ก้างปลาแดง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ก้างปลาแดง งานวิจัยและสรรพคุณ 25 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ก้างปลาแดง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ก้างปลา, ก้างปลาเครือ, ข่าคลอง, หมาเยี่ยว (ภาคกลาง), ก้างปลาขาว, หมัดดำ (ภาคเหนือ), อำอ้าย, ขี้เฮียด (ภาคอีสาน), กระดอง (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Phyllanthus reticulatus Poir.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Anisonema dubium Blume, Anisonema jamaicense (Griseb.) Griseb., Anisonema intermedium Decne., Anisonema multiflorum (Baill.) Wight, Anisonema puberulum Baill., Phyllanthus alaternoides Rchb. ex Baill., Phyllanthus dalbergioides (Müll.Arg.) Wall. ex J.J.Sm., Phyllanthus chamissonis Klotzsch, Phyllanthus jamaicensis Griseb., Phyllanthus oblongifolius Pax, Phyllanthus prieurianus (Baill.) Müll.Arg., Phyllanthus puberulus Miq. ex Baill., Phyllanthus pulchellus A. Juss., Phyllanthus scanden
วงศ์ PHYLLANTHACEAE


ถิ่นกำเนิดก้างปลาแดง

ก้างปลาแดงมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในทวีปเอเชียโดยมีเขตการกระจายพันธุ์เป็นบริเวณกว้างในคาบสมุทรดินเดีย และภูมิภาคอินโดจีน เช่น อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล ทิเบต กัมพูชา ลาว พม่า ไทย มาเลเซีย และเวียดนาม เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยสามารถพบก้างปลาแดง ได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณป่าเต็งรัง ป่าละเมาะทั่วไป ป่าดิบชื้น และในป่าดิบแล้ง


ประโยชน์และสรรพคุณก้างปลาแดง

  • ใช้เป็นยาดับพิษ
  • แก้งูสวัด ขยุ้มตีนหมา
  • แก้โรคไฟลามทุ่ง
  • แก้ร้อนในกระหายน้ำ
  • ช่วยลดความร้อนในร่างกาย
  • ลดความร้อนในร่างกาย
  • แก้ไข้หวัดทุกชนิด
  • แก้ซางข้าวเปลือก
  • แก้หอบหืด
  • ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
  • แก้ฝีแดง และฝีทั้งปวง
  • แก้เริม 
  • แก้บิด
  • แก้ท้องเสีย
  • ช่วยฟอกโลหิต
  • ขับปัสสาวะ
  • แก้น้ำเหลือง
  • ใช้แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • ใช้แก้เลือดออกตามไรฟัน
  • ใช้สมานแผล
  • ช่วยถอนพิษฝี
  • ใช้เป็นฝาดสมานในระบบทางเดินอาหาร
  • แก้อาการอักเสบ
  • ช่วยถอนพิษไข้
  • ช่วยขับพิษไข้หัว

           ในชนบทมีการนำยอดอ่อนของก้างปลาแดง มาใช้ประกอบอาหาร เช่น นำมาลวกกับน้ำพริกรับประทาน หรือ นำมาใช้ทำแกงคั่ว แกงแค เป็นต้น

ก้างปลาแดง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไข้ ช่วยดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ ขับพิษไข้หัว แก้ไข้หวัด แก้ซางข้าวเปลือก ไข้รากสาด แก้หหอบหืด ลดน้ำตาลในเลือด ช่วยลดความร้อนในร่างกาย โดยนำรากประมาณ 120 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม เช้า-เย็น
  • ใช้ฟอกโลหิต แก้บิด ท้องเสีย แก้น้ำเหลืองเสีย ขับปัสสาวะ โดยนำต้น หรือ เถาก้างปลาแดง มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย โดยนำใบมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้เป็นยาฝาดสมานในระบบทางเดินอาหาร แก้อาการอักเสบต่างๆ โดยนำผลมารับประทาน
  • ใช้แก้เริม งูสวัด ซางข้าวเปลือก ขยุ้มตีนหมา ฝีแดง และฝีต่างๆ โดยนำรากมาฝนทาบริเวณที่เป็น
  • ใช้พอกฝีถอนพิษฝี โดยนำใบมาตำให้ละเอียดใช้พอกบริเวณที่เป็น


