ฮ่อม ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ฮ่อม งานวิจัยและสรรพคุณ 19 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ฮ่อม
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น คราม, ครามหลอย, ฮ่อมเมือง (ภาคเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ strobilanthes cusia (Nees) Bremek.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์  Strobilanthes cusia (Nees) Kuntze Goldfussia cusia Nees, Baphicacanthus cusia (Nees) Bremek
วงศ์ ACANTHACEAE


ถิ่นกำเนิดฮ่อม

ฮ่อม จัดเป็นพืชเฉพาะถิ่นโดยมีถิ่นกำเนิด และกระจายพันธุ์ในทวีปเอเชียแถบอินเดีย บังคลาเทศ ภูฏาน ทิเบต จีนตอนใต้ และภูมิภาคอินโดจีน ได้แก่ ไทย พม่า ลาว เวียดนาม สำหรับในประเทศไทยสามารถพบตามพื้นที่ชุ่มชื้นในป่าดงดิบทางภาคเหนือที่มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 500-1800 เมตร อาทิเช่น เชียงราย แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน เป็นต้น

ประโยชน์และสรรพคุณฮ่อม

  • ช่วยบํารุงโลหิต
  • ช่วยบำรุงน้ำดี
  • ช่วยในการเจริญอาหาร
  • ช่วยย่อยอาหาร
  • ช่วยระบบขับถ่าย
  • ช่วยในการนอนหลับ
  • ช่วยลดไข้
  • แก้ปวดศีรษะเนื่องจากหวัด
  • แก้เจ็บคอ
  • รักษาหลอดลมอักเสบ
  • รักษาตาอักเสบ
  • ใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่
  • รักษาเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
  • รักษาปอดบวม
  • รักษาคางทูม
  • แก้อาการเจ็บคอ
  • รักษาทอลซิลอักเสบ
  • รักษาผิวหนังอักเสบ
  • ใช้รักษาพิษไข้ดูดพิษไข้

           ฮ่อม นั้น ยังมีการนำฮ่อมมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ดังนี้ มีการนำฮ่อมมาใช้เป็นสีย้อมผ้า โดยใช้ลำต้น และใบเป็นวัตถุดิบในการย้อมสีผ้าหม้อฮ่อม ซึ่งใบ และลำต้นจะให้สารสีคราม (Indigo) นอกจากนี้ยังมีการนำสารสกัดจากฮ่อมมาใช้เป็น สารแต่งสี สารบำรุงผมในแชมพู ยาย้อมผม และสบู่อีกด้วย

ฮ่อม

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ฮ่อม

แก้ไข้ เจ็บคอ หลอดลมอักเสบ ต่อมทอมซิลอักเสบ โดยใช้ราก และใบ ต้มน้ำดื่มใช้บำรุงน้ำดี ช่วยเจริญอาหาร ช่วยระบบขับถ่าย ช่วยในการนอนหลับ ใช้รักษาไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม คางทูม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ โดยใช้ใบมาต้มกับน้ำดื่ม และนำมาตำให้แหลกประคบบริเวณที่เป็น ใช้รักษาพิษไข้ดูดพิษไข้ โดยนำส่วนใบฮ่อม มาตำให้ละเอียดประคบ หรือ หมกไว้บริเวณอุ้มฝ่าเท้าค้างคืน


