น้ำเต้าต้น ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
น้ำเต้าต้น งานวิจัยและสรรพคุณ 11 ข้อ
ชื่อสมุนไพร น้ำเต้าต้น
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น น้ำเต้าญี่ปุ่น (ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Crescentia cujete Linn.
ชื่อสามัญ Calabash, Calabash tree
วงศ์ BIGNONIACEAE
ถิ่นกำเนิดน้ำเต้าต้น
น้ำเต้าต้น จัดเป็นพืชในวงศ์ แคหางด่าง (BIGNONIACEAE) จัดเป็นไม้พุ่ม หรือ ไม้ยืนต้นต่างถิ่น โดยที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในทวีปอเมริกากลาง เช่นในกัวเตมาลา คอสตาร์กา ฮอนดูรัส ปานามา และเอลซัลวาดอร์ เป็นต้น จากนั้นจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยปัจจุบันสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยส่วนมากมักพบ และนำมาปลูกเป็นไม้ประดับตามสวนสาธารณะ หรือ ตามสถานที่ต่างๆ
ประโยชน์และสรรพคุณน้ำเต้าต้น
- แก้ท้องเดิน
- ใช้ล้างบาดแผล
- ช่วยระบายท้อง
- แก้อาการท้องเสีย
- แก้ไข้
- แก้บิด
- ช่วยขับเสมหะ
- ขับปัสสาวะ
- แก้ปวดศีรษะ
- แก้ฟกช้ำบวม
- แก้อ่อนเพลียสำหรับผู้หญิงหลังคลอด
ส่วนของเปลือกผลสามารถนำมาใช้ทำเป็นภาชนะเพื่อใช้ประโยชน์ต่างๆ โดยการนำผลแก่มาคว้านเอาเนื้อออกให้หมดแล้วนำไปตากแดดให้แห้ง ส่วนลำต้นสามารถนำเนื้อไม้มาใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ หรือ ใช้สำหรับตกแต่งบ้านเรือน และในปัจจุบันยังมีการนิยมนำน้ำเต้าต้น มาปลูกเป็นไม้ประดับสวน และสนาม เนื่องจากลักษณะทรงพุ่ม และยอดของกิ่งจะยาวแหลมเรียวทอดโค้งประสานกันไปมาดูสวยงามแปลกตาส่วนผลมีสีเขียวสดสวยงาม ห้อยกระจายทั่วไปภายในทรงพุ่มยิ่งทำให้ดูสวยงามยิ่งขึ้น
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้แก้อาการท้องเสีย โดยการนำเปลือกต้นน้ำเต้าต้น มาต้มกับน้ำดื่ม
- แก้อาการปวดศีรษะ ฟกช้ำ บวมโดยใช้ ใบสดนำมาตำ หรือ บดแล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็น
- ใช้แก้โรคหิด แก้ไข้ ขับเสมหะ แก้บิด ระบายท้อง ขับปัสสาวะ โดยนำเนื้อในผลมาตากแห้งแล้ว ต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้แก้อาการอ่อนเพลียของสตรีหลังคลอดบุตร โดยการนำแก่นมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้ชะล้างบาดแผลโดยการนำเปลือกต้นมาต้มใช้น้ำมาล้างบาดแผล ใช้แก้อาการฟกช้ำบวม โดยใช้ใบสดนำมาตำแล้วพอกบริเวณที่เป็น
ลักษณะทั่วไปของน้ำเต้าต้น
น้ำเต้าต้น จัดเป็นไม้พุ่ม หรือ ยืนต้นขนาดกลางไม่ผลัดใบต้นสูงประมาณ 2-10 เมตร แตกกิ่งก้านแผ่ตามแนวราบ รูปทรงพุ่มไม่ค่อยแน่นอน แต่ส่วนมากจะมีขนาดทรงพุ่ม 6-10 เมตร ส่วนเรือนยอดโปร่งทรงกลม ใบเป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับ ใบมีลักษณะรูปช้อนโคนใบสอบแหลมปลายใบมน หรือ อาจมีติ่งแหลมเล็กน้อย สีเขียวสด ใบมีขนาดกว้าง 3.5 เซนติเมตร ยาว 10 เซนติเมตร ไม่มีก้านใบแต่มีใบประดับขนาดเล็กรูปร่างคล้ายใบออกที่โคนใบจำนวน 2 ใบ อยู่ตามข้อของกิ่ง ดอกเป็นดอกเดี่ยวออกบริเวณลำต้นและกิ่ง ลักษณะของดอกจะห้อยหัวลงดอกเป็นรูปปากแตรมีกลิ่นเหม็นหืนเป็นสีเขียวอมเหลืองและมีลายริ้วสีม่วง โคนดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว 5-7 เซนติเมตร ปลายดอกแยกออกเป็นกลีบ 5 กลีบ ดอกมีขนาดยาว 2-3 นิ้ว มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางดอก 3-5 เซนติเมตร และมีเกสรตัวผู้อยู่ 4 ก้าน ผล เป็นผลสดทรงกลมขนาดใหญ่โดยมี ขนาด 15-50 เซนติเมตร ผิวผลแข็งเรียบ เกลี้ยง ผลมีสีเขียวสด เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมเขียว ภายในผลมีเนื้อและเมล็ดแบนๆ สีน้ำตาลเข้าจำนวนมาก
