ยอเถื่อน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ยอเถื่อน งานวิจัยและสรรพคุณ 16 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ยอเถื่อน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ยอป่า (ภาคกลาง, ภาคอีสาน), สลักหลวง, สลักป่า (ภาคเหนือ), มูดู, กะมูดู (ภาคใต้, มลายู), คุย (พิษณุโลก), อุ่มลูกดูหนัง (สระบุรี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Morinda elliptica (Hook.f.)Ridl
วงศ์ RUBIACEAE


ถิ่นกำเนิดยอเถื่อน

ยอเถื่อน ที่กล่าวถึงในบทความนี้เป็นคนละชนิดกับ “ยอป่า ” (Morinda coreia Vuch. Ham.) ซึ่งในบางพื้นที่อาจเรียกว่า ยอป่า เหมือนกัน สำหรับยอเถื่อน (Morinda elliptica (Hook.f.) Ridl) มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของทวีปเอเชีย บริเวณภูมิภาคเอเชียใต้ อาทิในอินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เนปาล และปากีสถาน จากนั้นจึงมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยัง พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย สำหรับในประเทศไทย พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าโปร่งทั่วไป และตามบริเวณชายหาด


ประโยชน์และสรรพคุณยอเถื่อน

  1. ใช้บำรุงเลือด
  2. ช่วยขับน้ำคาวปลา
  3. ช่วยขับเลือด
  4. ช่วยขับ และฟอกโลหิตระดู
  5. ช่วยขับผายลม ขับลมในลำไส้
  6. แก้จุกเสียดแน่นเฟ้อ
  7. ช่วยป้องกันบาดทะยักปากมดลูก
  8. แก้ไข้
  9. แก้ปวดศีรษะ
  10. แก้ไอ
  11. แก้จุดเสียด
  12. แก้ม้ามโต
  13. แก้ริดสีดวงทวาร
  14. ช่วยฆ่าไข่เหา
  15. แก้คลื่นไส้ อาเจียน
  16. แก้เบาหวาน

           ยอเถื่อน ถูกนำมาใช้ประโยชน์หลายๆ ด้าน ได้แก่ มีการนำยอดและใบอ่อน มาลวก หรือ ต้มให้สุกจิ้มกับน้ำพริก หรือ ใช้ปรุงประกอบอาหาร ต่างๆ เช่น ซอยใส่ข้าวยำ ของคนภาคใต้ ส่วนผลสุกใช้รับประทานเล่นได้ หรือ ในชนบทอาจนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น โค และกระบือ นอกจากนี้ในอดีตตามภูมิปัญญาชาวบ้านยังมีการนำรากของยอเถื่อนมาใช้ย้อมผ้า โดยจะให้สีแดง

ยอเถื่อน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้บำรุงเลือด ขับน้ำคาวปลา ขับโลหิต ฟอกโลหิตระดู ขับผายลม แก้จุกเสียดแน่นเฟ้อ ป้องกันบาดทะยักปากมดลูก โดยนำแก่นต้นยอเถื่อน มาต้มกับน้ำดื่ม หรือ นำมาดองสุราดื่มก็ได้ 
  • ใช้แก้ไข้ แก้ปวดศีรษะ แก้ริดสีดวงทวาร แก้ม้ามโต โดยนำใบมาต้มกับน้ำดื่ม อีกตำราหนึ่งระบุว่าใช้แก้ไข้ โดยให้น้ำใบสดมาอังไฟแล้วนำมาปิดที่หน้าอก และหน้าท้อง แก้ไอ แก้จุกเสียด แก้ม้ามโต 
  • ใช้แก้คลื่นไส้อาเจียน โดยนำผลอ่อนมาจิ้มเกลือกิน
  • ใช้ขับระดูสตรี ขับลมในลำไส้ โดยนำผลยอเถื่อน สุกงอมมารับประทานสดๆ
  • ใช้ฆ่าเหาและไข่เหา โดยนำใบยอเถื่อน สดมาตำพอกศีรษะ


