สวาด ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

สวาด งานวิจัยและสรรพคุณ 14 ข้อ

ชื่อสมุนไพร สวาด
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น บ่าขี้แฮด (ภาคเหนือ), หวาด, มะกาเลิง, ตามัด, ตามัด (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Caesalpinia bonduc (L.) Roxb.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Caesalpinia bonducella (L.) Fleming, Caesalpinia crista Thunb., Caesalpinia grisebachiana Kuntze., Caesalpinia cristata Prowazek, Caesalpinia sogerensis Baker f., Guilandina bonduc Griseb., Guilandina gemina., Guilandina bonducella L
ชื่อสามัญ Bonduc nut, Nicker nut, Fever nut, Greyknicker, Nicker bean, Yellow nicker
วงศ์ LEGUMINOSAE-CAESALPINIOIDEAE


ถิ่นกำเนิดสวาด

สวาด เป็นพันธุ์ไม้ในเขตร้อนที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียบริเวณภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดีย ศรีลังกา เนปาล พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยพบในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคกลาง และภาคใต้ บริเวณป่าเปิดทั่วไป ป่าเบญจพรรณ และบริเวณชายหาดริมทะเล ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 200 ม. ทั้งนี้สวาด ที่พบในประเทศไทยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ สวาด Caesalpinia bonduc (L.) Roxb. (ที่กล่าวในบทความนี้) พบได้ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคกลาง และภาคใต้ ส่วนอีกชนิดหนึ่งคือ Caesalpinia andamanica (Prain) Hattink (มีชื่อท้องถิ่นว่า ง้ายแดง หรือ ง้ายใหญ่) จะพบเฉพาะในภาคใต้เท่านั้น


ประโยชน์และสรรพคุณสวาด

  • ช่วยขับลม
  • แก้จุกเสียด
  • แก้แน่น
  • แก้ไอ
  • ช่วยขับเสมหะ
  • แก้กษัย
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้ปัสสาวะพิการ
  • รักษาแผลในลำคอ
  • แก้ไข้
  • ใช้ถ่ายพยาธิ
  • แก้ปวดท้อง
  • แก้ท้องเสีย
  • ทำให้ชุ่มคอ

           สวาด มีการนำมาใช้ประโยชน์ในด้านความเชื่อโบราณโดยตามธรรมเนียมไทยโบราณ ในการจัดขันหมากงานแต่งงานบางพื้นที่ จะใช้ใบรัก และใบสวาดรองก้นขันหมากโทร่วมกับใส่หมากพลู ส่วนขันหมากเงินทุน และสินสอด จะใส่ใบรักและใบสวาด ลม ไปรวมกับดอกไม้และสิ่งมงคลอื่นๆ

สวาด

สวาด

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้ขับลม แก้จุกเสียด แน่นเฟ้อ แก้ไอ ขับเสมหะ แก้ปัสสาวะพิการ ขับปัสสาวะ แก้กษัย โดยนำใบสวาดมาต้มกับน้ำดื่ม
  • รักษาแผลในลำคอ โดยใช้ใบมาต้มกับน้ำอมกลั้วคอ
  • ใช้แก้ไข้ โดยนำยอดมาบดกรองเอาแต่น้ำกิน
  • ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ โดยนำรากมาดองกับเหล้าขาว ดื่ม หรือ นำเมล็ดมาทุบพอแตกต้มกับน้ำดื่ม (ใช้แก้ปวดท้อง ท้องเสียได้ด้วย)

           ในยาสามัญประจำบ้าน ยังปรากฏการใช้ใบสวาด ร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ เข้ายาแก้ไอชื่อ ยาประสะมะแว้ง โดยมีสรรพคุณ ใช้บรรเทาอาการ ไอ มีเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ ขับเสมหะ โดยมีวัตถุส่วนประกอบ คือ ขมิ้นอ้อย หนัก 3 ส่วน สารส้ม หนัก 1 ส่วน ใบสวาด ใบกะเพรา ใบตานหม่อน หนักสิ่งละ 4 ส่วน ลูกมะแว้งต้น ลูกมะแว้งเครือ หนักสิ่งละ 8 ส่วน นำมาบดเป็นผง ผสมน้ำสุกแทรกดีงูเหลือม และพิมเสน พอควรทำเป็นเม็ด หนักเม็ดละ 0.2 ก. นำมาละลายน้ำมะนาว แทรกเกลือรับประทาน โดยมีขนาดรับประทานในเด็ก ครั้งละ 1-2 เม็ด ผู้ใหญ่ ครั้งละ 5-7 เม็ด 