การขยายพันธุ์น้ำเต้าต้น
น้ำเต้าต้นสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง แต่วิธีที่เป็นนิยมในปัจจุบันคือการเพาะเมล็ด เนื่องจากมีเปอร์เซ็นการรอดสูงกว่าการตอนกิ่ง และสามารถทำได้ง่าย สำหรับวิธีการเพาะเมล็ด และการปลูกต้นกล้าของน้ำเต้าต้น นั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและการปลูกไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้าที่ ทั้งนี้ น้ำเต้าต้นเป็นพันธุ์ไม้ที่เจริญเติบโตเร็ว ทนแล้งได้ดี ไม่ต้องการการดูแลรักษามาก รวมถึงยังไม่ค่อยมีโรคและแมลงรบกวนอีกด้วย
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของน้ำเต้าต้น ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น
- สารสกัดจากใบพบสาร gentisnc acid, Palmitic acid, β-sitosteroi, Stearia acid, α-Amytin, β-Amyrin, stigmasterol, plumieride, triacontane-l-ol, asperuloside
- สารสกัดจากผลพบสาร aucubin, crescentin, crescentoside A,B,C
- สารสกัดจากเนื้อไม้ (wood) พบสาร 3-hydroxymethylfuro [3-2b] naphtho [2-3d] furan-5,10-diene, (2R)-5,6-dimethoxydehydehydroiso-α -lapachone, 9-hydroxy-3-hydroxymethylfuro[2-3d]furan-5,10-diene,(2R)- 5-methoxydehydroiso-α-lapachome, α-trifloromethylphenyl acetate ester
นอกจากนี้อีกการศึกษาหนึ่งระบุว่า สารสกัดจากส่วนเหนือดิน (ใบ ดอก ผล เปลือก ต้น ราก) พบสารหลายชนิดเช่น Aucubin, Agnuside, Ningpogenin, Ajugol, 6-O-p-hydroxybenzoylajugol,5,7-Bisdeoxycynanchoside, trans-Cinnamic acid, Benzoic acid, Hexadecanoic acid,6-Epi-aucubin, Aucubin, Epi-eranthemoside, Crescentiol A,B และ sibirioside A เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาน้ำเต้าต้น
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดน้ำเต้าต้น จากส่วนต่างๆ ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการ อาทิเช่น สารสกัดเอทานิลจากส่วนใบของน้ำเต้าต้น ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียสารพันธุ์ S. dysenteriae, B. cereus, B. subtilis, B. megaterium และ S. Aureus มีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านเบาหวาน ของสารสกัดจากผลของน้ำเต้าต้นในหนูที่เป็นเบาหวานที่ถูกเหนี่ยวนำด้วย alloxan โดยให้สารสกัดที่ความเข้มข้น 150 มก./กก. น้ำหนักตัว การทดลองเป็นเวลา 8 วัน และเทียบกับยาเมตฟอร์มิน (10,000 ppm) ซึ่งเป็นตัวควบคุม พบว่าสารสกัดดังกล่าวสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้เทียบเท่ากับยาแมตฟอมิน นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าสารสกัดจากใบ และเปลือกต้นของน้ำเต้าต้น มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และมีฤทธิ์ยับยั้งการสลายเม็ดเลือดแดงของเม็ดเลือดแดงได้ ส่วนสารสกัดเมทานอลจากส่วนใบของน้ำเต้าต้น มีฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระที่มีค่า IC50 ที่ 34.01 µg/mLและยังมีฤทธิ์ในการป้องกันระบบประสาทโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับโรคพาร์กินสันโดยมีการยับยั้งผลกระทบของ MPP และความเป็นพิษต่อเซลล์ ซึ่งแสดงค่า IC 50ที่ 159.29 µg/mL และ 162.50 µg/mL
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของน้ำเต้าต้น
