ไข่เน่า ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ไข่เน่า งานวิจัยและสรรพคุณ 21 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ไข่เน่า
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ฝรั่งโคก, คมขวาน (ภาคกลาง), ปลู (ภาคอีสาน, เขมร), ขี้เห็น (ภาคอีสาน, ลาว)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Vitex glabrata R.Br.
วงศ์ VERBENACEAE


ถิ่นกำเนิดไข่เน่า

ไข่เน่า จัดเป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชีย โดยมีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่จีนตอนใต้ อินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย จนถึงทางภาคเหนือของออสเตรเลีย สำหรับในประเทศไทย มีการกระจายพันธุ์ในป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ทั่วทุกภาคของประเทศ 


ประโยชน์และสรรพคุณไข่เน่า

  • เป็นยาช่วยเจริญอาหาร
  • แก้ท้องเสีย
  • รักษาโรคเบาหวาน
  • ช่วยบำรุงสมอง
  • แก้บิด
  • แก้เด็กถ่ายเป็นฟอง
  • แก้โรคพยาธิในเด็กที่มีอาการเบื่ออาหาร
  • รักษาโรคกระเพาะของเด็กทารก
  • รักษาโรคลำไส้อักเสบของเด็กทารก
  • แก้ไข้
  • แก้ตานขโมย
  • แก้อาการเบื่ออาหารในเด็ก
  • แก้ซางในเด็ก
  • แก้โรคเกล็ดกระดี่
  • เป็นยาระบาย
  • ช่วยบำรุงกระดูก
  • ช่วยบำรุงกำหนัด
  • บำรุงไต
  • ช่วยบำรุงระบบขับถ่าย
  • ช่วยบำรุงระบบเพศ
  • แก้โลหิตคั่งค้าง

           ในบางพื้นที่ได้มีการนำผลสุกไข่เน่า มาใช้รับประทานสดเป็นผลไม้ หรือ นำมาใส่เกลือป่น หรือ จิ้มเกลือรับประทาน อีกทั้งยังนำมาจะนำไปดองกับน้ำเกลือก็ได้ และยังมีการนำผลไข่เน่าไปทำเป็นขนมเรียกว่า “ขนมไข่เน่า”  โดยทำคล้ายกับการทำขนมกล้วย แต่เปลี่ยนจากกล้วยเป็นไข่เน่าส่วนเนื้อไม้ของต้นไข่เน่า มีความแข็งแรง สามารถนำมาใช้ทำเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ในครัวเรือน หรือ ใช้เครื่องเรือน และเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ

ไข่เน่า

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้บำรุงไต บำรุงสมอง บำรุงกระดูก บำรุงกำหนัด  แก้โรคเกล็ดกระดี่ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ บำรุงระบบขับถ่าย บำรุงระบบเพศ โดยนำผลสุกมารับประทานสด
  • ใช้ช่วยเจริญอาหาร แก้ท้องเสีย รักษาโรคเบาหวาน โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้บิด แก้ท้องเสีย แก้เด็กถ่ายเป็นฟอง แก้ไข้ แก้ตานขโมย แก้อาการเบื่ออาหารในเด็ก โดยนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้โลหิตคั่งค้าง ขับโลหิต โดยการนำเนื้อไม้มาต้มกับน้ำดื่ม หรือ ใช้ฝนกินกับน้ำก็ได้
  • ใช้แก้ตานซาง และขับพยาธิในเด็ก โดยนำเปลือกของต้นไข่เน่า มาต้มรวมกับรากเต่าให้แล้วใช้ดื่ม


