พญาสัตบรรณ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

พญาสัตบรรณ (ต้นตีนเป็ด) งานวิจัยและสรรพคุณ 36 ข้อ

ชื่อสมุนไพร พญาสัตบรรณ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ตีนเป็ด, ตีนเป็ดไทย, ตีนเป็ดขาว, สัตยบรรณ, หัสบรรณ (ภาคกลาง), จะปัน (ภาคตะวันออก), ปูลา, บะชา (ภาคใต้, มลายู), ยางขาว (ภาคเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Alstonia scholaris (L.)R.Br.
ชื่อสามัญ Shaitan wood, white cheesewood, Devil tree, Dita bark
วงศ์ APOCYNACEAE


ถิ่นกำเนิดพญาสัตบรรณ

พญาสัตบรรณจัดเป็นพืชท้องถิ่นดั้งเดิมในเขตร้อนของทวีปเอเชียบริเวณตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึงจีนตอนใต้ และอินเดีย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบพญาสัตบรรณ มากในป่าดิบชื้นทางภาคใต้ และภาคตะวันออก อีกทั้งยังพบขึ้นอยู่ตามริมทาง ตามลำธารในป่าเบญจพรรณของภาคเหนือ และอีสาน


ประโยชน์และสรรพคุณพญาสัตบรรณ

  • ใช้ช่วยเจริญอาหาร
  • ขับพยาธิไส้เดือน
  • แก้น้ำเหลืองเสีย
  • ช่วยขับระดูในสตรี
  • ช่วยขับน้ำนม
  • แก้ผดผื่นคัน
  • แก้ไข้เพื่อดีพิการ
  • แก้บิด
  • แก้ไข้หวัด
  • แก้หลอดลมอักเสบ
  • ช่วยสมานลำไส้
  • ช่วยขับเลือดให้ตก
  • ช่วยขับผายลม
  • แก้ไข้
  • ช่วยขับลมในลำไส้
  • แก้ไข้ตัวร้อน
  • ใช้พอกดับพิษต่างๆ
  • แก้เลือดออกตามไรฟัน
  • แก้ลักปิดลักเปิด
  • รักษาโรคระบบทางเดินหายใจ
  • แก้เลือดพิการ
  • แก้ไข้เหนือ
  • ช่วยบำรุงร่างกาย
  • ช่วยบำรุงกระเพาะ
  • รักษาแผลเน่าเปื่อย
  • แก้ปวดหู
  • แก้ปวดฟัน
  • ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
  • แก้ไข้ป่า
  • ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
  • แก้ไข้ป่า
  • ท้องร่วง
  • แก้ติดเชื้อในลำไส้
  • โลหิตพิการ
  • รักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน
  • โรคลักปิดลักเปิด

           พญาสัตบรรณถูกนำมาปลูก ประดับตกแต่งตามสถานที่ต่างๆ เพราะเป็นไม้ที่มีรูปทรงสวยงามคล้ายฉัตร มีใบ และดอกสวยงาม แต่ดอกจะมีกลิ่นหอมแรงมาก อีกทั้งไม้ชนิดนี้ปลูกได้ง่าย โตเร็ว และขึ้นได้ในดินทุกชนิด จึงทำให้ต้นพญาสัตบรรณ จึงเป็นไม้ยอดนิยมของคนไทยอีกชนิดหนึ่ง ส่วนเนื้อไม้ มีลักษณะหยาบ อ่อน แต่เหนียว สามารถนำไปทำเครื่องมือ เครื่องใช้ อื่นๆ ได้หลายชนิด เนื้อไม้ เช่นใช้ทำเสารั้วตามไร่นา ทำโต๊ะ เก้าอี้ ของเล่นสำหรับเด็ก หีบใส่ของ หีบศพ หรือ ใช้ทำไม้จิ้มฟันก็ได้ และยังมีการนำน้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้จาก ดอกพญาสัตบรรณสามารถใช้ไล่ยุงอีกด้วย

พญาสัตบรรณ (ต้นตีนเป็ด)