ลักษณะทั่วไปของฮ่อม

ฮ่อม จัดเป็นไม้พุ่มล้มลุกขนาดเล็กอายุหลายปี สูง 0.5-1.5 เมตร ลำต้นเกลี้ยง รูปทรงกระบอกสีดำ เป็นปล้องคล้ายขาไก่ และแตกกิ่งก้านตามข้อ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม รูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 2.5-10 เซนติเมตร ยาว 5-20 เซนติเมตร โคนสอบเรียว ปลายใบแหลม ขอบใบหยักฟันเลื่อย แผ่นใบบาง ด้านบนสีเขียวมัน ดอกออกเป็นช่อแบบช่อเชิงลด หรือ ช่อแยกแขนงบริเวณซอกใบ หรือ ปลายกิ่ง ช่อดอกยาว 2-8 เซนติเมตร กลีบดอกสีม่วงอมขาวเชื่อมติดกันเป็นหลอดโค้งงอเล็กน้อย รูปโป่งด้านเดียว ยาว 3-5 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 5 แฉก มีเกสรเพศผู้ 4 อัน แบบสองคู่ยาวไม่เท่ากัน ก้านชูอับเรณู 3-8 มิลลิเมตร อับเรณูรูปขอบขนาน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบเลี้ยง และมีใบประดับรูปไข่กลับ หรือ รูปช้อน ส่วนใบประดับย่อยรูปแถบแกมรูปขอบขนานถึงรูปใบหอก ผลเป็นแห้งแบบแคปซูลรูปขอบขนานขนาด 1.5-2.5ซม. เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาล และแตกง่ายส่วนเมล็ดลักษณะแบน เกลี้ยงมีสีน้ำตาลมีจำนวน 4 เมล็ด

ฮ่อม

ฮ่อม

การขยายพันธุ์ฮ่อม

ฮ่อมสามารถทำได้โดยวิธีการ ใช้เมล็ดปักชำกิ่ง และการชำราก แต่ส่วนใหญ่จะนิยมขยายพันธุ์โดยการปักชำลำต้น หรือ กิ่งก้านที่มีข้อ ซึ่งรากของฮ่อม จะงอกออกจากบริเวณข้อ แต่มีข้อแม้ว่าต้นพันธุ์ต้องมีอายุ 1 ปีขึ้นไป จึงจะมีกิ่งก้านมากพอที่จะสามารถนำมาปักชำได้ ซึ่งมีวิธีการดังนี้ นำกิ่งห้อม ความยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ที่มีข้อปล้องด้านล่าง ไปชำไว้ในกระบะที่มีส่วนผสมของดิน และแกลบดำ อัตราส่วน 1 ต่อ 1 หมั่นรดน้ำทุกวัน จากนั้นประมาณ 14 วัน รากจะเริ่มออกมาตามข้อกิ่ง และจึงนำกิ่งชำที่มีรากสมบูรณ์ลงปลูกในแปลงปลูก โดยใช้ระยะปลูกระหว่างแถว 60 เซนติเมตร ระหว่างต้น 50 เซนติเมตร


องค์ประกอบทางเคมี

มีผลการศึกษาวิจัยพบสารในกลุ่มไตรเทอร์พีนจำนวน 3 ชนิด คือ Lupeol Betulin และ Lupenone สารกลุ่มอินโดล แอลคาลอยด์จำนวน 2 ชนิด คือ Indigo และ Indirubin พบสารกลุ่มควินาโซลิโนน แอลคาลอยด์จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ 4(3H)-quinazolinone และ 2, 4 (1H, 3H)-quinazolinedione และยังพบสารกลุ่มสเตอรอล เช่น sitosterol อีกด้วย ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งได้ระบุว่าองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของฮ่อม ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญดังนี้ องค์ประกอบทางเคมีที่พบในสารสกัดของฮ่อม คือ สารกลุ่ม Indole alkaloidsQuinazolinone alkaloidsMonoterpenes Triterpenes Flavonoids Sterols Anthraquinones Benzoxazinones และLignans

