้ยาน่ารู้. สุรีริยาสาสน์ กรุงเทพฯ
  7. กรมวิชาการเกษตร. 2547. พรรณไม้หอมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542. กรุงเทพฯ: กรมวิชาการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
  8. ปทุม บุญนะฤธี. 2557. เมล็ดและการจัดการเมล็ดพะยูง. กรมป่าไม้. กรุงเทพฯ. (เอกสารนำเสนอในการจัดแสดงนิทรรศการประชุมวิชาการป่าไม้ปี 2557).
  9. มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล. 2548. สารานุกรมสมุนไพร เล่ม 5 สมุนไพรพื้นบ้านอีสาน. หน้า 62.
  10. นิรนาม. 2543. ปลูกไม้มงคลปรับฮวงจุ้ยเสริมดวงชะตา. บ้านมงคล. กรุงเทพฯ.
  11. วิชาญ เอียดทอง. 2552. คู่มือบทปฏิบัติการวิชารุกขวิทยา. ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. กรุงเทพฯ.
  12. พะยูง. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phagarden.com/main.php?action=viewpage&pid=249
  13. Liu RH, Wen XC, Shao F, Zhang PZ, Huang HL, Zhang S. Flavonoids from heartwood of Dalbergia cochinchinensis. Chin Herb Med. 2016;8(1):89‐93. 
  14. Shirota O, Pathak V, Sekita S, et al. Phenolic constituents from Dalbergia cochinchinensis. J Nat Prod. 2003;66(8):1128‐1131.
  15. Masanori K, Akira U, Yutaka H, et al. Anti-androgen active constituents from Dalbergia cochinchinensis PIERRE. Nat Med. 1996;59(6):408‐412.
  16. Niyomdham C. 2002. An account of Dalbergia (Leguminosa-Papilionoideae) in Thailand. Thai for Bull. 30:124-166.
  17. Zhong YX, Huang RM, Zhou XJ, Zhu YH, Xu ZF, Qiu SX. Chemical constituents from the heartwood of Dalbergia cochinchinensis. Nat Prod Res Dev. 2013;25:1515‐1518.
  18. Liu RH, Li YY, Shao F, et al. A new chalcone from heartwood of Dalbergia cochinchinensis. Chem Nat Compd. 2016;52(3):405‐408. 
  19. Liu RH, Wen XC, Zhang PZ, et al. Chemical constituents of isoflavonoids from Dalbergia cochinchinensis. J Chin Med Mater. 2015;46(19):2851‐2855.
  20. Reddy RVN, Reddy NP, Khalivulla SI, et al. O-Prenylated flavonoids from Dalbergia sissoo. Phytochem Lett. 2008;1(1):23‐26.
  21.  Liu RH, Wen XC, Li YY, et al. Chemical constituents from Dalbergia cochinchinensis. J Chin Med Mater. 2015;38:1868‐1871.
  22. Donnelly DMX, Nangle BJ, Prendergast JP, Osullivan AM. Dalbergia species-V*, isolation of R-5-O-methyllatifolin from Dalbergia cochinchinensis Pierre. Phytochemistry. 1968;7(4):647‐649.