เร่ว ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
เร่ว งานวิจัยและสรรพคุณ 22ข้อ
ชื่อสมุนไพร เร่ว
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เร่วใหญ่ , เร่งน้อย (ทั่วไป),มะอี๋,หมากอี๋,มะหมากอี๋(ภาคเหนือ),กระวานป่า,เร่วกระวาน(ภาคกลาง),หมากเนิง,หมากเน็ง(ภาคอีสาน),หน่อเนง(ชัยภูมิ),หมากแหน่ง(สระบุรี),เร่วดง(ตราด),ผาลา(ไทยใหญ่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ เร่วสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
- เร่วน้อย Amomum villosum Lour.
- เร่วใหญ่Amomum xanthioides Wall. ex Baker
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์
- เร่วน้อย ได้แก่ Amomum echinosphaera K.Schum., Cardamomum villosum (Lour.) Kuntze
- เร่วใหญ่ ได้แก่Amomum villosum var. xanthioides (Wall. ex Baker) T.L.Wu & S.J.Chen
ชื่อสามัญ Bustard cardamom, Tavoy cardamom
วงศ์ Zingiberaceae
ถิ่นกำเนิดเร่ว
ถิ่นกำเนิดของเร่วนั้น เชื่อกันว่าเป็นพืชป่าดั้งเดิมของไทย และพบในแถบเดียวกับที่พบกระวานไทย แต่มีบางรายงานระบุว่า เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแถบตะวันออกกลาง
สำหรับแหล่งที่เชื่อกันว่าเป็นถิ่นกำเนิดของเร่วในประเทศไทย ได้แก่ บนภูเขาสูงในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและตราด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เขาสอยดาว ซึ่งอยู่ติดชายแดนเขมร และในจังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สงขลา ปัตตานี ตรัง ยะลา นราธิวาส สุราษฎร์ธานี เป็นต้น ในปัจจุบันสามารถพบเร่วได้เชื่อทุกภาคของประเทศโดยเฉพาะภาคเหนือ , ภาคอีสาน , ภาคตะวันออก และภาคใต้บางจังหวัด
ประโยชน์และสรรพคุณเร่ว
- แก้ไข้
- แก้ริดสีดวงทวาร
- แก้หืดไอ
- ช่วยขับเสมหะ
- แก้ระดูขาว
- แก้ไข้สันนิบาต
- ช่วยขับลมในลำไส้
- แก้ปวดท้อง
- แก้คลื่นเหียน อาเจียน
- ช่วยขับน้ำนมหลังคลอด
- ช่วยบรรเทาอาการกระหายน้ำ
- แก้ธาตุพิการ
- แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
- แก้โลหิต
- ช่วยลดไขมันในเลือด
- ช่วยลดความเป็นพิษของสารพิษต่อตับ
- แก้ความดันโลหิตต่ำ
- แก้ไข้เซื่องซึม
- แก้ปัสสาวะพิการ
- แก้พิษเม็ดผื่นคัน
- ช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือน
- ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ
เมล็ดและผลของเร่วใหญ่สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องเทศแทนกระวานได้ และในปัจจุบันยังสามารถนำมาผลิตหรือใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เครื่องสำอางค์ น้ำมันหอมระเหย และผลิตภัณฑ์อาหารได้อีกด้วยนอกจากนี้ในตำรายาต่างๆ ยังระบุว่าผลเร่วจัดอยู่ใน “พิกัดทศกุลาผล” คือการจำกัดจำนวนตัวยาตระกูลเดียวกัน 10 อย่าง มี ชะเอมเทศ, ชะเอมไทย,ผักชีล้อม, ผักชีลา,ลำพันแดง, ลำพันขาว,เร่วน้อย, เร่วใหญ่
ลักษณะทั่วไปเร่ว
โดยทั่วไปแล้วลักษณะทั่วไปของเร่วน้อยและเร่วใหญ่จะคล้ายๆกัน โดยจะมีส่วนของผลเท่านั้นที่แตกต่างกัน ซึ่งลักษณะทั่วไปของเร่วมีดังนี้
