กรุงเขมา ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
กรุงเขมา งานวิจัยและสรรพคุณ 38ข้อ
ชื่อสมุนไพร กรุงเขมา
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เครือหมาน้อย , หมาน้อย (ภาคอีสาน) , ก้นปิด (ภาคใต้) , ขงเขมา , พระพาย วุ้นหมอน้อย (ภาคกลาง) , เปล้าเลือด (แม่ฮ่องสอน) , สีฟัน (เพชรบุรี) , หมอน้อย (อุบลราชธานี) , อะกามินเยาะ (ยะลา,นราธิวาส)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cissampelos L. var. hirsuta (Buch. ex DC.) Forman.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cissampelos poilanei Gagnep.
ชื่อสามัญ Pareira barva , Icevine
วงศ์ MENISPERMACEAE
ถิ่นกำเนิดกรุงเขมา
กรุงเขมาเป็นพรรณพืชที่มี ถิ่นกำเนิดในอเมริกาต่อมาได้มีการกระจายพันธุ์ไปในเขตร้อน หรือร้อนชื้นต่างๆของโลก โดยเป็นพืชที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อนโดยเฉพาะในแถบเขตร้อนของเอเชีย เช่น มาเลเซีย , อินโดนีเซีย , ไทย , อินเดีย , ศรีลังกา เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยพบได้เกือบทั่วทุกภาคของประเทศ แต่จะพบมากในภาคอีสาน เนื่องจากมีสภาพดินที่เหมาะสมกับพืชชนิดนี้ ทั้งนี้กรุงเขมามักจะพบได้ตามป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ ตามริมลำห้วย ลำธาร ที่มีความสูงในระดับน้ำทะเล จนถึง 1,100 เมตร
ประโยชน์และสรรพคุณกรุงเขมา
- แก้ร้อนใน
- แก้โรคตับ
- แก้ไข้
- แก้ดีซ่าน
- ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ
- ช่วยบำรุงอวัยวะเพศให้แข็งแรง(เพศชาย)
- แก้ลม
- แก้กำเดาไหล
- แก้โรคตา
- ช่วยขับปัสสาวะ
- แก้บวมน้ำ
- แก้ปวดท้อง
- แก้โรคบิด
- ช่วยระบายนิ่ว
- แก้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- แก้ไอเจ็บหน้าอก
- ใช้เป็นยาขับเหงื่อ
- ใช้เป็นยาขับระดู
- ใช่เป็นยาบำรุง
- ใช่เป็นยาขับน้ำเหลืองเสีย
- ใช้เป็นยาสมาน
- แก้โรคผิวหนัง
- แก้หิด
- แก้โรคกระเพาะอาหาร
- ช่วยรักษาฝี (ใช้พอกแผล)
- แก้แผลมะเร็ง
- ใช้ดับพิษไข้ทุกชนิด
- ช่วยบำรุงโลหิตสตรี
- แก้ตาอักเสบ
- แก้โรคปอด
- แก้โรคโลหิตจาง
- ใช้ลดน้ำตาลในเลือด
- ช่วยบำรุงหัวใจ
- แก้ท้องร่วง
- แก้บวม
- ใช้เป็นยาระบาย
- แก้ระดูพิการในสตรี
- ช่วยบำรุงโลหิต
มีการใช้ประโยชน์ต่างๆจากกรุงเขมา เช่น มีการนำใบกรุงเขมามาบริโภคเป็นอาหารว่างที่ชื่อว่า วุ้นหมาน้อย โดยการเลือกใบกรุงเขมาที่มีสีเขียวเข้มโตเต็มที่แล้ว ประมาณ 10-20 ใบ นำมาล่างให้สะอาดแล้วขยี้กับน้ำสะอาด ประมาณ 1 ถ้วย เมื่อขยี้ไปจนได้น้ำสีเขียวเข้ม แล้วให้แยกเอากากออกโดยการกรองด้วยผ้าขาวบางเอาแต่น้ำไว้ จากนั้นนำน้ำที่ได้ปรุงรสตามชอบหากต้องการรับประทานเป็นของคาวก็ใส่เครื่องปรุงต่างๆลงไป หรือหากต้องการรับประทานเป็นของหวานก็เติมน้ำตาล ปรุงรสตามใจชอบ จากนั้นตั้งทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาที น้ำคั้นที่ปรุงเสร็จจะจับตัวเป็นก้อน แล้วค่อยนำมารับประทาน สำหรับในค้านความสวยงานก็มีการนำใบกรุงเขมามาล้างน้ำแล้ว ขยี้ใบให้เป็นวุ้นๆ นำมาพอกหน้า เพื่อบำรุงผิว , แก้สิว , ลดผดผื่นคันบนใบหน้า