รูปแบบขนาดวิธีใช้ 

  • ใช้เป็นยาขมช่วยให้เจริญอาหาร ลดน้ำตาลในเลือด แก้ไข้ป่า แก้ไข้ แก้ไอ ขับระดู ขับน้ำนม ขับน้ำเหลือง สมานลำไส้ แก้บิด ท้องร่วง ติดเชื้อในลำไส้ โดยนำเปลือกต้นมาตากแห้งต้มกับน้ำดื่ม
  • แก้ไข้เหนือ แก้ไข้ตัวร้อน โลหิตพิการ โดยนำดอกมาชงน้ำร้อนดื่ม
  • รักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน โรคลักปิดลักเปิด โดยนำใบอ่อนมาชงดื่ม
  • ขับผายลม ขับเลือด ให้ตก โดยนำกระพี้มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้รักษาแผลที่เป็นตุ่มหนอง แผลเปื่อย ช่วยทำให้แผลแห้งเร็ว โดยน้ำยางจากต้นมาทาบริเวณที่เป็น
  • ใช้รักษาผดผื่นคัน โดยนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำอาบ


ลักษณะทั่วไปของพญาสัตบรรณ

พญาสัตบรรณ จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 35-40 เมตร ลำต้นเปลาตรง มีร่องตามแนวยาวของความสูง เมื่อต้นยังมีอายุน้อยเรือนยอดจะเป็นรูปเจดีย์ทรงแบน แต่เมื่อต้นใหม่เต็มที่ทรงพุ่มจะกลมเหมือนฉัตร ส่วนโคนจะเป็นพูพอนขยายใหญ่ เปลือกต้นมีสีเทาอมเหลือง หรือ สีน้ำตาล เปลือกชั้นในสีน้ำตาล และจะมีน้ำยางสีขาวจำนวนมาก เนื้อไม้เรียบ แตกเป็นร่อง และเปราะหักง่าย ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเป็นกลุ่มบริเวณปลายกิ่ง โดยจะออกเรียงเป็นวงรอบกิ่ง วงละ 5-8 ใบ ลักษณะแผ่นใบรูปรีแกมรูปขอบขนานถึงรูปหอกแกมรูปขอบขนาน มีขนาดกว้าง 5-7 เซนติเมตร ยาว 10-12 เซนติเมตร โคนใบสอบเข้าหากัน ส่วนปลายใบเป็นติ่งเล็กน้อย ขอบใบเรียบ ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน แต่ด้านบนจะมีสีเขียวเข้ม ด้านล่างมีสีเขียวนวล มีเส้นใบชัดเจน ดอก ออกเป็นช่อ โดยจะออกบริเวณปลายกิ่ง ช่อดอกจะมีก้านดอกหลักยาว 3-9.5 เซนติเมตร และก้านดอกย่อยยาว 1 มิลลิเมตร ส่วนดอกย่อยดอกมีขนาดเล็ก สีขาว หรือ เหลืองอมเขียว กลีบดอกเป็นรูปไข่ มีหยักเว้า ขนาด กว้าง 1-2 มิลลิเมตร ยาว 1.5-3 มิลลิเมตร มีขนนุ่มปกคลุม ปากท่อด้านในดอกมีขนยาวปุกปุย มีเกสรตัวผู้อยู่บริเวณกลางวงท่อกลีบดอก และมีอับเรณูเกสรตัวผู้มีขนนุ่มปกคลุม ยาว 1-1.5 มิลลิเมตร ส่วนเกสรตัวเมียมีขนาด 3-5 มิลลิเมตร และเมื่อดอกเริ่มบานจะส่งกลิ่นหอมแรงมาก บางคนอาจวิงเวียนศีรษะได้ ผลออกเป็นฝัก ลักษณะกลมฝักยาว โดยอาจออกเป็นฝักคู่ หรือ ฝักเดี่ยว ลักษณะกลมเรียว มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-5 เซนติเมตร และยาว 20-30 เซนติเมตร เมื่อแก่แตกเป็น 2 ซีก มีขุยสีขาวปลิวไปตามลม ส่วนในฝักมีเมล็ดจำนวนมาก ลักษณะเมล็ดเล็กๆ รูปขนานแบนๆ ติดอยู่กับขุยที่ปลายทั้งสองด้าน

พญาสัตบรรณ (ต้นตีนเป็ด)

พญาสัตบรรณ (ต้นตีนเป็ด)

