มันฝรั่ง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

มันฝรั่ง งานวิจัยและสรรพคุณ 18 ข้อ

ชื่อสมุนไพร มันฝรั่ง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น อะลู, มันอลู (ภาคเหนือ), หัวมัน (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum tuberosum Linn.
ชื่อสามัญ Potato, Irish potato
วงศ์ SPLANACEAE


ถิ่นกำเนิดมันฝรั่ง

มันฝรั่งเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในแถบที่ราบสูงของเทือกเขาแอนดีสซึ่งคาดว่าอยู่ในประเทศเปรู โดยได้มีการขุดพบเครื่องใช้ที่มีรูปร่างคล้านมันฝรั่ง ซึ่งสันนิษฐานว่าทำขึ้นประมาณ 200 ปีกว่า ก่อนคริสต์ศักราช จากหลักฐานดังกล่าวเชื่อได้ว่าชาวอินเดียแดงในเปรู คนกลุ่มแรกรู้จักปลูก และกินมันฝรั่ง ต่อมาจึงมีการนำมันฝรั่งเข้ามาปลูกในยุโรประหว่างปี ค.ศ.1531-1535 และในปี ค.ศ.1586 ซึ่งแพร่กระจายเข้าไปในประเทศอังกฤษ ไอร์แลนด์และแพร่ในยุโรปอย่างมากในปี ค.ศ.1750 สำหรับในประเทศไทยไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่ามีการนำฝรั่งเข้ามาในปีใดแต่พบว่าชาวเขา และชาวจีนฮ่ออพยพ ที่อาศัยอยู่บริเวณภูเขาทางภาคเหนือได้รู้จักการปลูกมันฝรั่งมาเป็นเวลานานแล้วและเรียกมันฝรั่งว่า “มันอาลู” โดยสันนิษฐานว่าอาจเป็นพันธุ์ที่ปลูกในประเทศอินเดียซึ่งถูกนำเข้ามาโดยชาวอังกฤษ และแพร่ขยายมายังประเทศพม่าจนมาถึงภาคเหนือของไทย ส่วนใหญ่พื้นที่เพาะปลูกมันฝรั่งของประเทศไทยอยู่ทางภาคเหนือ ที่มีอากาศหนาวเย็น เช่น จังหวัดเชียงใหม่ มีเขตที่ปลูกมาก อำเภอแม่แตง อำเภอสันทราย อำเภอฝาง อำเภอเชียงดาว โดยเฉพาะที่สูงซึ่งมีความสูงตั้งแต่ 1000 เมตรจากระดับน้ำทะเล

ประโยชน์และสรรพคุณมันฝรั่ง

  • ช่วยย่อยอาหาร
  • รักษาโรคคางทูม
  • รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
  • ช่วยลดไขมัน
  • ช่วยลดความดันโลหิตสูง
  • ช่วยป้องกันหลอดเลือดแข็งตัว
  • ช่วยระงับประสาท
  • ช่วยบำรุงประสาทและสมอง
  • แก้หวัด
  • ใช้เป็นยาระบาย
  • ช่วยป้องกันและรักษาโรคโลหิตจาง
  • ช่วยถอนพิษในตับ
  • ช่วยขับน้ำนมสตรี
  • แก้ไอ
  • แก้อาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อ
  • ช่วยในการนอนหลับ
  • ใช้แก้ปวดศีรษะ
  • แก้กระดูกหัก

           มันฝรั่งจัดเป็นอาหารหลักๆ ของชาวยุโรป อเมริกา และลาตินอเมริกา มันฝรั่ง เป็นอาหารที่มีคุณค่าโภชนาการสูง ซึ่งมีปริมาณของคาร์โบไฮเดรต โปรตีน แร่ธาตุ และวิตามินบางชนิดสูง จึงจำเป็นโดยชาวยุโรป และอเมริการับประทานมันฝรั่งเป็นอาหารหลักแทนข้าว โดยนำมาต้ม ทอด อบ หรือ นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย เช่น นำมาทำแป้ง นำมาทอดกรอบ เป็นขนมขบเคี้ยว หมักทำสุรา ทำน้ำตาลกลูโคสและเดกทริน หรือ ใช้อุตสาหกรรมผลิตแอลกอฮอลล์ และกรดซิตริกทำล้อยาง ฟิล์ม พลาสติด สีน้ำมัน และใช้อุตสาหกรรมกระดาษรวมถึงอุตสาหกรรมทอฝ้าย เป็นต้น