ลักษณะทั่วไปกรุงเขมา
กรุงเขมา จัดเป็นไม้เถาเลื้อยเป็นไม้เนื้อแข็ง ลักษณะเถาจะเลื้อยไปตามกิ่งไม้ต่างๆ มีขนนุ่มสั้นปกคลุมหนาแน่นตามเถา กิ่ง ช่อดอก และใบ ไม่มีมือเกาะ แต่จะมีรากสะสมอาหารใต้ดิน รากมีลักษณะอวบใหญ่และจะมีขนาดใหญ่กว่าเถารากจะมีหน้าที่เก็บสะสมอาหารใต้ดิน และมีรากฝอยกระจายขึ้นมาอยู่ทั่วทั้งราก ใบออกเป็นใบเดี่ยวออกแบบ สลับ มีหลายรูปทรง ได้แก่ รูปหัวใจ รูปกลม หรือ รูปไต กว้าง 4.5-12 เซนติเมตร ยาว 4.5-11 เซนติเมตร ปลายใบมนหรือเรียวแหลม โคนใบกลมตัด หรือเป็นรูปหัวใจตื้นๆ ขอบใบเรียบ เนื้อใบบาง ใบเมื่อยังอ่อนจะมีขนนุ่มสั้นกระจาย ทั้งหลังใบ และท้องใบ และขอบใบ แต่เมื่อใบแก่ขนจะร่วง เส้นใบออกจากโคนใบรูปฝ่ามือ ก้านใบยาว 2-8เซนติเมตรมีขนนุ่มสั้น ติดที่โคนใบห่างจากขอบใบขึ้นมา 1-18 มิลลิเมตร ปลายใบแหลมหรืออาจเป็นติ่งหนาม ดอก เป็นดอกขนาดเล็กออกเป็นช่อกระจุกสีขาว ดอกแบนแยกเพศ จะอยู่ต่างต้นกัน ขนาดประมาณ 0.2-0.5 มิลลิเมตร เรียงแบบช่อเชิงหลั่น แต่ละช่อกระจุกมีก้านช่อดอกยาว 2-5เซนติเมตร มีขนนุ่มสั้น อาจจะออกกระจุกเดี่ยวๆหรือ 2-3 กระจุกในหนึ่งช่อ ช่อดอกเพศผู้ ออกตามง่ามใบ ก้านช่อกระจุกแตกแขนง ยืดยาว ใบประดับรูปกลม และขยายใหญ่ขึ้น ดอกเพศผู้ สีเขียวหรือสีเหลือง มีก้านดอกย่อยยาว 1-2 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ รูปไข่กลับ ยาว 1-1.5 มิลลิเมตร ด้านนอกมีขนยาว กลีบจะดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย มีความยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้เชื่อมติดกัน อับเรณูยาว 0.75 มิลลิเมตร ส่วนช่อดอกเพศเมีย เป็นช่อกระจุกแยกแขนง ทรงแคบ ยาวได้ถึง 18 เซนติเมตร ประกอบด้วยช่อดอกที่เป็นกระจุกติดแบบคล้ายเป็นช่อกระจะ แต่ละกระจุกอยู่ในง่ามของใบประดับ ใบประดับเป็นรูปกลม เมื่อขยายใหญ่ขึ้นสามารถยาวได้ถึง 1.5 เซนติเมตร และอาจมีขนประปรายหรือขนยาวนุ่ม ดอกเพศเมีย มีก้านดอกย่อยยาว 1.5 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงมี 1 กลีบ เป็นรูปไข่กลับกว้าง ยาว 1.5 มิลลิเมตร กลีบดอกมี 1 กลีบ รูปไข่กลับกว้าง ยาว 0.75 มิลลิเมตร โคนสอบแคบ เกสรเพศเมียมี 1 อัน ขนาดประมาณ 0.5 มิลลิเมตร มีขนยาวห่าง ก้านเกสรเพศเมียเกลี้ยง โดยยอดเกสรเพศเมียจะแยกเป็น 3 พู ผลจะเป็นแบบสด มีก้านอวบใหญ่ ขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร โดยผลจะจะมีเมล็ดหนาทรงกลมรีตรงปลาย เมื่ออ่อนอยู่มีสีส้มและเมื่อสุกสีน้ำตาลแดง ผนังผลชั้นในรูปไข่กลับ ยาว 5 มิลลิเมตร ด้านบนมีสันขวาง 9-11 สัน เรียงเป็น 2 แถว ส่วนเมล็ดมีลักษณะโค้งงอรูปพระจันทร์ครึ่งซีก มีผิวขรุขระ มี
การขยายพันธุ์กรุงเขมา
กรุงเขมา สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวีการใช้เมล็ดและการใช้เหง้า สำหรับวิธีการปลูกนั้นสามารถทำได้ เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ด หรือการแยกเหง้าของพืชชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้สำหรับการปลูกกรุงเขมานั้นจะต้องทำค้างให้เถาได้เลื้อยพันขึ้นด้วย ส่วนสภาพดินที่เหมาะแก่การปลูกกรุงเขมา คือ ดินร่วนปนทรายที่มีความชุ่มชื้นพอสมควรแต่มีข้อควรระวังคือ ต้นกรุงเขมาจะเป็นพืชที่ไม่ชอบปุ๋ยเคมีเพราะในปุ๋ยเคมีมีความเข้มข้นของธาตุอาหารสูง ทำให้ต้นตายได้ รวมถึงจะต้องระวังศัตรูพืชที่สำคัญคือ หนอนกระทู้และหอยทากอีกด้วย