ลักษณะทั่วไปของยอเถื่อน

ยอเถื่อน จัดเป็นไม้ยืนผลัดใบขนาดกลาง แตกทรงพุ่มไม่เป็นระเบียบมีความสูงของต้น 5-15 เมตร ลำต้นคดงอ เปลือกต้นเป็นสีเทา หรือ น้ำตาลเหลือง มักแตกเป็นร่องลึกยาว และแนวขวาง หรือแตกเป็นสะเก็ดสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก ด้านในเปลือกเป็นสีเทาปนเหลือง เนื้อไม้มีสีเหลืองเปราะหักง่าย

           ใบยอเถื่อน เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ลักษณะของใบเป็นรูปแคบ หรือ รูปไข่กลับ มีขนาดกว้าง 5-9 ซม. ยาว 8-17 ซม. โคนใบสอบเบี้ยว ปลายใบแหลมเรียง ขอบใบเรียวด้านบน ใบมีสีเขียวเข้ม ส่วนด้านล่างมีสีอ่อนกว่า ผิวใบบางค่อนข้างเกลี้ยงทั้งสองด้าน มีเส้นใบย่อยสานเป็นร่างแห ใบมีเส้นข้าง ตื้นๆ 8-10 คู่ และมีก้านใบยาว 0.6-2 ซม.

           ดอกยอเถื่อน ออกเป็นดอกช่อแบบกระจุก มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกมีขนาดเล็ก สีขาว ขนาดประมาณ 2 ซม. โดยจะออกเป็นกลุ่ม บริเวณซอกใบและปลายยอด ช่อดอกรูปร่างค่อนข้างกลม ส่วนกลีบดอกมีสีขาว โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ยาว 1 เซนติเมตร ส่วนปลายกลีบหยักเป็น 5 แฉก กลีบดอกมีลักษณะเรียวแหลม เมื่อบานปลายกลีบมักโค้งลง กลีบดอกบาง เกสรตัวผู้สั้นๆ 5-6 อัน ติดที่ปากหลอด มีก้านเกสรตัวเมียยาวกว่าหลอดกลีบ ปลายแยก 2 แฉก มีรังไข่เชื่อมติดกัน

           ผลยอเถื่อน เป็นผลรวมรูปร่างค่อนข้างกลม หรือ อาจบิดเบี้ยว ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-3 เซนติเมตร ผิวรอบผลมีตาเป็นปุ่มปม ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีดำ เนื้อในผลมีสีขาวนุ่มฉ่ำน้ำ ด้านในผลมีเมล็ดมากเมล็ดลักษณะแบนสีน้ำตาล ก้านผลยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร

ยอเถื่อน

ยอเถื่อน

การขยายพันธุ์ยอเถื่อน

ยอเถื่อน สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธีเช่น การเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และการปักชำ แต่วิธีที่เป็นที่นิยม คือ การเพาะเมล็ด ซึ่งวิธีการเพาะเมล็ดและการปลูกยอเถื่อน สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและการปลูก ยอบ้าน ซึ่งได้กล่าวถึงมาแล้วก่อนหน้านี้ในบทความ เรื่อง “ยอ 


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนราก และสารสกัดจากส่วนเหนือดินของยอเถื่อน ระบุว่าสารรออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น สารสกัดจากส่วนรากพบสาร Alizarin-l-methyl ether, l-hydroxy-2-methyl anthraquinone, 2-formyl-l-hydroxy anthraquinone, Damnacacthal, Nordamncanthal, lucidin-w-methyl ether, Rubiadin, Rubiadin-l-methyl ether และ Soranjidiol เป็นต้น

           นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าสารสกัดจากส่วนเหนือดินของยอเถื่อน พบสารต่างๆ เช่น alizarin-l-methyl ether, anthragallol-l,2-dimethyl ether, anthraquinones, nordamnacanthal, lucidin-ⴍ-methyl ether, morindone, purpurin-l-methyl ether, rubiadin และ soranjidiol เป็นต้น

โครงสร้างยอเถื่อน

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของยอเถื่อน

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของยอเถื่อนระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้ 