โครงสร้างฮ่อม

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของฮ่อม

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของฮ่อม ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้ มีรายงานการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดจากส่วนใบลำต้น และรากของฮ่อมด้วยตัวทำละลาย 3 ชนิด คือ เฮกเซนไดคลอโรมีเทน และเอทานอลโดยวิธี Disc diffusion assay พบว่าสารสกัดไดคลอโรมีเทนของใบฮ่อมที่ความเข้มข้น 0.5 ก./มล. มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียทดสอบได้ทุกชนิดโดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus  aureus และ Bacillus cereus พบว่ามีความไวต่อสารสกัดใบฮ่อม มากที่สุดโดยมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของบริเวณการยับยั้งเท่ากับ 20.33-24.67 และ 20.67-22.00 มม. ตามลำดับเมื่อนำสารสกัดไดคลอโรมีเทนของใบฮ่อมไปทดสอบหาความเข้มข้นที่ต่ำที่สุด (MIC) ที่สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรียโดยวิธี Broth microdilution method พบว่า ค่า MIC ของเชื้อ S. aureus และ B. cereus เท่ากับ 256 และ 128 ไมโครกรัม/มล. ตามลำดับ และยังมีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ในการบรรเทาอาการโรคสะเก็ดเงินระยะปานกลางของฮ่อม หรือ ผงครามธรรมชาติ (Indigo naturalis) ซึ่งสกัดได้จากต้นฮ่อม (Baphicacanthus cusia Nees) โดยได้มีการศึกษาทางคลินิกแบบสุ่ม ชนิดปกปิดสองทาง และมีกลุ่มควบคุม (randomized,double-blid,placebo-controlled trial) ในผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน ระยะปานกลาง จำนวน 24 คน โดยแบ่งให้ทาขี้ผึ้งที่ผสมผงคราว ความเข้มข้น 1 ส่วนต่อเนื้อขี้ผึ้ง 10 ส่วน จำนวน 16 คน และให้ทายาหลอก จำนวน 8 คน ทาบริเวณผิวหนังที่มีอาการ วันละ 2 ครั้ง ติดต่อเป็นเวลา 8 สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่าขี้ผึ้งผสมผงครามสามารถลดความรุนแรงของโรค และการเกิดผื่นได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผู้ป่วยเกินกว่าครึ่ง (56.3%) ระบุว่าอาการดีขึ้นเกินกว่า 75% เมื่อประเมินด้วย Psoriasis Area and Severity Index (PASI) scores สอดคล้องกับผลจากการตรวจสอบชิ้นเนื้อของผู้ป่วยที่พบว่าขี้ผึ้งผงครามมีผลลดการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์ interleukin-17 ไซโตไคน์ ที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเกิดการอักเสบให้กลับสู่ระดับปกติ และจากการทดสอบกับเซลล์ผิวหนังในหลอดทดลองระบุว่าสาระสำคัญในการช่วยลดระดับ interleukin-17 ในผงคราม คือ สาร tryptanthrin นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยสารออกฤทธิ์ที่พบในส่วนต่างๆ ของฮ่อมระบุว่า สารกลุ่มอินโดแอลคาลอยด์ (indole alkaloids) ควิ-นาโซลินอนแอลคาลอยด์ (quinazolinone alkaloids) ไตรเทอร์ปีน (triterpenes) โมโนเทอปีน (monoterpenes) ฟลาโวนอยด์ (flavonoids) เบนโซซาซโนน (benzoxazinones) มีคุณสมบัติในการต้านเชื้อจุลินทรีย์ และเชื้อไวรัสบางชนิด มีคุณสมบัติในการต้านมะเร็ง ลดความดันโลหิตได้อีกทั้งยังมีรายงานว่าสาร N’-β-d-glucopyranosylindirubin ยังมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ Staphylococcus aureus ได้โดยมีค่า MIC เท่ากับ 62.5-125 ไมโครโมล อีกด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของฮ่อม

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้ฮ่อมเป็นสมุนไพร ในการบำบัดรักษาโรคนั้นควรระมัดระวังในการใช้ เช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ ส่วนเด็ก และสตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้ฮ่อมเป็นสมุนไพรในรูปแบบรับประทานเพราะยังไม่มีรายงานด้านความปลอดภัยรองรับ


