มะตาด ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

มะตาด งานวิจัยและสรรพคุณ 16 ข้อ


ชื่อสมุนไพร มะตาด
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ส้านใหญ่, ส้านป้าว (ภาคเหนือ), สิ้น, ปักสั้นใหญ่, หมากส้มกลีบ (ภาคอีสาน), แส้น (ภาคใต้), แอปเปิลมอญ (ทั่วไป), ตึดรือเหมาะ (กะเหรี่ยง), ส้านหลวง (ไทยใหญ่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Dillenia indica Linn
ชื่อสามัญ Elephant apple
วงศ์ DILLENIACEAE


ถิ่นกำเนิดมะตาด

มะตาด จัดเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชียบริเวณภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ เช่นใน ไทย ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินเดีย ศรีลังกา รวมถึงในมลฑลยูนนานของจีน เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศตามป่าดิบชื้น ป่าฝน ป่าพรุ และตามริมแม่น้ำลำธารต่างๆ


ประโยชน์และสรรพคุณ

  • เป็นยาบำรุงร่างกาย
  • ช่วยในการขับถ่าย
  • แก้ไอ
  • ช่วยขับเสมหะ
  • แก้ปวดท้อง
  • ช่วยเคลือบแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้
  • ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
  • แก้ท้องเสีย
  • ช่วยถอนพิษ
  • ช่วยระบายพิษไข้
  • ช่วยบำรุงเหงือกและฟัน
  • ใช้เป็นยาระบาย
  • ช่วยสมานแผล
  • แก้พิษจากแมลงกัดต่อย
  • ใช้รักษาอาการท้องเสีย
  • รักษาโรคมะเร็งอีกด้วย

           มะตาด ถูกนำมาใช้ประโยชน์หลากหลายประการเช่น มีการนำผลมะตาดใช้รับประทานเป็นผลไม้ หรือ นำกลีบชั้นในจิ้มกับเกลือกิน และยังนำมาใช้ประกอบอาหารได้หลายเมนู อาทิเช่น การทำเป็นแกงส้นมะตาด แกงคั่วมะตาด หรือ ใช้ผลสดจิ้มกินกับน้ำพริก ในส่วนของเมล็ดแก่จัดก็มีการนำมารับประทานสดเป็นของว่างได้โดยจะให้รสมัน ส่วนเปลือก และผลก็สามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการย้อมหนังสัตว์ และทำหมึกได้ ส่วนเนื้อไม้นำมาใช้ทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ทั้งเครื่องมือทางการเกษตร เครื่องเรือน หรือ อาจใช้ทำโครงสร้างต่างๆ ของบ้านได้อีกด้วย

           นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการนิยมนำมะตาด มาปลูกเพื่อใช้เป็นร่มเงาให้ความร่มรื่น เนื่องจากมะตาดมีทรงพุ่มที่ค่อนข้างหนามีใบจำนวนมาก และใบยังมีขนาดใหญ่ อีกทั้งบางท้องถิ่นยังนิยมปลูกเป็นไม้ประดับเนื่องจากมะตาดมีดอกที่สวยงาม และใบยังมีเส้นใบมีลักษณะเป็นริ้วสวยงาม จึงนิยมปลูกไว้ในสถานที่ต่างๆ เช่น วัด โรงเรียน หรือตามอาคารสถานที่ต่างๆ เป็นต้น

มะตาด

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้เป็นยาเย็นบำรุงร่างกาย ช่วยลดไข้ ระบายพิษไข้ ขับเสมหะ แก้ไอ ช่วยในการขับถ่าย เคลือบแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ แก้ปวดท้อง โดยนำผลสุกมารับประทานสด
  • ใช้ถอนพิษไข้ ระบายพิษไข้ แก้ท้องเสีย ใช้เป็นยาระบาย โดยนำเปลือกต้นมะตาด มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้ลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยนำเมล็ดมาทุบให้แตกต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้ทำให้เหงือก และฟันกระชับแน่น โดยนำเปลือกต้นมาเคี้ยว อมน้ำที่ได้แล้วใช้กลั้วปาก
  • ใช้สมานแผล โดยนำเปลือกต้น และใบมาตำพอกบริเวณที่เป็นแผล


