เต่าร้าง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

เต่าร้าง  งานวิจัยและสรรพคุณ 18 ข้อ

ชื่อสมุนไพร เต่าร้าง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เต่าร้างแดง (ภาคกลาง), เขืองหมู, เขือง (ภาคเหนือ), มะเด็ง, งือเด็ง (ภาคใต้), มีเซาเหมาะ (กะเหรี่ยง), ซี (ม้ง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Caryota mitis Lour.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Caryota urens Lour.
ชื่อสามัญ Fishtail palm, Wart fishtail palm, Tuftied fishtail palm
วงศ์ PALMAE


ถิ่นกำเนิดเต่าร้าง

เต่าร้าง จัดเป็นพืชตระกูลปาล์มที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในทวีปเอเชียโดยมีเขตการกระจายพันธุ์บริเวณอินเดีย ศรีลังกา มังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย และทางตอนใต้ของจีนรวมถึงหมู่เกาะในทะเลอันดามัน สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ บริเวณป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ป่าชายเลน ป่าบก ป่าพรุ และตามริมลำธารต่างๆ เป็นต้น


ประโยชน์สรรพคุณเต่าร้าง

  • แก้ตับทรุด
  • ช่วยดับพิษที่ปอด ตับ
  • แก้หัวใจพิการ
  • แก้ม้ามพิการ
  • แก้กาฬขึ้นปอด
  • ใช้แก้อาการช้ำใน
  • บำรุงตับ
  • บำรุงกำลัง
  • แก้กาฬขึ้นที่ตับ
  • ช่วยบำรุงหัวใจ
  • แก้ไข้กาฬ
  • ช่วยสมานแผล
  • ทำให้แผลแห้งและตกสะเก็ดไว
  • ช่วยป้องกันบาดทะยัก
  • แก้ไข้จับสั่น
  • ช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น (ป้องกันไข้หนาว)
  • แก้หิด
  • แก้กลาก เกลื้อน

           มีการนำเต่าร้าง มาใช้ประโยชน์หลากหลายด้านอาทิเช่น มีการนำยอดอ่อนของเต่าร้างมาใช้ปรุงเป็นอาหารรับประทาน โดยนำมาต้ม ลวก แกง หรือ แกง และยังมีการนำแกนในของลำต้นในส่วนที่มีความอ่อน นำมาใช้แกงประกอบอาหาร และยังมีการนำผลสุกมารับประทานสดโดยมีรสชาติหวานอร่อย ส่วนช่อดอกสามารถปาดเอาน้ำหวานมาผลิตเป็นน้ำตาลได้เช่นเดียวกับมะพร้าว และใบสามารถนำมามุงหลังคาได้ ส่วนเส้นใบจากกาบใบใช้ทำเป็นเชือกสำหรับผูกของ หรือ นำไปเป็นเครื่องจักรสาน ก็ได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีการนำเต่าร้างมาปลูกเป็นไม้ประดับตามอาคารสถานที่ต่างๆ ตาม สระว่ายน้ำ หรือ ตามรีสอร์ทต่างๆ เนื่องจากมีทรงต้นและพวงดอกที่สวยงาม

เต่าร้าง    เต่าร้าง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้บำรุงกำลัง บำรุงตับ บำรุงหัวใจ แก้ไข้กาฬ แก้ช้ำใน โดยนำหัวเต่าร้าง มาตากแห้ง แล้วต้มกับน้ำดื่ม ใช้ดับพิษที่ปอด แก้ตับทรุด ดับพิษที่ตับ แก้ม้ามพิการ แก้กาฬขึ้นปอด แก้ช้ำใน โดยนำหัวและรากมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้สมานแผลช่วยให้แผลตกสะเก็ดเร็วป้องกันบาดทะยัก โดยนำผลแก่ตำพอกบริเวณที่เป็น ใช้แก้หิด กลากเกลื้อนโดยนำผลมาทา หรือ ใช้ผลมาฝานผสมกับน้ำมันมะพร้าวทาบริเวณที่เป็น ในการ ช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น (ป้องกันไข้หนาว) และแก้ไข้จับสั่น โดยการน้ำหัวอ่อนๆ มารับประทาน