ลักษณะทั่วไปของก้างปลาแดง

ก้างปลาแดง จัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้เถา เป็นทรงพุ่มรูปคล้ายทรงกระบอกสูงได้ถึง 4 เมตร ลำต้น หรือ เถาเกลี้ยง หรือ อาจมีขนเล็กน้อย ปลายกิ่งด้านล่างมักจะมีหนาม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกแบบเรียงสลับกัน บนก้านใบที่ยาว 1.5-3 มิลลิเมตร ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ หรือ รูปรีแกมขอบขนาน กว้าง 1-2.5 เซนติเมตร ยาว 1.7-3.5 เซนติเมตร โคนมน หรือ สอบส่วนปลายใบมน หรือ หยักเว้าเล็กน้อย ขอบใบเกลี้ยง เนื้อใบบางแห้ง มีขนทั้ง 2 ด้าน และมีเส้นใบ 5-9 คู่ ส่วนของหูใบรูปใบหอก ปลายเรียวแหลม โคนตัด ดอกออกเป็นช่อกระจุกสั้นๆ บริเวณซอกใบ โดยเป็นแบบแยกเพศ ร่วมต้นซึ่งช่อดอกจะมีดอกย่อยช่อละ 1-3 ดอก และจะออกห้อยลงใต้ใบ ดอกมีลักษณะเล็กเป็นทรงกลมรี ดอกเพศผู้มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กว้าง 0.75-2 มิลลิเมตร และยาว 1.7-3 มิลลิเมตร สีเขียวอมแดง ไม่มีกลีบดอกไม่มี แต่มีเกสรเพศผู้ 5 อัน ส่วนดอกเพศเมียจะคล้ายกับดอกเพศผู้ แต่จะมีรังไข่ 8-10 มีออวูล 2 หน่วยต่อหนึ่งช่อง ผลเป็นทรงกลมมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4-6 มิลลิเมตร ผลนุ่มสีแดง เมื่อแก่มีสีเกือบดำ และเมื่อแห้งจะแตก มีก้านผลยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็ก รูปหน้าตัดเป็นเหลี่ยมด้านไม่เท่ากัน 8-16 เมล็ด

ก้างปลาแดง

การขยายพันธุ์ก้างปลาแดง

ก้างปลาแดงสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด และยังเป็นพืชที่ชอบแสงแดดปานกลาง ชอบดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำได้ดี สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและการปลูกก้างปลาแดง นั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ด และการปลูกไม้พุ่ม หรือ ไม้ยืนต้น ชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดก้างปลาแดง จากส่วนใบ เปลือกต้น และราก ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น สารสักดจากส่วน ใบ พบสาร methyl gallate, gallic acid, pyrogallic acid, ƿ-coumaric acid, ellagic acid, corilagin, methyl brevifolin carboxylate, fruedelin, astragalin, kaempferol, rutin, quercetin-3-O- β- D glucopyranoside (isoquercitrin), lupeol, lupeol acetate, stigmasterol- 3- O- β- glucoside, β- sitosterol-3-O-β- glucoside และสารสกัดจากเปลือกต้น พบสาร Friedelin, Friedelanol, -21α-Hydroxy friedelan-3-one, Betulinic acid, Glochidone, Pirorisinol, β-Sitosterol, Rutin และ Ethyl gallate, Daucosterol ส่วนสารสกัดจากส่วนรากพบสาร Tricin, Octacosan-1-ol, Tricosan-1-ol, Glochidonol, Taraxerol, Taraxerone, Taraxerone, Sorghumol, Kokoonol, Betulin, Epi-friedelinol และ friedelin เป็นต้น

โครงสร้างก้างปลาแดง

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของก้างปลาแดง

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของก้างปลาแดงระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้