มันฝรั่ง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้แก้หวัด ช่วยในระบบการย่อยอาหาร แก้หวัด ถอนพิษตับ ขับน้ำนม ลดไขมัน ช่วยลดความดันโลหิตสูง ช่วยป้องกันหลอดเลือดแข็งตัว ใช้เป็นยาระบาย ช่วยป้องกัน และรักษาโรคโลหิตจางได้ เพราะร่างกายจะดูดซึมธาตุเหล็ก กับ วิตามินซีที่มีอยู่ในหัวมันฝรั่ง ซึ่งจะช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดงในร่างกาย โดยนำหัวของมันมาต้ม หรือ นำมาประกอบอาหารรับประทาน ใช้แก้ไอ แก้ปวดเกร็งกล้ามเนื้อ เช่น การนอนหลับ โดยนำใบสดมันฝรั่งมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้รักษาโรคคางทูม โดยนำมันฝรั่ง 1 ลูก ฝนกับน้ำส้มสายชู ทาบริเวณที่เป็นติดต่อกัน ใช้รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก โดยนำน้ำคั้นจากมันฝรั่งทาบริเวณที่แผลบ่อยๆ หรือ ตำพอละเอียดพอก แล้วเปลี่ยนวันละหลายๆ ครั้ง มันฝรั่งก็ช่วยบำรุงสมองได้ เพราะอุดมไปด้วยวิตามินบี 6 ที่เป็นตัวช่วยบำรุงระบบประสาทและสมอง ทำให้ผลิตสารสื่อประสาทได้อย่างเป็นปกติ เช่น เซโรโทนิน (ช่วยกระตุ้นอารมณ์), กาบา (ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย), และอดรีนาลิน (ช่วยลดความเครียด) โดยปริมาณที่แนะนำให้รับประทานต่อวัน คือ ครึ่งถึงหนึ่งถ้วยตวง (ทั้งแบบบดและแบบต้ม) และไม่ควรรับประทานมากกว่านี้ เพราะมีวิตามินซี อยู่ จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร จนทำให้รู้สึกท้องอืดเฟ้อได้

ลักษณะทั่วไปของมันฝรั่ง

มันฝรั่ง จัดเป็นพืชล้มลุกใบเลี้ยงคู่ที่สะสมอาหารไว้ที่ลำต้นใต้ดิน หรือ ที่เรียกกันว่าหัวส่วนลำต้นบนดินมีลักษณะเป็นกิ่ง ตั้งตรงมีความสูงของต้นประมาณ 0.5-1 เมตร ลำต้นเป็นครีบกลวง เมื่ออ่อนจะมีขนขึ้นปกคลุมแตกกิ่งในระดับต่ำ หัวที่เกิดจากลำต้นอยู่ใต้ดิน 1 ต้น จะมีหัวมันฝรั่ง 8-10 หัว หัวเกิดจากไหลส่วนล่างของลำต้นที่งอกชอนไชลงไปในดิน หัวมีลักษณะกลม หรือ รีผิวค่อนข้างเกลี้ยงมีจัดเล็กสีน้ำตาลตลอดหัว และมีตาอยู่โดยรอบลักษณะวงกลมโดยแต่ละจะสามารถแตกออกได้ 3 กิ่ง ที่ตาจะมีเมล็ดรูปร่างคล้ายจานซึ่งมีไว้เพื่อป้องกันตาไม่ให้ได้รับอันตราย

           ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเรียงสลับ โดยจะออกตามกิ่งก้านตั้งแต่ระดับต่ำใบมีลักษณะเป็นรูปรี หรือ รูปไข่แกมวงรี หรือ แกมไข่กลับปลายแหลม ผิวใบมีขนเล็กน้อย โดยใน 1 ช่อใบ จะประกอบไปด้วยใบยอด 1 ใบ และใบย่อย 2-4 คู่ และใบย่อยสั้นอีก 2 คู่

