เรอิน

เรอิน

ชื่อสามัญ Rhein, Cassic acid, 4, 5 – Dihydroxy-9, 10-dryhydroanthracene-2-carboxylic acid

ประเภทและข้อแตกต่างเรอิน

สารเรอิน (Rhein) ถูกพบครั้งแรกในโกศน้ำเต้า เมื่อ ค.ศ.1895 โดยจัดเป็นสารกลุ่ม แอนทราควิโนน (Anthraguinone) ซึ่งมีสูตรทางเคมี คือ C15 H8 O6 มีมวลโมเลกุล 284.22 g/mol และมีคุณสมบัติทางเคมี คือ มีรูปร่างเป็นผลึกสีส้ม ไม่ละลายน้ำ มีจุดหลอมเหลว 350-352 องศาเซลเซียส มีจุดเดือด 597.8 องศาเซลเซียส สำหรับประเภทของสารเรอิน จากการศึกษาวิจัยพบว่ามีเพียงประเภทเดียวเท่านั้น

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาเรอิน

สารเรอิน (Rhein) เป็นสารที่สามารถพบได้ในธรรมชาติ โดยในครั้งที่มีการค้นพบสารนี้ถูกพบในเหง้าของโกฐน้ำเต้า ต่อมาจึงมีการศึกษาวิจัย และค้นพบของสารเรอินเพิ่มเติมโดยพบว่า สารดังกล่าวยังสามารถพบได้ในพืชอีกหลายชนิด เช่น ส่วนต่างๆ ของชุมเห็ดเทศ โดยเฉพาะในใบอ่อนและดอกจะพบได้มากกว่าส่วนอื่น ในใบและฝักของมะขามแขก และในฝักของคูณ เป็นต้น ซึ่งสารเรอิน ที่พบในพืชเหล่านี้ มักพบเป็นไกลโคไซด์ เช่น rhein-8-glucoside หรือ glucorhein

เรอิน

ปริมาณที่ควรได้รับเรอิน

สำหรับปริมาณและขนาดของสารเรอินที่สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยต่อวันนั้นปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์การใช้อย่างชัดเจน เนื่องจากการใช้สารเรอินในปัจุบันจะเป็นการใช้ในรูปแบบของการสกัดสมุนไพร (crude extract) ที่เป็นแหล่งของสารเรอิน มากกว่าการสกัดสารดังกล่าวมาใช้เป็นสารเดี่ยว เช่น ทิงเจอร์และชุมเห็ดเทศที่ใช้การรักษากลากเกลื้อนที่ผิวหนังซึ่งจะมีสารเรอิน เป็นส่วนสำคัญโดยปริมาณความเข้มข้นจะแตกต่างกันไปตามสูตรยาของแต่ละแหล่งผลิตรวมถึงยาบรรเทาอาการท้องผูกจากชุมเห็ดเทศที่ใช้ผงของชุมเห็ดเทศที่มีสารสำคัญ hydroxyanthracene derivativse โดยคำนวณเป็น rhein-8-glucoside ไม่น้อยกว่าร้อยละ 1.0 โดยน้ำหนัก (w/w) ซึ่งมีขนาดและวิธีใช้ 2 ประเภท คือ

          ชนิดชง รับประทานครั้งละ 3-6 กรัม ชงน้ำร้อนประมาณ 120-200 มิลลิลิตร นาน 10 นาที วันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน

          ชนิดแคปซูล รับประทานครั้งละ 3-6 กรัม วันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน เป็นต้น

ประโยชน์และโทษเรอิน

สารเรอิน (Rhein) ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบของสารสกัดสมุนไพร(crude extract) ที่มีสรรพคุณต่างๆ ดังนี้ เนื่องจากสารเรอินเป็นสารในกลุ่ม แอนทราควิโนน ดังนั้นจึงมีสรรพคุณหลักในการเป็นยาระบายที่ออกฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ ช่วยเร่งการขับกากอาหาร และเพิ่มการซึมผ่านของของเหลวผ่านเยื่อเมือกลำไส้ใหญ่ ทำให้มีปริมาณน้ำในลำไส้ใหญ่มากขึ้น จึงแสดงฤทธิ์เป็นยาถ่าย นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยพบว่าสารเรอิน ยังช่วยต้านและรักษาโรคที่เกิดจากเชื้อรา มีฤทธิ์ต้านอาการแพ้ ต้านการอักเสบ และปกป้องตับ ได้อีกด้วย

