ตะคร้ำ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ตะคร้ำ งานวิจัยและสรรพคุณ 13 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ตะคร้ำ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น คร้ำ, ค้ำ, หวีด, ไม้ค้ำ, แขกเต้า (ภาคเหนือ), อ้อยน้ำ (ภาคตะวันออก), มะกอกกาน (ภาคกลาง), ปิชะยอง (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Garuga pinnata Roxb.
ชื่อสามัญ Umbrella tree, Indian olive
วงศ์ BURSERACEAE
ถิ่นกำเนิดตะคร้ำ
ตะคร้ำ จัดเป็นพันธุ์ไม้ในวงศ์มะแฟน (BURSERACEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณประเทศ อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ พม่า ไทย ลาว และกัมพูชา จากนั้นจึงมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังบริเวณใกล้เคียง ปัจจุบันพบได้ตามประเทศที่เป็นถิ่นกำเนิด รวมถึงในภูฏาน เนปาล และจีนตอนใต้ สำหรับในประเทศไทยพบตะคร้ำ กระจายหนาแน่นแทบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ โดยมักจะขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 50-1,500 เมตร
ประโยชน์และสรรพคุณตะคร้ำ
- ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ
- ใช้บำรุงกระเพาะอาหาร
- ใช้รักษาโรคหืด
- ใช้แก้ท้องร่วง
- แก้บิด
- แก้ตามัว เนื่องจากเยื่อตาอักเสบ
- แก้อักเสบ
- แก้แผลบวม
- แก้บวมติดเชื้อ แผลเป็นหนอง แผลเรื้อรัง
- รักษาฝี หรือ ตุ่ม
- ใช้ห้ามเลือด
- ใช้เร่งมดลูกให้เข้าอู่ สำหรับสตรีหลังคลอด
- ใช้แก้อาการปวดท้อง
มีการนำตะคร้ำ มาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ดังนี้
ผลสุกตะคร้ำ ใช้รับประทานเล่นจะมีรสเปรี้ยวอมหวาน ส่วนเปลือกต้นมีรสฝาดใช้บดใส่ลาบปลา ลาบไก่ หรือ นำไปใส่อาหารประเภท ห่อนึ่ง หรือ นำไปใส่แกงที่มีความคาว เช่น แกงปลา, ต้มปลา หรือ แกงปลาไหล
เนื้อไม้ตะคร้ำ มีความแข็งแรงทนทานสามารถนำมาใช้ในการสร้างบ้าน ทำวงกบ กระดาน ฝาบ้าน หรือ ใช้ทำเครื่องเรือน เครื่องตกแต่งบ้าน หีบ ลังใส่ของ หรือ เครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตร เป็นต้น
เปลือกต้นตะคร้ำ นำไปย้อมผ้า หรือ ฟอกหนังได้
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้แก้โรคหืด โดยนำใบตะคร้ำสด มาคั้นเอาน้ำแล้วนำไปผสมกับน้ำผึ้ง รับประทาน
- ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ หรือ บำรุงกระเพาะอาหาร โดยนำผลสุกตะคร้ำมารับประทานสดๆ
- ใช้เป็นยาแก้โรคท้องร่วง หรือ ทานแก้บิด โดยนำเปลือกต้นตะคร้ำ สดมาคั้นเอาน้ำกิน
- ใช้แก้ตามัวเนื่องจากเยื่อตาอักเสบ โดยนำเปลือกต้นตะคร้ำสดๆ มาคั้นเอาน้ำ ใช้ยอดตา
- ใช้แก้อาการปวดท้อง โดยนำเปลือกต้นตะคร้ำฝนใส่น้ำร่วมกับเปลือกต้นมะกอก และตะคร้อ แล้วนำมาดื่ม
- ใช้ช่วยให้มดลูกเข้าอู่ สำหรับสตรีหลังคลอด โดยนำเปลือกต้นมาต้มน้ำอาบ
- ใช้ห้ามเลือด แผลเป็นหนอง บวม ติดเชื้อ แก้ฝี หรือ ตุ่ม โดยนำเปลือกต้นตะคร้ำมาตำพอก หรือ ต้มกับน้ำอาบ
ลักษณะทั่วไปของตะคร้ำ