          ดอก ออกเป็นช่อบริเวณส่วนยอดของลำต้น หรือ บริเวณซอกใบโดยใน 1 ช่อดอก จะประกอบไปด้วยดอกย่อย 7-20 ดอก ซึ่งดอกย่อยจะมีกลีบดอก สีขาว สีกุหลาบ สีชมพูม่วง หรือ ม่วง แล้วแต่สายพันธุ์จำนวน 5 กลีบ โคนดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ดอกมีเกสรเพศผู้สีเหลือง 5 อัน และเกสรเพศเมีย 1 อัน และก้านดอกจะมีขนสั้นๆ ขึ้นปกคลุม

           ผล เป็นผลสดออกเป็นพวง ผลมีลักษณะกลมและเล็ก ผลเป็นสีเขียว หรือ สีน้ำตาล โดยจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 1 นิ้ว ด้านในจะมีเมล็ดฉ่ำน้ำ และเมล็ดจำนวนมากคล้ายมะเขือเทศ

มันฝรั่ง

มันฝรั่ง

การขยายพันธุ์มันฝรั่ง

มันฝรั่งสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ดเพาะใช้หัวมันมาปลูกแต่ในปัจจุบันนิยมใช้หัวมันมาปลูกมากกว่า โดยมันฝรั่ง จะชอบดินร่วนและมีความชื้นพอประมาณ และยังต้องโดนแสงแดดเต็มที่ตลอดวัน อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโต อยู่ที่ 15-20 องศาเซลเซียส และยังสามารถปลูกได้ในดินทุกชนิดแต่ในดินร่วนปนทรายจะเจริญเติบโตได้ดี กว่าดินชนิดอื่นๆ สามารถทนความแล้งได้ดี สำหรับวิธีการใช้หัวพันธุ์ ทำได้โดยนำหัวพันธุ์ที่ผ่านการพักตัวมาแล้ว 2-4 เดือน หลังจากเก็บเกี่ยวและควรมีหน่อที่แตกจากตายาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร มาตัดออกเป็นชิ้นๆ 1 ชิ้นต่อ 1 ตา แล้วนำปลูกลงในแปลงดินที่เตรียมไว้ โดยนำหัวพันธุ์ใส่ลงไปในหลุม หลุมละ หนึ่งชิ้น ให้มีระยะห่างระหว่างต้น ประมาณ 30*40 เซนติเมตร กลบด้วยดินละเอียดที่ผสมด้วยปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมักเก่า แล้วรดน้ำให้ชุ่ม ภายหลังการปลูกควรให้น้ำสม่ำเสมอ เมื่อมันฝรั่งมีต้นแก่เต็มที่ (มีอายุประมาณ 4-5 เดือน) ให้สังเกตุดูที่ต้นและใบจะออกแห้ง จึงสามารถขุดหัวออกมาได้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ (หัว ใบ เปลือกผล) ของมันฝรั่ง ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น Barogenin, gallic acid, vanillic acid, chaconine, Erytoxanthin, chlorogenic acid, cryptochlorogenic acid, glucinol optatolectin, kaempferol glycoside, catechin, naringin, patatin, malvidin, cryptoxanthin, stearic acid, tuberoside, zeaxanthin, Neoxanthin, Beta-carotene, luthin, α-solanine, solanine เป็นต้น นอกจากนี้มันฝรั่งยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

           คุณค่าทางโภชนาการของมันฝรั่งดิบ (100 กรัม)

พลังงาน

77

กิโลแคลลอรี่

คาร์โบไฮเดรต

17.47

กรัม

แป้ง

15.44

กรัม

ใยอาหาร

2.2

กรัม

ไขมัน

0.1

กรัม

โปรตีน

2

กรัม

วิตามิน บี1

0.08

มิลลิกรัม

วิตามิน บี2

0.03

มิลลิกรัม

วิตามิน บี3

1.05

มิลลิกรัม

วิตามิน บี5

0.296

มิลลิกรัม

วิตามิน บี6

0.295

มิลลิกรัม

วิตามิน บี9

16

ไมโครกรัม

วิตามิน ซี

19.7

มิลลิกรัม

วิตามิน อี

0.01

มิลลิกรัม

วิตามิน เค

1.9

ไมโครกรัม

แคลเซียม

12

มิลลิกรัม

ธาตุเหล็ก

0.78

มิลลิกรัม

โซเดียม

6

มิลลิกรัม

สังกะสี (ซิงค์)