เร่วจัดเป็นพืชล้มลุก มีเหง้าหรือลำต้นอยู่ในดิน มีลำต้นเทียมเป็นกาบแข่งโผล่เหนือดินขึ้นมา สูงได้ 2-4 เมตร โดยเป็นพืชสกุลเดียวกับ กระวาน ข่า ขิง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ผิวใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ลักษณะของใบเรียวยาว เป็นรูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมใบหอกปลายใบเรียวแหลม ห้อยลง มีความยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตร ก้านใบเป็นแผ่นมีขนาดสั้น ดอกมีสีขาว ออกเป็นช่อจากยอดที่แทงขึ้นมาจากเหง้า เป็นดอกฝอยขนาดเล็กดอกจะรวมอยู่ในก้านเดียวกันเป็นช่อยาว ๆ คล้ายกับดอกข่า กลีบดอกเป็นสีขาวหรือชมพูอ่อนแล้วจะเปลี่ยนสีน้ำตาลเทา โคนกลีบดอกจะเชื่อมติดกันเป็นท่อ ปลายแยกเป็นกลีบมีก้านช่อดอกสั้น
ส่วนผลของเร่วนั้นสามารถจำแนกออกได้ดังนี้ เร่วน้อย ผลค่อนข้างกลม ลักษณะเป็น 3 พู ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.0-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร มีขน ผลแก่สีน้ำตาลแดง มีเมล็ดจำนวนมากจับกันเป็นกลุ่มก้อนกลม หรือกลมรี มี 3 พู แต่ละพูมีเมล็ด 3-15 เมล็ด อยู่เรียงแน่น 3-4 แถว เมล็ดรูปร่างไม่แน่นอน มีหลายเหลี่ยมและเป็นสันนูน กว้าง 2-3 มม. ยาว 2.5-4 มม. สีน้ำตาลเข้มหรือสีน้ำตาลดำ ผิวนอกเรียบมีเยื่อบางหุ้ม ปลายแหลมของเมล็ดมีรูเห็นเด่นชัด เมล็ดแข็ง เนื้อในเมล็ดสีขาวอมเหลือง กลิ่นหอมฉุน รสเผ็ดซ่าและขมเล็กน้อย เร่วใหญ่ ผลเรียวยาวหรือขอบขนานแกมสามเหลี่ยม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 ซม. มีขนอ่อนสีน้ำตาลแดงปกคลุม ภายในมีเมล็ดเป็นกลุ่ม 10-20 เมล็ด ลักษณะเหมือนเร่วน้อย ผลมีรสมันเฝื่อนติดเปรี้ยว เมล็ด รสร้อนเผ็ดปร่า
การขยายพันธุ์เร่ว
เร่งเป็นพืชที่ชอบขึ้นในที่ค่อนข้างชื้นพอสมควรและพบขึ้นกระจัดกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ของประเทศโดยเฉพาะในสังคมป่าดิบชื้นและป่าดิบแล้ง เร่วสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด การใช้เหง้าและการแยกหน่อหรือต้นกล้า แต่วิธีที่นิยมในปัจจุบัน คือ วิธีการแยกหน่อ ซึ่งควรเลือกต้นกล้าหรือหน่อที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป โดยทำการแยกต้นกล้าที่มีไหลติดอยู่ด้วยมาปลูกเพราะจะมีการแตกหน่อได้ดี และในช่วงเร่วอายุ 1 ปี จะมีการแตกหน่อใหม่อยู่ในช่วง 4-5 หน่อต่อกอ
ทั้งนี้ควรปลูกภายใต้ร่มเงาของ สวนผลไม้ หรือสวนไม้ป่าที่มีร่มเงาประมาณ 50-60 % โดยมีระยะปลูกที่เหมาะสมของการปลูกเร่ว ประมาณ 1 เมตร หรือมีจำนวนต้นอยู่ในช่วง 1,200-1,300 กอต่อไร่
สำหรับการเก็บเกี่ยวผลผลิตจะเริ่มเก็บเมื่อเร่วมีอายุประมาณ 3 ปี โดยการเลือกกิ่งเหง้าที่จะนำไปจำหน่ายควรเลือกเหง้าที่มีลักษณะใหญ่ 1-2 ต้นต่อกอโดยปล่อยต้นที่เหลือในกอมีเจริญเติบโตและแตกต้นใหม่ต่อไป
องค์ประกอบทางเคมี
ในเมล็ดมีน้ำมันระเหยง่ายมากกว่าร้อยละ 3 พบสารที่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญได้แก่ camphor, borneol, bomyl acetate, linalool, nerolidol, p-methyloxy-trans ethylcinnamate และพบ saponin 0.69%
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของเร่ว
ที่มา : Wikipedia
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