           ฤทธิ์แก้ปวด และต้านการอักเสบ มีรายงานการทดสอบฤทธิ์แก้ปวด และฤทธิ์ต้านการอักเสบ ของสารสกัดจากใบก้างปลาแดง ด้วยวิธี acetic acid-induced writhing test โดยให้สารสกัด ethyl acetate ขนาด 150 และ 300 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แก่หนู พบว่าสามารถยับยั้งความเจ็บปวดได้เท่ากับ 51.23 และ 65.12% ตามลำดับ ทดสอบฤทธิ์แก้ปวดด้วยวิธี tail flick test พบว่าทั้งสารสกัดเอทิลอะซีเตท และเมทานอล ขนาด 300 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สามารถเพิ่มระยะเวลาที่หนูทนต่อความร้อนได้โดยไม่สะบัดหางหนี ได้อย่างมีนัยสำคัญ เท่ากับ 42.38 และ 60.49% ตามลำดับ เมื่อทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบด้วยวิธี carrageenan-induced rat paw oedema พบว่าสารสกัดเมทานอล ขนาด 300 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แสดงฤทธิ์ยับยั้งการบวมที่อุ้งเท้าหนูแรทได้เท่ากับ 40.03% ที่ชั่วโมงที่ 4 หลังได้รับสารสกัด

           ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด มีรายงานการทดสอบฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดโดยป้อนหนูถีบจักร ด้วยสารสกัด petroleum ether และ ethanol จากใบก้างปลาแดง ขนาด 500 และ 1000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในหนูแต่ละกลุ่ม ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วยสาร alloxan พบว่าสารสกัดขนาด 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม มีฤทธิ์ต้านเบาหวานได้ โดยทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง         

           ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย มีการทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดใบก้างปลาแดง ด้วยตัวทำละลายชนิดต่างๆ ได้แก่ methanol, chloroform และ hexane ทดสอบกับเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก Staphylococcus aureus และแบคทีเรียแกรมลบ Escherichia coli, Pseudomonas aeruginosa และ Salmonella typhi โดยใช้วิธี agar well diffusion และ broth dilution ผลการทดสอบพบว่าค่าบริเวณใสในการยับยั้งเชื้อ (zone of inhibition) ของสารสกัด methanol, chloroform และ hexane เท่ากับ 9.07-30.18, 8.17-24.57 และ 5.60-14.67 มิลลิเมตร ตามลำดับ ความเข้มข้นต่ำที่สุดที่ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้ และความเข้มข้นต่ำที่สุดที่ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ เท่ากับ 6.25-100 mg/ml โดยพบว่าเชื้อมีความไวต่อสารสกัด methanol มากกว่าสารสกัดด้วยตัวทำละลายชนิดอื่น

          ฤทธิ์ลดระดับคอเลสเตอรอล มีรายงานการศึกษาวิจัยสารสกัดน้ำจากส่วนเหนือดินของก้างปลาแดงระบุว่าแสดงฤทธิ์ลดระดับคอเลสเตอรอลในหนูแรท ทดสอบโดยให้อาหารที่เพิ่มระดับ cholesterol, triglyceride, LDL-cholesterol, VLDL-cholesterol และ protein carbonyl level เทียบกับกลุ่มควบคุม เป็นเวลา 45 วัน ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดน้ำของก้างปลาแดงขนาด 250 และ 500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แสดงผลลดระดับ total cholesterol (P<0.05), VLDL-cholesterol (P<0.001), triglyceride (P<0.001), LDL-cholesterol (P<0.05) และ protein carbonyl level (P<0.05) ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในขณะที่ระดับ HDL-cholesterol เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ P<0.05 เมื่อเปรียบเทียบกับหนูทดลองที่มีคอเลสเตอรอลสูงแต่ไม่ได้รับสารสกัด 

           ฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย มีรายงานว่าใบก้างปลาแดง มีฤทธิ์ต้านเชื้อ Plasmodium falciparum สายพันธุ์ที่ไวต่อยา chloroquine (K67) และ สายพันธุ์ที่ดื้อต่อยา chloroquine (ENT36) โดยมีค่า IC50 ≤ 10 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร  

