โกฐสอ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นและข้อมูลงานวิจัย
โกฐสอ งานวิจัยและสรรพคุณ 17ข้อ
ชื่อสมุนไพร โกฐสอ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น แปะจี้,แป๊ะลี้(จีนแต้จิ๋ว),ไป๋จื่อ(จีนกลาง),โกฐสอ(จีน)ไทย
ชื่อวิทยาศาสตร์ Angelica dahurica (Hoffm.) Benth. & Hook.f. ex Franch. & Sav.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Angelica macrocarpa H.Wolff, Angelica porphyrocaulis Nakai & Kitag.,Angelica tschiliensis H.Wolff, Callisace dahurica Hoffm., Thysselinum davuricum (Hoffm.) Spreng.
ชื่อสามัญ Angelicaroot , Dahurian Angelica
วงศ์ APIACEAE UMBELLIFERAE
ถิ่นกำเนิดโกฐสอ
โกฐสอมีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนและมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีและรัสเซีย (ไซบีเรีย) โดยมักพบขึ้นตามภูเขาสูงและชื้น ในหุบเขา ริมน้ำและชายป่า แต่ในบางข้อมูลระบุว่าโกฐสอมีด้วยกัน 3 ชนิด ซึ่งมีถิ่นกำเนิดต่างกันในประเทศจีน คือ โกฐสอชนิด Angelica dahurica (fisch.ex Hoffm.) Benth.et Hook.f.มีถิ่นกำเนิดในมลฑลเหอหนัน โกฐสอชนิด Angelica dahurica (Fisch.ex Hoffm.) Benth.et Hook.f. Var. Formosan (Boiss.) Shan et Yuanมีถิ่นกำเนิดในมณฑลเจ๋อเจียง โกฐสอชนิด Angelica anomala Lallem มีถิ่นกำเนิดในมลฑลเสฉวน
ประโยชน์และสรรพคุณโกฐสอ
- แก้ไข้
- แก้หืด
- แก้ไอ
- บำรุงหัวใจ
- แก้เสมหะเป็นพิษ
- แก้สะอึก
- แก้หลอดลมอักเสบ
- แก้ไข้จับสั่น
- ขับไขกระดูกที่คั่งค้างให้กระจาย
- ทำยาลมแก้วิงเวียน คลื่นเหียนอาเจียน
- แก้อาการทางผิวหนังต่างๆ เช่น แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก บวม
- แก้ริดสีดวงจมูกโดยเตรียมเป็นยานัตถุ์
- รักษาอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต
- บรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย
- ใช้บรรเทาอาการไข้ตัวร้อน ไข้เปลี่ยนฤดู
- แก้โรคในปอด
- บำรุงกระดูก
ในปัจจุบันมีการนำโกฐสอมาใช้ประโยชน์ต่างๆ เช่น นำมาเป็นส่วนประกอบสำหรับใช้ทำเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรต่างๆ เช่น น้ำเลี้ยงจุ๊ย , น้ำจับเลี้ยง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการนำโกศสอมาใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางต่างๆ เช่น ครีมทาหน้า เซรั่มบำรุงผิวหน้า รวมถึงครีมโลชั่นต่างๆ อีกด้วย ส่วนสรรพคุณทางยาของโกฐสอนั้น ชาวจีนนิยมใช้เป็นยาสมุนไพรมานานแล้ว โดยตำราแพทย์แผนจีนระบุว่า โกฐสอมีรสเผ็ด อุ่น มีฤทธิ์ขับเหงื่อ แก้อาการหวัดจากการกระทบลมเย็นภายนอก (ปวดศีรษะ คัดจมูก) มีฤทธิ์เปิดทวาร บรรเทาปวด แก้อาการปวดศีรษะ(โดยเฉพาะอาการปวดศีรษะด้านหน้า) ปวดฟัน ลดอาการคัดจมูกจากไข้หวัดหรือโรคโพรงจมูกอักเสบ นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ลดบวม ขับหนอง แก้พิษแผลฝีหนอง บวมเป็นพิษ
ลักษณะทั่วไปโกฐสอ
โกฐสอจัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นค่อนข้างสูงประมาณ 1-2.5 เมตร ลำต้นตั้งตรงอวบสั้น โคนต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-5 เซนติเมตร มีสีม่วงแต้มเล็กน้อย ส่วนรากมีลักษณะอวบใหญ่เป็นรูปกรวยยาว ไล่ลำดับจากใหญ่ไปหาเล็ก เนื้อแน่นแข็ง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวได้ถึง 30 เซนติเมตร หรือมากกว่านั้น อาจแยกแขนงที่ปลาย รากมีกลิ่นหอมฉุน ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก 2-3 ชั้น ออกเรียงเวียน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม มีขนาดกว้างได้ถึง 40 เซนติเมตร และยาวได้ถึง 50 เซนติเมตร มีก้านใบยาว โคนใบแผ่เป็นกาบ ส่วนใบย่อยไม่มีก้าน มีลักษณะเป็นรูปรีแคบถึงรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน มีขนาดกว้างประมาณ 1-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-10 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบเป็นครีบเล็กน้อย ส่วนขอบใบจักเป็นฟันเลื่อยห่างๆใบตอนบนจะลดรูปเป็นกาบ ช่อดอกออกเป็นแบบช่อซี่ร่วมเชิงประกอบ ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง เส้นผ่าศูนย์กลาง 10-30 เซนติเมตร สีขาวมีใบประดับไม่เกิน 2 ใบ คล้ายกาบหุ้มช่อดอกเมื่อยังอ่อนอยู่ โดยดอกเป็นช่อย่อย 18-40 ช่อ มีขนสั้นๆ มีกลีบดอก 5 กลีบ ผลแบบผลแห้งแยก รูปรีกว้าง ด้านล่องแบนราบ กว้าง 4-6 เซนติเมตร ยาว 4-7 เซนติเมตร สันด้านล่างหนากว่าร่อง สันด้านข้างแผ่เป็นปีกกว้าง ตามร่องมีท่อน้ำมัน
สำหรับส่วนของโกฐสอที่ใช้ทำเป็นยาสมุนไพรคือ รากแห้ง โดยมีลักษณะกลมยาว คล้ายหัวผักกาด แต่เล็กกว่าและแข็งกว่ามาก ซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว 2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร ผิวสีน้ำตาล มีรอยย่อและมีสัน ที่เปลือกมีประที่มีชันอยู่ เนื้อในมีสีขาวนวล (จึงเป็นที่มาของคำว่าโกฐสอ โดยแปลว่า ขาว) มีจุดเล็กๆ ซึ่งเป็นชันหรือน้ำมันระเหยง่าย ทำให้มีกลิ่นหอม มีรสเผ็ดร้อนและขม
การขยายพันธุ์โกฐสอ
สามารถขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและยังเป็นพืชประจำถิ่นของประเทศจีน ดังนั้นในอดีตจะสามารถเพาะปลูกโกฐสอได้ในแถบประเทศจีนและประเทศที่มีการกลายพันธุไปเท่านั้น แต่ปัจจุบันได้มีการทดลองปลูกในประเทศไทยรวมถึงประเทศต่างๆแล้ว
โดยโกฐสอจะเป็นพืชที่ชองอากาศอบอุ่น แต่ก็สามารถทนความหนาวเย็นได้ ข้อมูลจากแหล่งปลูกในเมืองสุยหนิง มณฑลกว่างสี อุณหภูมเฉลี่ยคือประมาณ 17.7 องศาเซลเซียส โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยต่อเดือน คือ 21.6 องศาเซลเซียสและอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยต่อเดือน คือ 14.3 องศาเซลเซียส โดยมีปริมาณน้ำฝน 1185.5 มิลลิเมตร ส่วนที่เมืองอันกั๋วในมณฑลเหอเป่ย อุณหภูมิเฉลี่ย คือ ประมาณ 13.5 องศาเซลเซียส และมีปริมาณน้ำฝน 550 มิลลิเมตร ช่วยอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับโกฐสอนั้นค่อนข้างกว้าง แต่หากปลูกในที่ซึ่งมีอากาศเย็น จะเจริญเติบโตช้า โดยทั่วไปจะปลูกได้ผลดีบนที่ราบบนเขาเล็กๆ ที่ติดต่อกันเป็นแนวยาว
องค์ประกอบทางเคมี