แก้อาการท้องอืดเฟ้อ ขับลมแน่นจุกเสียด นำเมล็ดในจากผลแก่มาบดเป็นผง รับประทานครั้งละ 1-3 กรัม (ประมาณ 3-9 ผล) วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร และในตำรายาไทย – จีน จะใช้เร่วน้อย และเร่วใหญ่ ขับลม บรรเทาอาการท้องเสีย และครรภ์รักษา แก้อาการอาเจียน แก้ไข้ แก้ไอ ขับน้ำนม แก้ธาตุพิการ แก้ปวดท้อง รับประทานอาหารไม่ได้ โดยใช้เมล็ดบดเป็นผง ครั้งละประมาณ 7-8 กรัม ชงกับน้ำขิงต้ม ใช้ดื่มบ่อยๆ แก้อาการเป็นพิษ โดยใช้ผง ชงกับน้ำอุ่นดื่ม บำรุงธาตุ แก้อาการท้องอืดเฟ้อ และปวดท้อง โดยใช้เมล็ดเร่ว ผสมกับหัวแห้วหมู รากชะเอมและขิงแห้งร่วมกัน แก้ประจำเดือนมามากกว่าปกติ โดยใช้ผลเร่วแห้งหนัก 7-8 กรัม รางไฟจนแห้งกรอบแล้วบดเป็นผงชงน้ำรับประทานบ่อยๆ
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
ฤทธิ์ยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของสารสกัดจากเมล็ดเร่วใหญ่ ในหนูขาวเพศผู้สายพันธุ์ Sprague-Dawley โดยการป้อนสารสกัดพืชแก่หนู หลังจากนั้น 30 นาที ป้อน 60% ethanol ใน 150 mM HClปริมาณ 0.5 ml/100g เพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร หลังจากหนูได้รับ HCl-ethanol แล้ว 1 ชั่วโมง จึงแยกกระเพาะอาหารออกมาศึกษา ผลการทดสอบพบว่าส่วนสกัดย่อยที่ 4 (150 mg/kg) และส่วนสกัดย่อยที่ 6 (100 mg/kg) ที่แยกจากสารสกัดบิวทานอล ทำให้ขนาดแผลในกระเพาะอาหารลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่า lesion index เท่ากับ 5.6±0.56** และ 23.8±1.97* ตามลำดับ (*p<0.05, **p<0.01 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม) โดยส่วนสกัดย่อยทั้งสองชนิดออกฤทธิ์ได้ดีกว่าสารมาตรฐาน cimetidine (lesion index เท่ากับ 25.6±2.12*)
ฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกรด ผลยับยั้งการหลั่งกรดในหนูที่ผ่านการทำ pyrolic ligation (ผูกกระเพาะอาหารส่วนปลาย) เพื่อกระตุ้นการหลั่งกรด และตัดกระเพาะอาหารออกมาศึกษา พบว่าสารสกัดบิวทานอล (350 mg/kg) และสารสกัดเอทานอล (1,000 mg/kg) จากเมล็ดเร่วใหญ่ สามารถลดปริมาณกรดรวมในกระเพาะอาหารได้ โดยมีค่าปริมาณกรดรวม (total acid output) เท่ากับ 42.73±3.89 และ 54.67±10.58 mEq/mL ตามลำดับ (p<0.05 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม) สารมาตรฐาน cimetidine (total acid output เท่ากับ 19.65±5.39 mEq/mL)
สอดคล้องกับการทดสอบฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหารของสารสกัดจากเร่ว สารสกัดเมทานอลขนาด 250 และ 500 มก./กก.น้ำหนักตัว สามารถลดการหลั่งน้ำย่อยและของเหลวในกระเพาะอาหารหนูแรท และลดการหลั่งกรดได้ตามขนาดที่ได้รับ อีกทั้งมีผลยับยั้งการทำงานของเอนไซม์เปปซินได้ 33.74 และ 54.90% ตามลำดับ ในขณะที่สารสกัดแอลกอฮฮล์จากเมล็ดเร่ว ขนาด 250 และ 500 มก./กก.น้ำหนักตัว มีผลยับยั้งฤทธิ์ลดการเคลื่อนไหวของลำไส้จากการเหนี่ยวนำด้วย L-dopa ได้ 59.36 ± 3.27% และ 69.38 ± 3.46% ตามลำดับ จึงเป็นส่วนช่วยสนับสนุนฤทธิ์ของเมล็ดเร่วเพื่อบรรเทาโรคในระบบทางเดินอาหารตามภูมิปัญญาดั้งเดิม (5)
ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด สารสกัดด้วยน้ำ:แอลกอฮออล์ (1:1) จากเมล็ดเร่ว ความเข้มข้น 20-500 มคก./มล. สามารถกระตุ้นการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์เพิ่มขึ้นตามสารสกัดที่ได้รับ และเมื่อให้สารสกัดจากเร่วขนาด 500 มคก./มล.ร่วมกับอินซูลิน จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของอินซูลินในการนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ได้อย่างมีนัยสำคัญ
