สะตอ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

สะตอ งานวิจัยและสรรพคุณ 12 ข้อ

ชื่อสมุนไพร สะตอ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น สะตอข้าว, สะตอดาน (ทั่วไป), ตอ, ลูกตอ (ภาคใต้, ระนอง), ปาไต (สตูล, ปะตา, ปัดเต๊าะ (มลายู)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Parkia speciosa Hassk.
ชื่อสามัญ Stink bean, Bitter bean, Twisted cluster bean
วงศ์ Leguminosae

ถิ่นกำเนิดสะตอ

สะตอเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนชื้นของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ มาเลเซีย, อินโดนีเซีย รวมถึงทางตอนใต้ของไทย และพม่า โดยสะตอเจริญเติบโตได้ดีตามเชิงเขาที่มีสภาพป่าสมบูรณ์ ที่มีความชื้นในอากาศสูง ในอดีตสะตอ จะเป็นพืชที่มีการนิยมนำมาใช้เป็นอาหารเฉพาะถิ่นเท่านั้น แต่ในปัจจุบันมีการนำไปบริโภค และใช้เป็นอาหารอย่างกว้างขวางจนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง สำหรับในประเทศไทยแหล่งปลูกสะตอที่สำคัญจะอยู่ในบริเวณภาคใต้ของประเทศ เช่น ระนอง, ชุมพร, สงขลา, สตูล, พัทลุง, ปัตตานี และนราธิวาช เป็นต้น เป็นต้น

ประโยชน์และสรรพคุณสะตอ

  1. ช่วยขับลมในลำไส้
  2. ช่วยเจริญอาหาร
  3. ช่วยขับปัสสาวะ
  4. แก้ปัสสาวะปวดขัด หรือ กะปริบกะปรอย
  5. แก้ไตพิการ
  6. แก้ปัสสาวะมีสีขุ่นข้น เหลือง หรือแดง
  7. แก้อาการแน่นท้อ
  8. แก้อาการผิดปกติของไต
  9. ช่วยบำรุงสายตา
  10. ช่วยป้องกันหลอดเลือดอุดตัน
  11. ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
  12. กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้
  13. ช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

สำหรับรูปแบบการใช้สะตอ เป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาอาการต่างๆ ตามสรรพคุณทางยาของตำรายาไทยนั้น โดยส่วนมากแล้วจะเป็นการนำเมล็ดสะตอมารับประทานในรูปแบบของอาหาร ทั้งการกินสดๆ และการนำมาประกอบอาหารมากกว่าการนำมาใช้แปรรูปเป็นยาเหมือนสมุนไพรชนิดอื่นๆ


ลักษณะทั่วไปของสะตอ

สะตอ จัดเป็นไม้ยืนต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ โดยสามารถสูงได้ถึง 30 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มโปร่งแผ่กว้าง ลำต้นเรียบ สีน้ำตาลอ่อน หรือ สีน้ำตาลขาว ลอกเป็นสะเก็ดเล็กน้อย หรือ เป็นร่องตื้นๆ บริเวณกิ่งก้านมีขนละเอียดขึ้นปกคลุม ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น คือ มีก้านใบหลักยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร ที่ประกอบด้วยก้านใบย่อย 14-24 คู่ โดยแต่ละก้านใบย่อยยาวประมาณ 2.2-6 เซนติเมตร และมีใบย่อยเรียงสลับตรงข้ามกัน 30-38 คู่ ลักษณะใบย่อยเป็นขอบขนาน สีเขียวสดถึงเขียวเข้มตามอายุใบ แผ่นใบเรียบบาง แต่จะเหนียว และแข็ง ปลายใบมน มีติ่งเล็กตรงกลางของปลายใบ ดอกออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแน่นที่ปลายกิ่ง โดยช่อดอกจะยาวห้อย กว้าง 3-3.5 ซม. ยาว 7-10 ซม. และจะมีก้านช่อดอกยาว 30-40 ซม. และมีกลีบเลี้ยงขนาดเล็ก 4-5 กลีบ กลีบดอกเชื่อมติดกัน เป็นหลอดยาว 0.9-1.2 ซม. ปลายแยกเป็น 5 แฉก มีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ผลออกเป็น ฝัก มีลักษณะแบน มีทั้งชนิดที่เป็นฝักบิดเป็นเกลียว (สะตอข้าว) และชนิดที่แบนตรง (สะตอดาน) โดยฝักสะตอจะยาวประมาณ 25-45 เซนติเมตร กว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร (แล้วแต่สายพันธุ์) เปลือกฝักมีสีเขียว และค่อยเปลี่ยนเป็นสีดำ ตรงกลางฝักเป็นตุ่มนูน โดยด้านในเป็นที่อยู่ของเมล็ดที่เรียงซ้อนกันประมาณ 10-20 เมล็ดต่อฝัก เมล็ดมีลักษณะคล้ายหัวแม่มือ หรือ รูปรีค่อนข้างกลม ขนาดเมล็ดทั่วไป กว้างประมาณ 2.2-2.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร เมล็ดอ่อนมีสีเขียว ให้รสหวานมัน มีกลิ่นฉุน เมื่อแก่จะเริ่มเหลือง และเมื่อสะตอสุก ฝักจะเป็นสีดำ เนื้อสะตอ เป็นสีเหลืองบางๆ รับประทานได้ทั้งเม็ด เมล็ดในระยะนี้รสมัน เนื้อมีรสหวาน