ลักษณะทั่วไปของเต่าร้าง

เต่าร้าง จัดเป็นพรรณไม้และประเภทปาล์มลำต้นแตกกอ สูงประมาณ 5-10 เมตร และลำต้นกลม ลักษณะตั้งตรง ไม่แตกกิ่ง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10-20 เมตร โดยมักจะแตกเป็นกอ 2-4 ต้น ผิวลำต้นเกลี้ยงเป็นสีเขียวถึงสีเทาอมเขียว ซึ่งหลังจากออกดอกเป็นผลแล้วต้นจะค่อยๆ ตายไป

           ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกเรียงเวียนสลับบริเวณรอบลำต้นโดยช่อใบจะมีลักษณะแผ่แบนรูปสามเหลี่ยมกว้าง แตกแขนงออกเป็นช่อใบย่อยข้างละ 7-23 ช่อ โดยในแต่ละช่อจะยาวประมาณ 50-100 เซนติเมตร ใบย่อยมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมหยักเว้าพับเป็นจีบคล้ายรูปตัววี โคนใบเป็นรูปลิ่ม ปลายใบแหลมคล้ายหางปลา แผ่นใบเป็นสีเขียวเป็นมัน กว้าง 13 เซนติเมตร ยาว 20-30 เซนติเมตร ใบย่อยคู่สุดท้ายมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมรูปข้าวหลามตัด ขอบบเรียบ ผิวใบเรียบทั้งสองด้าน

           ดอก ออกเป็นช่อแบบแยกแขนงบริเวณปลายยอดและใต้โคนกาบใบโดยจะเป็นแบบแยกเพศร่วมต้นซึ่งจะออกดอกเป็นช่อเชิงลดไม่มีก้าน ห่อหุ้มด้วยกาบสีเขียวขนาดใหญ่ ความยาวของช่อดอกประมาณ 60-80 เซนติเมตร ช่อดอกมีลักษณะห้อยลงมา ออกดอกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 3 ดอก เรียงเวียนสลับกันแกนช่อดอกย่อย ดอกเพศผู้จะเป็นสีเขียวอ่อน ไม่มีก้านเมื่อดอกบานจะเป็นสีเหลืองนวล มีลักษณะตูมเป็นรูปทรงขอบขนาน กลีบดอกแข็งมี 3 กลีบ ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ปลายแหลมโค้ง ส่วนดอกเพศเมียมีกลีบดอก 3 กลีบ เป็นสีเขียวอ่อน ที่โคนเชื่อมติดกัน เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร

           ผล เป็นผลสดแบบมีเนื้อ ทรงกลม ออกเป็นพวงๆ โดยผลมีขนาด 2 เซนติเมตร ผลดิบสีเขียวแกมเหลือง ผลสุกสีแดงคล้ำ ด้านในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด

เต่าร้าง

เต่าร้าง

การขยายพันธุ์เต่าร้าง

เต่าร้าง สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการแยกกอ หรือ แยกหน่อ และการเพาะเมล็ด แต่ในปัจจุบันวิธีที่นิยม คือ วิธีการแยกกอ ซึ่งวิธีการแยกกอของเต่าร้างสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการแยกกอพันธุ์ไม้อื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้เต่าร้างเป็นไม้กลางแจ้ง ชอบความชื้น และชอบดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำได้ดี


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของเต่าร้าง ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น สารสกัดจากใบพบสาร Triacontane, Lupeol, Myricadiol, Beta-sitosterol, Tetracosonid, Ursolic acid,Hexanoic acid, Dodecanoic acid, N-Ethyl acrylamide, Pentadecanoic acid, Benzoic acid, Lignoceric acid, Linolenic acid, Pyroglutamic acid, Palmitaldehyde, Aziridine, Stearic acid

           เนื้อผลพบสาร Cyclopentanone, 1,8-Nonadien-4-Ol, Phthalic acid, Palmitic acid, Oleic acid, Hendecynoic acid, Pentadecanoic acid, Decylenic alcohol, Pyroglutamic acid, (2E,6E)-Farnesol, 1,5-Heptadiene, Stearic acid, Cyclopentaneundecanoic acid

          ส่วนเปลือกผลพบสาร Levoglutamide, Aziridine, Borazine 1-Butanol, Nonadecanoic acid, Cyclobutane, Isoxazolidine, Nitrous acid, 1-Propanol, Dodecanoic acid, Propanedioic acid, Oxalic acid, Hexanoic acid, Isobutane, Isonitropropane, Oxetane

โครงสร้างเต่าร้าง

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของเต่าร้าง

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดเต่าร้าง จากส่วนต่างๆ ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการอาทิเช่น

           ฤทธิ์ต้านจุลชีพ มีการศึกษาวิจัยพบว่า สารสกัดเอทานอลจากดอกไม้มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Clostridium septicum, Proteus mirabilis, Proteus vulgaris และฤทธิ์ต้านเชื้อราต่อ Mucor ที่ความเข้มข้น 25 ug/25 ul.

