คริโซฟานอล

คริโซฟานอล

ชื่อสามัญ Chrysophanol, Chrysiphanic acid, 1, 8-Dihydroxy-3-methylanthracene-9, 10-dione


ประเภทและข้อแตกต่างสารคริโซฟานอล

คริโซฟานอล(Chrysophanol) จัดเป็นสารแอนทราควิโนน (anthraquinone) ที่พบได้ในธรรมชาติชนิดหนึ่งโดยเป็นไตรไฮดรอกซีแอนทราควิโนนที่เป็นไครซาซินที่มีสารทดแทนเมทิลที่ C-3 มีสูตรทางเคมีคือ C15H10O4 มีมวลโมเลกุล 254.241 g/mol มีจุดหลอมเหลวที่ 196.1 องศาเซลเซียส ซึ่งมีลักษณะทางกายภาพเป็นสีเหลืองทองหรือผงสีน้ำตาลละลายได้เล็กน้อยในน้ำ โดยจะได้เป็นสารละลายสีเหลืองซีดและจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเมื่อเติมอัลคาไล และเมื่อละลายในกรดซัลฟิวริกเข้มข้นจะได้สารละลายสีแดง สำหรับประเภทของคริโซฟานอลนั้น จากการศึกษาค้นคว้าข้อมูลงานวิจัยต่างๆ พบว่าสารคริโซฟานอล นั้นมีเพียงชนิดเดียวเท่านั้น แต่ทั้งนี้คริโซฟานอล ยังมีอนุพันธ์ต่างๆ แยกย่อยอีกที อาทิเช่น 1, 8-Dihydroxy-2-methylonthracen-9, 10-dione และ chrysophanol-8-0-glucoside เป็นต้น

แหล่งที่พบและแหล่งที่สารมาคริโซฟานอล

สาร Chrysophanol ถูกแยกได้ครั้งแรกจากต้นรูบาร์บ (Rheum rhabarbarum) ซึ่งเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ Polygonaceae ต่อมาจึงมีรายงานการศึกษาวิจัยว่าสามารถแยกสารดังกล่าวได้จากพืชชนิดอื่นๆ อีกอาทิเช่น ชุมเห็ดเทศ (Senna alata (L.) Roxb.) ชุมเห็ดไทย (senna tora (L.) Roxb.) ขี้เหล็ก (senna siamea (Lam.)) แสมสาร (senna garrettiana (craib) H.S.Irwin & Barneby) และโกศน้ำเต้า (Rheum palmatum L.) เป็นต้น โดยมีข้อมูลว่า ณ ปี พ.ศ.2562 สามารถพบพืชที่เป็นแหล่งของคริโซฟานอลถึง 65 สายพันธุ์จาก 14 สกุล นอกจากนี้ยังมีรายงานอีกว่าสามารถพบได้ในแมลงบางชนิดและในเชื้อรา 7 สกุล ได้แก่ Pleosporaceae, Dothideomycetes, Trichocomaceae, Cortinariaceae, Cortinariaceae, Didymellaceae, Montagnulaceae และ Hypocreaceae อีกด้วย