           มีรายงานการศึกษาวิจัยในต่างประเทศ ระบุว่าสารออกฤทธิ์ที่พบในรากของยอเถื่อน ได้แก่ anthraquinones: morindone‐5‐methyl ether, rubiadin, 2‐Formyl‐1‐hydroxy‐anthraqui none,1‐hydroxy‐2‐methylanthraquinone, rubiadin‐1‐methyl ether; alizarin‐1‐methyl ether, nordamnacanthal; damnacanthal; lucidin methyl ether; และ soranjidiol มีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งหลายชนิดในหลอดทดลอง นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยอีกฉบับหนึ่งระบุว่าสารสกัดเมทานอลจากส่วนรากของยอเถื่อน ยังมีฤทธิ์ช่วยให้เจริญอาหาร แก้ท้องเสีย แก้ไข้ ต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งการเกิดริดสีดวงทวาร ต้านไวรัส ต้านเชื้อรา และมีฤทธิ์เสริมภูมิคุ้มกัน อีกทั้งยังมีรายงานล่าสุดว่า สารสกัดยอเถื่อน จากส่วนรากที่มีสาร 2-formyl-l-hydroxyanthraquinone, l-hydroxy-2-methylanthra-quinone, nordamancanthal, danamcanthal, lucidin-ⴍ-methyl ether, rubiadin ,rubiadin-l-methyl ether, soranjidiol, morindone, morindone-5-methyl ether และ alizarin-l-methyl ether ยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อ HIV และต้านแบคทีเรียอีกด้วย


การศึกษาทางพิษวิทยาของยอเถื่อน

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทานลูกยอเถื่อน เนื่องจากเป็นพืชสกุลเดียวกับยอบ้าน และยอป่า ซึ่งมีฤทธิ์ขับโลหิต ขับระดู ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรได้ สำหรับการรับประทานผลอ่อน และผลสุกของยอเถื่อนเพื่อผลทางสมุนไพร ไม่ควรรับประทานร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้สรรพคุณทางยาลดลง


เอกสารอ้างอิงยอเถื่อน
  1. มัณฑนา นวลเจริญ (2552). มนธิดา สีตะธนี (บรรณาธิการ).พรรณไม้ป่าชายหาด. ปทุมธานี, สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ. หน้า 132.
  2. ภาคภูมิ พระประเสริฐ. 2548 สรีรวิทยาของพืช. กรุงเทพฯ. โอเดียนสโตร์
  3. จารุวรรณ แซ่เอง, ภาคภูมิ พระประเสริฐ. ผลของสารสกัดจากใบของยอป่า (Morinda elliptica (Hook.f.)Ridl.) ต่อการงอกของเมล็ด.วารสารวิทยาศาสตร์ มศว.ปีที่ 32 ฉบับที่ 2.ธันวาคม 2559. หน้า 125-136
  4. ยอป่า, ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=271
  5. Ismail, N. H., Ali, A. M., Aimi, N., Kitajima, M., Takayama, H., & Lajis, M. N. (1997). Anthraquinones from Morinda elliptica. Phytochemistry, 45, 1723-1725.
  6. Ali, A. M., Ismail, N. H., Mackeen, M. M., Yazan, L. S., Mohamed, S. M., Ho, A. S. H., & Lajis, N. H. (2000). Antiviral, cytotoxic and antimicrobial activites of anthraquinones isolated from the roots of Morinda elliptica. Pharmaceutical Biology, 38, 298-301.
  7. Noiarsa,P., Ruchirawal., S., Otsuka, H., and Kanchanapoom, T. 2006. A New Iridoidglucoside from the Thai Medicinal Plant, Morinda elliptica Rid. Journal of Natural Medicine,60;322-324.
  8. Alitheen, N. B., Manaf, A. A., Yeap, S. K., Shuhaimi, M., Nordin, L., & Mashitoh, A. R. (2010). Immunomodulatory effects of damnacanthal isolated from roots of Morinda elliptica. Pharmaceutical Biology, 48, 446–452. https://doi.org/10.3109/13880200903168031
  9. Jasril, N. H., Lajis, M. N., Abdullah, M. A., Sukari, M. A., & Ali, A. M. (2003). Antitumor promoting and antioxidant activities of anthraquinones isolated from cell suspension culture of Morinda elliptica. Asia Pacific Journal of Molecular Biology and Biotechnology, 11,3–7.