ปีบฝรั่ง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ปีบฝรั่ง งานวิจัยและสรรพคุณ 6 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ปีบฝรั่ง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น แสนประสะ (ภาคกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Hippobroma longiflora (L.) G.Don
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Isotoma longiflora (L.) C.Presl., Lobelia longiflora Linn, Laurentia longiflora (L.) Endl.
ชื่อสามัญ Madam fate, Star of Bethlehem
วงศ์ CAMPANULACEAE


ถิ่นกำเนิดปีบฝรั่ง

ปีบฝรั่ง เป็นพืชในวงศ์พระจันทร์ครึ่งซีก (CAMPANULACEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมบริเวณทวีปอเมริกากลางสันนิษฐานว่าอยู่ในบริเวณเกาะเวสต์อินดีส ต่อมาจึงได้มีการแพร่กระจายไปยังประเทศแถบอเมริกากลางใกล้เคียงจนกลายเป็นพืชพื้นเมืองของทวีปอเมริกากลาง สำหรับในประเทศไทยพบปีบฝรั่ง ได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณสวนหย่อม สวนสาธารณะ หรือ ในที่รกร้างว่างเปล่าที่มีความชุ่มชื้น


ประโยชน์และสรรพคุณปีบฝรั่ง

  • ใช้เป็นยารักษาโรคลมบ้าหมู
  • แก้กามโรค
  • แก้หลอดลมอักเสบ
  • แก้โรคหอบหืด
  • ใช้แก้ปวดฟัน
  • แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย

           ในอดีตปีบฝรั่ง ถูกนำมาปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับตามอาคารสถานที่ ตามสวนสาธารณะบริเวณริมน้ำตก ริมลำธาร เนื่องจากมีดอกสีขาวสวยและมีกลิ่นหอม แต่ภายหลังเมื่อมีรายงานว่าน้ำยางจากต้นมีพิษระคายเคืองความนิยมในการนำมาปลูกประดับจึงลดน้อยลง


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้แก้กามโรค แก้ลมบ้าหมู แก้หลอดลมอักเสบ แก้หอบหืด โดยนำทั้งต้นปีบฝรั่งมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ปวดฟันโดยนำใบสดปีบฝรั่ง นำมาตำให้ละเอียด ใช้อุดบริเวณฟันที่ปวด
  • ใช้เป็นยาถูทาให้ร้อนแดง แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย โดยนำใบสดมาขยี้ให้ละเอียดใช้ทาถูบริเวณที่ปวดเมื่อย


ลักษณะทั่วไปของปีบฝรั่ง

ปีบฝรั่ง จัดเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี ลักษณะลำต้นตั้งตรงมีความสูงได้ประมาณ 10-30 เซนติเมตร ลำต้นเป็นแกนแข็ง อวบน้ำ มีสีเขียวหรือน้ำตาลดำ ตามลำต้นมีขนขึ้นประปราย

           ใบปีบฝรั่ง เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนรอบลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับยาวรีหรือรูปใบหอกมีขนาดกว้าง 1-3 เซนติเมตร ยาว 3-16 เซนติเมตร แหลมเล็กน้อย โคนใบสอบมน ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อยหยักเง้าไม่สม่ำเสมอ ผิวใบเรียบมองเห็นเส้นใบ ผิวใบด้านบนเป็นมันมีสีเขียวเข้มท้องใบมีสีอ่อนกว่า เส้นกลางใบเป็นสีขาว ผิวใบมีขนสั้นนุ่มขึ้นปกคลุม

