ไมยราบ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ไมยราบ งานวิจัยและสรรพคุณ 29 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร ไมยราบ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น หญ้าจิยอบ, หญ้าปันยอด, หญ้าขี้ยอบ (ภาคเหนือ), กะหงับ, หงับพระพาย (ภาคใต้, ชุมพร), ระงับ (ภาคกลาง), กระทืบยอด, หนามหญ้าราบ (จันทบุรี), ก้านของ (โคราช)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Mimosa pudica Linn. 
ชื่อสามัญ Sensitive plant, Sleeping grass, Action plant, Touch-me-not
วงศ์ FABACEAE - MIMOSOIDEAE

ถิ่นกำเนิดไมยราบ 

ไมยราบมีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ รวมถึงบางส่วนในอเมริกากลาง แล้วมีการกระจายพันธุ์ไปยังดินแดนต่างๆ ทั่วโลก อาทิเช่น แอฟริกา เอเชียตะวันออก เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย รวมถึงในสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ไมยราบ ถูกจัดให้เป็นวัชพืช “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน” ในหลายๆ ประเทศ สำหรับในประเทศไทย สามารถพบไมยราบได้ทั่วทุกภาคของประเทศส่วนใหญ่จะพบบริเวณข้างทาง หรือ ที่รกร้างทั่วไปรวมถึงในป่าตามภูมิภาคต่างๆ

ประโยชน์และสรรพคุณไมยราบ

  • ใช้ขับปัสสาวะ
  • แก้ไตพิการ
  • แก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ
  • ขับระดูขาว
  • แก้ไข้ออกหัด
  • แก้กระเพาะอาหารอักเสบ
  • แก้ลำไส้อักเสบ
  • แก้เด็กเป็นตานขโมย
  • แก้ผื่นคัน
  • แก้ตาบวมเจ็บ
  • ช่วยลดคอเลสตอรอล
  • ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
  • ใช้คลายเครียด
  • แก้เบาหวาน
  • แก้แผลมีหนอง                                                                                                                                                                
  • ใช้แก้เริม
  • แก้งูสวัด
  • โรคพุพอง
  • โรคไฟลามทุ่ง
  • ใช้แก้ไอ
  • ขับเสมหะ
  • แก้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง
  • บำรุงกระเพาะอาหาร
  • ทำให้ตาสว่าง
  • ช่วยระงับประสาท
  • แก้บิด
  • รักษาอาการปวดประจำเดือน
  • แก้นิ่ว
  • แก้ริดสีดวงทวาร

           ความจริงแล้วประโยชน์ของไมยราบ เพียงอย่างเดียว คือ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการปลูกเพื่อใช้คลุมหน้าดินได้

ไมยราบ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ไมยราบ

  • ลดคอเลสตอรอล น้ำตาลในเลือด คลายเครียด ใช้ทุกส่วนมาหั่นแล้วคั่วไฟอ่อนๆ นำไปชงชาดื่ม
  • แก้เบาหวาน นำไมยราบทั้งต้น ผสมกับต้นครอบฟันสี เอาอย่างละเท่าๆ กัน หั่นให้เป็นฝอย ตากแดดให้แห้ง คั่วไฟอ่อนๆ ต้มน้ำดื่มหรือชงชา หรือ ใช้ช่วยรักษาโรคกษัยโดยการนำไมยราบทั้งต้น มาสับเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำมาตากจนแห้งสนิท และนำมาต้มกินต่างน้ำ
  • แก้นิ่ว ขับปัสสาวะ บวม นำไมยราบ ทั้งห้า มาต้มดื่ม
  • แก้งูสวัดและเริม ตำให้ละเอียดผสมเหล้า แล้วคั้นเอาน้ำ ทาวันละ 3-4 ครั้ง
  • แก้อาการลมพิษ ใช้ต้นไมยราบ ตำผสมเหล้าโรง ทาบริเวณที่เป็นลมพิษ
  • แก้แผลมีหนอง นำใบมาตำใส่ข้าวสุก เกลือ 1 เม็ด พิมเสน 2-5 เกล็ด ดำให้ละเอียด พอกแผลที่มีหนอง พอกหัวฝี
  • แก้แมลงสัตว์กัดต่อย นำใบมาขยี้แล้วแปะตรงที่มีอาการ
  • แก้ตกขาว ใช้ไมยราบ กับหญ้าหวาดหลุบ นำทั้งสองอย่างนี้มาต้มดื่ม และต้มอาบ