มีรายงานผลการศึกษาการวิจัยทางพิษวิทยาของสารสกัดจากส่วนผลและใบของน้ำเต้าต้น ระบุว่า ค่าความเป็นพิษเฉียบพลันของสารสกัดทั้ง 2 ชนิด มีค่า LD 50 มากกว่า 2,000 และ 5,000 มก./กก. น้ำหนักตัวตามลำดับ ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สำหรับการใช้น้ำเต้าต้นเป็นสมุนไพร โดยเฉพาะในรูปแบบการรับประทานถึงแม้ว่าจะมีการศึกษาทางพิษวิทยา ระบุว่ามีความปลอดภัย แต่อย่างไรก็ตามก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง น้ำเต้าต้น
- ยุคคล จิตสำรวย. 99 สมุนไพรไทย. นานาสำนักพิมพ์. กรุงเทพฯ. 2555. หน้า 75
- น้ำเต้าต้น. ไม้ยืนต้นหนังสือชุดธรรมชาติ สรรพสิ่งศาลายา.มหาวิทยาลัยมหิดล. 2553. หน้า 46
- น้ำเต้าต้น. ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.Phargaeden.com/main.php?action=viewpage&pid=60
- Pereira S. G., de Araújo S. A., Guilhon G. M. S. P., Santos L. S., Junior L. M. C. In vitro acaricidal activity of Crescentia cujete L. fruit pulp against Rhipicephalus microplus. Parasitology Research. 2017;116(5):1487–1493.
- Smitinand,T. and Larsen,K 1987. Flora of Thaliand vol.5 part l. The Forest Herbarium, Royal Forest Department, Bangkok p.62
- Anwuchaepe A. U., Ahamefule F., Onyegbule F. A., Ajaghaku D. L., Nwafor F. I., Okoye F. B. C. Evaluation of the in vivo antioxidant, toxicological and chromatographical profiling of leaf extract and fractions of Crescentia cujete Linn. (Bignoniaceae) Asian Pacific Journal of Health Sciences. 2017;4(3):43–54.
- Heilzel ,C.E., Gunatilaka, A.A.L. , Glass, T.E. and Kingston. D.G.l.1993. “Bioactive Furanonaphthoquinones from Crescentia cujete.” J. Nat Prod. 56, 1500-1505.
- Rivera-Mondragón A., Tuenter E., Ortiz O., et al. UPLC-MS/MS-based molecular networking and NMR structural determination for the untargeted phytochemical characterization of the fruit of Crescentia cujete (Bignoniaceae) Phytochemistry. 2020;177
- Tem Samitinand. Thai Plant Names. Revised Edition 2001. 810 p. (96)
- Anitha P., Nazeema T. H. In vitro neuroprotective potential of Crescentia cujete leaves against mptp-induced toxicity in SHSY5Y neuroblastoma cells. World Journal of Pharmaceutical Research. 2020;9(13):898–909.
- Agarwal K. and Popil, Sp., 1992. “The Constituerts of Crescentia cujete Leaves”. Fitoterapia 63 . 476.
- Billacura M. P., Laciapag G. C. R. Phytochemical screening, cytotoxicity, antioxidant, and anthelmintic property of the various extracts from Crescentia cujete (Linn.) fruit. Science International. 2017;29(2):31–35.
- Heilzel ,C.E., Gunatilaka, A.A.L. , Glass, T.E. and Kingston. D.G.l.1993. “Furofuranonaphthoquinones.Bioactive Compounds with a Novel Fused Ring System from Crescentia cujete” Tetrahedron 49. 6757-6762.
- Kaneko T., Ohtani K., Kasai R., Yamasaki K., Nguyen Minh Duc N. M. Iridoids and iridoid glucosides from fruits of Crescentia cujete. Phytochemistry. 1997;46(5):907–910.
- Kaneko,T. Ohtani,K., Kasai,R., Yamasaki,K., Duc, N.M. 1998. “N-Alkyl Glycosides and p-Hydroxybenzoyloxy Glucose from Fruits of Crescentia cujete” Phytochemistry.47.259-263.