สะตอ

สะตอ

การขยายพันธุ์สะตอ

สะตอสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด และการติดตา แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ วิธีการเพาะเมล็ด โดยเลือกเมล็ดจากฝักแก่ ลอกเอาเยื่อหุ้มเมล็ดออกแล้วนำไปแช่น้ำ ๑ คืน นำมาสะเด็ดน้ำให้แห้ง เพาะในถุงเพาะชำหรือแปลงเพาะกล้า 

           สำหรับการเพาะในถุงพลาสติกควรใช้ถุง ขนาด 4x8 นิ้ว เจาะก้นถุง 2-3 รู เพื่อระบายน้ำ ใส่ดินผสมปุ๋ยคอกอัตรา 2 ต่อ 1 ลงไปประมาณค่อนถุงนำไปตั้งในเรือนเพาะชำ แล้วนำเมล็ดที่เตรียมไว้มาปลูกตรงกลางถุงโดยให้ทาวด้านหัวกดลงลึกประมาณ 1 เซนติเมตร (เพื่อที่เวลางอกลำต้นจะตั้งตรง) จากนั้นรดน้ำให้ชุ่มชื้นทุกวันๆ ละ 1-2 ครั้ง ภายใน 2-3 วัน เมล็ดจะเริ่มงอก จนอายุ 1 ปี จะมีใบออกประมาณ 3-4 ใบ จึงสามารถนำไปปลูกได้ 

           การเตรียมหลุมปลูกให้ใช้จอบขุดดินให้มีขนาดพอดีเท่ากับถุงที่ใช้เพาะต้นกล้า กรีดด้านข้างถุงเพาะแล้ววางลงไปในหลุมปลูกใช้ไม้ปักแนบลำต้นผูกเชือกยืดกันลมโยก รดน้ำให้ชุ่มชื้นและควรทำร่มเงาให้ด้วย ส่วนระยะปลูก ควรใช้ระยะ 12x12 เมตร ใน 1 ไร่ จะปลูกได้ประมาณ 11 ต้น สะตอ จะเริ่มให้ผลผลิตครั้งแรกเมื่อมีอายุ 4-7 ปี ตั้งแต่เริ่มปลูกโดยในต้นละตอหนึ่งจะให้ผลผลิตได้ประมาณ 200-300 ฝัก และจะให้ฝักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปีตามอายุ

องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีในเมล็ดสะตอ พบว่ามีสารสำคัญๆ ดังนี้ β-sitosterol, Stigmasterol, lectin, 1,2,4, Trithiolane, dichrostachmic acid, serine, glycine, aspartic acid เป็นต้น นอกจากนี้เมล็ดสะตอยังมีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้

           คุณค่าทางโภชนาการของเมล็ดสะตอ (100 กรัม)

–          พลังงาน                       130                              กิโลแคลอรี่

–          โปรตีน                          8                                  กรัม

–          คาร์โบไฮเดรต              15.50                           กรัม

–          ไขมัน                            4                                  กรัม

–          เส้นใย                           0.50                             กรัม

–          แคลเซียม                    76                                มิลลิกรัม

–          ฟอสฟอรัส                    83                                มิลลิกรัม

–          ธาตุเหล็ก                    0.70                             มิลลิกรัม

–          วิตามินเอ                      9                                  I.U.

