สำรอง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
สำรอง งานวิจัยและสรรพคุณ 20 ข้อ
ชื่อสมุนไพรสำรอง
ชื่ออื่น/ชื่อท้องถิ่น ลูกสำรอง (ทั่วไป, ภาคกลาง), ปักจอง (ภาคอีสาน), แก่นเฉา ,ท้ายเภา (ภาคใต้), พุงทะลาย (ภาคตะวันออก), ฮวงไต้ไฮ้ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Scaphium scaphigerum (G.Don.) Guib. & Planch.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Scaphium linearicarpum (Mast.) Pierre, Scaphium macropodum Beaum, Scaphium lychnophorum (Hance) Pierre
ชื่อสามัญ Malva nut, Jelly nut
วงศ์ Sterculiaceae
ถิ่นกำเนิดสำรอง
สำรองเป็นพันธุ์พืชที่มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วไป เช่น พม่า เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ลาว ไทย รวมถึง จีนตอนใต้อีกด้วย โดยทั่วไปแล้วมักจะพบต้นสำรอง ได้ตามป่าที่มีความชื้นสูง เช่น ป่าดงดิบ ป่าดิบเขา ป่าดิบชื้นที่มีแสงแดดส่องถึงพื้น และมีฝนตกชุก สำหรับในประเทศไทยพบได้มากทางภาคตะวันออกของประเทศ โดยเฉพาะจันทบุรี และตราด ส่วนภาคอื่นๆ ก็พบได้บ้างแต่จะน้อยกว่าภาคตะวันออก
ประโยชน์และสรรพคุณสำรอง
- แก้ไอ
- แก้ท้องเสีย
- รักษากามโรค
- แก้อาการร้อนใน
- แก้กระหายน้ำ
- ช่วยขับเสมหะ
- แก้เจ็บคอ
- แก้โรคเรื้อน
- แก้กุฏฐัง
- แก้กามโรค
- แก้พยาธิ
- แก้ลม
- แก้ไข้
- แก้ตานซาง ตานขโมยในเด็ก
- แก้ลมพิษ
- แก้ลม
- แก้ธาตุพิการ
- แก้ท้องเสีย
- แก้กระหายน้ำ
- แก้ตาอักเสบบวมแดง
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้แก้อาการร้อนใน แก้กระหายน้ำก็ แก้ไอ แก้เจ็บคอ ทำให้ใจคอชุ่มชื่น และช่วยขับเสมหะ โดยนำเปลือกหุ้มเมล็ดที่พองตัว นำมาปรุงกับน้ำตาลทรายแดง หรือ ชะเอมเทศ ใช้รับประทาน หรือ ใช้ผลแห้ง 5-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานก็ได้ ใช้แก้ไข้ แก้เจ็บคอ ด้วยการใช้ลูกสำรอง 10-20 ลูก นำมาต้มกับชะเอมจีนให้พอหวาน นำมาใช้จิบบ่อยๆ ใช้แก้กามโรค แก้ไอ แก้ท้องเสีย แก้พยาธิผิวหนังโดยใช้รากแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้โรคเรื้อน แก้กุฏฐัง แก้กามโรค โดยใช้แก่นต้นตากแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ตามขโมยในเด็ก แก้ไข้ แก้ท้องเสีย แก้ลม แก้ธาตุพิการ โดยใช้ผล และเมล็ดแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ตาอักเสบบวมแดง โดยใช้วุ้นจากเปลือกหุ้มเมล็ดมาพอกบริเวณตาที่อักเสบ หรือ นำผ้าก๊อซชุบน้ำพอชุ่ม แล้วนำไปวางทับบนเปลือกตาที่อักเสบ จากนั้นให้วางแผ่นเปลือกหุ้มเมล็ดสำรองลงบนผ้าก๊อซ แล้วเปลือกจะพองตัวเป็นวุ้นแทรกซึมเข้าไปในผ้าก๊อซก็ได้เช่นกัน
ลักษณะทั่วไปของสำรอง
สำรอง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เนื้อแข็งสูงได้ถึง 40 ม. ผลัดใบ และจะแตกเฉพาะเรือนยอด ลำต้นเปลาตรง เปลือกหยาบสีเทา หรือ เทาดำ มีรอยแผลเป็นทั่วไป เปลือกในเป็นสีชมพู มีเส้นตามยาว โคนต้นมีพูพอน ใบเป็นใบเดี่ยวแบบเรียงสลับ รูปไข่แกมขอบขนานหรือรูปไข่แกมใบหอก กว้าง 7-12 เซนติเมตร ยาว 13-25 เซนติเมตร ก้านใบยาว 12.5-21 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ หนา ใบอ่อนสีแดงเรื่อๆ ส่วนใบแก่มีสีเขียวเข้ม และเป็นมัน ขอบใบเป็นลูกคลื่นเล็กน้อย โคนใบป้านมน ปลายใบแหลม แผ่นใบมีเส้นกลางใบขนาดใหญ่ และมีเส้นแขนงใบออกจากโคนใบ 3 เส้น และออกจากเส้นกลางใบข้างละ 6 เส้น ดอกออกดอกเป็นช่อบริเวณซอกกิ่ง และปลายกิ่งประกอบด้วยก้านดอกหลัก ยาวประมาณ 14-20 เซนติเมตร แตกก้านดอกแขนงสั้นๆ ล้อมรอบ ตัวดอกประกอบด้วยกลีบเลี้ยงทรงกระบอก 5 กลีบ กลีบดอกมีสีขาวแกมเขียว จำนวน 5 กลีบ เป็นแฉกคล้ายรูปดาวตรงกลางดอกมีเกสรแยกเพศ เป็นเกสรตัวผู้มีสีเหลือง และเกสรตัวเมีย เป็นสีแดงเมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดประมาณ 7-8 มิลลิเมตร ผลเป็นผลแห้งรูปไข่ ออกตามปลายกิ่ง เมื่อดิบจะเป็นสีเขียว ผลแก่เป็นสีน้ำตาลมีขนาด 25x15 มิลลิเมตร ผิวเหี่ยวย่น สีน้ำตาล มีรูปกลมรีหัว ท้ายมน ผิวขรุขระ ที่ขั้วผลมีแผ่นบางๆ สีน้ำตาลอ่อน ลักษณะเหมือนใบเรือติดมากับผลเรียกว่าสำเภา มีขนาดกว้าง 3-4 เซนติเมตร ยาว 8-15 เซนติเมตร เมล็ดรูปทรงกระสวยหรือกลมรี สีน้ำตาล เปลือกแข็ง
การขยายพันธุ์สำรอง
สำรองสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดสำรอง นั้น ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดพืชชนิดอื่นๆ ดังที่กล่าวในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ในปัจจุบันการขยายพันธุ์สำรองนั้น ส่วนใหญ่เป็นการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติในป่า ไม่ค่อยมีคนนำมาปลูกตามเรือกสวนไร่นา ส่วนการเก็บลูกรองมาใช้ประโยชน์นั้น ก็จะเป็นการเก็บจากในป่ามาใช้เป็นส่วนมาก
องค์ประกอบทางเคมี
มีการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของลูกสำรอง ที่มีการนำมาบริโภคกันอย่างแพร่หลาย พบว่ามีสาระสำคัญดังนี้ Bassorin, Glucorine และ Pentose นอกจากนี้ยังพบสารคาร์โบไฮเดรตที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม monosaccharide เช่น Mannose, Arabinose, Rhamnose, Xylose, Glucose, Galactose อีกทั้งลูกสำรองที่นิยมนำมารับประทานกันนี้ยังมีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้
คุณค่าทางโภชนาการของสำรอง แห้ง (100 กรัม)
- พลังงาน 394 กิโลแคลอรี
- โปรตีน 5.4 กรัม
- ไขมัน 2.4 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 75.3 กรัม
- ใยอาหาร 67.1 กรัม
- โซเดียม 10.7 มิลลิกรัม
- แคลเซียม 237 มิลลิกรัม
- เหล็ก 1.56 มิลลิกรัม
- ไอโอดีน 9.12 ไมโครกรัม
- วิตามินบี 1 0.02 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 2 1.84 มิลลิกรัม
ที่มา : Wikipedia
การศึกษาทางเภสัชวิทยของสำรอง
มีผลการศึกษาวิจัยถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของลูกสำรอง พบว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายอย่าง เช่น การศึกษาฤทธิ์การประเมินการลดปวด ลดไข้ และต้านการอักเสบของสารสกัดเอทานอล และไดคลอโรมีเทนจากผลลูกสำรองในสัตว์ทดลอง พบว่า สารจากผลสำรองที่สกัดด้วยเอทานอลสามารถระงับปวด ลดไข้ และต้านการอักเสบได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และมีการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลสิสระของสารสกัดเมทานอลจากเมล็ดสำรอง ในการลดอนุมูลอิสระชนิด DPPH และ lipid peroxide พบว่า สารสกัดเมทานอลจากเมล็ดสำรองมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ดีต่อ lipid peroxide ส่วนในการศึกษาคุณสมบัติของสารละลายน้ำโพลีแซคคาไรด์ของลูกสำรอง และฤทธิ์ทางชีวภาพในการต้านการอักเสบในหนู