ลักษณะทั่วไปของไข่เน่า

ไข่เน่า จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ผลัดใบเรือนยอดเป็นรูปกรวยแตกกิ่งในระดับต่ำมีความสูง 5-25 เมตร ลำต้นผิวเรียบเกลี้ยง หรือ อาจแตกเป็นสะเก็ด เป็นร่องตื้นตามความยาวของลำต้นเล็กน้อย ผิวลำต้นมีสีน้ำตาลแกมเหลือง และมีด่างเป็นดวงสีขาว กิ่งอ่อนมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม ส่วนบริเวณกิ่งอ่อน และยอดอ่อนจะมีขนนุ่ม มีใบเป็นใบประกอบออกเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากแบบนิ้วมือ โดยใน 1 ช่อใบ จะมีใบย่อยสีเขียวเข้ม 3-5 ใบ ลักษณะของใบมีขนาดไม่เท่ากันรูปร่างคล้ายรูปไข่กลับ หรือ เป็นรูปรีแกมรูปไข่กลับ โคนใบสอบมน หรือ แหลมเล็กน้อย ปลายใบแหลมเป็นติ่งขนาดของใบกว้าง 3-10 เซนติเมตร ยาว 9-22 เซนติเมตร ผิวใบด้านบนเกลี้ยงเป็นมัน ส่วนท้องใบมีสีอ่อนกว่า และมีขนสั้นอยู่ประปราย และมีก้านใบย่อยยาว 1-7 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศโดยจะออกบริเวณซอกใบใกล้ปลายกิ่งใน แต่ละช่อดอกจะมีดอกย่อย ขนาดเล็กหลายดอกมีลักษณะ กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดกว้าง มีขนละเอียดที่ดอก กลีบดอกมีสีม่วงอ่อนสีขาว หรือสีม่วงอมชมพู และมีกลิ่นหอม เมื่อบานเต็มดอกที่จะมีความกว้างประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร ผลเป็นผลสดมีลักษณะเป็นรูปไข่ หรือ รูปไข่กลับ มีขั้วผลเป็นรูปกรวยกว้าง ส่วนผลอ่อนมีสีเขียว และผลสุกจะเป็นสีม่วงดำ มีขนาดของผลกว้าง 1.5-2 เซนติเมตร ยาว 1.5-3 เซนติเมตร ผลเมื่อสุกจะมีเนื้ออ่อนนุ่ม รสหวานอมเปรี้ยว และเหม็นคล้ายกลิ่นไข่เน่า เล็กน้อย ในส่วนของเมล็ดไข่เน่าที่ด้านในผลจะมีขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย

ต้นไข่เน่า

ดอกต้นไข่เน่า 

ไข่เน่า

การขยายพันธุ์ไข่เน่า

ไข่เน่าสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด การตอนกิ่ง และการปักชำแต่วิธีที่นิยมใช้ในปัจจุบัน คือ การเพาะเมล็ดเป็นต้นกล้า แล้วนำไปปลูก สำหรับวิธีการเพาะเมล็ด และการปลูกไข่เน่า  สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ด และการปลูกไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้โดยทั่วไปแล้วส่วนมากจะไม่ค่อยมีการนิยมรับประทานผลไข่เน่ามากนักจะมีก็แต่บางพื้นที่ที่นำมารับประทาน จึงทำให้ต้นไข่เน่าไม่ได้รับความสนใจปลูกเท่าที่ควร


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดไข่เน่า จากผล ใบ กิ่ง และเปลือกต้นของต้นไข่เน่า ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น tuekesterone, 20-hydroxy ecdysone, β-sitosterol, stigmasterol, aiugasteron C, Pterosterone, agnuside และ 4-hydroxybenzoic acid เป็นต้น

 โครงสร้างไข่เน่า

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของไข่เน่า

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของไข่เน่า ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้

