ฝ้ายแดง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

ฝ้ายแดง งานวิจัยและสรรพคุณ 16 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ฝ้ายแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Gossypium arboreum L.
ชื่อสามัญ Ceylon cotton, Tree cotton, Chinese cotton
วงศ์ MALVACEAE

ถิ่นกำเนิดฝ้ายแดง

ฝ้ายแดง เป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียบริเวณพื้นที่เขตร้อน และกึ่งเขตร้อนรวมถึงในทวีปแอฟริกา เช่น ในประเทศแอฟริกาใต้ และภาคใต้ของโมซัมบิกเป็นต้น สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วไปทุกภาคของประเทศตามวัดและพื้นที่รกร้างทั่วไป

ประโยชน์และสรรพคุณฝ้ายแดง

  • ใช่เป็นยาทำแท้ง (เปลือกราก)
  • ใช้รักษาอาการบวมของท่อน้ำเหลือง
  • รักษาอาการท้องผูก (ใบ)
  • ใช้พอกรักษาอาการฟกช้ำบวม (ใบ)
  • รักษาไข้ไทฟอยด์ (ใบ)
  • แก้ไข้ลดความร้อน
  • ช่วยระงับปวด
  • ช่วยต้านการอักเสบ
  • แก้อาการซางในเด็ก
  • ต้านแบคทีเรียแกรมบวก
  • ช่วยขับเหงื่อ
  • ใช้เป็นยาช่วยบีบมดลูก (เปลือกราก)
  • ขับปัสสาวะ (เปลือกราก)
  • แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ (เปลือกราก)
  • ช่วยขับน้ำคาวปลาหลังคลอดของสตรี (เปลือกราก)
  • ใช้รักษาโรคหนองใน (เมล็ด)  

           ฝ้ายแดง ถูกนำมาใช้ประโยชน์ต่างๆ หลายประเภทเช่น น้ำมันจากเมล็ดมีการนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตสบู่ และน้ำมันหล่อลื่น
 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ฝ้ายแดง

ใช้ขับปัสสาวะบีบมดลูก แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ช่วยขับน้ำคาวปลา โดยใช้เปลือกราก บดเป็นผง ชงน้ำเดือดดื่น หรือ ต้มกับน้ำดื่มก็ได้ ใช้แก้ไข้ ขับเหงื่อ กระหายน้ำ แก้พิษตานทรางของเด็ก โดยการนำใบฝ้ายแดง มาปรุงเป็นยาเขียวรับประทาน

ลักษณะทั่วไปของฝ้ายแดง

ฝ้ายแดง จัดเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ลำต้นมีความสูงตั้งแต่ 1-4 เมตร มีลักษณะเป็นพุ่มโปร่ง มีกิ่งก้านที่แข็งแรง แตกออกไปรอบต้น เปลือก ต้นมีลักษณะเรียบ สีม่วงแดง หรือ สีน้ำตาลแดง
           ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับเป็นรูปไข่ หรือ ค่อนข้างกลม หลังใบเรียบ กว้าง 4-5 ซม. ยาว 5-7 ซม. ขอบใบหยักลึก 3-7 แฉก ปลายแหลม หรือ มน โคนเว้าส่วนก้านใบ และเส้นใบมีสีแดงคล้ำ
           ดอก เป็นดอกเดียวมีขนาดใหญ่ออกตามซอกใบใกล้บริเวณปลายกิ่ง ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมซ้อนกันมีลักษณะกลีบดอกมี 5 กลีบ แบบกลีบบาง มีสีแดงเข้ม หรือ สีเหลืองอ่อน ตรงกลางมีสีม่วงหรือสีม่วงดำ มีใบประดับ 3 ใบ ส่วนกลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ เชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย มีเกสรเพศผู้จำนวนมากโดยก้านเกสรเชื่อมติดกันเป็นหลอดล้อมรอบเกสรเพศเมีย และในส่วนเกสรเพศเมีย ปลายแยกเป็น 5 แฉก
           ผล มีลักษณะกลม หัวท้ายแหลม สีเขียวอมแดงเมื่อแก่แตกได้ ส่วนเมล็ดมีลักษณะกลมสีเขียว มีจำนวนมากและจะปกคลุมด้วยขนยาวสีขาว

ฝ้ายแดง ฝ้ายแดง 

ฝ้ายแดง 

การขยายพันธุ์ฝ้ายแดง

ฝ้ายแดง สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง แต่วิธีที่เป็นที่นิยมกันเป็นส่วนมาก คือ การเพาะเมล็ด โดยวิธีการเพาะเมล็ด และวิธีการปลูกสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับไม้พุ่มชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ฝ้ายแดงเป็นพืชที่ชอบแสงแดดมาก และยังสามารถทนแล้งได้ดี อีกทั้งยังเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนทั่วไป อีกด้วย

องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันเมล็ดฝ้ายแดง ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์สำคัญ หลายชนิดเช่น Linoleic acid palmitic acid, oleic acid เป็นต้น นอกจากนียังมีรายงานอีกฉบับหนึ่ง ระบุว่าในน้ำมันเมล็ดฝ้ายแดง ยังมีสารกลุ่ม triterpenoid aldehyde ที่ชื่อ gosstpol ซึ่งมีความเป็นพิษต่อมนุษย์ และสัตว์อีกด้วย

โครงสร้างฝ้ายแดง

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของฝ้ายแดง

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของฝ้ายแดงระบุไว้ว่า
           ฤทธิ์ระงับปวดและต้านการอักเสบ มีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ระงับปวด และต้านการอักเสบของสารสกัดใบของฝ้ายแดง (Gossypium arboreum) ในสัตว์ทดลองโดยใช้สารสกัดเอทานอลจากใบฝ้ายแดง (Gossypium arboretum) มาทดสอบเพื่อประเมินศักยภาพของสารต้านอนุมูลอิสระโดยวิธี DPPH radical scavenging assay เมื่อประเมินฤทธิ์ต้านการอักเสบและแก้ปวดโดยใช้อาการบวมน้ำที่อุ้งเท้าหนูที่เกิดจากการเหนี่ยวนำด้วยคาราจีแนน โดยพบว่าสารเอทานอลของใบฝ้ายแดง แสดงให้เห็นว่ามีฤทธิ์ระงับปวด และต้านการอักเสบ ในสัตว์ทดลองเนื่องจากมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ โดยสามารถยับยังอาการบวมน้ำที่อุ้งเท้าของหนูที่เกิดจากคาราจีแนนได้ ตั้งแต่ 30 นาที เป็นต้นไป ซึ่งจากการศึกษานี้สรุปได้ว่าสารสกัดเอทานอลของฝ้ายแดง (Gossypium arboreum) มีฤทธิ์ระงับปวด และต้านการอักเสบได้
           นอกจากนี้ยังมีการระบุถึง ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ ของฝ้ายแดง อีกว่ามีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียแกรมบวก เช่น Bacilus subtillis และ Staphylococcus aureus รวมถึงแบคทีเรียแกรมลบ เช่น Escherichia coli และ Paeudomonas aeruginosa และ ยีสต์ Candida albicans ส่วนในการศึกษาอื่นพบว่าสารสกัดน้ำของใบและเมล็ดพืชแสดงให้เห็นฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย Bacilus subtilis, Escherichia coli, Micrococcus flavus, Pseudomonas aeruginosa และ Staphylococcus aureus เป็นต้น

การศึกษาทางพิษวิทยาของฝ้ายแดง

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ฝ้ายแดงเป็นสมุนไพร ที่มีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของมดลูก ดังนั้น จึงไม่เหมาะกับสตรีมีครรภ์เนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการแท้งลูกได้ นอกจากนี้น้ำมันจากเมล็ดฝ้ายแดง ยังมีสาร Gossipol ซึ่งมีรายงานว่าเป็นพิษต่อมนุษย์และสัตว์ดังนั้น ผู้ที่ใช้ฝ้ายแดงเป็นสมุนไพรจึงควรระมัดระวังในการใช้

เอกสารอ้างอิง ฝ้ายแดง

⦁ ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. ฝ้ายแดง . หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 518-519.
⦁ ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “ฝ้ายแดง (Fai Daeng). หนังสือสมุนไพรไทยเล่ม 1. หน้า 186.
⦁ ฝ้ายแดง. กลุ่มยาแก้ไอ ลดความร้อน. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โดยการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทะราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีฯ (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_09_9.htm.
⦁ Seignobos,C. & Schwendiman,J., 1991. Les cotonniers traditionnels du Cameroun. Coton et Fiber Tropicales 46(4): 309-333.
⦁ Annan,K. & Honghton, P.J., 2008. Antibacterial, antioxidant and foborblast growth stimulation of aqueous extracts of Ficus asperifolia Miq. And Gossypium arboretum L., wund-healing plants of Ghana. Journal of Ethnopharmacology 119:141-144.
⦁ Kerkhoven, G.J. & Mutsaers, H.J.W., 2003. Gossypium L. In: Brink, M. & Escobin, R.P. (Edotors). Plant Resources of South-East Asia No 17. Fibre plants. Backhuys Publisers, Leiden, Netherlands. Pp. 139-150.
⦁ Adjanohoun, E.J. & Ake Assi, L., 1979. Contibution au recensement des plantes medicinales de Coted’Ivoire. Centre National de Floristique. Abidjan. Cote d’Ivoire. 358 pp.
⦁ Ekundayo, E.O & Ezeogu, L.I., 2006. Evaluation of antimicrobial activiyies od extracts of five plants used in traditional medicine in Nigeria. International Journal of Tropical Medicine 1(2): 93-96.
⦁ Klkarni, V.N., V.N., B.M., Maralappanavar, M.S., Deshapande,. L.A. & Narayanan, S.S., 2009. The worldwild gene pools of Gossypium arboretum L. and G. herbaceum L, and their improvement. In: Patorson, A.H. (Editor). Genetic and genomics of cotton. Springer-Verlag New York, United States. Pp. 69-97.