ตะคร้ำ จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่แตกกิ่งก้านในระดับสูงบริเวณโคนต้นเป็นพูพอน ส่วนต้นมีความสูง 10-20 เมตร ลำต้นเปลาตรง โดยจะแตกกิ่งก้านสาขารอบๆ เรือนยอดของต้น บริเวณกิ่งอ่อนและก้านช่อดอกจะมีขนสีเทาขึ้นปกคลุมกระจายอยู่ทั่วไปและมีรอยแผลใบปรากฏอยู่ตามกิ่ง เปลือกต้นเป็นสีเทา หรือ สีน้ำตาลปนเทา ผิวลำต้นจะแตกเป็นสะเก็ด หรือ เป็นหลุมตื้นๆ เปลือกด้านในเป็นสีนวล มีเส้นสีชมพูเป็นทางสลับและมียางสีชมพูปนแดง โดยยางนี้หากทิ้งไว้นานๆ จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองคล้ำ ส่วนกระพี้จะเป็นสีชมพูอ่อนๆ และมีแก่นเนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลแดง
ใบตะคร้ำ เป็นใบประกอบแบบขนนก ปลายคี่โดยจะออกเรียงเวียนสลับเป็นกระจุกบริเวณปลายกิ่ง โดยในก้านช่อหนึ่งจะมีความยาว 10-12 นิ้ว และจะมีใบย่อยประมาณ 5-10 คู่ ออกทแยงกันเล็กน้อย ซึ่งใบย่อยจะมีขนาดกว้าง 2-4 เซนติเมตร ยาว 5-10 เซนติเมตร ใบย่อยมีลักษณะเป็นรูปมนรี หรือ รูปวงรีแกมขอบขนาน โคนใบแหลม หรือ มนเบี้ยว ปลายใบสอบหยักเป็นติ่งแหลม ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย แผ่นใบบางเป็นสีเขียว มีเส้นแขนงใบ 10-12 คู่ เมื่อใบย่อยจะมีขนขึ้นปกคลุม พอใบแก่ใบจะเกลี้ยง ส่วนก้านใบสั้นมาก
ดอกตะคร้ำ ออกเป็นช่อใหญ่ โดยจะออกบริเวณปลายกิ่ง หรือ ส่วนยอดช่อดอกยาว 6 นิ้ว ใน 1 ช่อดอก จะมีดอกย่อยที่เป็นดอกสมบูรณ์เพศจำนวนมาก ลักษณะของดอกเป็นรูประฆัง มีกลีบรองดอกรูปสามเหลี่ยมขนาด 1.5-2.5 มิลลิเมตร เชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ส่วนปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอกมี 5 กลีบ เป็นสีเหลือง หรือ สีเหลืองอ่อน ลักษณะเป็นรูปขอบขนานแกมรูปหอก ยาว 2.5-3.5 มิลลิเมตร ออกเรียงสลับกับกลีบเลี้ยง ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ มีเกสรเพศผู้ 10 อัน เกสรเพศเมีย 1 อัน ยาวประมาณ 5-7 มิลลิเมตร รังไข่มี 5 ช่อง แต่ละช่องจะมีไข่อ่อน 2 ใบ ปลายหลอดท่อรังไข่มี 5 แฉก
ผลตะคร้ำ เป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม หรือ เบี้ยวเล็กน้อย ผลอวบน้ำ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 เซนติเมตร ผลเมื่อยังอ่อนจะเป็นสีเขียว หรือ สีเขียวอมเหลือง เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีดำ เนื้อผลนุ่มภายในมีผิวแข็งหุ้มด้านในมีเมล็ด 1 เมล็ด
การขยายพันธุ์ตะคร้ำ
ตะคร้ำ จัดเป็นพันธุ์ไม้ป่าที่สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด ซึ่งในอดีตจนถึงปัจจุบันนั้นการขยายพันธุ์ของตะคร้ำนั้นจะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติมากกว่า ถูกนำมาปลูกโดยมนุษย์ เนื่องจากตะคร้ำ เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ที่ต้องใช้บริเวณพื้นที่ปลูกมากและมีความสูงมาก ซึ่งอาจหักโพคนลงมาใส่บ้านเรือนได้ จึงไม่มีการนิยมนำมาปลูก สำหรับการเพาะเมล็ดและการปลูกตะคร้ำนั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและการปลูกไม้ยืนต้น หรือ ไม้ป่าชนิดอื่นๆ ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากเปลือกต้นของตะคร้ำ ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น Garuganin I, II, III, IV, V, amentoflavone, 6'-hydroxygaruganin V, 1-desmethylgaruganin III, 9'-desmethylgarugamblin-I และ 21-hydroxydammar-24-en-3one นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า น้ำจากเปลือกต้นยังพบสาร catechol และ pyrogallol อีกด้วย