ลักษณะทั่วไปของไมยราบ

ไมยราบ จัดเป็นไม้ล้มลุกฤดูเดียว หรือ หลายฤดู ลำต้น เล็กเรียวเลื้อยทอดไปบนพื้นดิน ลำต้นสีเขียวแกมม่วง หรือ สีม่วงแดง ผิวลำต้นมีหนาม ปลายหนามโค้งเล็กน้อย หนามยาว 2-3 มิลลิเมตร ลำต้นอ่อนมีขนขึ้นปกคลุม ใบ ใบประกอบเรียงตัวแบบสลับแบบขนนก 2 ชั้น โคนก้านใบมีหูใบ 2 อัน แกนกลางของก้านใบยาว 2.5-5 เซนติเมตร ส่วนก้านใบย่อยเรียงตัวแบบตรงข้ามจำนวน 8-16 คู่ ใบย่อยไวต่อการสัมผัส เมื่อมีวัตถุมากระทบจะหุบใบทันที ผิวท้องใบมีขนปกคลุม ผิวหลังใบเรียบ ใบย่อยขนาด 1-2 × 3-13 มิลลิเมตร 

           ดอกออกเป็นช่อกลมสีชมพู เป็นดอกเดี่ยว หรือ ดอกคู่ ออกที่บริเวณซอกใบ ก้านดอกมีความยาวประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร ดอกมีจำนวนมาก ไร้ก้าน มีกลีบเลี้ยงขนาดเล็กมาก ประมาณ 0.1 มิลลิเมตร กลีบดอกจะคล้ายกับรูประฆังแคบ มีความยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร กลีบดอกจะมนกลม มีความยาวประมาณ 0.5-0.8 มิลลิเมตร มีเกสรตัวผู้อยู่ 4 อัน และมีรังไข่ยาวประมาณ 0.5 มิลลิกรัม

           ผลมีลักษณะเป็นฝักแห้ง แบน ยาวเรียว ฝักมีหลายฝักในแต่ละช่อดอก ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ตรง และยาวประมาณ 1.5-1.8 เซนติเมตร มีขนแข็งปกคลุมตามสันขอบผล ส่วนเมล็ดมีสีน้ำตาลอ่อน เมล็ดแบนเป็นสันนูนตรงกลาง หนึ่งผลมีเมล็ดประมาณ 2-5 เมล็ด

ไมยราบการขยายพันธุ์ไมยราบ

ไมยราบสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด แต่เนื่องจากถูกจัดให้เป็นวัชพืช และตัวของไมยราบ เองก็มีหนามทำให้ยากต่อการกำจัด จึงทำให้ปัจจุบันไม่มีการปลูกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์  แต่อย่างใดส่วนการขยายพันธุ์ที่พบส่วนมากจะเป็นการขยายพันธุ์โดยธรรมชาติเอง ซึ่งไมยราบเป็นพืชที่ขึ้นง่าย ทนแล้ง และสามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว สามารถขึ้นได้ทุกสภาพดิน และสภาพอากาศ


องค์ประกอบทางเคมี

ทั้งต้น พบองค์ประกอบทางเคมีหลายชนิดประกอบด้วยสารกลุ่ม Glycosides, Flavonoids, Tannins, Saponins Phenolic และ Alkaloids เป็นต้น โดยมี Mimosine, Norepinephrineและ glycoside Mimoside เป็นองค์ประกอบหลัก