ลักษณะทั่วไปของสวาด

สวาด จัดเป็นไม้เถาเลื้อยมักจะเลื้อยพันกับไม้อื่น ลำต้น กิ่งก้าน และเส้นใบมีนามโค้งแหลมเพื่อใช้พยุงเถา ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกแบบเรียงสลับ มีเส้นแกนกลางยาว 30-50 เซนติเมตร มีใบย่อย 8-12 ใบ ออกเป็นคู่เรียงตรงข้ามใบย่อยมีลักษณะเป็นรูปไข่แกมรูปใบหอก กว้าง 1-2 เซนติเมตร ยาว 2-4 เซนติเมตร โคนใบเบี้ยว ปลายใบแหลม หรือ กลม และเป็นติ่งหนามสั้นใบมีสีเขียวแผ่นใบบาง และมีก้านใบย่อยยาว 0.8 มม. ดอกออกเป็นช่อแบบกระจะบริเวณกิ่งเหนือซอกใบเล็กน้อย โดยจะออกเป็นช่อยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร ช่อดอกอาจเป็นช่อเดี่ยว หรือ บางครั้งอาจจะแตกแขนง บริเวณก้านช่อยาวและมีหนาม ดอกย่อยมีขนาดเล็ก คล้ายดอกกล้วยไม้ กลีบดอกเป็นสีเหลือง มีขนด้านในกลีบและมีใบประดับรูปแถบเป็นเส้นงอ ยาวประมาณ 5-12 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้แบบมีขน และมีรังไข่ขนาด 1 มิลลิเมตร มีออวุล 2 อัน ผลออกเป็นฝัก รูปรี หรือ รูปขอบขนานแกมรูปรีโป่งพองมีหนาม หรือ ขนแข็งคล้ายหนามยาวตามเปลือกฝักภายในฝักมีเมล็ด รูปกลมรีเท่าปลายนิ้วชี้ 2 เมล็ด เมล็ดเป็นสีม่วงเทา หรือ สีสวาด เมล็ดมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5-2 เซนติเมตร เปลือกเมล็ดแข็ง

สวาด

สวาด 

สวาด

การขยายพันธุ์สวาด

สวาดสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด แต่ไม่นิยมนำมาปลูกภายในบ้าน หรือ ตามเรือกสวนไร่นา เนื่องจากมีหนามตามลำต้นกิ่ง และฝักซึ่งคนในสมัยโบราณอาจมีความเชื่อวาจะทำให้มีอุปสรรคขวากหนามในการใช้ชีวิต ดังนั้นการขยายพันธุ์ของสวาด จึงเป็นการขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ดในธรรมชาติเท่านั้น ซึ่งในปัจจุบันมีรายงานว่าพบเห็นสวาดในธรรมชาติน้อยมากจนอาจเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดเอทานอลจากเปลือกลำต้น และเมล็ดของสวาด ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น สารสกัดเอทานอลจากเปลือกต้นพบสาร neocaesalpin P, neocaesalpin H, cordylane A, caesalpinin B, bonducellpin E, peltogynoid, pulcherrimin, 8-methoxybon ducellin, caesalpinolide A และ 17-methylvouacapane8(14), -9(11)-diene ส่วนสารสกัดเอทานอลจากเมล็ดพบสาร α-caesalpin, β-caesalpin, γ-caesalpin, ε-caesalpin, caesalpinia-F, Bonducellin, Caesalpinin, eocaesalpin P, neocaesalpin H, cordylane A, caesalpinin B และ bonducellpin E เป็นต้น

โครงสร้างสวาด

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสวาด

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดน้ำมันจากเมล็ด สารสกัดเอทานอลจากเปลือกลำต้น และราก และสารสกัดเอทานอลจากดอกของสวาดระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการ ดังนี้