–          วิตามินบี 1                   0.10                             มิลลิกรัม

–          วิตามินบี 2                    0.01                             มิลลิกรัม

–          วิตามินบี 3                   1                                  มิลลิกรัม

–          วิตามินซี                       6                                  มิลลิกรัม

 โครงสร้างสะตอ

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของสะตอ

ฤทธิ์เพิ่มการแบ่งตัวของเม็ดเลือดขาว

           มีการศึกษาวิจัยผลของเล็คตินที่แยกได้จากเมล็ดสะตอ (Pakia speciosa  Hassk.) ต่อการแบ่งตัวของเม็ดเลือดขาวที่ได้จากอาสาสมัครสุขภาพดี และจากผู้ป่วยมะเร็งหลอดอาหาร โดยใช้วิธีวัดการนำเข้า (incorporation) [3H] thymidine ในดีเอ็นเอของเม็ดเลือดขาว พบว่าเล็คตินทำให้เม็ดเลือดขาวแบ่งตัวเพิ่มขึ้นตามความเข้มข้นของเล็คติน และลดลงเมื่อความเข้มข้นของเล็คตินมากเกินไป โดยผลของเล็คตินต่อเม็ดเลือดขาว ที่แยกจากเลือดผู้ป่วยมะเร็งหลอดอาหารไม่แตกต่างจากผลต่อเม็ดเลือดขาวที่ได้จากอาสาสมัครปกติแต่อย่างใด

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านเชื้อจุลชีพของสะตอ มีการศึกษาวิจัยสารสำคัญ ฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ และต้านเชื้อจุลชีพของสารสกัดจากฝักสะตอ 2 ชนิด ได้แก่ สะตอข้าว และสะตอดาน พบว่าสะตอดานจะมีปริมาณของสารฟีนอลิก และฟลาโวนอยด์สูงกว่าสะตอข้าว โดยสารสกัด 50% เอทานอลจากฝักสะตอทั้ง 2 ชนิด มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ เมื่อทดสอบด้วยวิธี DPPH, ABTS และ metal ion chelating assay โดยสารสกัดจากสะตอข้าวจะมีฤทธิ์ดีกว่า นอกจากนี้สารสกัดทั้งสองยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในอาหาร ได้แก่ Bacillus cereus, Escherichia coli, Listeria monocytogenes, Salmonella typhimurium, Staphylococcus aureus, Vibrio cholera และแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการเน่าเสียของอาหาร ได้แก่ Aeromonas hydrophila, Pseudomonas aeruginosa และ Serratia marcescens 

           นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัยฉบับอื่นๆ ระบุว่า เมล็ดสะตอมีฤทธิ์ ระดับการเกาะกลุ่มของเม็ดเลือดแดง ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด และฤทธิ์กระตุ้นให้ลำไส้บีบตัวของลำไส้อีกด้วย

การศึกษาทางพิษวิทยาของสะตอ

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ในเมล็ดสะตอ มีกรดยูริก (Uric acid) สูงดังนั้นผู้ที่เป็นโรคเก๊าท์หรือผู้ที่มีระดับกรดยูริกในร่างกายสูงควรหลีกเลี่ยงการรับประทาน เพราะอาจส่งผลให้อาการกำเริบได้
  2. เมล็ดสะตอมีกลิ่นฉุดมาก เนื่องจากมีสารในกลุ่ม polysulfides ทำให้เกิดกลิ่น ดังนั้นเวลารับประทานเมล็ดสะตอ แล้วจะมีกลิ่นปาก แต่สามารถแก้ไขได้ด้วยการับประทานมะเขือเปราะ 2-3 ลูก หลังรับประทานเมล็ดสะตอ จะสามารถดับกลิ่นปากได้ในระดับหนึ่ง

เอกสารอ้างอิง สะตอ
  1. สุภาภรณ์ เจียมจิตร์. สะตอ ผักพื้นบ้านกลิ่นแรงของภาคใต้. คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 220. สิงหาคม 2540.
  2. ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และต้านเชื้อจุลชีพของสะตอ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสุมนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหิดล.
  3. นิดดา หงษ์วิวัฒน์. ฟู้ดอัปเดต:สะตอสุกรสหวานผสมขมมัน. ครัว. ปีที่ 18 ฉบับที่ 112 มกราคม 2555 หน้า 12
  4. เล็ดดินจากเมล็ดสะตอเพิ่มการแบ่งตัวของเม็ดเลือกขาว. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  5. สะตอ สรรพคุณ และการปลูกสะตอ. พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  6. Samuel, A.J.S.J., Kalusalingam, A., Chellappan, D.K., Gopinath, R., Radhamani, S., Husain, H. A., Muruganandham, V., Promwichit, P. 2010. Ethnomedical survey of plants used by the orang asli in kampong bawong, Perak, West Malaysia. Joutnal of Ethnobiology and Ethnomedicine. 6:5
  7. Suchanuch Wonghirundecha , Soottawat Beniakul , Punnanee Sumpavapol. Total phenolic content , antioxidant and antimicrobial activities of stink bean (Parkia speciosa Hassk.) pod extacts. Songklanakarin Jounal of Scienee and Technology 2014;36(3):301-8