0.29

มิลลิกรัม

แมกนีเซียม

23

มิลลิกรัม

แมงกานีส

0.153

มิลลิกรัม

ฟอสฟอรัส

57

มิลลิกรัม

โพแทสเซียม

421

มิลลิกรัม

 โครงสร้างมันฝรั่ง

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของมันฝรั่ง

มีรายงานการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของมันฝรั่ง ในต่างประเทศ ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและฤทธิ์ลดความดันโลหิต

มีรายงานผลการศึกษาในผู้ที่มีสุขภาพดี 8 คน โดยให้รับประทานมันฝรั่งขนาดเล็กที่อบด้วยไมโครเวฟทั้งผิว 6-8 ลูก (ประมาณ 138 กรัม) ครั้งเดียว เปรียบเทียบกับผู้ที่รับประทานคุกกี้มันฝรั่งในปริมาณที่เท่ากัน พบว่ามันฝรั่งอบช่วยเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระในเลือดและในปัสสาวะ ในขณะที่กลุ่มที่รับประทานคุกกี้มันฝรั่งลดสารต้านอนุมูลอิสระในเลือด และในปัสสาวะ จากนั้นได้ทำการศึกษาแบบข้ามกลุ่มต่อในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงจำนวน 18 คน โดยให้รับประทานมันฝรั่งม่วงอบด้วยไมโครเวฟทั้งผิว 6-8 ลูก วันละ 2 ครั้ง นาน 4 สัปดาห์ หรือ ไม่รับประทาน พบว่าการรับประทานมันฝรั่งม่วงอบด้วยไมโครเวฟทั้งผิว และไม่มีผลต่อระดับน้ำตาล ไขมันในเลือด ไม่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักร่างกาย แต่มีผลลดระดับความดันโลหิต diastolic 4.3% หรือ ลดลง 4 มม. ปรอท และมีผลลดระดับความดันโลหิต systolic 3.5% หรือ ลดลง 5 มม. ปรอท ถึงแม้ว่าการลดลงของระดับความดันโลหิตในครั้งนี้มีผู้ป่วยรับประทานยาลดความดันโลหิต 14 ใน 18 คน จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่า การรับประทานมันฝรั่งม่วงอบด้วยไมโครเวฟทั้งผิวสามารถลดความดันโลหิต และลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงโดยไม่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของน้ำหนัก