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของไมยราบ
โครงสร้างไมยราบ

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของไมยราบ

           ฤทธิ์ต้านพิษงูเห่าสารสกัดน้ำจากรากไมยราบ (Mimosa pudica  Linn.) แสดงฤทธิ์ต้านพิษงูเห่า เมื่อทดลองด้วยวิธี การหาขนาดพิษงูเห่าที่ทำให้หนูถีบจักรตายจำนวนครึ่งหนึ่ง (LD50) ศึกษาความเป็นพิษต่อกล้ามเนื้อโดยวัดการทำงานของเอนไซม์ครีอะทีน ฟอสโฟไคเนส (creatine phosphokinase, CPK) และวัดการทำงานของเอนไซม์ต่างๆ ที่ส่งผลต่อความเป็นพิษของพิษงูเห่า เมื่อบ่ม (incubate)สารสกัดไมยราบ กับพิษงูเห่าที่ 37 องศาเซลเซียส นาน 60 นาที แล้วฉีดเข้าเส้นเลือดดำที่หางหนูมีผลเพิ่มขนาดพิษงูเห่าที่ทำให้หนูตายครึ่งหนึ่ง (LD50) ประมาณ 3 เท่า เมื่อบ่มสารสกัดกับพิษงูเห่าที่ 37 องศาเซลเซียส นาน 60 นาที แล้วฉีดเข้ากล้ามเนื้อขาหนูพบว่ามีผลป้องกันพิษงูเห่าที่เพิ่มระดับเอนไซม์ CPK ในพลาสมา เมื่อบ่มสารสกัดกับพิษงูเห่าที่ 37 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที แล้วนำไปวัดค่าการทำงานของเอนไซม์ชนิดต่างๆ ที่ส่งผลต่อความเป็นพิษของพิษงูเห่าพบว่ามีผลยับยั้งฤทธิ์ของเอนไซม์โปรทีเอส (protease), ฟอสโฟไลเปสเอ 2 (phospholpase A2) และอะเซทิลโคลีนเอสเตอเรส (acetylcholin esterase)

            สารสกัดด้วยเอทานอลจากใบ มีฤทธิ์แก้ปวดต้านการอักเสบ และยังมีรายงานการศึกษาวิจัยทางคลินิกเกี่ยวกับฤทธิ์ลดการอักเสบ คือ มีการศึกษาในคนทั้งเพศชาย-หญิง โดยให้รับประทานยาตำรับซึ่งมีสารสกัดใบไมยราบ หรือ สวนทางทวารหนักพบว่าสามารถลดการอักเสบได้ สารสกัดด้วยน้ำจากใบมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ สารสกัดเอทานอลจากทั้งต้นมีฤทธิ์ลดไขมัน สารสกัดจากราก และส่วนเหนือดินด้วยปิโตรเลียมอีเทอร์ คลอโรฟอร์ม และเมธานอล มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

            นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาอื่นๆ อีกเช่น ฤทธิ์ปกป้องตับ สารสกัดเมทานอลจากรากไมยราบ ขนาด 400 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สามารถป้องกันพิษต่อตับได้จากค่าการทำงานของตับ ได้แก่ SGOT, SGPT และบิลิรูบินในซีรั่ม ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.01) เมื่อเทียบกับ Silymarin ส่วนสารสกัดด้วยเมทานอลจากใบมีฤทธิ์ปกป้องกันพิษต่อตับได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ซึ่งเห็นได้จากแนวโน้ม Activity ของเอนไซม์ในซีรั่มเมื่อเทียบกับ Silymarin ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด สารสกัดด้วยน้ำจากใบไมยราบ ขนาด 200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สามารถลดระดับน้ำตาลในหนูปกติได้ดีที่กว่ายา Glibenclamide อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  (p≤0.05 และ p≤0.01) ส่วนในหนูเบาหวานสารสกัดไมยราบ ขนาด 100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ใกล้เคียงกับ lnsulin และสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่ายา Glibenclamide ในชั่วโมงที่ 3 และ 4 ของการทดลองได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p≤0.05 และ p≤0.01) และสารสกัดด้วยเอทานอลจากใบมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดในหนูเบาหวาน โดยการฉีดเข้าทางช่องท้อง ขนาด 600 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) โดยมีค่าใกล้เคียงกับหนูเบาหวานที่ได้รับยา Metformin ส่วนสารสกัดด้วยเอทานอลจากใบขนาด 250 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม มีฤทธิ์ในการเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดของหนูถีบจักรปกติ ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.01) และสารสกัดจากต้นโมยราบยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหาร เช่น  Escherichia coli, Bacillus cereus and Pseudomonas aeruginosa 


การศึกษาทางพิษวิทยาของไมยราบ

สารสกัดทั้งต้นด้วยเอทานอล : น้ำ เมื่อฉีดเข้าทางช่องท้องของหนูถีบจักร พบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายเป็นจำนวนครึ่งหนึ่ง (LD50) มีค่าเท่ากับ 1 ก./กก