           ดอกออกปีบฝรั่ง เป็นดอกเดี่ยวบริเวณซอกใบ ดอกมีสีขาวเมื่อบานเต็มที่จะมีกลิ่นหอมและมีขนาดกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร กลีบดอกมี 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ส่วนปลายกลีบดอกมีลักษณะแหลมมีขนาดยาว 1-2.5 เซนติเมตร แยกออกเป็น 5 กลีบ บริเวณกลางดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ยาวเท่า หรือ เลยหลอดกลีบมีอับเรณูโค้ง ยาว 0.4-0.6 เซนติเมตร มีรังไข่เป็นริ้วรูประฆัง มีขนปกคลุมหนาแน่น ส่วนเกสรเพศเมียยื่นยาวเท่าๆ อับเรณู ปลายเกสรมี 2 แฉก และมีกลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ มีขนาด 0.8-2 เซนติเมตร ปลายกลีบแหลมหยักเป็นซี่ฟันไม่สม่ำเสมอ ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 0.3-1.5 เซนติเมตร

           ผลปีบฝรั่ง เป็นผลแห้งรูปทรงจะเมื่อผลแก่จะโป่งออกและโค้งลงจากนั้นจะแตกออก ภายในผลมีเมล็ดลักษณะเป็นรูปรีจำนวนมาก

ปีบฝรั่ง
ปีบฝรั่ง

การขยายพันธุ์ปีบฝรั่ง

ปีบฝรั่ง สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด แต่ในปัจจุบันไม่นิยมปลูกกันเท่าไหร่นัก เนื่องจากปีบฝรั่งสามารถแพร่พันธุ์ได้รวดเร็วมากจนกลายเป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง แต่ก็มักจะพบการปลูกประดับได้ตามสวนสาธารณะ หรือ มีการปลูกตามอาคารสถานที่ต่างๆ ประปราย สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและปลูกปีบฝรั่ง นั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและการปลูกไม้ล้มลุกชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ปีบฝรั่งสามารถขึ้นได้ดีในดินร่วนทั่วไป ที่มีความชื้นปานกลางถึงชื้นมากและมีแสงแดดรำไรทั้งวัน


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของส่วนของทั้งต้นส่วนใบ และน้ำยางของปีบฝรั่งระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น ส่วนใบพบสาร Acrylate, (-)-Gallocatechin-3-O-gallate, 3-Aminopropionitrile, 4-Methylpyrazole, Cimetidine, Apiopaeonoside, Fisetin, Glabrol, Chloratranol, Vindoline, Lobeline A, Isonicotinamide, Orcinol, Hispaglabridin B, Mefenamate ทั้งต้นพบสาร hippobrines A-D และ hippobrenes A-C ส่วนในน้ำยางจากต้นมีสาร lobeline และ nicotine

โครงสร้างปีบฝรั่ง

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของปีบฝรั่ง

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของทั้งต้นและสารสกัดปีบฝรั่ง จากส่วนใบและดอกของปีบฝรั่งระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการ ดังนี้

           ฤทธิ์ยับยั้งการสร้างหลอดเลือดใหม่ มีรายงานผลการทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการสร้างหลอดเลือดใหม่ (antiangiogenesis) ของสารกลุ่ม alkaloids ได้แก่ hippobrines A-D และสารกลุ่ม polyacetylenes ได้แก่ hippobrenes A-C ที่แยกได้จากส่วนของทั้งต้นของปีบฝรั่ง (Hippobroma longiflora) โดยได้ทำการทดสอบด้วยวิธี antiangiogenesis assay กับเซลล์ endothelial progenitor ของมนุษย์ (human endothelial progenitor cells; EPCs) พบว่า สารทั้ง 2 กลุ่มมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างหลอดเลือดใหม่อย่างอ่อน (weak antiangiogenic activity) โดยมีค่า IC50 อยู่ระหว่าง 21.1 ± 1.1 ถึง 44.0 ± 2.3 มคก./มล. ในขณะที่ยามาตรฐาน sorafenib มีค่า IC50 เท่ากับ 3.7 ± 0.2 มคก./มล.

           นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยในต่างประเทศระบุว่าสารสกัดจากดอกของปีบฝรั่ง มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย ต้านอนุมูลอิสระต้านเนื้องอกและต้านมะเร็ง ส่วนสารสกัดจากใบมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระต้านไวรัส ฤทธิ์ยับยั้งสารสื่อประสาท ต้านการอักเสบ ลดความวิตกกังวลและต้านมะเร็งอีกด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของปีบฝรั่ง

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของน้ำยางจากต้นปีบฝรั่ง ระบุว่าสาร lobeline และ nicotine ที่มีฤทธิ์ระคายเคืองต่อผิวหนังมนุษย์ และหากกลืนกินเข้าไปในปริมาณมากอาจทำให้เกิดกล้ามเนื้อเป็นอัมพาตได้

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้ปีบฝรั่งเป็นยาสมุนไพรนั้นควรระมัดระวังในเรื่องขนาดการใช้และการใช้ต่อเนื่องระยะยาว เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ แต่สิ่งที่ควรระวังเพิ่มเติม คือ ไม่ควรไปสัมผัสน้ำยางจากต้นปีบฝรั่ง เนื่องจากน้ำยางมีความเป็นพิษสามารถซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการอาการระคยเคือง หากถูกตาอาจทำให้ตาบอดได้และหากกลืนกินเข้าไปจะระคายเคืองต่อปากและคอ อีกทั้งอาจทำให้กล้ามเนื้อเป็นอัมพาตและชักรวมถึงอาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเป็นอัมพาตได้


เอกสารอ้างอิง ปีบฝรั่ง
  1. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม.ปีบฝรั่ง.หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย. ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 460-461.
  2. ปีบฝรั่ง.กลุ่มวิจัยพฤกษศาสตร์และพิพิธภัณฑ์พืช สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. แผ่นพับรายสัปดาห์ที่ 2 ประจำเดือน มกราคม 2561.
  3. ดร.นิจศิริ เรืองรังสี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. ปีบฝรั่ง (Pip Farang). หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม1 .หน้า 174.
  4. ฤทธิ์ยับยั้งการสร้างหลอดเลือดใหม่ของสารสำคัญจากปีบฝรั่ง. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. Wu SC, Yang ZQ, Liu F, Peng WJ, Qu SQ, Li Q, Song XB, Zhu K, Shen JZ. 2019. Antibacterial effect and mode of action of flavonoids from licorice against methicillin-resistant Staphylococcus aureus," Frontiers inMicrobiology. 10:2489. DOI: 10.3389/fmicb.2019.02489
  6. Bonfili L, Cuccioloni M, Mozzicafreddo M, Cecarini V, Angeletti M, Eleuteri AM. 2011. Identification of an EGCG oxidation derivative with proteasome modulatory activity. Biochimie. 93(5):931-940. DOI:10.1016/j.biochi.2011.02.003
  7. Hammad ASA, Sayed-Ahmed MM, Abdel Hafez SMN, Ibrahim ARN, Khalifa MMA, El-Daly M. 2023. Trimetazidine alleviates paclitaxel-induced peripheral neuropathy through modulation of Tlr4/P38/Nf-Κb and klotho protein expression. Chemico-Biological Interactions. 376:110446. DOI: 10.1016/j.cbi.2023.110446.
  8. Baldwin, Roger E. (1979) [1979]. Hawaii's Poisonous Plants (1 ed.). Hilo, Hawaii: The Petroglyph Press, Ltd. pp. 26–27. ISBN 978-0-912180-34-2.
  9. Martin G, Arie L, Milos C, Joseph K. 1983. Topical beta-aminopropionitrile in the treatment of peyronie’s disease. Journal of Urology. 129(4):746-748. DOI: 10.1016/S0022- 5347(17)52339-3
  10. Smitz S, Legros JJ, Le Maire M, Rousseau JJ, Waucquez JL. 1982. Cimetidine neurotoxicity and anticholinergic activity. American Journal of Psychiatry. 139(5):704. DOI: 10.1176/ajp.139.5.704
  11. Mitscher LA, Park YH, Clark D, Beal JL. 1980/ Antimicrobial agents from higher plants. antimicrobial isoflavanoids and related substances from Glycyrrhiza glabra L. Var. typica. Journal Natural Product. 43(2):259-269. DOI: 10.1021/np50008a004