องค์ประกอบทางเคมีกรุงเขมา
จากการศึกษาวิจัยพบว่า รากของกรุงเขมามีสารกลุ่ม แอลคาลอยด์ปริมาณสูง เช่น hyatine, hyatinine, hayatidine , sepurine, beburine, cissamine ,cissampeline, cissampareine , pelosine นอกจากนี้ยังพบ quercitol, sterol และ L-beheerine เป็นต้น
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของกรุงเขมา
ที่มา : Wikipedia
นอกจากนี้จากการวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการของใบกรุงเขมา พบว่าใบกรุงเขมา 100 กรัม จะมีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้
คุณค่าทางโภชนาการของใบกรุงเขมา (100 กรัม)
- พลังงาน 95 กิโลแคลอรี
- โปรตีน 8.5 กรัม
- ไขมัน 0.7 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 13.6 กรัม
- เบต้าแคโรทีน 6.577 ไมโครกรัม
- วิตามินเอ 1.096 RE
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ โดยการใช้รากนำมาตากให้แห้งแล้วบดให้ละเอียดให้เป็นผงละลายกับน้ำผึ้งกิน
ใช้แก้ปวดประจำเดือน แก้ไข้ทับระดู ช่วยปรับสมดุลของประจำเดือนสตรี โดยการใช้รากแห้งนำมาฝนผสมกับน้ำดื่ม
ใช้แก้ไข้ แก้ลม แก้โลหิตกำเดา ใช้ขับปัสสาวะ แก้บวมน้ำ แก้ปวดท้อง ขับเหงื่อ ขับระดู ถ่ายน้ำเหลือง แก้บิด แก้นิ่ว แก้โรคตา โดยใช้รากแห้ง 10-15 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม เช้า-เย็น
ใช้รักษาโรคผิวหนังต่างๆ เช่น หิด แผล ฝีหนอง แผลมะเร็ง โดยใช้ใบสดมาขยำหรือตำให้ละเอียดใช้พอกบริเวณที่เป็น โดยเปลี่ยนยาทุกวันจนแผลหายดี
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
ฤทธิ์คุมกำเนิดของใบกรุงเขมา เมื่อป้อนสารสกัดเมทานอลจากใบกรุงเขมาใน ขนาด 250 และ 450 มก./วัน/กิโลกรัม(น้ำหนักตัว) ให้แก่หนูถีบจักรเพศเมีย เป็นเวลา 21 วัน พบว่ามีฤทธิ์คุมกำเนิด โดยจะยืดระยะเวลาของวัฏจักรเป็นสัด (estrous cycle) ในขั้น diestrus ออกไป และทำให้จำนวนลูกหนูที่เกิดในครอกลดลง เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม แต่ลูกหนูก็ยังจะมีการเจริญเติบโตเป็นปกติ แสดงว่าสารสกัดไม่มีผลทำให้แท้ง และเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของตัวอ่อน นอกจากนี้สารสกัดยังมีผลต่อระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับวัฏจักรเป็นสัด โดยจะลดระดับของ luteinizing hormone (LH), follicle-stimulating hormone (FSH) และ estradiol โดยจะเพิ่มระดับของ prolactin แต่จะไม่มีผลต่อ progesterone และยังมีการศึกษาทดลองในอินเดีย ในปี ค.ศ.1979 โดยใช้สารสกัดจากส่วนเหนือดิน (ไม่ระบุส่วนที่ใช้) ของกรุงเขมาที่สกัดด้วยน้ำ และ แอลกอฮอล์ (1:1) ในสัตว์ทดลอง ผลการทดลองพบว่า สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลองได้