พบว่า ได้สารสกัด 2 ชนิด คือ acidic polysaccharide (ASP) กับ neutral polysaccharide (NSP) ซึ่งจากการทดลองสารสกัด acidic polysaccharide (ASP) มีฤทธิ์ต้านการอักเสบแบบเฉียบพลัน และแบบเรื้อรัง นอกจากนี้ยังมีการศึกษาผลจากการบริโภคน้ำลูกสำรอง ต่อการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่า ในสัปดาห์ที่ 4 และ 8 กลุ่มทดลองมีระดับน้ำตาลในเลือด และระดับ HbA1c ลดลงเมื่อเทียบกับก่อนทำการทดลอง และต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การให้คำแนะนำเกี่ยวกับโภชนาบำบัดร่วมกับการบริโภคน้ำลูกรอง ช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้
การศึกษาทางพิษวิทยาของสำรอง
มีรายงานผลการศึกษาเบื้องต้นถึงความเป็นพิษเฉียบพลันทางปาก และความเสียหายต่อโครโมโซมในเซลล์ไขกระดูของหนูขาวที่ได้รับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากผลสำรอง โดยให้รับประทานที่ขนาด 5,000 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวของหนูขาว พบว่าหนูที่ได้รับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ส่วนผสมของสารสกัดจากผลสำรองทางปาก ขนาด 5,000 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว ไม่ก่อให้เกิดอาการเป็นพิษ หรือ ตายแต่อย่างใด รวมถึงไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโครโมโซมเช่นกัน
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ถึงแม้ว่าการศึกษาทางพิษวิทยาจะระบุว่าลูกสำรอง ไม่มีความเป็นพิษ หรือ มีความเป็นพิษต่ำมาก แต่ในการใช้ลูกสำรองรวมถึงส่วนต่างๆ ของสำรอง เป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ นั้น ก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่กำหนดไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ หากจะใช้ลูกสำรอง หรือ ส่วนต่างๆ ของสำรองเป็นสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
เอกสารอ้างอิง สำรอง
- วงศ์สถิต ฉั่วสกุล. ชื่อพฤกษศาสตร์ที่ถูกต้องของพุงทลาย (สำรอง). ภาควิชาเภสัชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “พุงทะลาย”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 390.
- ภกญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร. สำรอง.คอลัมน์ เรื่องเด่นจากปก. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 335. มีนาคม 2550
- เรณุกา วิญญูเจริญกุล. การศึกษาฤทธิ์ของลูกสำรองในการเป็นยาระบาย ลดน้ำตาลไขมันในเลือด และต้นออกซิเดชันในหนูขาวที่ได้รับอาหารไขมันสูงเปรียบเทียบกับผงบุก.วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. 2556. 120 หน้า
- Phengklai C. Sterculiaceae. In; Santisuk T, Larsen K, eds. Flora of Thailand, vol. 7
- Part 3. Bangkok: Prachachon Co. Ltd., 2001:539-654.
- ลูกสำรอง (Malva nut) สรรพคุณ และการปลูกลูกสำรอง พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
- Phonsena P, Wilkie P. Scaphium affine (Mast.) Pierre (Sterculiaceae) new for Thailand. Thai For Bull (Botany) 2008;36:61-9.
- สุญาณี พงษ์ธนานิกร รัตติยา วีระนิตินันท์.2550. ผลของการบริโภคน้ำลูกรองต่อระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2. วารสารเภสัชกรรมโรงพยาบาล.17.120-127.