การขยายพันธุ์พญาสัตบรรณ

การขยายพันธุ์พญาสัตบรรณ นั้น นิยมใช้วิธีการเพาะด้วยเมล็ด หรือใ ช้กิ่งปักชำ โดยเมล็ดที่นำมาเพาะต้องได้จากต้นที่มีลักษณะสมบูรณ์ ฝักแก่สีน้ำตาลมีลักษณะอวบใหญ่ ไม่มีรอยโรค และต้องเริ่มมีรอยปริแตกของฝัก จากนั้นนำไปตากแดด ประมาณ 2 วัน เพื่อให้ฝักแตก สามารถแยกเอาเมล็ดออกแล้วทำการเพาะใส่ถุงเพาะชำวัสดุที่มีเพาะ คือ ดินร่วนปนทรายผสมกับปุ๋ยคอก หรือ ขี้เถ้า หรือ ขุยมะพร้าว อัตราส่วนดินกับวัสดุที่ 2:1 บรรจุในถุงเพาะชำขนาด 4×6 นิ้ว หลังจากนั้นหยอดเมล็ด 1 เมล็ด/ถุง เมื่อ และดูแลให้น้ำสักระยะก่อนนำปลูกดูแลจนต้นกล้าอายุประมาณ 3 เดือน หรือ สูงประมาณ 20-30 ซม. ก็จะพร้อมนำปลูกลงแปลงต่อไปได้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมี ส่วนต่างๆ ของพญาสัตบรรณระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น

           เปลือกของต้นพญาสัตบรรณ พบสารอินโดลอัลคาลอยด์ 7 ตัว คือส าร akuammiginone, akuammicine, echitaminic acid, echitamidine N-oxide echitamidine-Noxide 19-O-b-D-glucopyranoside, N-demethyl-alstogustine N-oxide และ N-demethylalstogustine ใบของต้นพญาสัตบรรณ สาร picrinine, scholaricine, nareline methyl ether, nareline ethyl ether, 5-epi-nareline ethyl ether และ scholarine-N(4)-oxide, nareline, strictaubomine, strictosamine, tubotaiwine, vallesamine, akuammidine, picralinal, echitamine, vallesiachotamine, leuctonoxine, 12- hydroxy-echitamidine Nb -oxide, 19-epi-scholaricine, 3-epi-dihydrocorymine-17- acetate, 16-formyl-5a-methoxystrictamine, N(4)-demethylechitamine และ picrinine เป็นต้น

           นอกจากนี้ยังพบสารกลุ่มไตรเทอร์พีนอยด์ ในใบของพญาสัตบรรณ เช่น ursolic acid, cycloeucalenol, betulin, betulinic acid และ oleanolic acid และสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ เช่น kaempferol, quercetin และ isorhamnetin ส่วนสารสกัดเอทานอลจากดอกของพญาสัตบรรณพบสาร oleanolic acid, α-amyrin acetate, β-sitosterol, cycloeucalenol, ursolic acid, lupeol, lupeol acetate และ luteolin

โครงสร้างพญาสัตบรรณ (ต้นตีนเป็ด)

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของพญาสัตบรรณ

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดพญาสัตบรรณ ากส่วนต่างๆ ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้

           ฤทธิ์ขยายหลอดเลือด มีรายงานผลการทดสอบฤทธิ์ขยายหลอดเลือดของสารสำคัญที่แยกได้จากจากกิ่งก้านของต้นพญาสัตบรรณ (Alstonia scholaris) ในหลอดทดลอง โดยได้ทำการทดสอบกับหลอดเลือดแดงเยื่อยึดลำไส้เล็กของหนูแรท (rat mesenteric artery) ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการหดตัวด้วยยาหดหลอดเลือด phenylephrine พบว่าประกอบด้วยสารสำคัญ 7 ชนิด ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการหดตัวของหลอดเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่าความเข้มข้มที่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งได้ครึ่งหนึ่ง (EC50) น้อยกว่า 10 ไมโครโมลาร์ ได้แก่ 19, 20-dihydroakuammicine, echitamidine, demethylalstogustine, alstolucine F, 20-epi-antirhine, 3-epi-antirhine โดยมีค่า EC50 เท่ากับ 4.96, 4.17, 2.85, 5.23, 4.48, และ 9.19 ไมโครโมลาร์ ซึ่งจะเห็นว่าสาร demethylalstogustine ออกฤทธิ์ได้ดีที่สุด ในขณะที่ยาขยายหลอดเลือดมาตรฐาน phentolamine mesylate มีค่า EC50 เท่ากับ 0.12 ไมโครโมลาร์

