ผักแครด ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ผักแครด งานวิจัยและสรรพคุณ 13 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ผักแครด
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น สาบกา, ส้มกา (ภาคเหนือ), หญ้าขี้หมา (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Synedrella nodiflora (L.) Gaertn.
ชื่อสามัญ American weed
วงศ์ ASTERACEAE
ถิ่นกำเนิดผักแครด
ผักแครด จัดเป็นพืชในวงศ์ทานตะวัน (ASTERA CEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิม และเป็นพืชพื้นเมืองของทวีปอเมริกากลาง ก่อนจะมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ ของโลก เช่น ภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแอฟริกาตะวันตก เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยพบผักแครด ได้ทั่วไปทุกภาคของประเทศบริเวณ ทุ่งหญ้าว่างเปล่า หรือ ตามริมถนนทั่วไป
ประโยชน์และสรรพคุณผักแครด
- ใช้แก้ไขข้ออักเสบ
- แก้ปวดขา ปวดเข่า
- แก้ปวดศีรษะ
- แก้เจ็บหู
- ใช้สมานแผล
- ใช้แก้ปวดท้อง
- แก้ท้องผูก
- ใช้เป็นยาระบาย
- การรักษาโรคลมบ้าหมู
- ใช้เป็นยาระบายทำแท้ง
- รักษาโรคหัวใจ
- ใช้ห้ามเลือดจากบาดแผล
- แก้โรคไขข้อ
มีการนำยอดอ่อน และใบอ่อนของผักแครด มาใช้เป็นอาหารโดยนำมาแกงรวมกับผักชนิดอื่นๆ และยังมีการนำผักแครดมาใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น โค, กระบือ, แพะ และแกะ เป็นต้น
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้แก้โรคไขข้ออักเสบ โดยนำทั้งต้นผักแครดมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้แก้อาการปวดศีรษะ ปวดขา ปวดเข่า และสมานแผล โดยนำทั้งต้นผักแครดตำพอกศีรษะ หรือ พอกบริเวณที่ปวดและที่เป็นแผล
- ใช้แก้เจ็บหู โดยนำทั้งต้นผักแครดมาคั้นเอาน้ำใช้หยอดหู
- ใช้แก้อาการท้องผูก ใช้เป็นยาระบาย โดยนำใบผักแครด มาต้มกับน้ำกิน
- ใช้แก้ปวดท้องโดยนำใบผักแครดมาคั้นเอาน้ำกิน
- ในประเทศกานา ใช้ทุกส่วนของผักแครดในการรักษาโรคลมบ้าหมูและอาการปวดต่างๆ ใบใช้เป็นยาระบาย ทำแท้ง
- ในประเทศไนจีเรีย ชนเผ่าพื้นเมืองบางเผ่าใช้ทั้งต้นเพื่อรักษา โรคหัวใจ ใช้ห้ามเลือดจากบาดแผล
- ประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ใช้แก้ปวดศีรษะ ปวดหู ปวดท้อง และโรคไขข้อ
ลักษณะทั่วไปของผักแครด
ผักแครด จัดเป็นพันธุ์ไม้ล้มลุกฤดูเดียว ที่มีลำต้นตั้งตรงมีความสูง 10-80 เซนติเมตร ลำต้นมีสีเขียวมีขนขึ้นปกคลุมเล็กน้อย แตกกิ่งก้านสาขา ตามข้อลำต้นโดยมักจะแตกออกเป็นง่าม ตามกิ่งจะมีขนขึ้นปกคลุมประปราย เช่นเดียวกับลำต้นของผักแครด
ใบผักแครด เป็นใบเดี่ยว ออกแบบตรงข้ามสลับฉากบนกิ่งและปลายยอด ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่ หรือ รูปรี กว้าง 2.5-5 เซนติเมตร ยาว 3.5-8.0 เซนติเมตร โคนใบสอบแหลมติดกับก้านใบปลายใบแหลมของใบเป็นจักฟันเลื่อย ผิวใบมีสีเขียวค่อนข้างสากมือและมีก้านใบสั้น
ดอกผักแครด ออกเป็นช่อกระจุกแน่นบริเวณซอกใบ หรือ ปลายยอด ดอกมีลักษณะเป็นช่อหลอดรูปรางน้ำ มีสีเหลือง โดยดอกจะแบ่งออกเป็น 2 วง วงนอกปลายแหลม และมีขนสีขาวขึ้นปกคลุมอยู่ประปราย ส่วนวงใบปลายมน ผิวเกลี้ยงยาว 7 มิลลิเมตร
ผลผักแครด เป็นผลแห้งขนาดเล็กมีสีน้ำตาลเข้ม หรือ สีดำ ลักษณะของผลผักแครด เป็นรูปทรงกระบอก มีความยาว 4-5 มิลลิเมตร ที่ปลายมีขนเป็นหนามยาว 2-3 แฉก
การขยายพันธุ์ผักแครด
ผักเครด สามารถขยายพันธุ์ได้โดย การใช้เมล็ด แต่ในปัจจุบันไม่นิยมนำมาปลูกตามบ้านเรือน หรือ เรือกสวนไร่นา เนื่องจากเป็นพืชที่แพร่กระจายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว จนกลางเป็นวัชพืชที่สำคัญของเกษตรกรในหลายพื้นที่ ดังนั้นการขยายพันธุ์ของผักแครด ในปัจจุบันจึงเป็นการแพร่พันธุ์ตามธรรมชาติเท่านั้น ทั้งนี้ผักแครดเป็นพืชที่ชอบแสงแดด ทนแล้วได้ในระดับหนึ่ง แต่จะชอบที่ชื้นแฉะมากกว่า