            นอกจากนี้ยังพบการศึกษาวิจัยที่ระบุว่า สารสกัดจากส่วนเหนือดินของก้างปลาแดงมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอีกหลายประการ ได้แก่ ฤทธิ์ต้านการบีบตัวของลำไส้ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านยีสต์ และเชื้อไวรัส ในหลือดทดลอง (in vitro) อีกด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของก้างปลาแดง

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของก้างปลาแดง ระบุว่า มีการทดสอบความเป็นพิษ ของสารสกัดที่อยู่เหนือดินของต้นก้างปลาเครือ โดยการฉีดเข้าช่องท้องของหนูถีบจักร พบว่าในขนาดที่ทำให้สัตว์ตายครึ่งหนึ่ง (LD50) คือ 800 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่ามีความปลอดภัยค่อนข้างสูง


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ถึงแม้ว่าจะมีข้อมูลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสารสกัดจากก้างปลาแดง ระบุว่ามีความปลอดภัยค่อนข้างสูง แต่สำหรับการใช้เป็นสมุนไพรก็ควรระมัดระวังในการใช้ เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง ก้างปลาแดง
  1. ลีนา ผู้พัฒนาพงศ์ และ ธวัชชัย วงศ์ประเสริฐ. สมุนไพรไทย ตอนที่ 5. กรุงเทพมหานคร. ชุติมากาพิมพ์, 2530:710.
  2. เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. “ก้างปลาเครือ”. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. หน้า 176/1.
  3. เสงียม พงษ์บุญรอด. ไม้เทศเมืองไทย. พระนคร:เกษมบรรณกิจ, 2522:66.
  4. กิติยา สมัคราษฎร์ และ ปิติพร เจวินทุลักษณ์. การพิสูจน์ความแตกต่างระหว่างก้างปลาขาวและก้างปลาแดง โดยวิธีการทางเภสัชเวท,รายงานปฏิบัติการวิชา 566 316 ปัญหาพิเศษทางเภสัชเวท ภาควิชาเภสัชเวท คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร,2542.
  5. นุช.พจน์ชัยจงดี.องค์ประกอบทางเคมี และฤทธิ์ทางชีวภาพของใบก้างปลาเครือ.วิทยานิพนธ์หลักสูตรเภสัชศาสตร์มหาวิทย สาขาวิชาเภสัชเวท มหาวิทยาลัยศิลปากร. ปีการศึกษา 2549.193 หน้า
  6. ก้างปลาแดง. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=309
  7. Joshi, K.C., Singh. P., and Mehra, A. Crystalline compounds of the roots of Phyllanthus reticulatus. Journal of the Indian Chemical Society 58 (1981):102-103.
  8. Neves, A.C., and Neves, M.T.C. Some determinations on the leaves of Phyllanthus reticulatus Poir. of Mozambique Bol, Esc. Farm. Univ, Coimbra 25(1966):22.
  9. Jain, R., and Nagpal, S. Chemical constituents of the roots of Kirganelia reticulata. Journal of the Indian Chemical Sociaty 79,9(2002):776-777.
  10. Sharma S and Kumar S. Phyllanthus reticulatus Poir. – An important medicinal plant: A review of its phytochemistry, traditional uses and pharmacological properties. IJPSR. 2013;4(7):2528-34.
  11. Hui, W.H. Li, M.M., and Wong, K.M. Examination of the Euphorbiaceae of Hong Kong. Part 12. A new compound, 21-alpha-hydroxyfriedel-4-(23)-en3-one and other triterpenoids from Phyllanthus reticulatus. Phytochemistry 15, 5(1976):797-798.
  12. Miguel. O.G., Calixto, J.B., Santos, A.R.S., Messana, I., Ferrari, Ferrari, F., Filho, V.C., Pizzolatti, M.G., and Yunes, R.A. Chemical and preliminary analgesic evaluation od geraniin and furosin isolated from Phyllanthus sellowianus. Planta Medica 62(1996):146-149.
  13. Chandler, R.F., and Hooper, S.N. Friedekin and associated triterpenoids, Phytochemistry 18,5(1979):711-724.