           ฤทธิ์ต้านโรคเก๊าท์ มีรายงานการทดสอบฤทธิ์ต้านโรคเก๊าท์ของสารสำคัญที่แยกได้จากสารสกัดเอทานอล 95% ของดอกพญาสัตบรรณ โดยทำการทดสอบด้วยวิธี antigout assay ในหลอดทดลอง พบว่ามีสารสำคัญที่แยกได้จำนวน 8 ชนิด มีค่าความเข้มข้นที่สามารถยับยั้งเอนไซม์ xanthine oxidase (เอนไซม์ xanthine oxidase มีหน้าที่เปลี่ยนพิวรีนให้เป็นกรดยูริกซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคเก๊าท์) ได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) เท่ากับ 84.4, 98.7, 71.9, 78.9, 67.5, 76.8, 68.8, และ 14.7 ไมโครโมลาร์ ซึ่งจะเห็นว่าสาร luteolin ออกฤทธิ์ได้ดีที่สุด ในขณะที่ยาต้านโรคเก๊าท์มาตรฐาน allopurinol มีค่า IC50 เท่ากับ 6.77 ไมโครโมลาร์ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะนำดอกพญาสัตบรรณมาพัฒนาเป็นยาต้านโรคเก๊าท์

           ฤทธิ์ปกป้องเซลล์สมอง มีรายงานผลการทดสอบฤทธิ์ปกป้องเซลล์สมองของสาร (-)-tetrahydroalstonine [ซึ่งแยกได้จากรากของต้นพญาสัตบรรณ (Alstonia scholaris)] จากการเหนี่ยวนำให้เกิดความเสียหายด้วยภาวะขาดออกซิเจน และกลูโคสชั่วคราว (oxygen-glucose deprivation/re-oxygenation; OGD/R) ด้วยวิธี MTT assay ในเซลล์ประสาท (cortical neurons) ที่แยกได้จากตัวอ่อนของหนูแรท โดยเซลล์จะได้รับสาร (-)-tetrahydroalstonine ขนาด 3 ไมโครโมลาร์ หลังจากนั้น 2 ชม. จึงเหนี่ยวนำด้วย OGD/R ทำการวิเคราะห์ผลต่อ autophagy-lysosomal pathway และ Akt/mTOR pathway ด้วย Western blot analysis ซึ่งพบว่า สาร (-)-tetrahydroalstonine ทำให้เซลล์ประสาทมีอัตราการรอดชีวิตมากขึ้น รวมทั้งช่วยลดการเกิดกระบวนการกินตัวเองของเซลล์ (autophagic activity) และการทำงานที่ผิดปกติของ lysosome (lysosomal dysfunction) ที่เกิดขึ้นในระยะแรกของเหนี่ยวนำด้วย OGD/R โดยผลดังกล่าวสามารถถูกยับยั้งด้วยสาร chloroquine ซึ่งเป็น lysosome inhibitor นอกจากนี้ยังพบว่า สาร (-)-tetrahydroalstonine มีผลกระตุ้น Akt/mTOR pathway ที่ถูกยับยั้งจากการเหนี่ยวนำด้วย OGD/R จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า สาร (-)-tetrahydroalstonine ที่สกัดได้จากรากของต้นพญาสัตบรรณมีฤทธิ์ปกป้องเซลล์สมอง โดยลดการเกิดกระบวนการกินตัวเองของเซลล์ (autophagy) ผ่านการกระตุ้น Akt/mTOR pathway

           ฤทธิ์ต้านภูมิแพ้ มีรายงานผลการทดสอบฤทธิ์ต้านภูมิแพ้บริเวณทางเดินหายใจของสารแอลคาลอยด์รวม (scholaricine, 19-epischolaricine, vallesamine, และ picrinine) ซึ่งแยกได้จากสารสกัด 90% เอทานอลของใบพญาสัตบรรณ (Alstonia scholaris (L.) R. Br.) ในหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดอาการภูมิแพ้ด้วยโอแวลบูมิน (ovalbumin) โดยเปรียบเทียบการให้สารแอลคาลอยด์รวมเข้าทางกระเพาะอาหารของหนูวันละ 3 ครั้ง (ขนาด 8.3 และ 16.7 มก./กก./ครั้ง) และวันละครั้ง (ขนาด 25 และ 50 มก./กก.) และใช้ยา dexamethasone ขนาด 2 มก./กก./วัน เป็น positive control ใช้เวลาในการทดสอบทั้งหมด 22 วัน (ป้อนสารทดสอบในวันที่ 15 - 21) ผลการทดลองพบว่า การให้สารแอลคาลอยด์วันละ 3 ครั้ง ให้ผลดีกว่าการให้วันละครั้งเล็กน้อย (คาดว่าเกิดจากการคงของระดับยาในเลือดมากกว่า จึงทำให้การออกฤทธิ์ดีกว่า) จากการตรวจดูน้ำล้างปอดพบว่าจำนวนของ eosinophils ลดลงอย่างชัดเจน ระดับของ interleukin-4 (IL-4) ลดลง และ ระดับของ interleukin-10 (IL-10) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการตรวจซีรัมพบว่าระดับของ immunoglobulin E (IgE) และ eotaxin ซึ่งเป็น cytokine ที่กระตุ้น และดึงดูดเซลล์อักเสบลดลง นอกจากนี้สารทดสอบทั้งหมดยังทำให้การทำงานของ superoxide dismutase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำลายอนุมูลอิสระ เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และทำให้ระดับของ malondialdehyde ซึ่งเป็นตัวชี้วัดการเกิด lipid peroxidation ลดลง จากผลการทดลองทำให้สรุปได้ว่า สารในกลุ่มแอลคาลอยด์ซึ่งแยกได้จากใบพญาสัตบรรณมีฤทธิ์ต้านภูมิแพ้บริเวณทางเดินหายใจ โดยการแบ่งให้วันละ 3 ครั้ง จะให้ผลดีกว่าการให้วันละครั้ง และคาดว่าสาร scholaricine และ vallesamine เป็นสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ต้านภูมิแพ้

           ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรสและต้านการเกิดอะมีลอยด์ มีรายงานการศึกษาฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรส (Cholinesterase) และต้านการเกิดอะมีลอยด์ (Amyloid) ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) ของส่วนสกัด 8 ชนิด) ที่แยกได้จากสารสกัดเมทานอลจากส่วนใบของพญาสัตบรรณ (Alstonia scholaris (L.) R. Br.) พบว่าส่วนสกัดต่างๆ ที่ความเข้มข้น 1 มก./มล. สามารถยับยั้งเอนไซม์แอซิติลโคลีนเอสเตอเรส (acetylcholinesterase) ได้ 60-80% และยับยั้งเอนไซม์บิวทีรีลโคลีนเอสเตอเรส (butyrylcholinesterase) ได้มากกว่า 90% และที่ความเข้มข้น 2 มก./มล. สามารถยับยั้งการเกิดการเกาะกลุ่มกันของเบต้าอะมีลอยด์ (Beta-amyloid aggregation) ได้มากกว่า 70%

            นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของพญาสัตบรรณระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่น่าสนใจ อีกหลายประการ เช่น ฤทธิ์ลดการปวด ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง เป็นต้น


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของพญาสัตบรรณ

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางด้านพิษวิทยาของสารสักดเมทานอลจากต้นพญาสัตบรรณ ระบุเอาไว้ว่า มีการศึกษาความเป็นพิษของสารสกัดเมทานอลของต้นพญาสัตบรรณในหนูทดลอง ผลการศึกษาพบว่า ในหนู mice ความเข้มข้นของสารสกัดหยาบที่ 2000 มิลลิกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว ไม่แสดงความเป็นพิษต่อสัตว์ทดลอง ในขณะที่ในหนู rat ความเข้มข้นของสารสกัดหยาบในช่วง 120-240 มิลลิกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว แสดงความเป็นพิษต่อสัตว์ทดลอง

           นอกจากนี้ยังมีรายงานระบุว่าพญาสัตบรรณ เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ Apocynaceae ซึ่งพืชวงศ์นี้จะมีสารกลุ่มคาร์ดิแอคกลัยโคไซด์ ซึ่งมีผลกระตุ้นการเต้นของหัวใจ ซึ่งจะมีพิษเมื่อรับประทานเกินขนาด และทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุปาก กระเพาะอาหาร และทำให้เกิดอาการอาเจียน ท้องเดิน ปวดศีรษะ และปวดท้อง และเมื่อหลังจากสารพิษถูกดูดซึมเข้าเส้นเลือด จะไปกระตุ้นหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น และเต้นผิดปกติ นอกจากนี้ความเป็นพิษที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูออกดอก ก็จะเกิดจากการแพ้กลิ่น และเกสรดอกพญาสัตตบรรณได้เช่นกัน


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้พญาสัตบรรณเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคนั้นควรระมัดระวังในการใช้เป็นพิเศษ เนื่องจากพญาสัตบรรณเป็นพืชในวงศ์ APOCYNACEAE ซึ่งมีรายงานว่ามีความเป็นพิษจากสาร Cardiac glycoside ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะความเป็นพิษต่างๆ ได้ นอกจากนี้ดอกของพญาสัตบรรณ ยังมีกลิ่นหอมแรง จนอาจทำให้เกิดอาการวิงเวียงศีรษะได้