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องเรอิน

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารเรอินหลายฉบับ ดังนี้

           ฤทธิ์รักษาอาการท้องผูก มีการศึกษาในผู้ป่วยจำนวน 80 ราย พบว่าผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับชาชงจากใบชุมเห็ดเทศ (โดยเตรียมจากการชงใบชุมเห็ดเทศ 3-6 กรัม ด้วยน้ำเดือด 120 มิลลิลิตร ทิ้งไว้นาน 10 นาที และปรับให้มีสารอนุพันธ์ของ hydroxyl-anthracene ซึ่งคำนวณเป็นประมาณ 0.04 กรัม) ก่อนนอน พบว่าโดยผู้ป่วยสามารถถ่ายภายใน 24 ชั่วโมงได้ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก ซึ่งให้ผลการรักษาไม่แตกต่างจากกลุ่มที่ได้ยาระบายมิสท์แอลบา (ประกอบด้วย magnesium sulfate 8 กรัม และ magnesium carbonate 1.2 กรัม) ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า anthraquinone glycoside จากใบแก่ ได้แก่ isocrysophanol, physcion-l-glycoside, chrysophanol, emodine, rhein, และ aloe-emodin มีฤทธิ์เป็นยาถ่าย

           ฤทธิ์ปกป้องตับและไต มีการศึกษาฤทธิ์ปกป้องตับและไตของสาร rhein (4,5-dihydroxyanthraquinone-2-carboxylicacid) ในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดพิษด้วยการกรอกยาพาราเซตามอล (acetaminophen) ขนาด 2.5 ก./กก. ร่วมกับการได้รับสาร rhein ขนาด 10, 20 หรือ 40 มก./กก. พบว่าการกรอกยาพาราเซตามอลในขนาดดังกล่าวทำให้ระดับ glutamate-pyruvate transaminase, glutamate-oxaloacetic transaminase, total bilirubin, creatinine และ urea nitrogen ในเลือดเพิ่มขึ้น เซลล์และเนื้อเยื่อของตับและไตถูกทำลาย ระดับของ reactive oxygen species, nitric oxide และ malondiadehyde ในตับและไตเพิ่มขึ้น ในขณะที่ glutathione ลดลง จึงสรุปได้ว่าการที่หนูได้รับสาร rhein สามารถทำให้ความเป็นพิษต่อตับและไตข้างต้นลดลง โดยประสิทธิภาพจะขึ้นอยู่กับขนาดที่ใช้ ดังนั้นจากผลการทดลองดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสาร rhein มีฤทธิ์ในการปกป้องตับและไตจากการถูกทำลายด้วยยาพาราเซตามอลได้

           ฤทธิ์ต้านอาการแพ้  มีการทดสอบฤทธิ์ต้านอาการแพ้ของสารสกัดน้ำ-เมทานอล (70%) จากใบชุมเห็ดเทศ รวมทั้งสารสำคัญอย่าง rhein และ kaempferol ใน triple antigen sheep serum-induced mast-cell degranulation ของหนูแรท พบว่าสารสกัดน้ำ-เมทานอล ที่ขนาด 200 มก./กก. รวมทั้งสาร rhein และ kaempferol ที่ขนาด 5 มก./กก. สามารถยับยั้งการแตกของแกรนูลที่ทำให้หลั่งสารก่อการแพ้ (mast cell degranulation) ได้