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหยจากส่วนราก ลำต้น และใบของผักแครด ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์หลายชนิดดังนี้
- น้ำมันหอมระเหยจากรากผักแครดพบสาร β-Phellandrene, Myrcene, Limonene, Geraniol, Cyperene, Germacrene D, Caryophyllene, Falcarinol, Pentadecanal และ Neryl tiglate เป็นต้น
- ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากลำต้นผักแครด พบสาร Cyclosativene, Bicycloelemene, β-Caryophyllene, α-Humulene, Cyperene, Bicyclogermacrene, Spathulenol, Intermedeol และ Xanthorrhizyl acetate เป็นต้น
- ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากส่วนใบผักแครดพบสาร β-Phellandrene, Geranial, Nerol, α-Cubebene, β-Caryophyllene, α-Gurjunene, Precocene, Spathulenol, Curcuphenol และ α-Muurolene เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของผักแครด
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดเมทานอลจากส่วนใบและน้ำมันหอมระเหยของผักแครด ระบุว่า มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการ เช่น มีรายงานการศึกษาวิจัยระบุว่า สารสกัดเมทานอลของใบผักแครด มีฤทธิ์ต้านอาการท้องร่วง และลดน้ำตาลในเลือดได้ในขนาด 200 และ 400 มก./กก. ของน้ำหนักตัว ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งมีการศึกษาวิจัยในฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดหนูทดลองที่เป็นเบาหวานปกติและหนูที่เป็นเบาหวานที่เกิดจาก alloxan โดยให้สารสกัดจากพืชทางช่องท้องในขนาด 150 และ 300 มก./กก. ของน้ำหนักตัว โดยควบคุมในช่วง 1 ชั่วโมง พบว่าในหนูที่เป็นโรคเบาหวานที่เกิดจากอัลลอกซาน (110 มก./กก.) เมื่อเปรียบเทียบกับยาอ้างอิง เมตฟอร์มิน ไฮดดรคลอไรด์ (100 มก./กก.) ส่วนในช่วงระยะเวลาการศึกษา 3 วัน พบว่าระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้นลดลงอย่างมากในหนูที่เป็นเบาหวาน ปกติและอัลลอกซานในขนาด 150 และ 300 มก./กก. ซึ่งพบว่าระดับกลูโคสลดลง 57.87% และ 66.83% เลยทีเดียว
นอกจากนี้ยังมีรายงานระบุว่า น้ำมันหอมระเหยของผักแครดยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ และมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียได้อีกด้วย
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของผักแครด
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสารสกัดจากผักแครด (ไม่ระบุส่วน) ระบุว่า เมื่อให้สารสกัดจากผักแครดทางปากแก่หนูทดลองอย่างต่อเนื่อง 14 วัน (100, 300 และ 1,000 มก./กก.) แล้วจึงทำการวัดค่าโลหิตวิทยา และทางชีวเคมีในซีรั่ม พบว่าสารสกัดไม่ก่อให้เกิดการตายในหนูทดลอง ในช่วงระยะเวลาการศึกษา อีกทั้งสารสกัดยังไม่ส่งผลกระทบต่อค่าดัชนีทางโลหิตวิทยา และชีวเคมีในซีรั่มที่วัดได้อีกทั้งยังไม่ก่อให้เกิดความผิดปกติ ในการเคลื่อนไหว การหลั่งน้ำลาย ม่านตา รูปแบบการหายใจ ความถี่และความสม่ำเสมอของอุจจาระของหนู และการแข็งตัวของเลือดอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ถึงแม้ว่าจะมีรายงานการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยา ระบุว่าผักแครด มีความปลอดภัยแต่ในการใช้ผักแครดเป็นสมุนไพรก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง ผักแครด
- ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2544. ส่วนพฤกษาศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ พิมพ์ครั้งที่ 2 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม). พิมพ์ที่ บริษัทประชาชน จำกัด 2544.
- ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม ผักแครด หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย. ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 486-487.
- ลิลลี่ กาวีต๊ะ, มาลี ณ นคร, ศรีสม สุวรรณวงศ์, สุรียา ตันติวิวัฒน์ และณรงค์ วงศ์กันทรากร. (2556). สรีรวิทยาของพืช (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- ภาคภูมิ พระประเสริฐ และวรัญญา นามนาเมือง. (2548). ผลของสารสกัดจากผักแครด (Synedrella nodiflora (L.) Gaertn.) ด้วยตัวทำละลายชนิดต่างๆ ต่อการงอก และการเจริญเติบโตของพืชบางชนิด. วารสารวิทยาศาสตร์บูรพา, 10 (1-2), 68-75.
- S. Hossain, J. Mallik, and Md. S. Hossain, Phytochemical screening and in vitro evaluation of reducing power of ethanol extracts of Synedrella nodiflora. IJRRPAS, 2012, 2(5).879-890; 2012.
- Perez, N.; Noguera, B.; Pastoliero, M.; Haiek, G.; Israel, A.; Medina, J.D. Actividad antiinflamatoria y compuestos químicos aislados del extracto clorofórmico de las hojas de Synedrella nodiflora (L.) Gaertn. Rev. Fac. Farm. 2008, 71, 33-39.
- Martin, R.J.; Gopalakrishnan, S. Insecticidal activity of aerial parts of Synedrella nodiflora Gaertn (Compositae) on Spodoptera litura (Fab.). J. Cent. Eur. Agric. 2005, 6, 223-228
- R. Zahan, L. Nahar, A. Haque1, A. Mosaddik, A. Fazal, Z. Alam, and M. Ekramul Haque, Antidiarrhoeal and hypoglycemic effects of Synedrella nodiflora. Phytopharmacology, 2(2) 257-264; 2012.
- J.M. Dalziel, The hairs lining the loculi of fruits of species of Parinarium. London: Proc Linn Soc., p. 99; 1931.
- Adjibode, A. G., Tougan, U. P, Youssao, A. K., Mensah, G. A., Hanzen, Ch., & Koutinhouin, G. B. (2015). Synedrella nodiflora (L.) Gaertn: a review on its phytochemical screening and uses in animal husbandry and medicine. International Journal of Advanced Scientific and Technical Research, 5(3), 436-443.
- S. Adjei, P. Amoateng, D. Osei-Safo, C. Sasu, B.B. N'guessan, P. Addo, J.I. AsieduGyekye, Sub-acute toxicity of a hydro-ethanolic whole plant extract of Synedrella nodiflora (L) Gaertn in rats. Int J Green Pharm; 8:271-5; 2014.
- Aalbersberg, W.G.; Singh, Y. Essential Oils from Two Medicinal Plants of Fiji: Dysoxylum richii (A. Gray) C.D.C. Fruit and Synedrella nodiJlora (L.) Gaertn. Leaves. Flavour Fragr. J. 1991, 6, 125–128.
- J.R. Cobbinah, C. Moss, P. Golob, and S.R. Belmain, Conducting ethnobotanical surveys; an example from Ghana on plants used for the protection of stored cereals and pulses. In: NRI Bulletin 77. Chatham: Natural Resource Institute; 1999.