เมื่อฉีดการสารสกัดน้ำจากเมล็ดเร่ว ขนาด 2.5 มก./กก.น้ำหนักตัว เข้าทางช่องท้องของหนูเม้าส์ที่เวลา 2 วันก่อนการเหนี่ยวนำให้เกิดเบาหวานด้วยการฉีด alloxan มีผลป้องกันการเกิดเบาหวานในสัตว์ทดลอง โดยคงระดับน้ำตาลให้อยู่ในค่าปกติและป้องกันการลดลงของระดับอินซูลินได้ เมื่อทำการผ่าพิสูจน์ซากของหนูเบาหวานพบว่าเกิดความเสียหายบริเวณเซลล์แลงเกอร์ฮานส์ของตับอ่อนและเซลล์ลดขนาดลง แต่ไม่พบความผิดปกตินี้ในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากเมล็ดเร่ว (7) เช่นเดียวกับการศึกษาของ Lee และคณะที่พบว่าสารสกัดน้ำจากเมล็ดเร่วสามารถป้องกันความเสียหายจากการเกิดความเครียดออกซิเดชันในเซลล์ตับอ่อนเพาะเลี้ยงจากหนูแฮมสตอร์จากการเหนี่ยวนำด้วยalloxan โดยลดการเกิดอนุมูลอิสระ (reactive oxygen species: ROS) ลดระดับแคลเซียมไอออนภายในเซลล์ ลดการแตกหักของสายดีเอ็นเอ (DNA fragmentation) ร่วมกับการเพิ่ม NAD+ และระดับ ATP ในเซลล์ และเมื่อบ่มเซลล์แลงเกอร์ฮานส์ของตับอ่อนด้วยสารสกัดน้ำจากเมล็ดเร่วและ alloxan สามารถป้องกันฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อนของ alloxan ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดเบาหวานได้
ฤทธิ์ในยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori เชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori เป็นสาเหตุหลักในการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร และมะเร็งกระเพาะอาหารได้ พบว่าสารสกัดเอทานอลจากเมล็ดเร่วใหญ่ สามารถยับยั้งเชื้อ H. pylori ได้ดีที่สุด โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดในการยับยั้ง (MIC) เท่ากับ 1.43 μg/ml เทียบเท่ากับยามาตรฐาน ampicillim (MIC เท่ากับ 1.00 μg/ml)
ฤทธิ์ปกป้องตับ ศึกษาฤทธิ์ปกป้องตับของสารสกัดน้ำจากเร่วใหญ่ ในหนูขาวเพศผู้สายพันธุ์ Sprague-Dawley ให้หนูได้รับสารไดเมททิลไนโตรซามีน (DMN) ขนาด 10 mg/kg โดยการฉีดเข้าช่องท้อง 3 ครั้ง ต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 3 สัปดาห์ เพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดตับอักเสบกึ่งเรื้อรัง ร่วมกับการป้อนสารสกัดน้ำจากเร่วหอม ในขนาด 50 หรือ 100 mg/kg ในหนูแต่ละกลุ่ม โดยให้วันละครั้ง เป็นระยะเวลานาน 3 สัปดาห์ จากนั้นจึงนำตับ และเลือดมาศึกษา ผลการศึกษาพบว่าการให้สารสกัดน้ำจากเร่วหอม ในขนาด 100 mg/kg สามารถลดระดับของเอนไซม์ตับ ซึ่งบ่งบอกภาวะการอักเสบของตับลดลง โดยมีปริมาณที่ตรวจพบในซีรัมดังนี้ alanine aminotransferase (123.6±39.9IU/L*), aspartate aminotransferase (227.9±69.6 IU/L**), alkaline phosphatase (820.9±360.9 IU/L*) และ total bilirubin (0.50±0.50g/dL*) (**p<0.01, * p<0.05 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับเฉพาะ DMN) การตรวจสอบในเนื้อเยื่อตับ พบว่าปริมาณสารที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบลดลงได้แก่ malondialdehyde (MDA) โดยมีปริมาณเท่ากับ 53.6±9.1 μM/g tissue) มีค่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับเฉพาะ DMN (p<0.01) และลดการสะสมของคอลลาเจนในเซลล์ตับ วัดจากปริมาณ hydroxyproline มีค่าเท่ากับ 30.5 6.9 mg/g