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ไม่ควรใช้ในสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร
  2. ไม่ควรใช้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี
  3. ไม่ควรรับประทานต่อเนื่องกันเป็นเวลานานเพราะจะออกฤทธิ์ต่อสมองส่วนกลาง
  4. ในการใช้ไมยราบ เป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคตามตำรายาต่างๆ ควรใช้ในปริมาณที่พอดีตามที่ตำรับตำรายากำหนดไว้ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเกินไปหรือใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือ ผู้ป่วยที่ต้องรับการรับประทานยาต่อเนื่อง หากต้องการใช้ไมยราบในการช่วยรักษาโรคควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง ไมยราบ
  1. ไมยราบ. สมุนไพรที่มีการใช้ในผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วยเอดส์. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  2. อำพา คนชื่อ, ขวัญยืน เลี่ยมสำโรง, สุภาวดี ตรีรัตนถวัลย์, ศรีอรุณ โพธิ์เกตุ. ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดครอบฟันสีและไมยราบ. วารสารวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.ปีที่ 46. เล่มที่ 2. หน้า 228-237
  3. นันทวัน บุณยะประภัศร และอรนุช โชคชัยเจริญพร.(2539). สมุนไพร ไม้พื้นบ้าน (1). กรุงเทพฯ:ประชาชน.
  4. ฤทธิ์ต้านพิษงูเห่าของรากไมยราบ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. Sowmya, A., and Ananthi, T. (2011). Hypolipidemic activity of Mimosa pudica Linn on butter induced hyperlipidemia in rats. Asian Journal of Research in Pharmaceutical Sciences 1(4): 123-126.
  6. Sangma, T. K., Meitei, U. D., Sanjenbam, R. and Khumbongmayum, S. (2010). Diuretic property of aqueous extract of leaves of Mimosa pudica Linn. On experimental albino rats. Journal of Natural Products 3: 172-178.
  7. Agrawal RC, Kapadia LA. Treatment of piles with indigenous drugs-pilex tablets and ointment along with stypoln.  Probe 1982;21(3):201-4.
  8. Chandrashekar, D. K. and Manthale, D.M. (2012). Invention of analgesic and anti-inflammatory activity of ethanolic extract of Mimosa Pudica Linn leaves. Journal of Biomedical and Pharmaceutical Research 1(1): 36-38.
  9. Champanerkar, P.A., Vaidya, V.V., Shailajan, S. and Menon, S.N. (2010). A sensitive, rapid and validated liquid chromatography−tandem mass spectrometry (LC-MSMS) method for determination of Mimosine in Mimosa pudica Linn. Natural Science 2(7): 713-717.
  10. Rajendran, R., Hemalatha, S., Akasakalai, K., MadhuKrishna, C.H., Sohil, B.V. and Sundaram, M.R. (2009). Hepatoprotective activity of Mimosa pudica leaves against carbontetrachloride induced toxicity. Journal of Natural Products 2: 116-122.
  11.   Bhakuni OS, Dhar MI, Dhar MM, Dhawan BN, Mehrotra BN. Screening of Indian plants for biological activity. Part II. Indian J Exp Biol 1969;7:250-62.
  12. Ghani, A. (2003). “Medicinal plants of Bangladesh”. The Asiatic Society of Bangladesh., 2nd Ed, 302-303.
  13. Manosroi, J., Zaruwa, Z., Moses, Manosroi, W. and Manosroi, A. (2011). Hypoglycemic activity of Thai medicinal plants selected from the Thai/Lanna Medicinal Recipe Database MANOSROI II. Journal of Ethnopharmacology 138: 92–98.
  14. Chowdhury, S. A., Islam, J., Rahaman Mahfujur, M.d., Rahman Mostafizur, M.d., Rumzhum, N., Sultana, R. and Parvin, N. M. (2008). Cytotoxicity, antimicrobial and antioxidant studies of the different plant parts of Mimosa Pudica. Stamford Journal of Pharmaceutical Sciences 1(1&2): 80-84.
  15. Lakshmi S. N., Sasikumar N. M., Sunita S., Manisha M. B. and Ramesh T. S. (2007). Reversed-Phase HighPerformance Thin-Layer Chromatographic Quantification of Mimosine from Whole Plant of Mimosa pudica Linn. Journal of Planar Chromatography 20(1): 49–51.
  16. Amalraj, T. and Ignacimuthu, S. (2002). Hyperglycemic effect of leaves of Mimosapudica Linn. Fitoterapia 73: 351-352.
  17. Seetharam, Y.N., Gururaj C., Ramachandra, S.S. and Bheemachar. (2002). Hypoglycemic activity of Abutilon indicum leaf extracts in rats. Fitoterapia 73: 156-159.
  18. Sutar, N.G., Sutar, U.N. and Behera, B.C. (2009). Antidiabetic activity of Mimosa pudica Linn in Albino Rats. Journal of Herbal Medicine and Toxicology 3(1): 123-126.