คริโซฟานอล

ปริมาณที่ควรได้รับสารคริโซฟานอล

สำหรับขนาดและปริมาณของสารคริโซฟานอล (chrysophanol) ในรูปแบบสารเดี่ยวที่สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยต่อวันนั้นในปัจจุบันพบว่ายังไม่มีการกำหนดเกณฑ์การใช้รวมถึงขนาดและปริมาณการใช้จากหน่วยงานี่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด แต่ทั้งนี้สำหรับการใช้สารคริโซฟานอลในรูปแบบสารที่อยู่ในพืชบางชนิดที่เป็นสมุนไพรโดยใช้ร่วมกับสารอื่นๆ ในสมุนไพรชนิดเดียวกันนั้น จากการศึกษาค้นคว้าพบว่ามีการใช้ในรูปแบบยาชุมเห็ดเทศที่ใช้รักษาอาการท้องผูกโดยใช้ ใช้ใบ 8-12 ใบ ตากแดดให้แห้ง ป่นเป็นผงชงกับน้ำเดือด รินเฉพาะน้ำมาดื่มหรือ ใช้ดอก 1 ช่อกินสดๆ เป็นยาระบาย หรือ ใช้ใบและก้านขนาดใหญ่ ประมาณ 3-5 ช่อ นำมาต้มกับน้ำประมาณ 2 ขัน (1500 ซี.ซี) ต้มให้เดือดเหลือน้ำประมาณ ½ ขัน ใส่เกลือพอมีรสเค็มเล็กน้อย ดื่มน้ำวันละ 1 แก้ว (250 ซี.ซี) ครั้งต่อไป รับประทานดอกครั้งละประมาณ 1 ช่อ อีกทั้งในปัจจุบันยังได้มีการจัดทำยาในตำรับยาสมุนไพร โดยให้ผลิตยาชุมเห็ดเทศขึ้นมาในรูปแบบแคปซูล และยาชงโดยมีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องผูกโดยให้มีขนาดการใช้ดังนี้ ยาชงรับประทานครั้งละ 1-2 ซอง (ใบชุมเห็ดเทศแห้งซองละ 3 กรัม) (3-6 กรัม) ชงในน้ำเดือด 120 มิลลิลิตร นาน 10 นาที วันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน ส่วนยาแคปซูลรับประทานครั้งละ 6-12 แคปซูล วันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน

ประโยชน์และโทษสารคริโซฟานอล

ประโยชน์ของสารคริโซฟานอล (Chrysophanol) ที่มีรายงานการวิจัยนั้นระบุว่ามีฤทธิ์เป็นยาระบาย ใช้รักษาอาการท้องผูก ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง ป้องกันโรคเบาหวาน ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อรา รักษาโรคกลากเกลื้อน ป้องกันโรคอัลไซเมอร์ โรคหอบหืด โรคกระดูกพรุน โรคข้อเข่าเสื่อม และช่วยป้องกันจอประสาทตาเสื่อมได้ เป็นต้น

           ซึ่งจากผลการศึกษาวิจัยดังกล่าวจะเห็นได้ว่าสารคริโซฟานอล เป็นสารที่มีประโยชน์ต่อการป้องกันและรักษาโรคต่างๆ ได้เป็นอย่างดี แต่ทั้งนี้ในการใช้สารดังกล่าวในรูปแบบสารสกัดแบบสารเดี่ยวก็ยังคงต้องรอการศึกษาวิจัย และพัฒนาเพิ่มเติมทั้งในด้านความปลอดภัย ขนาดและปริมาณที่ใช้ได้อย่างปลอดภัยต่อไป

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องของสารคริโซฟานอล

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยด้านเภสัชวิทยาของสารคริโซฟานอล (Chrysophanol) หลายฉบับดังนี้

           ฤทธิ์รักษาอาการท้องผูก มีการศึกษาวิจัยโดยให้สารสกัดใบชุมเห็ดเทศแห้ง (ที่ประกอบไปด้วยสาร anthraquinone glycoside ได้แก่ isocrysophanol, physcion-l-glycoside, emodine, rhein, และ aloe-emodin ด้วยน้ำร้อนกับหนูแรททางปากในขนาด 500 และ 800 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่ามีฤทธิ์ช่วยระบายและเมื่อให้สารสกัดใบชุมเห็ดเทศด้วยน้ำกับหนูเม้าส์ทางปากในขนาดเทียบเท่าผงใบชุมเห็ดเทศแห้ง 5, 10 และ 20 กรัม/กิโลกรัม พบว่าทำให้หนูเม้าส์ถ่ายเหลวและการให้ในขนาดต่ำ (5 กรัม/กิโลกรัม) จะออกฤทธิ์ช้ากว่าในขนาดสูง (10 และ 20 กรัม/กิโลกรัม) และเมื่อกรอกสารสกัดชุมเห็ดเทศแก่หนูถีบจักรเพศผู้และเพศเมีย จับเวลาตั้งแต่กรอกยาจนกระทั่งหนูเริ่มถ่ายเหลว (onset time) เทียบกับกลุ่มควบคุมที่ได้รับน้ำแทนสารสกัด พบว่า สารสกัดที่มีขนาดเทียบเท่าผงใบชุมเห็ดเทศแห้ง 10 กรัมต่อกิโลกรัม และ 20 กรัมต่อกิโลกรัม มีผลเพิ่มการเคลื่อนไหวของลำไส้ของกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

           ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ มีการศึกษาวิจัยสาร chrysophanol จากใบชุมเห็ดเทศพบว่า มีฤทธิ์ต้านเชื้อราที่ผิวหนังได้แก่ Epidermophyton floccosum, Microsporium gypseum, Trichophyton rubrum, T.mentagrophytes และ M. canis เมื่อเทียบกับยา tolnaftate และยังมีการศึกษาในผู้ป่วยที่เป็นโรคกลากและเกลื้อน โดยการทดลองฤทธิ์ต้านเชื้อราของสารคริโซฟานอล ในชุมเห็ดเทศที่เป็นรูปแบบครีมความเข้มข้นร้อยละ 20 ในผู้ป่วยที่เป็นโรคกลาก 30 ราย และโรคเกลื้อน 10 ราย โดยศึกษาเปรียบเทียบกับการใช้ขี้ผึ้ง Whitfield พบว่าได้ผลใกล้เคียงกัน แต่ไม่ได้ผลในยับยั้งการเจริญของเชื้อก่อโรคพบว่าสารสกัดจากชุมเห็ดเทศสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อก่อโรคได้หลายชนิด เช่น เชื้อรา แบคทีเรีย ไวรัส และปรสิตผู้ป่วยที่มีรอยโรคที่เล็บและผม

           ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งพบว่าสารดังกล่าว สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อก่อโรคโดยพบว่าสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลชีพที่ก่อโรคได้หลายชนิด เช่น เชื้อรา แบคทีเรีย ไวรัส และปรสิต เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการศึกษาฤทธิ์ของสารสกัด Chrysophanol ของใบชุมเห็ดเทศ ในการต้านเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคกลาก คือ Trichophyton mentagrophytes โดยใช้สารสกัดด้วยน้ำของใบชุมเห็ดเทศ พบว่าสามารถช่วยต้านเชื้อราที่เป็นต้นเหตุของโรคผิวหนังดังกล่าวได้

           ฤทธิ์ลดการอักเสบ มีรายงานว่า Chrysophanol สามารถยับยั้งการกระตุ้น T-Cell และปกป้องหนูจากโรคลำไส้อักเสบจาก dextran sulphate sodium ได้โดยแสดงให้เห็นว่าสามารถลดทอนไซโตไคน์ (Cytokines) ที่ก่อให้เกิดการอักเสบจากการอักเสบของลำไส้ที่เกิดจากโซเดียมซัลเฟต

คริโซฟานอล

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

ถึงแม้ว่าจะมีรายงานผลการศึกษาวิจัยของสารคริโซฟานอล ที่ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่สำคัญๆ หลายอย่างแต่ทั้งนี้ส่วนมากจะเป็นการศึกษาในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลอง ส่วนการศึกษาทางคลินิกก็จะมีเพียงฤทธิ์การระบายและบรรเทาอาการท้องผูก เท่านั้น สำหรับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ ก่อนที่จะถูกนำมาใช้ในมนุษย์นั้นยังคงต้องรอการวิจัยเพิ่มเติมทั้งในด้านความปลอดภัย ขนาดและปริมาณในการใช้ต่อไป ส่วนการใช้สารคริโซฟานอล ในรูปแบบของยาบรรเทาอาการท้องผูกจากใบชุมเห็ดเทศทั้งในยาชง และแคปซูลนั้น มีข้อควรระวังดังนี้ อาการไม่พึงประสงค์ของยานี้ อาจทำให้เกิดอาการปวดมวนท้อง เนื่องจากการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้ควรระวังการใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี หรือ ผู้ป่วย inflammatory bowel disease และการรับประทานยานี้ในขนาดสูงอาจทำให้เกิดไตอักเสบ (nephritis อีกทั้งไม่ควรใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เพราะอาจทำให้ท้องเสีย ซึ่งส่งผลให้มีการสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากเกินไปโดยเฉพาะโพแทสเซียม และอาจทำให้ลำไส้ใหญ่ชินต่อยา