tissue ซึ่งมีค่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับเฉพาะ DMN (p<0.01) นอกจากนี้สารสกัดน้ำจากเร่วหอม ยังมีผลช่วยให้ระดับของสารต้านอนุมูลอิสระในเนื้อเยื่อตับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีปริมาณของ total antioxidant capacity (2.54±0.14μM/mg tissue), superoxide dismutase (0.30±0.04U/mg tissue), glutathione (2.10±0.52μM/mg tissue) และ catalase (605.0±103.9 U/mg tissue) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.01 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับเฉพาะ DMN)
เมื่อป้อนหนูแรทด้วยส่วนสกัดเมทานอลจากเมล็ดเร่ว ขนาด 25, 50 และ 100 มก./กก.น้ำหนักตัว ในช่วงสัปดาห์ที่ 7-14 ของการเหนี่ยวนำให้เกิดผังผืดในตับด้วยการฉีดthioacetamide 200 มก./กก. เป็นเวลา 14 สัปดาห์ ช่วยลดการเกิดผังผืดในตับได้ โดยอาศัยฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน ลดระดับอนุพันธ์ออกซิเจนที่ว่องไว (reactive oxygen species; ROS) เพิ่มปริมาณกลูต้าไธโอน และกลูต้าไธโอนเปอร์ออกซิเดส (glutathione-peroxidase) ยับยั้งการสะสมคอลลาเจนในเซลล์ตับ รวมถึงช่วยลดระดับไซโตคานย์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบและการสร้างพังผืดในเนื้อเยื่อตับได้แก่nitric oxide synthase (iNOS), tumor necrosis factor alpha (TNF-α), transforming growth factor beta (TGF-β), platelet-derived growth factor beta (PDGF-β) และ connective tissue growth factor (CTGF) (10) นอกจากนี้ยังมีผลลดการเกิดพังผืดในตับของสัตว์ทดลองที่ผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก เมื่อป้อนสารสกัดเอทิลอะซีเตทจากผลเร่วที่ขนาด 12.5, 25 หรือ 50 มก./กก. หรือยา ursodeoxycholic acid ขนาด 25 มก./กก. สามารถป้องกันการเกิดพังผืดในตับ ลดอาการท้องมาน และลดการสะสมคอลลาเจนในเซลล์ตับในหนูแรทที่ถูกตัดถุงน้ำดี และเมื่อบ่มเซลล์สเตลเลต (LX-2 cells stellate cell) ที่แยกจากหนูแรทด้วยสารสกัดเอทิลอะซีเตทจากเมล็ดเร่ว พบว่าสารสกัดจากเร่วจะยับยั้งการส่งต่อสัญญาณของ α-SMA และ Smad2/3 จากการกระตุ้นด้วย TGF- β ส่งผลให้การเกิดพังผืดในตับลดลง
ฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งกระเพาะอาหาร ทดสอบในหลอดทดลองกับเซลล์มะเร็งกระเพาะอาหาร 3 ชนิด ที่แยกได้จากคน ได้แก่ AGS, KATO III และ SNU638 ผลการทดสอบพบว่าส่วนสกัดย่อยที่ 4 ที่แยกจากสารสกัดบิวทานอลของเมล็ดเร่วใหญ่ สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งทั้ง 3 ชนิดได้ ที่ความเข้มข้น 1.0 และ 0.5 p.g/mL ภายหลังจากการสัมผัสสารทดสอบที่เวลา 24 และ 48 ชั่วโมง ตามลำดับ (Lee, et al.,2007) โดยสรุปสารสกัดจากเร่วสามารถนำไปพัฒนาในการรักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบ และมะเร็งกระเพาะอาหารได้
การศึกษาทางพิษวิทยา
สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์:น้ำ (1:1) จากผลแห้งแก่ของเร่ว ไม่แสดงอาการพิษ เมื่อฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 1 ก./กก.(น้ำหนักตัว) และเมื่อป้อนให้หนูเม้าส์กินที่ขนาด 32 ก./กก.น้ำหนักตัว (ซึ่งเท่ากับ 16,000 เท่าในคน) ไม่แสดงอาการพิษเช่นกัน โดยพบขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) เมื่อฉีดเข้าใต้ผิวหนัง คือ 34.3 ก./กก.น้ำหนักตัว