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของกรุงเขมาอีกมากในต่างประเทศ ซึ่งมีผลการศึกษาออกมาว่ากรุงเขมามีฤทธิ์ต้านฮีตามีนทำให้หัวใจเต้นช้าลง ต้านการชักมีฤทธิ์เพิ่มน้ำลาย กดระบบประสาทส่วนกลาง กดระบบทางเดินหายใจ ลดความดันโลหิต ขับปัสสาวะ ต้านเชื้อราและแบคทีเรีย คลายกล้ามเนื้อเรียบ ยับยั้งการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ เป็นต้น
การศึกษาทางพิษวิทยา
มีการศึกษาความเป็นพิษของกรุงเขมาพบว่าเมื่อทำการฉีดสารสกัดใบและกิ่งด้วยน้ำ หรือแอลกอฮอล์เข้าช่องท้องหนูถีบจักร จะมีขนาดต่ำที่สุดที่เป็นพิษคือ 1 มล.ต่อตัว แต่เมื่อฉีดสารสกัดอัลคาลอยด์เข้าหลอดเลือดหนูถีบจักร ปรากฏว่าขนาดที่สัตว์ทดลองทนได้คือ 50 มิลลิกรัมต่อกรัม สำหรับในกระต่ายเมื่อทดลองฉีดสารสกัดรากด้วยอัลกอฮอล์-น้ำ (1:1) เข้าช่องท้องหรือใต้ผิวหนัง พบว่า ขนาด 10 กรัมต่อกิโลกรัม ไม่พบพิษแต่อย่างใด ส่วนอีกการทดลองหนึ่งระบุว่ามีการทดสอบความเป็นพิษของกรุงเขมา(ไม่ระบุส่วนที่ใช้) พบว่า สารสกัดที่นำไปทดลอง มีค่า LD50=7.3 กรัม/กิโลกรัม
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้สมุนไพรกรุงเขมา เพราะมีฤทธิ์ขับระดู
- ในการใช้กรุงเขมาเพื่อเป็นยาสมุนไพรควรระมัดระวังในการใช้โดยควรใช้ในขนาดที่เหมาะสมตามที่ระบุไว้ในตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็ก ผู้ป่วยเรื้อรัง และผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องก่อนใช้สมุนไพรกรุงเขมาควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
เอกสารอ้างอิง
- ก่องกานดา ชยามฤต และลีนา ผู้พัฒนพงศ์,2545.สมุนไพรไทย ตอนที่7.โรงพิมพ์ประชาชน จำกัด.กรุงเทพฯ.258 น.
- ร.ร.แพทย์แผนโบราณ วัดพระเชตุพนฯ วัดโพธิ์ ท่าเตียน กรุงเทพฯ.2537.ประมวลสรรพคุณยาไทย(ภาคที่1)ว่าด้วย พฤกษชาติ วัตถุธาตุ และสัตว์วัตถุนานาชนิด บริษัท บพิธการพิมพ์.จำกัด.กรุงเทพฯ222น.
- วิทยา บุญวรพัฒน์. “กรุงเขมา”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 46.
- กองโภชนาการ กรมอนามัย 2544.ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการในอาหารไทย.โรงพิมพ์องค์การทหารผ่านศึก.กรุงเทพฯ.
- กัญจนา ดิวิเศษและอร่าม คุ้มกลาง 2542 ผักพื้นบ้านภาคอีสาน โรงพิมพ์องคืการสงเคราะห์ทหารผ่านศึก กรุงเทพฯ302 น.
- ฤทธิ์คุมกำเนิดของใบกรุงเขมา,ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ชยันต์ พิเชียรสุนทร แม้นมาส ขวลิต และวิเชียร จีรวงศ์.2548.คำอธิบายตำราพระโยสถนารายณ์.สำนักพิมพ์อมรินทร์.กรุงเทพฯ.777 น.
- ญาธิปวีร์ ปักแก้ว.หมาน้อยเพคตินจากธรรมชาติ ประโยชน์เลอค่า....พืชป่าสมุนไพรพื้นบ้าน.คอลัมน์อาหารและสุขภาพวารสารอาหาร สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.ปีที่46ฉบับที่1.มกราคม-มีนาคม2559.หน้า15-20
- ตรีชฏา อุทัยดา.2552.การพัฒนาวุ้นผงเครือหมาน้อยเพื่อสุขภาพ.รายงานการวิจัย.มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบูรณ์.มหาสารคาม.
- เครื่องหมาน้อย,ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=146
- ต้นหมาน้อย.กระดาน ถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.modplant.mahidol.ac.th/user/replt.asp?id=6481