เอกสารอ้างอิง พญาสัตบรรณ
  1. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. พจนานุกรมไม้ดอกไม้ประดับ. 2542 หน้า
  2. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์, พืชพิษ (Poisonous Plants) ในรุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล และคณะ (บรรณาธิการ),สมุนไพร : ยาไทยที่ควรรู้, กรุงเทพมหานคร, บริษัทอมรินทร์พริ้นติ๊งแอนท์พับลิชซิ่ง จำกัด (มหาชน) 2542.
  3. เดชา ศิริภัทร. ตีนเป็ด : คุณค่าจากผืนป่าสู่ชีวิตปัจจุบัน. คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 303. กรกฎาคม 2547.
  4. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.25642.-กรุงเทพ : นานมี 1,488 หน้า (469)
  5. ฤทธิ์ขยายหลอดเลือดของสาระสำคัญจากกิ่งก้านของต้นพญาสัตบรรณ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. จักรพงษ์ กาวิวงษ์ และคณะองค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากน้ำยางของพญาสัตบรรณ. การประชุมวิชาการระดับชาติครั้งที่ 12 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม 9-10 กรกฎาคม 2563. หน้า 53-60
  7. ฤทธิ์ต้านภูมิแพ้บริเวณทางเดินหายใจของใบพญาสัตบรรณ, ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  8. ประไพรัตน์ สีพลไกร. สารอินโดอัลคาลอยด์ และฤทธิ์ทางชีวภาพของต้นพญาสัตบรรณ. วารสารวิชาการวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีปีที่ 14. ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2555. หน้า 54-65
  9. ฤทธิ์ต้านโรคเก๊าท์จากสารสกัดดอกของพญาสัตบรรณ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  10. ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์โคลีนเอสเตอรเรส และต้านการเกิดอะมีลอยจากใบพญาสัตบรรณ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  11. ฤทธิ์ปกป้องเซลล์สมองของสารสำคัญจากรากของต้นพญาสัตบรรณ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  12. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้, ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมกรุงเทพมหานคร. บริษัทประชาชน จำกัด 2544.
  13. ตีนเป็ด/พญาสัตบรรณ ประโยชน์และสรรพคุณทางยา, พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  14. Wong, S.K., Lim, Y.Y., Abdullah, N.R., & Nordin, F.J. (2011) Assessment of Antiproliferative and Antiplasmodial Activities of Five Selected Apocynaceae Species. BMC Complementary and Alternative Medicine, 11, 3.
  15. Dey, A. (2011). Alstonia scholaris R.Br. (Apocynaceae) : Phytochemistry and Pharmacology: A Concise Review. Journal of Applied Pharmaceutical Science, 1 (6), 51-57.
  16. Salim, A.A., Garson, M.J. and Craik, D.J. 2004. “New indole alkaloids from the bark of Alstonia scholaris.” Journal of Natural Products 67:1591-1594
  17. Hui, T., Sun, Y., Zhu, L., Guo, W., & Rao, G. (2009). Flavonoids in Leaves of Alstonia scholaris, Zhongguo Zhong Yao Za Zhi, 34 (9), 1111-1113.
  18. Kam, T.S., Nyeoh, K.T., Sim, K.M., and Yoganathan, K. 1997. “Alkaloids from Alstonia scholaris.” Phytochemistry 45:1303-1305
  19. Ganjewala, D., & Gupta, A.K. (2013) Study on Phytochemical Composition, Antibacterial and Antioxidant Properties of Different Parts of Alstonia scholaris Linn. Advanced Pharmaceutical Bulletin, 3 (2), 379-84
  20. Feng, L., Yuan, Y., Liu, X., Gu, J., Zhang, H., & Wang, Y. (2013). A Combination of Alkaloids and Triterpenes of Alstonia scholaris (Linn.) R. Br. Leaves Enhances Immunomodulatory Activity in C57BL/6 Mice and Induces Apoptosis in the A549 Cell Line. Molecules, 18 (11), 13920-39.
  21. Shang, J.H., Cai, X.H., Feng, T., Zhao, Y.L., Wang, J.K., Zhang, L.Y., Yan, M. and Luo, X.D. 2010. “Pharmacological evaluation of Alstonia scholaris: Anti-inflammatory and analgestic effect.” Journal of Ethnopharmacology 129:174-181.