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ในการใช้เร่วเป็นสมุนไพรเพื่อหวังสรรพคุณในการรักษาโรคต่างๆนั้น ก็เหมือนกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ นั่นก็คือไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเกินกว่าที่ตำรับยาต่างๆกำหนดและไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ส่วนผู้ที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
เอกสารอ้างอิง
- เร่ว.สมุนไพรที่มีการใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
- นันทวัน บุณยะประภัศร, อรนุช โชคชัยเจริญพร, บรรณาธิการ. หนังสือสมุนไพรไม้พื้นบ้าน เล่ม 4. กรุงเทพฯ: บริษัทประชาชน จำกัด, 2543: 740 หน้า.
- มงคล โมกขะสมิต กมล สวัสดีมงคล ประยุทธ สาตราวาหะ. การศึกษาพิษของสมุนไพรไทย วารสารของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. 1971;13(1):36-66
- สำนักงานคณะกรรมการสาธารณสุขมูลฐาน. หนังสือสมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก, 2541: 176หน้า.
- Vibuljan S. การวิจัยทางด้านเคมีของสมุนไพรเร่ว. รวมบทคัดย่องานวิจัยการแพทย์แผนไทยและทิศทางการวิจัยในอนาคต, สถาบันการแพทย์แผนไทย, 2543: 138 หน้า.
- เร่ว.ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com
- เร่ว.กลุ่มยาแก้ท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_06_8.htm.
- Yamazaki T, Matsushita Y, Kawashima K, Someya M, Nakajima Y, Kurashige T. Evaluation of the pharmacological activity of extracts from amomi semen on the gastrointestinal tracts. J Ethnopharmacol. 2000;71(1-2):331-5.
- Lee YS, Kang MH, Cho SY, Jeong CS. Effects of constituents ofAmomum xanthioides on gastritis in rats and on growth of gastric cancer cells. Arc Pharm Res. 2007;30(4):436-443.
- Lee JH, Park JW, Kim JS, Park BH, Rho HW. Protective effect of Amomi semen extract on alloxan-induced pancreatic beta-cell damage. Phytother Res. 2008;22(1):86-90.
- Wang J-H, Wang J, Choi M-K, Gao F, Lee D-S, Han J-M, et al. Hepatoprotective effect of Amomum xanthoides against dimethylnitrosamine-induced sub-chronic liver injury in a rat model. Pharm Biol. 2013;51(7):930-935.
- Wang JH, Shin JW, Choi MK, Kim HG, Son CG. An herbal fruit, Amomum xanthoides, ameliorates thioacetamide-induced hepatic fibrosis in rat via antioxidative system. J Ethnopharmacol. 2011;135(2):344-50.
- Kang Y, Kim HY. Glucose uptake-stimulatory activity of Amomi Semen in 3T3-L1 adipocytes. J Ethnopharmacol. 2004;92(1):103-5.
- Kim HG, Han JM1, Lee JS, Lee JS, Son CG. Ethyl acetate fraction of Amomum xanthioides improves bile duct ligation-induced liver fibrosis of rat model via modulation of pro-fibrogenic cytokines. Sci Rep. 2015;5:14531.
- Park BH, Park JW. The protective effect of Amomum xanthoides extract against alloxan-induced diabetes through the suppression of NFkappaB activation. Exp Mol Med. 2001 Jun 30;33(2):64-8.