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ลดไข้ และแก้ปวด มีรายงานผลการศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบ ลดไข้ และแก้ปวดของน้ำมันเมล็ดสวาดในหนูแรท ด้วยการเหนี่ยว นำให้เกิดการอักเสบด้วยสารคาราจีแนน เหนี่ยวนำให้เกิดไข้ด้วยเชื้อยีสต์ และเหนี่ยวนำให้เกิดอาการปวดด้วยกรดอะซิติก และแผ่นความร้อน พบว่าน้ำมันเมล็ดสวาด ขนาด 100, 200 และ 400 มก./กก. เมื่อป้อนให้หนูแรทก่อนที่จะเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบที่อุ้งเท้าหนูด้วยสารคาราจีแนน สามารถลดการอักเสบที่อุ้งเท้าหนูได้ในชั่วโมงที่ 2-4 หลังได้รับน้ำมันเมล็ดสวาด เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ได้รับสารคาราจีแนนอย่างเดียว ซึ่งฤทธิ์ลดการอักเสบของน้ำมันเมล็ดสวาดมีฤทธิ์ใกล้เคียงกับยาแผนปัจจุบัน phenylbutazone ขนาด 100 มก./กก. ในส่วนของฤทธิ์ลดไข้ของน้ำมันเมล็ดสวาด โดยการเหนี่ยวนำให้เกิดไข้ด้วยเชื้อยีสต์ใน 18 ชม. หลังจากนั้นป้อนน้ำมันเมล็ดสวาดขนาด 100, 200 และ 400 มก./กก. พบว่าน้ำมันเมล็ดสวาดทั้ง 3 ขนาด มีฤทธิ์ลดไข้ตั้งแต่ชั่วโมงแรกหลังได้รับน้ำมันเมล็ดสวาด และคงอยู่ภายใน 4 ชม. เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ให้แต่น้ำเกลือ และฤทธิ์ลดไข้ของน้ำมันเมล็ดสวาดมีฤทธิ์ใกล้เคียงกับยาแผนปัจจุบัน paracetamol 100 มก./กก. ในขณะที่ฤทธิ์ลดปวดของน้ำมันเมล็ดสวาดเมื่อเหนี่ยวนำให้เกิดอาการปวดด้วยกรดอะซิติก พบว่าน้ำมันเมล็ดสวาดขนาด 100, 200 และ 400 มก./กก. สามารถยับยั้งอาการปวดได้ 16.7, 27.9 และ 48.6% ตามลำดับ ซึ่งยาแผนปัจจุบัน aspirin 100 มก./กก. สามารถยับยั้งอาการปวดได้ 66.5% ส่วนฤทธิ์ลดปวดของน้ำมันเมล็ดสวาดเมื่อเหนี่ยวนำให้เกิดอาการปวดด้วยแผ่นความร้อน พบว่าน้ำมันเมล็ดสวาดทุกขนาดสามารถลดอาการปวดได้ โดยเพิ่มระยะเวลาความทนต่อความร้อนได้มากขึ้น ซึ่งใกล้เคียงกับยาแผนปัจจุบัน morphine 5 มก./กก. และมีฤทธิ์เพิ่มมากขึ้นเมื่อให้ร่วมกันระหว่างน้ำมันเมล็ดสวาดกับ morphine 

           ฤทธิ์ต้านเบาหวาน มีรายงานผลการศึกษาสารสกัดเมทานอลจากเมล็ดสวาด โดยได้ทดสอบฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือก ในหนูทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำโดย alloxan โดยได้ป้อนสารสกัด 300 มก./กก. พบว่าสารสกัดดังกล่าวมีฤทธิ์ต้านน้ำตาลในเลือดสูงอย่างมีนัยสำคัญ และยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและ LDL ได้อีกด้วย

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดเมทานอลจากส่วนดอก (CBFE) ในหนูทดลองที่กระตุ้นให้เกิดอักเสบที่เกิดจากน้ำมันเม็ดฝ้าย และคาราจีนแนน โดยป้อนสารสกัดทางปากในขนาด 30,100 และ 300 มก./กก.  พบว่าในสารสกัดทุกขนาดสามารถลดปริมาณอาการบวมน้ำ และการอักเสบที่เกิดจากคาราจีแนน โดยมีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งการอักเสบเท่ากับ 28.68, 31.00 และ 22.48 ตามลำดับและสามารถลดอาการบวมน้ำได้ 37.5, 44.44 และ 35.29% ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบสัตว์ในกลุ่มควบคุม


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสวาด

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้สวาด เป็นสมุนไพรนั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง สวาด
  1. วงศ์สถิต ฉั่วสกุล.สวาด....สมุนไพรไนวรรณคดี. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  2. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “สวาด Nickernut/Grey Nickers”. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. หน้า 68.
  3. มัณฑนา นวลเจริญ. พรรณไม้ป่าชายหาด. ปทุมธานี. สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2552 หน้า 148
  4. ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ลดไข้ และแก้ปวด ของน้ำมันจากเมล็ดสวาด. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. สวาด. ฐานข้อมูลเครื่องยาคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลับอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.main.php?action=viewpage&pid=170
  6. Moon K, Khadabadi SS, Deokate UA, Deore SL. Caesalpinia bonducella F - An Overview. Report and Opinion. 2010;2: 83-90.
  7. Yadav PP, Arora A, Bid HK, Konwar RR, Kanojiya S. (2007) New cassane butenolide hemiketal diterpenes from the marinecreeper Caesalpinia bonduc and their antiproliferative activity. Tetrahedron Letters, 48, 7194-7198.
  8. Arunadevi R, Murugammal S, Kumar D, Tandan SK. Evaluation of Caesalpinia bonducella flower extract for anti-inflammatory action in rats and its high performance thin layer chromatography chemical fingerprinting. Indian J Pharmacol. 2015; 47: 638-643.
  9. Mandal S, Hazra B, Sarkar R, Biswas S, Mandal N. Assessment of the Antioxidant and Reactive Oxygen Species Scavenging Activity of Methanolic Extract of Caesalpinia crista Leaf. Evid Based Complement Alternat Med. 2011; 2011: 173768.
  10. Kannur DM, Hukkeri VI, Akki KS. Antidiabetic activity of Caesalpinia bonducella seed extracts in rats. Fitoterapia. 2006; 77: 546
  11. Kannur DM, Hukkeri VI, Akki KS. (2006) Adaptogenic activity of Caesalpinia bonduc seed extracts in rats. Journal of Ethnopharmacology, 108, 327-331.