ลักษณะทั่วไปของมะตาด

มะตาด จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบเรือนยอดเป็นทรงพุ่มทึบรูปกลม หรือ รูปไข่ มีความสูงประมาณ 10-20 เมตร ลำต้น ไม่ตรงส่วนมากมักจะคดงอ และมักมีปุ่มปมบนลำต้นเปลือกต้นหนา ต้นเมื่อยังมีอายุไม่มากจะมีสีน้ำตาลอมแดง หรือ สีทองแดง แต่เมื่อแก่เปลือกต้นจะเปลี่ยนเป็นสีเทา และหลุดล่อนออกเป็นแผ่นบางๆ แตกกิ่งก้านในระดับต่ำ ส่วนกิ่งย่อยจะเกิดที่ส่วนปลายของยอดกิ่งหลัก ใบเป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับเป็นช่อบริเวณปลายกิ่งใบเป็นรูปใบหอก หรือ เป็นรูปไข่กลับกว้าง 8-12 เซนติเมตร และยาว 25-30 เซนติเมตร โคนใบเรียวสอบแคบมน ปลายใบแหลมมีติ่งสั้น ขอบใบเป็นหยักและฟันเลื่อย มีหนามเล็กๆ อยู่ที่ปลายสุดของเส้นแขนงตรงขอบใบแผ่นใบหนา แผ่นใบมีลักษณะเป็นคลื่นลอนตามเส้นแขนง ใบ (เส้นแขนงใบมี 30-40 คู่) ที่แยกขนานจากเส้นใบไปขอบใบ ส่วนท้องใบจะเห็นเส้นแขนงชัดเจนและมีขนสั้นๆ ขึ้นประปราย และมีก้านใบลักษณะเป็นร่องยาว 4-5 เซนติเมตร ดอกออกเป็นดอกเดี่ยว โดยจะออกบริเวณง่ามใบและบริเวณกิ่งที่อยู่ใกล้ปลายยอด ก้านดอกยาว 3-5 เซนติเมตร และมีขนสากมือ มีกลีบเลี้ยงดอก 5 กลีบ ลักษณะเป็นแผ่นโค้งคล้ายช้อน ส่วนดอกมีสีขาวนวล และมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่กลับกลีบดอกหลุดร่วงได้ง่ายบาง กว้าง 15-18 เซนติเมตร มีเกสรตัวผู้สีเหลืองอยู่จำนวนมากล้อมรอบเกสรตัวเมีย โดยเกสรตัวเมียจะมีสีขาว ส่วนยอดของเกสรตัวเมียจะแยกออกเป็นแฉกๆ มีรังไข่ 20 ช่อง ทั้งนี้เมื่อดอกตูมในระยะแรกจะมีลักษณะคล้ายกับผลแต่เมื่อดอกมีขนาดเท่าผลมะนาว ก็จะบานออก เมื่อดอกบาน และได้รับการผสมแล้ว กลีบเลี้ยงจะเริ่มห่อหุ้มเข้ามาใหม่จนมีลักษณะเป็นผลกลมๆ และเจริญเติบโต จนกลายเป็นผล ผลเป็นผลเดี่ยวสด ลักษณะเป็นรูปทรงกลมใหญ่แข็ง ผิวเรียบ เปลือกผลเป็นกาบที่เกิดขึ้นมาจากกลีบเลี้ยงที่อัดกันแน่น ขนาดของผลมีความกว้าง 10-15 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้ม มีกลิ่นเฉพาะตัว และมีเมือกเหนียว เนื้อผลมีรสเปรี้ยวอมฝาด ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลจำนวนมาก กว้าง 0.5-0.8 เซนติเมตร มีเมือกห่อหุ้ม และเมื่อแก่จัดเมล็ดจะมีสีน้ำตาลเข้มไปจนเกือบดำ

มะตาด

มะตาด

การขยายพันธุ์มะตาด

มะตาด สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด และการตอนกิ่ง ยังเป็นพันธุ์ไม้ที่มีความทนแล้ง และทนน้ำท่วมได้ดี ในปัจจุบันนิยมปลูกกันมากใน จังหวัดปทุมธานี ราชบุรี และกาญจนบุรี โดยเฉพาะในชุมชนชาวมอญ สำหรับวิธีการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และวิธีการปลูกมะตาดนั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และการปลูกไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนผล ใบ เปลือกผล และเปลือกต้นของมะตาด ระบุว่า พบสารออกฤทธิ์หลายชนิดอาทิเช่น Betulinaldehyde, Lupeol, Betulinic acid, Stigmasterol, proanthocyanin, β-Sitosterol, lsorrhamnetin, Dillenetin, Betulin, Myricetin, Cycloartenone, n-Hentriacontanol

โครงสร้างมะตาด

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของมะตาด

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดมะตาด ของจากส่วนลำต้น ใบ และผล ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังนี้

           มีการศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพ ของสารสกัดจากส่วนของลำต้นมะตาดที่พบว่าสารสกัดดังกล่าวมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ และเชื้อราได้ อีกทั้งยังมีการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ จากสารสกัดหยาบจากใบมะตาดที่ปลูกในประเทศอินเดีย พบว่าสารสกัดหยาบจากใบมะตาดมีสมบัติการต้านอนุมูลอิสระได้

           ส่วนในประเทศไทยได้มีการทดสอบสมบัติการต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดหยาบจากเนื้อผล และเปลือกผลมะตาด ด้วยวิธี FRAP assay พบว่าสรสกัดหยาบที่ได้จากเปลือกผลมะตาดสด เปลือกผล มะตาดแห้งเนื้อผลมะตาดสด และเนื้อผลมะตาดแห้ง มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี FRAP เท่ากับ79.634,0.135, 73.388 และ 144.785 ตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสารสกัดหยาบจากเนื้อผลมะตาดแห้งฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดีที่สุด (144.785 มิลลิกรัมสมมูล) รองลงมาคือสารสกัดหยาบจากเปลือกผล และเนื้อผลมะตาดสดที่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระค่อนข้างสูงใกล้เคียงกันในขณะที่สารสกัดหยาบจากเปลือกผลมะตาดแห้งมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระน้อยที่สุด