           ฤทธิ์ลดระดับไขมันและน้ำตาลในเลือด

มีรายงานผลการศึกษาผลของสารในกลุ่มแอนโทไซยานินจากมันฝรั่งหวาน (APSP) ในหนูขาวเพศผู้ เป็นเวลา 7 สัปดาห์ โดยแบ่งหนูเป็น 6 กลุ่ม กลุ่มละ 10 ตัว โดยกลุ่มที่ 1 เป็นหนูปกติ (control) กลุ่มที่ 2 เป็นหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย streptozocin (STZ) (model) กลุ่มที่ 3 เป็นหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย STZ และได้รับยา metformin (metformin) กลุ่มที่ 4 เป็นหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย STZ และได้รับการล้างท้อง (Lavage) ด้วย 0.5% APSP กลุ่มที่ 5 เป็นหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย STZ และได้รับการล้างท้องด้วย 1.0% APSP กลุ่มที่ 6 เป็นหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย STZ และได้รับการล้างท้องด้วย 2.0% APSP หลังการทดลองพบว่าน้ำหนักตัวของหนูในกลุ่มที่ 2 ลดลงมากกว่าหนูกลุ่มที่ 1 ในขณะที่ระดับน้ำตาลในเลือดของหนูกลุ่มที่ 2 สูงกว่าหนูกลุ่มที่ 1 ส่วนหนูในกลุ่มที่ 3–6 มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่ากลุ่มที่ 1 แต่ต่ำกว่ากลุ่มที่ 2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่ 3 และกลุ่มที่ 5 เมื่อเปรียบเทียบระดับคอเลสเตอรอลรวม คอเลสเตอรอลชนิด LDL และ HDL ในเลือดหนูในกลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 1 พบว่าระดับของคอเลสเตอรอลรวม และคอเลสเตอรอลชนิด LDL ของหนูในกลุ่มที่ 2 สูงกว่าหนูในกลุ่มที่ 1 ในขณะที่ระดับของคอเลสเตอรอลชนิด HDL หนูในกลุ่มที่ 2 ต่ำกว่าหนูในกลุ่มที่ 1 ส่วนหนูในกลุ่มที่ 5 และ 6 มีระดับของคอเลสเตอรอลรวม คอเลสเตอรอลชนิด LDL และไตรกลีเซอไรด์ลดลง เมื่อเทียบกับหนูในกลุ่มที่ 2 เช่นเดียวกับหนูในกลุ่มที่ 3 ซึ่งมีระดับของคอเลสเตอรอลรวม และไตรกลีเซอไรด์ในเลือดลดลง ค่าดัชนีบ่งชี้ภาวะหลอดเลือดแข็งตัว (atherogenic index) ของหนูในกลุ่มที่ 2 และ 3 เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ส่วนหนูในกลุ่มที่ 4–6 มีค่าดังกล่าวลดลง ฤทธิ์ของ glutamate-pyruvate transaminase (GPT) และ glutamic oxaloacetic transaminase (GOT) ในกลุ่มที่ 2 เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ส่วนหนูในกลุ่มที่ 3–6 มีค่า GPT ลดลง ในขณะที่หนูในกลุ่มที่ 3–5 มีค่า GOT ลดลง จากผลการทดลองดังกล่าวทำให้สามารถสรุปได้ว่า APSP สามารถช่วยในการักษาระดับน้ำตาล ระดับไขมันในเลือด การเผาผลาญน้ำตาลกลูโคส และไขมันในหนูขาวที่มีภาวะของเบาหวานให้ดีขึ้น ซึ่งผลดัวกล่าวอาจเป็นผลดีต่อการทำงานของตับด้วย

           และยังมีรายงานระบุว่าในมันฝรั่งจะมีสารแอลคาลอยด์ที่ชื่อว่า Solanine ซึ่งเป็นสารที่มีอันตรายต่อมนุษย์ โดยในมันฝรั่งสด 1 กิโลกรัมจะมี Solanine 20-100 มิลลิกรัม โดย Solanine จะพบมากในรากและเปลือกมันฝรั่ง ในมันฝรั่งเปลือกแดงจะมี Solanine มากกว่ามันฝรั่งเปลือกเหลือง ส่วนมันฝรั่งดิบจะมี Solanine มากกว่ามันฝรั่งสุกนอกจากนี้มันฝรั่งเมื่อโดนแสงแดดเปลือกจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเขียว และทำให้ปริมาณของ Solanine เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย อีกทั้งยังมีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาอื่นๆ ระบุว่ามันฝรั่งยังมีฤทธิ์ ต้านเชื้อราและต้านแบคทีเรีย ต้านภูมิแพ้ และต้านมะเร็ง ต้านการเป็นพิษต่อตับ ต้านการอักเสบ ต้านแผลในกระเพาะอาหาร และยังมีฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอลอีกด้วย