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของตะคร้ำ
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดตะคร้ำ จากเปลือกต้นของตะคร้ำระบุว่า มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ดังนี้
ฤทธิ์ต้านจุลชีพ มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ต้านจุลชีพของสารสกัดหยาบและสารประกอบบริสุทธิ์ของเปลือกต้นตะคร้ำ ต่อเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา โดยวิธีการแพร่กระจายของแผ่นดิสก์ พบว่าสารสกัดจากไดคลอโรมีเทนและสารสกัดเมธานอลมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ทดสอบได้ปานกลางโดยมีโซนการยับยั้งเท่ากับ 9-14 มิลลิเมตร ซึ่งในบรรดาสารประกอบบริสุทธิ์ที่แยกได้จากเศษส่วนนี้ garuganin V มีฤทธิ์ยับยั้งสูงโดยมีโซนการยับยั้งเฉลี่ย 31-40 มม. ที่ 100 ไมโครกรัม/แผ่นดิสก์ โดยสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ Bacillus cereus, B. subtilis และ Salmonellaparatyphi ที่มีโซนยับยั้ง 40 มม. ส่วนสาร garuganinIV แสดงฤทธิ์ยับยั้งเล็กน้อยและยังมีรายงานผลการศึกษาวิจัยของสารสกัดเอธานอลจากเปลือกต้นของตะคร้ำ ระบุว่ามีฤทธิ์ปกป้องระบบประสาทต่อความผิดปกติทางการรับรู้ รวมถึงยังสามารถเพิ่มความจำความสามารถในการเรียนรู้ของหนูทดลองได้
นอกจากนี้ยังที่ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ต้านเบาหวาน ลดน้ำตาลในเลือด และมีฤทธิ์ต้านมะเร็ง โดยเหนี่ยวนำให้เกิดอะพอพโทซิสและยับยั้งการสร้างหลอดเลือดใหม่ และการแพร่กระจาย ช่วยปกป้องระบบประสาทด้วยการบรรเทาความเครียดออกซิเดชันและการอักเสบในแบบจำลอง โรคระบบประสาทเสื่อมและยังแสดงฤทธิ์ต้านไวรัสต่อเชื้อก่อโรค เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ และไวรัสเริม เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของตะคร้ำ
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยพิษวิทยาของสารสกัดจากเปลือกต้นของตะคร้ำโดยได้มีการศึกษาวิจัยพิษเฉียบพลันของสารสกัดเอทานอลจากเปลือกต้นตะคร้ำ ในหนูเผือกสวิสที่มีน้ำหนัก 25-30 กรัม โดยการให้สารสกัดทางปากไปจนถึงขนาด 2,000 มก./กก. โดยจะทำการสังเกตอาการพิษ ซึ่งได้แก่ อาการสั่น อาการวิตก ตื่นเต้น การเคลื่อนไหว การชักกระตุก และการหายในเป็นเวลา 14 วัน ซึ่งผลการศึกษาวิจัยพบว่า จากการให้สารสกัดทางปากจนถึงขนาด 2,000 มก./กก. ไม่พบการตายของสัตว์ทดลองและสัตว์ทดลองทุกตัว ไม่มีอาการชักกระตุก วิตกตื่นเต้น สั่น ความผิดปกติของการเคลื่อนไหวและปฏิกิริยาตอบสนอง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของการหายใจแต่อย่างใด
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ถึงแม้ว่าจะมีการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสารสกัดเอทานอลจากเปลือกต้นตะคร้ำ ในหนูทดลองระบุว่าไม่พบความเป็นพิษ แต่สำหรับการใช้ส่วนต่างๆ ของตะคร้ำ เพื่อเป็นสมุนไพรนั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง ตะคร้ำ
- เต็ม สมิตินันทน์, 2544.ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. สวนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้กรมป่าไม้, กรุงเทพฯ.
- ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม.ตำคร้ำ, หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5, หน้า 303-304.
- สุภาวรรณ วงค์คำจันทร์, ความหลากหลายทางชีวภาพ วนอุทยานถ้ำทอง, นครสวรรค์, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์. 2556 หน้า 43
- พงษ์ศักดิ์ พลเสนา, 2550. พืชสมุนไพรในสวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน ฉบับสมบูรณ์. สวนพฤกษศาสตร์ ภาคตะวันออก (เขาหินซ้อน), เจตนารมณ์ภัณฑ์, ปราจีนบุรี
- ตะคร้ำ, หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา, ภาควิชาเภสัชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, หน้า 115.
- วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. 2548. พจนานุกรมสมุนไพรไทย. ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6. รวมสาส์น. (1977) จำกัด กรุงเทพฯ
- S. Rong, D. Wan, Y. Fan, S. Liu, K. Sun, J. Huo, P. Zhang, X. Li, X. Xie, F. Wang, T. SunAmentoflavone affects epileptogenesis and exerts neuroprotective effects by inhibiting NLRP3 inflammasomeFront Pharmacol, 10 (2019), p. 856,
- Huq, A.M. & H. Hasan (1987) Flora of Bangladesh (Burseraceae), in Bangladesh National Herbarium 36 (Khan, M.S. ed.), Dhaka, pp 4-5.
- S. Chavan, R. Dias, C. MagdumGaruga pinnata attenuates oxidative stress and liver damage in chemically induced hepatotoxicity in ratsEgypt J Basic Appl Sci, 8 (1) (2021), pp. 235-251
- Pooma, R.(1999).A Preliminary account of Burseraceae in Thailand Thai Forest Bulletin (Botany) 27.57-58.
- M.N. GhoshFundamentals of experimental pharmacologyToxicity studies, Scientific Book Agency, Calcutta (1984), pp. 153-160
- K.R. Kirtikar, B.D. BasuIndian medicinal plants(second ed.]. Vol. I), Periodical Experts Book Agency, New Delhi (1991), pp. 524-525
- A.R. Kulsum, A.K. Mohammad, S.R. Mohammad, S.R. Chowdhury, F. Islam, M.A. RashidAntimicrobial constituents from Garuga pinnata RoxbLat Am J Pharm, 31 (7) (2012), pp. 1071-1073
- Chopra, R.N., S.L. Nayar & I.C. Chopra (1959) Glossary of Indian Medicinal plants. CSIR, New Delhi, p. 123.
- A. GhaniMedicinal plants of Bangladesh: chemical constituents and usesAsiatic Society of Bangladesh (1998)
- Peng.H.and M Thulin (2008.) Burseraceae (Garuga) In Flora of China Vol.11:107-108.
- A. Shirwaikar, K. Rajendran, R. BarikEffect of aqueous bark extract of Garuga pinnata Roxb. in streptozotocin-nicotinamide induced type-II diabetes mellitusJ Ethnopharmacol, 107 (2006), pp. 285-290