เอกสารอ้างอิง ฮ่อม
  1. ประเทศ พลรักษา. 2552. การจำแนกสายพันธุ์ และความสามารถให้ผลผลิตของฮ่อมจากแหล่งต่างๆ ในภาคเหนือของประเทศไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญาโท มหาวิทยาลัยแม่โจ้. 98 น.
  2. ป่าแม่คำมี: ความหลากหลายทางชีวภาพจากอดีตถึงปัจจุบัน. กทม. สำนักวิจัย และพัฒนาป่าไม้. 2556
  3. วรรณา มังกิตะ สุคนธ์ทิพย์ วงค์เมือง และกมลพร ปานง่อม. 2554 การขยายพันธุ์ฮ่อม (Strobilanthes cusia(Nees) Kuntze) ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ. วารสารพฤกษศาสตร์ไทย 3:187-197.
  4. วรรณา มังกิตะ, ธนากร ลักธิ์ถีระสุวรรณ การศึกษานิเวศวิทยา และผลผลิตของฮ่อม (Baphicacanthus cusia (Nees) Brem.) ในพื้นที่จังหวัดแพร่. การประชุมวิชาการ และนำเสนอผลงานวิชาการเครือข่ายงานวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้ประเทศไทย ครั้งที่ 2: ความรู้นิเวศวิทยาเพื่อการฟื้นฟู. 2556. หน้า 312-323.
  5. ฉันทนา ชูแสงทรัพย์และคณะ. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบสมุนไพรฮ่อมลดไข้ในชุมชนบ้านนาคูหา จังหวัดแพร่. วารสารหน่วยวิจัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้ปีที่ 11. ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2563. หน้า 67-82.
  6. วีรพันธ์ ไชยมณี, กรณ์รวี แก้วปรีชา, สินีนาฎ สองศรี. ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียบางชนิดของสารสกัดหยาบจากฮ่อม, วารสารวิจัย และส่งเสริมวิชาการเกษตรปีที่ 37. ฉบับที่ 2 พฤษภาคม-สิงหาคม 2563. หน้า 71-80.
  7. ประสิทธิภาคทางคลินิกของฮ่อมในรูปแบบยาทาเฉพาะที่สำหรับโรคสะเก็ดเงินระยะปานกลาง ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  8. Chanthavanich, S. (2006). Data Analysis for Qualitative Research. 7th ed. Bangkok. Chulalongkorn University. (in Thai)
  9. Sun, X.B., J.R. Sheng and D.P. Wang.2008. Research progress of chemical constituents and pharmacological activities for Baphicacanthus cusia(Nees) Bremek. Guangxi Shifan Xueyuan Xuebao25: 66-69
  10. Li, L., Liang, H. Q., Liao, S. X., Qiao, C. Z., Yang, G. J., and Dong, T. Y. (1993). Chemical studied of Strobilanthes cusia. Acta Pharmaceutica Sinica B 28(3): 238–240. (Chinese with English abstract)
  11. Tanaka S, Lattirasuvan T, Sritulanon C, Iwasaki K,Sakurai K. 2012. Soil fertility status under various types of upland farming in northern Thailand -Case study of a village located in a mixed mixed deciduous forests Pedlolgist 56(1):1-12.
  12. Hou, H. C., and Liang, S. Z. (2006). Determination of indirubin and indigo in Baphicacanthus cusia by HPLC. Zhong yao Cai 29(7): 681–682.
  13. Chinese Pharmacopoeia Commission. 2015. The Pharmacopoeia of the People’s Republic of China,2015 Edition Part I.Beijing: China Medical Science Press.2185 p.
  14. Honda, G., and Tabata, M. (1979). Isolation of antifungal principle tryptanthrin, from Strobilanthes cusia O. Kuntze. Planta Medica 36 (1): 85–90.
  15. Gu, W., Y. Zhang, X.J. Hao, F.M. Yang,Q.Y. Sun, S.L. Morris-Natschke, K.H. Lee,Y.H. Wang and C.L. Long.  2014.  Indole alkaloid glycosides from the aerial parts of Strobilanthes cusia. J. Nat. Prod.77: 2590-2594.