 

เอกสารอ้างอิง คริโซฟานอล
  1. บวร เอี่ยมสมบูรณ์. ดงไม้.กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม, 2518.
  2. ฉัตรไชย สวัวดิไชย, สุรศักดิ์ อิ่มเอี่ยม.ชุมเห็ดเทศ. วารสารศูนย์การศึกษาแพทย์ศาสตร์คลินิก โรงพยาบาลพระปกเกล้าปีที่ 34. ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม 2560. หน้า 352-355.
  3. วีณา ศิลปะอาชา. ตำรับยากลางบ้าน. กรุงเทพฯ: โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตัวเอง,2529.
  4. ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ.2562 (2562, 17 เมษายน). ราชกิจนุเบกษา. เล่ม 136 ตอนพิเศษ 95 ง. หน้า 8. (เอกสารแนบท้ายประกาศ หน้า 272)
  5. เกสร นันทจิต.ฤทธิ์ต้านจุลชีพของใบชุมเห็ดเทศ (Cassia alata Linn.). รายงานการวิจัยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2538.
  6. ชุมเห็ดเทศ. ฐานข้อมูลสมุนไพรสาธารณสุขมูลฐาน. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  7. เสาวลักษณ์ พงษ์ไพจิตร. ฤทธิ์ต้านจุลชีพของสารสกัดจากพืชสกุล Cassia sp. รายงานการวิจัย สำนักงาคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2543.
  8. จินตนา สุทธชนานนท์ และคณะ. ฤทธิ์ต้านเชื้อราของใบชุมเห็ดเทศ. รวมบทคัดย่องานวิจัยการแพทย์แผนไทยและทิศทางการวิจัยในอนาคต สถาบันการแพทย์แผนไทย, 2543.
  9. วันดี กฤษณพันธ์ แม้นทรวง วุฒิอุดมเลิศ มิลลิกา ไตรเดช สุภาวี อาชวาคม. การศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อราของสารแอนทราควิโนนจากใบชุมเห็ดเทศ. การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 24, 19-21 ตุลาคม ณ.ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ กรุงเทพฯ, 2541.
  10. Reawthianchai S, Wacharothyangkul w, Chumsri P. The experimental and comparative in anthraquinones quality of Cassia species. Special project for the degree of B. Sc. (Pharm), Faculty of Pharmacy, Bangkok: Mahidol University 1980.
  11. Department of Medical Sciences. Ministry of Public Health. Herbal guideline for primary health care. Bangkok: Research and Development of Herbs Division; 1990.
  12. Thamlikitkul V, Dechatiwonges T, Chantrakul C, et al. Randomized controlled trial of Cassia Alata Linn. For constipation. J Med Assoc Thai 1990;73(4) :217-21.
  13. Lee HS, Jeong GS (March 2021). “Chrysophanol Attenuates Manifestations of Immune Bowel Diseases by Regulation of colorectal Cells and T Cells Activation In Vivo” Molecules. 26(6) : 1682.
  14. Rao JVLN, Sastry PSR, Poa RVK, Vimaladevi M. Occurrence of kaempferol and aloe-emodin in the leaves of Cassia alata. Curr Sci 1975;44 (20) : 736-7.
  15. Owoyale JA, Olatunji GA, Oguntoye SO. Antifungal and antibacterial activity of an alcoholic extract of Senna alata leaves. J Appl Sci Environ Mgt 2005; 9: 105-7.
  16. Elujoka BA, ajulo AA, Lweibo GO. Chemical and biological analysis of Nigerian cassia species for laxative activity. J Pharm Biomed Anal 1989;7 (12) : 1453-1457.
  17. Boonyaprapat N, Chokechaicharoenporn O. Traditional herbs. Bangkok: Prachachon; 1996.
  18. Mulchandani NB, Hassarajani SA. Isolation of 1,3,8-trihydroxy-2-methylanthraquinone from Cassia alata (leaves). Lbid 1975;14:2728B.