การศึกษาทางพิษวิทยาของมันฝรั่ง

มีรายงานผลการศึกษาทางพิษวิทยาของมันฝรั่ง ระบุว่า มีการทดสอบความเป็นพิษโดยให้แกะกินส่วนเหนือดินของมันฝรั่งขนาด 2.8 กิโลกรัม และ 3.85 กิโลกรัม ต่อวัน เป็นระยะเวลา 9 วัน ไม่พบความเป็นพิษ แต่ทั้งนี้ยังมีการศึกษาวิจัยอีกฉบับหนึ่งระบุว่า มีการศึกษาความเป็นพิษต่อสมองของมันฝรั่งทอดในลูกหนู โดยแบ่งหนูแรทที่ท้องเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มควบคุม จะได้รับอาหารปกติ กลุ่ม acrylamide (ACR) จะได้รับอาหารปกติและการป้อน ACR 30 มก./กก. น้ำหนักตัว และกลุ่มมันฝรั่งทอด จะได้รับอาหารปกติที่ผสมมันฝรั่งทอด 30% โดย ACR และมันฝรั่งทอดจะได้รับตั้งแต่วันที่ 6 ของครรภ์ไปจนคลอด และหลังคลอด 4 สัปดาห์ ลูกหนูที่ได้รับ ACR หรือ มันฝรั่งทอด จะมีขนาดตัวและสมองเล็กลง และน้ำหนักตัวน้อยกว่าลูกหนูที่เกิดดจากแม่ที่ได้รับอาหารปกติ และลูกหนูที่ได้รับ ACR หรือ มันฝรั่งทอดยังมีการพัฒนาการของสมองผิดปกติ โดยพบเซลล์ตายอยู่ที่ชั้น granular cell ซึ่งเป็นชั้นในสุดของเปลือกของสมองน้อย (cerebellar cortex) ซึ่งสังเกตุเห็นได้จากสมองลูกหนูตั้งแต่แรกเกิด ในสมองของลูกหนูอายุ 1 สัปดาห์ พบว่ามีจำนวน Purkinje cells ลดลง ซึ่งเป็นเซลล์ที่อยู่ในชั้นกลางของสมองน้อย (cerebellum) ที่มีบทบาทสำคัญในการควบคุมการเคลื่อนไหว การลดลงของเซลล์ชนิดนี้มีมากขึ้นในสมองของลูกหนูอายุ 3-4 สัปดาห์ การศึกษาโครงสร้างของ Purkinje cell พบว่ามีนิวเคลียสฝ่อลีบ, endoplasmic reticulum แตก, การจัดเรียงของ polyribosomes ผิดปกติ, ไมโทคอนเดรียบวมและ cristae ผิดปกติ และ golgi apparatus มีขนาดใหญ่ผิดปกติ นอกจากนี้กล้ามเนื้อน่องของลูกหนูในกลุ่มที่ได้รับ ACR หรือ มันฝรั่งทอด ยังมีการสลายของ myofibrils อีกด้วย สรุปได้ว่า สมองส่วน cerebellum ของลูกหนูที่เกิดจากแม่ที่ได้รับมันฝรั่งทอดมีความผิดปกติ และมีการสลายของกล้ามเนื้อน่องในช่วงพัฒนาการหลังคลอด ซึ่งความเป็นพิษนี้เกิดจากสาร acrylamide ที่พบได้ในมันฝรั่งทอด (ในมันฝรั่งทอด 1 กก. มี ACR 3500 ไมโครกรัม)

          อีกทั้งยังมีการศึกษาทดลองในหนูแรทเพศผู้อายุ 7 สัปดาห์ โดยให้กินอาหารที่มีส่วนผสมของแป้งมันฝรั่ง ซึ่งมีขนาดของ esterified phosphorus (P) ต่างๆ กัน เป็นเวลา 1, 3 หรือ 5 สัปดาห์ พบว่าหนูที่กินแป้งมันฝรั่ง มีการขับทิ้งแคลเซียม โพแทสเซียม และ แมกนีเซียม ออกมากับอุจจาระเพิ่มขึ้น ในขณะที่การดูดซึมแคลเซียม และแมกนีเซียม ลดลง นอกจากนี้ปริมาณของแคลเซียมบริเวณกระดูกโคนขาของหนูที่กินแป้งมันฝรั่งยังลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่กินน้ำตาลซูโคส หรือกลุ่มที่กินแป้งข้าวโพด จากผลการทดลองทำให้สรุปได้ว่า การบริโภคแป้งมันฝรั่งไม่มีส่วนช่วยในการดูดซึมแคลเซียม และแมกนีเซียม แต่ยังเร่งการขับทิ้งแร่ธาตุดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลให้ลดการดูดซึมและการกักเก็บแร่ธาตุต่างๆ ในหนูด้วย