           อีกทั้งยังมีการศึกษาวิจัยความไวของเชื้อแบคทีเรีย ต่อสารสกัดหยาบจากผล และใบมะตาด ด้วย Ethanol 95 % และ Acetone พบว่าสารสกัดหยาบจากผลที่สกัดด้วยตัวทำละลายทั้ง 2 ชนิด มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ Bacillus cereus แต่ไม่ยับยั้งเชื้อ Escherichia coli และ Staphylococcus aureus สำหรับสารสกัดหยาบจากใบที่สกัดด้วย Ethanol 95 % ไม่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียทั้ง 3 ชนิด ส่วนสารสกัดจากใบที่สกัดด้วย Acetone นั้นมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อ Bacillus cereus แต่ไม่ยับยั้งเชื้อ Escherichia coli และ Staphylococcus aureus

           นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยอีกฉบับหนึ่งระบุว่าโปรแอนโทไซยานิน (proanthocyanin) ที่พบในผลมะตาดมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ส่วนกรดเบทูลินิก (betulinic acidza) มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ยับยั้งเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว U937, HL60 และ K562 ที่มีสาเหตุจากอนุมูลอิสระ และยังสามารถยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส (tyrosinase) อีกด้วย

 

การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของมะตาด

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้มะตาด รับประทานเป็นผลไม้ควรรับประทานแต่พอดีเพราะมีรสชาติหวานอมเปรี้ยว หากรับประทานมากเกินไปอาจทำให้ปวดในท้องได้ ส่วนในการนำมาใช้เป็นยาสมุนไพร ก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสมที่ได้กำหนดไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดและปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง มะตาด
  1. องค์ บรรจุน. ข้างสำรับมอญ. กรุงเทพฯ: มติชน. 2557 หน้า 111 -113
  2. อรุณรัตน์ สัณฐิติกวินสกุล,ยุทธชัย อุสุพานิชย์, ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดน้ำ จากผลมะตาดด้วยวิธีการดับจับอนุมูลบีทีเอส, งานประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 11 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม 11-12 กรกฎาคม 2562. หน้า 2-8
  3. รัตนา เฉลิมกลิ่น ผานิตตา อัจฉริยนนท์ ปราณีปิ่นเงิน และ พัฒนพงศ์จินดามงคล. (2549). การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ การจัดการอนุรักษ์พรรณไม้อายุยืนของชุมชนเกาะเกร็ด : ต้นมะตาด  (รายงานผลการวิจัย). กรุงเทพฯ: คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม.
  4. สิตา ทิศาดลดิลก, เอื้อมพร รัตนสิงห์. ฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน และปริมาณสารประกอบฟินอลทั้งหมดของสารสกัดหยาบจากมะตาด, วารสารวิจัย และพัฒนาวไลอลงกรณ์ในพระบรมราธูปถัมภ์ สาขาวิชาศาสตร์ และเทคโนโลยีปีที่ 14 .ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม 2562. หน้า 104-116
  5. Most, N. P., Mohammad S. R., Mohammad S. I. and  Mohammad, A.  R. (2009). Chemical and biological investigations of  Dillenia indica Linn. A  Journal of the Bangladesh Pharmacological Society (BDPS) Bangladesh J Pharmacol. 4: 122-125.
  6. Fu, C., Yang, D., Peh, W. Y. E., Lai, S., Feng, X., & Yang, H. (2015). Structure and antioxidant acitivties of proanthocyanins from elephant apple (Dillenia indica Linn.). Journal of Food Science, 80, C2191-C2199.
  7. Arbianti, R., Utami,T.S., Kurmana, A., & Sinaga, A. (2008). Comparison of Antioxidant Activity and Total Phenolic Content of Dillenia indica Leaves Extracts Obtained using Various Techniques.N.P.n.p.
  8. Biwas, R., Chanda, J., Kar, A., & Mukherjee, P. K. (2017). Tyrosinase inhibitory mechanism of betulinic acid from Dillenia indica. Food Chemistry, 232, 689-696.
  9. Sharma, H. K., Chhangte, L., & Dolai, A. K. (2001). Traditional medicinal plants in Mizoram, India. Fitoterapia. 72: 146-161
  10. Nadkami KM, Nadkami AK The lndian Materia Medica , (Nadkurni and Co. Bombay India) 1954.
  11. Khare CP. Indian Medicinal Plants: An Illustrated Dictianary.2007;213-214.
  12. Kumar, D., Mallick, S., Vedasiromoni, J. R., & Pal, B. C. (2010). Anti-leukemic activity of Dillenia indica L. fruit extract and quantification of betulinic acid by HPLC. Phytomedicine, 17, 431-435.