โกฐสอมีองค์ประกอบทางเคมีเป็นสารต่างๆหลายกลุ่ม เช่น สารกลุ่มคูมาริน เช่น byakangelicin, byakangelicol, imperatorin, oxypeucedanin, phellopterin,isoimperatorin สารกลุ่ม furanocoumarins ได้แก่ dahuribiethrins A–G สารกลุ่ม polyacetylenic, ferulic acid สารอนุพันธุ์ ของ isotretronic acid: angelic acid, angelicotoxin, xanthotoxin, xanthotoxol , marmesin, 3′-hydroxymarmesinin, isobyakangelicol, neobyakangelicol สารกลุ่ม polyacetylenic: falcarindiol, octadeca-1,9-dien-4,6-diyn-3,8,18- triol นอกจากนั้นยังมีสาร marmecin และ scopoletin
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของโกฐสอ
ที่มา : Wikipedia
ส่วนน้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากโกฐสอสามารถตรวจพบสารหลักคือ cuminal aldehyde, acetophenone และ cuminol ร้อยละ 42 12 และ 4 ตามลำดับ
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
จากตำรับยาต่างๆที่ใช้โกศสอเป็นส่วนประกอบมีการกำหนดขนาดการใช้ในรูปแบบของยาผงในขนาดการใช้วันละ 3-9 กรัม (น้ำหนักยา) นอกจากนี้ยังมีการใช้รากแห้งต้มดื่มตามตำรายาจีน เช่น รักษาจมูกอักเสบหรือไซนัส ใช้โกฐสอ 10 กรัม, อึ่งงิ้ม 10 กรัม, ซิงอี๊ 10 กรัม, ซังหยือจี้ 8 กรัม และกัวกึ้งอีก 20 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานเช้าเย็น 3-5 เทียบ แก้ปวดกระดูกสันหลังขึ้นหัว ด้วยการใช้โกฐสอ 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานวันละ 2 ครั้ง ส่วนสำหรับการใช้เป็นยาภายนอก เพื่อรักษาอาการทางผิวหนัง เช่น ไฟไหม้ น้ำร้อนลวกหรือ มีอาการปวดบวม ขับฝีหนอง ใช้โกศสอมาบดเป็นผงผสมกับน้ำส้มสายชู แล้วนำมาทาหรือพอกบริเวณที่มีอาการ เป็นต้น
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
ฤทธิ์ต้านการอักเสบ การศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของโกฐสอ โดยทำการแยกสารสกัดจากรากของโกฐสอด้วยเทคนิค HPLC–MS ได้สารบริสุทธิ์กลุ่ม furanocoumarins รวมเจ็ดชนิด ได้แก่ dahuribiethrins A–G แล้วนำมาทดสอบผลต่อการยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ (NO) (ซึ่งเป็นสารที่เกิดขึ้นในขบวนการอักเสบ)โดยใช้เซลล์ของแมคโครฟาจ RAW264.7 ของหนู ที่ถูกกระตุ้นการอักเสบด้วยไลโปโพลีแซคค์คาไรด์ (LPS) เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน Indomethacin ผลการทดลองพบว่าสารสกัด dahuribiethrins B, C, D และ E แสดงฤทธิ์ในการยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ (NO) ที่แรงกว่า Indomethacin โดยมีค่า IC50เท่ากับ 8.8±0.4, 9.2±0.2, 9.6±0.3 และ 9.8±0.2 μM ตามลำดับ ส่วน Indomethacinมีค่า IC50เท่ากับ 23.6±0.4 μM นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัด dahuribiethrins D และ E ที่มีโครงสร้างแบบแบนราบ (planar structure) เป็นคู่ไอโซเมอร์กัน มีฤทธิ์เด่นในการยั้บยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ จากการศึกษานี้แสดงว่า stereochemical configurations มีผลต่อฤทธิ์ต้านการอักเสบด้วย
ฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ของโกศสอมีการศึกษาฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ (HT-29) ของโกฐสอ (Angelica dahurica) ในหลอดทดลอง (in vitro) ด้วยการเลี้ยงเซลล์ HT-29 บนจานเพาะเลี้ยงที่มีส่วนสกัดเอทนอลเอทธิลอะซีเตต (ethanol-ethyl acetate fraction) จากรากโกฐสอผสมอยู่ในอาหารเลี้ยงเซลล์ จากการศึกษาพบว่า โกฐสอมีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง HT-29 โดยมีค่าความเข้มข้นของส่วนสกัดที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนเซลล์ได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) ในชั่วโมงที่ 24, 48 และ 72 ชั่วโมงเท่ากับ 345, 157 และ 73 มคก./มล. ตามลำดับ และพบว่ามีกลไกการออกฤทธิ์ผ่านทาง p53-dependent pathway โดยผลการตรวจวิเคราะห์การแสดงออกของยีนส์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเพิ่มจำนวนเซลล์พบว่า ส่วนสกัดเอทนอลเอทธิลอะซีเตตจากรากโกฐสอมีผลเพิ่มการแสดงออกของโปรตีนที่กระตุ้นกระบวนการตายของเซลล์แบบอะพอพโตซิส ได้แก่ tumor protein p53 (TP53), BcL-2-associated X protein (BAX) และ cleaved caspase-3 และลดการแสดงออกของโปรตีนที่ต้านกระบวนการตายของเซลล์แบบอะพอพโตซิส ได้แก่ B-Cell CLL/Lymphoma 2 (BcL-2) และยับยั้งวัฏจักรของเซลล์ (cell cycle arrest) นอกจากนี้ผลการวิเคราห์สาระสำคัญในส่วนของสารสกัดดังกล่าวด้วย HPLC-DAD พบสาร กลุ่มคูมาริน คือ imperatorin และ isoimperatorin เป็นองค์ประกอบหลัก ซึ่งน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกฤทธิ์
ฤทธิ์ต่อหัวใจ: สาร oxypeucedanin มีฤทธิ์ต้านการเต้นผิดปกติของหัวใจหนู โดยมีผลต่อ human Kv1.5 (hKv1.5) channel
ฤทธิ์ต่อสมอง: สาร phellopterin มีฤทธิ์คลายความกังวล โดยมีกลไกจับกับ benzodiazepine receptors สาร imperatorin และ falcarindiol มีผลทำให้ระดับ neurotransmitter GABA ในสมองเพิ่มขึ้น โดยยับยั้ง GABA degradative enzyme GABA-T สาร isoimperatorin, imperatorin, และ oxypeucedanin มีฤทธิ์ป้องกันสมองเสื่อม โดยมีผลยับยั้งเอนไซม์ acetylcholinesterase
ฤทธิ์ปกป้องกันตับ: สาร imperatorin, byakangelicin, byakangelicol และ oxypeucedanin มีฤทธิ์ปกป้องตับจากสาร tacrine
ฤทธิ์ต้านการก่อเกิดเนื้องอก: สารสกัดจากรากมีฤทธิ์ต้านการก่อเกิดเนื้องอก และสารที่ออกฤทธิ์คือ สารกลุ่ม furanocoumarins นอกจากนี้สารหอมในราก (สารอนุพันธ์ของ isotretro-nic acid) มีฤทธิ์ทำให้หลับ
ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ : สาร 5,8-di(2,3-dihydroxy-3-methylbutoxy)-psoralen, coumarins และ ferulic acid มีฤทธิ์ต้านจุลชีพสาร falcarindiol มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียชนิด Mycobacterium fortuitum และ Staphylococcus aureus (MRSA) ที่ดื้อต่อยา
ฤทธิ์กระตุ้นฮอร์โมน: สารกลุ่มอนุพันธ์ของ coumarins และ furanocoumarins มีฤทธิ์กระตุ้นฮอร์โมนที่ทำลายไขมัน และมีฤทธิ์ยับยั้งฮอร์โมนต้านการทำลายไขมันฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ cytochrome P450: สารสกัดโกฐสอมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ cytochrome P450 ชนิด CYP2C, CYP3A และ CYP2D1 ซึ่งมีผลต่อการเผาผลาญยาต่างๆ
การศึกษาทางพิษวิทยา