           มีรายงานผลการทดสอบฤทธิ์ของสารสกัดจากพืชไข่เน่าต่อการต้านแบคทีเรีย 4 ชนิด คือ Pseudomonas aeruginosa TISTR 357 Bacillus cereus TISTR 687 Staphylococcus aureus TISTR 746 และ Escherichia coli TISTR 780 ของสารสกัดจากผลไข่เน่า และสารสกัดใบแห้งด้วยตัวทำละลายเอทานอลที่ความเข้มข้น 5 10 และ 50 mg/ml โดยพบว่าสารสกัดจากเปลือกของผลไข่เน่าด้วยตัวทำละลายเอทานอลที่ความเข้มข้น 5,1050 mg/ml และสารสกัดใบไข่เน่าด้วยตัวทำละลายเอทานอลที่ความเข้มข้น 5 และ 10 mg/ml ไม่มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อ Pseudomonas aeruginosa Staphylococcus aureus และ Bacillus cereus  แต่สารสกัดใบไข่เน่าด้วยตัวทำละลายเอทานอลที่ความเข้มข้น 50 mg/ml มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อ E. coli โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของวงใส 4.00 มิลลิเมตร อีกทั้งยังพบว่าบริเวณรอบๆ โซนใส มีปริมาณเชื้อหน้าแน่นน้อยกว่าบริเวณอื่น ซึ่งมีแนวโน้มของฤทธิ์ในการต้านเชื้อได้เช่นเดียวกับ Staphylococcus aureus (เชื้อที่ทำให้เกิดการอักเสบ) ถึงแม้สารสกัดจากใบจะไม่พบว่ามีฤทธิ์ในการต้านเชื้อชนิดนี้ แต่ก็พบว่าบริเวณรอบๆ แผ่นทดสอบมีปริมาณของเชื้อหนาแน่นน้อยกว่าบริเวณๆ อื่นๆ ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าหากใช้ความเข้มข้นที่สูงกว่านี้จะมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อได้ สารสกัดเอธานอลจากพืชไข่เน่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนูทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำด้วย carrageenan และ cotton pellet และยังมีผลการศึกษาวิจัยในต่างประเทศระบุว่า สารสกัดจากเปลือกต้น และผลของไข่เน่านั้นมีฤทธิ์ ต้านเชื้อไวรัส 1(HIV-1) ต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ ป้องกันโครสมองเสื่อม นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าได้มีการศึกษาวิจัยในการนำเอคไดสเตียรอยด์มาทำการมาใช้เป็นยาชูกำลัง และใช้เป็นสารต่อต้านริ้วรอยอีกด้วย


การศึกษาทางพิษวิทยาของไข่เน่า

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้ผลสุกของไข่เน่าในการรับประทานเป็นผลไม้น่าจะมีความปลอดภัย แต่ทั้งนี้ก็ควรรับประทานแต่พอดี ไม่ควรรับประทานมากเกินไป เพราะผลสุกของไข่เน่ามีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ หากรับประทานมากเกินไปอาจทำให้ถ่ายท้องได้ เช่นเดียวกันกับการนำส่วนต่างๆ ของไข่เน่ามาใช้เป็นสมุนไพร ก็ควรใช้ขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุเอาไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบในระยะยาวต่อสุขภาพได้

เอกสารอ้างอิง ไข่เน่า
  1. นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์. ไข่เน่า ใน ผลไม้ 111 ชนิด: คุณค่าอาหารและการกิน. กทม. แสงแดด. 2550 หน้า 210
  2. ไข่เน่า. สมุนไพรในตำราการแพทย์แผนไทยของชาติ. สำนักวิจัยการแพทย์แผนไทย. พิพิธภัณฑ์พืช กรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือกกระทรวงสาธารณสุข. หน้า 13.
  3. เสาวนีย์ คำพันธ์. องค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ทางชีวภาพของกิ่งต้นไข่เน่า. รายงานการวิจัย. คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.2 553. 31 หน้า
  4. ประนอม สุขเกื้อ, วรรณดี แสงดี, วลัยพร สินสวัสดิ์, ฤทธิ์การต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดจากพืชไข่เน่า. รายงานการวิจัย.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ. 2558. 9 หน้า
  5. ลูกไข่เน่า. กระดานถาม-ตอบ สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=6730
  6. Luecha P. and others. 2011. Antiestrogenic constituents of the Thai medicinal plants Capparis flavicans and Vitex glabrata. J Nat Prod. Nov;72(11):1954-9
  7. Werawattanametin, K., Podimuang, V. and Suksamrarn., A. 1986. Ecdyetroid from Vitex glabrata. J. Nat. Prod. 49: 364-365.
  8. Middleton E, Kandaswami C and Theoharides TC 2000. The effects of plant flavonoids on mammalian cells:Implications for inflammation, heart disease, and cancer. Pharmacol. Rev., 52: 673-751
  9. Lafont R., and Dinan L. 2003. Practical uses for ecdysteroids in mammals including humans. J. Insect Scie. 1-30.
  10. Woradulayapinij W, Soonthornchareonnon N and Wiwat C. 2005. In vitro HIV type 1 reverse Transcriptase inhibitory activities of Thai medicinal plants and Canna indica L. rhizomes. J. Ethnopharmacol., 110: 84-89