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

จากผลการศึกษาวิจัยของมันฝรั่งพอสรุปได้ว่าการรับประทานมันฝรั่ง ควรรับประทานแต่พอดีไม่ควรรับประทานในขนาดและปริมาณที่มากจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ อีกทั้งการรับประทานมันฝรั่งควรทำให้สุกก่อนรับประทานเพราะสาร Solanine ที่อันตรายต่อมนุษย์ที่อยู่ในหัวของมันฝรั่งจะสลายตัวเมื่อโดนความร้อน นอกจากนี้ การเลือกซื้อมันฝรั่งควรเลือกหัวที่เนื้อแน่น มีผิวสวย ไม่มีรากงอกออกมา หรือ เปลือกเปลี่ยนเป็นสีเขียว หรือเ นื้อนิ่ม เนื่องจากจะทำให้ปริมาณของสาร Solanine เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณราก ตาราก เปลือก หรือ บริเวณที่เน่า ซึ่งหากรับประทาน หากรับประทานเข้าไปแล้ว อาจจะเกิดพิษกับร่างกาย สำหรับอาการที่เกิดหากได้รับสาร Solanine เข้าไปในปริมาณที่มากพอ จะมีอาการคอแห้ง ชา อาเจียน ท้องเสีย ชักมีไข้และอาจถึงขั้นสลบได้

เอกสารอ้างอิง มันฝรั่ง
  1. วิฑิต วัณนาวิบูล. มันฝรั่ง. คอลัมน์อาหารสมุนไพร. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 90. ตุลาคม 2529.
  2. ไสว พงษ์เก่า. 2534. พืชเศรษฐกิจ. เล่มที่2. กรุงเทพฯ:ภาควิชาพืชไร่นา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 904 น.
  3. มันฝรั่งทอดมีพิษต่อสมอง. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  4. จุไรรตน์ เกิดดอนแฝก. มันฝรั่ง. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. หน้า 153.
  5. ผลของการกินมันฝรั่งต่อการดูดซึมแร่ธาตุ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. มาโนช ทองเจียม. 2541. มันฝรั่ง. วารสารกสิกร. 71(2):114-123.
  7. ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในมันฝรั่งและฤทธิ์ลดความดันโลหิตในเลือดสูงในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร สำนักงานข้มูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  8. ศิริพร พงศ์สุภสมิทธิ์.2540. เอกสารคำสอนการผลิตมันฝรั่ง และหังพันธุ์มันฝรั่ง. ภาควิชาพืชไร่คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้. 115 น.
  9. ผลของสารในกลุ่มแอนโทไซยานิน (Anthocyanins) ต่อมันฝรั่งหวานต่อระดับน้ำตาลในเลือดและไขมันในเลือดหนูขาวที่เป็นเบาหวาน. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  10. Yang S, Paek S, Kozukue N, Lee K, Kim JA.Chaconine,a potato glycoalkaloid,induces apoptosis of HT-29 human colon cancer cells through caspase-3 activation and inhibition of ERK1/2 phosphorylation, Food and chemical Toxicology.2006;44(6):839-846.
  11. Amanpour R, Abbasi- Maleki S, Neyriz-Naghadehi M and Asadi- Samani M, Antibacterial effects of Solanum tuberosum peel ethanol extract in vitro. Journal of Herb med Pharmacology.2015;4(2):45-48.
  12. Taylor MA, Ross HA, Mcrae D, Stewart D, Roberts I, Duncan G, Wright F, Millam S and Davies HV. A Potato-glucosidase gene encodes a glycoprotein-processing–glucosidase2-like activity. Demonstration of enzyme activity and effects of down-regulation in transgenic plants. The Plant Journal. 2000; 24(3):305-316.
  13. Hammond ET, Andrews TJ and Woodrow IE. Regulation of Ribulose-1 , 5-Bisphosphate Carboxylase / Oxygenase by Carbamylation and 2-Carboxyarabinitol 1-Phosphate in Tobacco : Insights from Studies of Antisense Plants Containing Reduced Amounts of Rubisco Activase 1. The Plant Physiology. 1998; 118(4): 1463–1471.