สาร Angelicotoxin ในปริมาณน้อย จะมีฤทธิ์กระตุ้นประสาทกระดูกสันหลังส่วนกลางและประสาทควบคุมการทำงานของเส้นเลือดในกระดูกสันหลัง ทำให้อัตราการหายใจเร็วขึ้น และทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น แต่ชีพจรกลับเต้นช้าลง รวมถึงอาจทำให้อาเจียนได้ แต่ในปริมาณที่มากจะทำให้เกิดการอาการชักหรือกระตุกเป็นพัก ๆ อย่างแรง จนในที่สุดจะเกิดความรู้สึกชาไปทั้งตัวจนถึงขึ้นเกิดอัมพาตได้
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- สตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตรไม่ควรใช้โกฐสอเพราะอาจส่งผลกระทบต่อบุตรได้
- ไม่ควรใช้โกฐสอเกิดขนาดที่กำหนดไว้และไม่ควรใช้ในระยะเวลาติดต่อกันนานเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
- มีรายงานการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาว่าหากใช้โกฐสอในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะ ความดันโลหิตสูง มีอาการอาเจียน และเป็นอัมพาตได้
เอกสารอ้างอิง
- เย็นจิตร เตชะดำรงสิน.2547ก.ข้อมูลสำคัญของพืชสมุนไพรเป้าหมาย(โดยย่อ).เอกสารประกอบการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการพัฒนาวัตถุดิบและการแปรรูปสมุนไพรจีนในท้องถิ่น 31 มกราคม-1กุมภาพันธ์ 2547 ณ. จ.นครราชสีมา(อัดสำเนา)
- อรสาร ดิสภาพร.การพัฒนาพืชสมุนไพรจีนในประเทศไทย.เอกสารวิชาการ สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร.2551.หน้า42-47
- ราชบัณฑิตสถาน.2547.อนุกรมวิธานพืช อักษร ก ฉบับราชบัณฑิตสถาน (แก้ไขเพิ่มเติม)กรุงเทพฯ ห.จ.ก. อรุณการพิมพ์
- ชยันต์ พิเชียรสุนทร แม้นมาส ชวลิตและวิเชียร จิรวงศ์.2542.คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์ ฉบับเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษามหาราชา 9 ธันวาคม พุทธศักราช 2542. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์อมรินทร์.
- อุทัย สินธุสาร.2542.สมุนไพรร้านเจ้ากรมเป๋อ.กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์ธรรมสาร
- วิทยา บุญวรพัฒน์. “โกฐสอ”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 110.
- นพมาศ สุนทราจรัญนนท์.โกฐสอ สมุนไพรในตำรับยาหอม.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
- โกฐสอ,ผักชี.สมุนไพรในรั้ววัด.อโรคยาศาล วัดป่ากุดฉนวนอุดมพร ตำบลบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ.พิมพ์ครั้งที่ 1 มีนาคม 2555.หน้า63-64
- ฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ของโกฐสอ.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
- Zhao A, Yang X, Yang X, Wang W, Tao H. GC-MS analysis of essential oil from root of Angelica dahurica cv. Qibaizhi. Zhongguo Zhong Yao Za Zhi. 2011;36(5):603-7.
- โกฐสอ.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudrug.com/main.php?action=viewpage&pid=32
- Tabanca N, Gao Z, Demirci B, Techen N, Wedge DE, Ali A, Sampson BJ, Werle C, Bernier UR, Khan IA, Baser KH.Molecular and phytochemical investigation of Angelica dahurica and Angelica pubescentis essential oils and their biological activity against Aedes aegypti, Stephanitis pyrioides, and Colletotrichum species. J Agric Food Chem. 2014;62(35):8848-57.