           นอกจากนี้สารสกัดน้ำ-เมทานอล และสาร rhein ยังสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ lipoxygenase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบ โดยมีค่าความเข้มข้นของสารสกัดน้ำ-เมทานอล และสาร rhein ที่สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ได้ 50% เท่ากับ 90.2 และ 3.9 มคก./มล. ตามลำดับ ในขณะที่สาร kaempferol ไม่แสดงผลดังกล่าว จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากใบชุมเห็ดเทศรวมทั้งสารสำคัญ ทั้ง 2 ชนิด มีฤทธิ์ในการต้านอาการแพ้โดยผ่านกลไกที่ทำให้แกรนูลมีความคงตัว (mast cell stabilization) และสารสกัดจากใบชุมเห็ดเทศรวมถึงสาร Rhein ที่สามารถยับยั้งเอนไซม์ lipoxygenase น่าจะมีประโยชน์ในการพัฒนาเป็นยารักษาโรคที่เกี่ยวกับการแพ้ต่างๆ ได้ มีการศึกษาโดยเตรียมชุมเห็ดเทศในรูปแบบทิงเจอร์และครีม (ซึ่งมีสารสำคัญ rhein 600 ไมโครกรัม/กรัม) ให้ผลในการรักษาผู้ป่วยโรคกลากเกลื้อนที่ผิวหนังได้เช่นเดียวกับยาครีมโคลไตรมาโซลร้อยละ 1 ส่วน อีกการศึกษาหนึ่งพบว่าสาร aloe-emodin, rhein emodol, 4, 5-dihydroxy-1-hydroxymethylanthrone, 4, 5-dihydroxymethylanthraquinone และ chrysophanol จากใบชุมเห็ดเทศ มีฤทธิ์ต้านเชื้อราชนิดที่เกิดตามผิวหนังได้แก่ Epidermophyton floccosum, Microsporium gypseum, Trichophyton rubrum, T.mentagrophytes และ M. canis โดยสาร rhein ให้ผลยับยั้งเชื้อรา E. floccosum, T. mentagrophytes, และ T. rubrum ได้ดีที่สุด นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาทางพิษวิทยาของสารเรอินในใบชุมเห็ดเทศดังนี้

           การทดสอบพิษกึ่งเรื้อรังของผงใบชุมเห็ดเทศในหนูขาววิสตาร์ 4 กลุ่ม กลุ่มละ 24 ตัว (เพศผู้ 12 ตัว เพศเมีย 12 ตัว) เป็นกลุ่มควบคุมและกลุ่มที่ได้รับยาทางปากขนาด 0.03, 0.15 และ 0.75 กรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน (ซึ่งเปรียบเทียบได้กับได้รับ 15 และ 25 เท่าของขนาดที่รักษาในคน) ผลคือ ไม่พบพิษทุกกลุ่ม และมีการเจริญเติบโตปกติส่วนการตรวจทางโลหิตวิทยาและชีวเคมีปกติ ก็ไม่พบพยาธิสภาพและจุลพยาธิวิทยาของอวัยวะภายในที่ผิดปกติ แต่เมื่อฉีดสาร emodin และ kaemferol ขนาด 10 มิลลิกรัม เข้าช่องท้องหนูแรทติดต่อกัน 14 วัน หรือฉีดสาร aloe-emodin ขนาด 100 มิลลิกรัม และสาร rhein ขนาด 70 มิลลิกรัม เข้าช่องท้องนาน 4 วัน พบว่าเกิดแผลในตับของหนูทุกกลุ่ม โดยกลุ่มที่ได้รับ aloe-emodin จะพบเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลาย แต่หนูทุกกลุ่มมีระดับฮีโมโกลบิน และ PCV ลดลงภายใน 14 วัน