           ฤทธิ์ต้านเบาหวาน มีการศึกษาฤทธิ์ต้านเบาหวานโดยใช้เอนไซม์ α-อะไมเลส และเอนไซม์ α-ไกลโคซิเดสในทางทดสอบ พบว่าการยับยั้ง เอนไซม์ α-อะไมเลส มีเปอร์เซนต์การยับยั้งเท่ากับ 8.42+-0.97%, 10.77+-2.64% โดยใช้แป้งดิบ และแป้งสุกจากส่วนหัวของเต่าร้างที่ความเข้มข้น 5มก./มล. ตามลำดับ โดยผลการศึกษาวิจัยพบว่าทั้งแป้งดิบ และแป้งสุกของเต่าร้าง มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ α-glycosidase แต่จะมีคุณสมบัติต้านเบาหวานต่ำมาก

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีการศึกษาวิจัยว่าเต่าร้างแสดงฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่เด่นชัด โดยการทดสอบใช้วิธี DPPH ผลปรากฎว่ามีค่าเท่ากับ 0.8+-0.29 mmol/100g และวิธี ABTS+ มีค่าเท่ากับ 1.4+-0.21 mmol TE/100g

           นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าสารสกัดจากผลอ่อนและผิวผลของเต่าร้างแสดงถึงฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่รุนแรงเชื้อโรคที่ทดสอบได้แก่เชื้อ  Escherichia coli, Vibrio cholerae, Salmonella typhi, Staphylococcus aureus, Shigella flexneri


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของเต่าร้าง

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนะและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้เต่าร้าง มีข้อควรระวัง คือ น้ำเลี้ยงตามผิวใบของลำต้น ขนตามผลและยางจากผล เมื่อถูกผิวหนังจะทำให้เกิดอาการคันๆ หากเข้าตาก็อาจทำให้ตาบอดได้ สำหรับขนที่ต้นเมื่อสัมผัสอาจทำให้เกิดอาการคันได้

เอกสารอ้างอิง เต่าร้าง
  1. เมฑานี จงบุญเจือและสมพิศ คลี่ขยาย. อาหารปักษ์ใต้ บ้าบ๋า ย่าหยาในอันดามัน. กทม. เศรษฐศิลป์ 2556.
  2. เต่าร้าง. พืชกินได้ในป่าสะเกราช. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) หน้า 137-138.
  3. เศรษฐมนตร์ กาญจนกุล. ไม้มีพิษ.กทม.
  4. พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ และคณะ. ทรัพยากรพืชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 9: พืชให้คาร์โบไฮเดรตที่ไม่ใช่เมล็ด. กทม. สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติประเทศไทย. 2544. หน้า 84-86.
  5. เต่าร้าง. กลุ่มยารักษาตา คางทูม แก้ปวดหู. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โดยการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีฯ (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_29_2.htm.
  6. Lotschert Wilhelm. Palmen. Stuttgart: Eugen Ulmer Verlag; 1985.
  7. Somasiri H P P S, Premakumara G A S,Mahanama, K R R. Free amino acid profile of Kithulpalm Caryota urens L. treacle and its potential application in authentication of treacle types, Proceedings of the 12th Government Food Analysts Conference. 2011.
  8. Jayaweera DMA. Medicinal Plants Used in Ceylon. vol. IV. Colombo: National science council of Sri Lanka (NARESA); 1982.
  9. Ranasinghe P, Premakumara G A S, Wijeyarathna C.D et al. Antioxident activity of Caryota urens L. treacle. Trop .Agricult. Res.2012; 23(2): 117-125.
  10. Everet Y. The kitul palm: ethnobotany of Caryota urens l. in highland sri lanka. J Ethnobiol. 1995;15:161e176.