โครงสร้างเรอิน

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

สำหรับการใช้สารเรอินในรูปแบบของสารสกัดสมุนไพร (crude extract) ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สารสกัดสมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสมและไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้ อีกทั้งการใช้สารเรอิน เป็นยาระบายนั้นอาจมีอาการข้างเคียงได้ เช่น อาจทำให้เกิดอาการปวดมวนท้อง เนื่องจากการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ รวมถึงอาจมีอาการคลื่นไส้และอาหารไม่ย่อยได้ และควรระมัดระวังสำหรับการใช้ในขนาดที่สูงเพราะอาจทำให้เกิดไตอักเสบได้ นอกจากนี้ ห้ามใช้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี และผู้ป่วยที่มีภาวะทางเดินอาหารอุดตัน รวมถึงไม่ควรใช้เป็นยาระบายในสตรีมีครรภ์หรือให้นมบุตรและมีรายงานว่าสาร rhein ผ่านทางน้ำนมได้

เอกสารอ้างอิงเรอิน
  1. ฉัตรชัย สวัสดิไชย, สุรศักดิ์ อิ่มเอี่ยม. ชุมเห็ดเทศ. วารสารศูนย์การศึกษาแพทย์ศาสตร์คลินิก โรงพยาบาลพระปกเกล้า ปีที่ 34. ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม 2560. หน้า 352-355
  2. กันยารัตน์ ชลสิทธิ์, สรินยา จุลศรีไกวัล, ศุภกร จันทร์จอม. ข้อกำหนดทางเคมีและกายภาพของโกศน้ำเต้า. วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปีที่ 57. ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม 2558. หน้า 352-363
  3. ฤทธิ์ต้านอาการแพ้ของสารสกัดน้ำ-เมทานอล และสาร rhein จากใบชุมเห็ดเทศ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  4. จินตนา สุทธชนานนท์ และคณะ. ฤทธิ์ต้านเชื้อราของใบชุมเห็ดเทศ. รวมบทคัดย่องานวิจัยการแพทย์แผนไทยและทิศทางการวิจัยในอนาคต สถาบันการแพทย์แผนไทย, 2543.
  5. ฤทธิ์ปกป้องตับและไตจากการถูกทำลายด้วยยาพาราเซตามอลของสารสกัดสำคัญจากโกฐน้ำเต้า. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  6. เสาวลักษณ์ พงษ์ไพจิตร. ฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ของสารสกัดจากพืชสกุล Cassia sp. รายงานการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2543.
  7. วันดี กฤษณพันธ์  แม้นสรวง วุฒิอุดมเลิศ มัลลิกา ไตรเดช สุภาวี อาชวาคม. การศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อราของสารแอนทราควิโนนจากใบชุมเห็ดเทศ. การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 24,19-21 ตุลาคม ณ. ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์  กรุงเทพฯ, 2541.
  8. นลินี ฉันทรุจิกพงศ์ และคณะ. ศึกษาเปรียบเทียบชุมเห็ดเทศกับ 1% Clotrimazole cream ต่อโรคผิวหนังกลากเกลื้อน. รายงานการวิจัย โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จ.อุบลราชธานี, 2534.
  9. ชุมเห็ดเทศ. ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http:www.thaicrudedrug.com/main.php? action=viewpage&pid=53
  10.  Fuzellier MC, Mortier F, Lectard P. Antifungal activity of Cassia alata L. Ann Pharm Fr 1982;40(4):357-63.
  11.  De Witte P. Metabolism and pharmacokinetics of anthranoids. Pharmacology 1993; 47 (Suppl 1) : 86-97.
  12. Yagi SM, EI Tigani S, Adam SEI. Toxicity of Senna obtusifolia fresh and fermented leaves (Kawal), Senna alata leaves and some products from Senna alata on rats. Phytother Res 1998;12(5):324-30.
  13. Sittisomwong N, Chivapat S, Wangmad A, Chaiyaraj.S, Rungsamon, P, Chuntarachaya C. Toxicity of cassia alata. Bull Dept Med Sci 1991; 33:145-54.
  14. Campbell JM, Cooper RL. The presence of 3,4-benzopremin snuff associated with a high incidence of cancer. Chem Indus 1955:64-5.
  15. Leng-Peschlow E. Dual effect of orally administered sennosides on large intestine transit and fluid absorption in the rat. J Pharm Pharmacol 1986; 38(8) : 606-10.