นุ่น ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

นุ่น งานวิจัยและสรรพคุณ 27 ข้อ

ชื่อสมุนไพร นุ่น
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น งิ้วดอกขาว, งิ้วสร้อย, งิ้วสาย, งิ้วน้อย (ภาคกลาง), งิ้ว (ภาคเหนือ), ต่อเหมาะ (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ceiba pentandra (L.) Gaerth.
ชื่อสามัญ Silk cotton, White silk cottontree, Ceiba
วงศ์ MALVACEAE-BOMBACACEAE


ถิ่นกำเนิดนุ่น

นุ่น จัดเป็นพืชเขตร้อนที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ บริเวณป่าเขตร้อนของประเทศเปรูต่อมาจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังบริเวณใกล้เคียง และได้ถูกนำไปปลูกยังเขตร้อนอื่นๆ ของโลกเช่น ในแอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับในประเทศไทยสามารถพบนุ่น ได้ทั่วทุกภาคของประเทศโดยในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะนิยมปลูกไว้ใช้สอยในครัวเรือนตามหัวไร่ปลายนา ส่วนในภาคกลางและภาคใต้ เช่น กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และนครศรีธรรมราช จะมีการปลูกกันเป็นแบบการค้า


ประโยชน์และสรรพคุณนุ่น

  1. ใช้บำรุงกำหนด
  2. แก้ไข้
  3. แก้บิด บิดเรื้อรัง
  4. แก้ร้อนใน
  5. ช่วยขับปัสสาวะ
  6. ทำให้อาเจียน
  7. แก้หืด
  8. แก้หวัดในเด็ก
  9. แก้นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
  10. แก้อาหารเป็นพิษ
  11. เป็นยาบำรุงกำลัง
  12. แก้ท้องเสีย ท้องร่วง
  13. แก้พิษแมลงป่อง
  14. แก้โรคเบาหวาน
  15. รักษาลำไส้อักเสบ
  16. ใช้เป็นยาระบาย
  17. แก้ระดูขาว
  18. แก้ฟกช้ำ
  19. ใช้พองฝี ให้แตกหนอง
  20. แก้โรคเรื้อน
  21. แก้ไอ
  22. แก้เสียบแหบ
  23. แก้หวัดลงท้อง
  24. แก้ท่อปัสสาวะอักเสบ
  25. แก้เคล็ดบวม
  26. ใช้เป็นยาสมาน
  27. แก้ปวด

           นุ่น ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ หลายประการอาทิเช่น ฝักนุ่นที่ยังอ่อน (เนื้อในผลยังไม่เป็นปุยนุ่น) สามารถนำมาใช้เป็นอาหาร โดยสามารถนำมารับประทานสดๆ หรือ ใส่ในแกง ส่วนชาวกะเหรี่ยง ยังมีการนำช่อดอกอ่อนมาลวกกินกับน้ำพริกอีกด้วย เนื้อไม้ใช้ทำกระสวยทอผ้า ส้นรองเท้า นำมาบดทำไส้ในไม้อัด หรือ นำมาทำเยื่อกระดาษ ขนที่ติดอยู่ที่เมล็ดที่เราเรียกว่า “นุ่น ” สามารถนำมาใช้ยัดหมอน ฟูก เบาะ และที่นอนได้ เมล็ดใช้สกัดทำเป็นนำมันพืช กากที่เหลือก็สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ได้ และไส้นุ่น นำมาใช้เพาะเห็ดฟางได้อีกด้วย

นุ่น

นุ่น

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้เป็นยาแก้ร้อนใน แก้ไข้ แก้บิด บำรุงกำหนัด ขับปัสสาวะ แก้หืด แก้หวัดในเด็ก แก้นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ แก้อาหารเป็นพิษ โดยนำเปลือกต้นนุ่น มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง แก้บิด แก้ท้องเสีย ขับปัสสาวะ แก้ลำไส้อักเสบ โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้โรคเบาหวาน ทำให้อาเจียน โดยนำรากสดมาคั้นเอาน้ำกิน
  • ใช้ขับปัสสาวะ โดยนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำร่วมกับหมาก ลูกจันทน์เทศ และน้ำตาลแล้วนำน้ำที่ได้มาดื่ม
  • ใช้แก้ท่อปัสสาวะอักเสบ โดยนำใบมาตำผสมกับหัวหอม และขมิ้นชัน แล้วผสมกับน้ำดื่ม
  • ใช้เป็นยาพอกฝีให้แตกหนอง โดยนำใบมาเผาไฟผสมกับขมิ้นอ้อย และข้าวสุก ใช้พอกบริเวณที่เป็นฝี
  • ใช้แก้พิษแมลงป่อง โดยนำรากสดมาทุบพอกบริเวณที่โดนต่อย

ลักษณะทั่วไปของนุ่น

นุ่น จัดเป็นไม้ยืนต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบในฤดูแล้ง พุ่มแผ่กว้างบริเวณยอด ลำต้นกลม เปลาตรง ผิวลำต้นสีเขียว สูง 8-30 เมตร มีหนามตามโคนต้น มักแตกกิ่งขนานกับพื้นดิบรอบต้น

           ใบนุ่น ออกเรียงสลับ โดยจะเป็นในประกอบแบบนิ้วมือ ใน 1 ช่อใบจะมีใบย่อยประมาณ 5-11 ใบ และมีก้านช่อใบยาว 8-20 เซนติเมตร ซึ่งลักษณะของใบย่อยจะมีขนาดกว้าง 1-1.5 นิ้ว และยาว 2-5 นิ้ว เป็นรูปขอบขนานแกมใบหอก หรือ รูปหอกเรียวแหลม โคนใบ และปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบเป็นสีเขียว ก้านใบ และเส้นก้านใบเป็นสีแดงอมน้ำตาล มีก้านใบย่อยยาว 0.3-0.5 เซนติเมตร

           ดอกนุ่น ออกเป็นช่อกระจะ บริเวณซอกใบ และปลายกิ่ง โดยจะออกเป็นกระจุกอัดแน่น มีขนาด 2-3.5 เซนติเมตร ใน 1 ช่อจะมีดอกย่อยจำนวนมาก ลักษณะดอกย่อยจะเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 5 กลีบ ยาว 1-1.5 นิ้ว กลีบดอกมีสีขาวแกมเหลือง เชื่อมติดกันที่ฐาน กลีบดอกนอกเป็นสีขาวนวล และมีขน ด้านในสีเหลือง มีเกสรตัวผู้ 5-6 อัน

           ผลนุ่น เป็นรูปนาวรี หรือ รูปกระสวย โคนและปลายผลแหลม เปลือกแข็ง มีสีเขียวแต่เมื่อผลแห้งจะเป็นสีน้ำตาล ผลมีขนาดกว้างประมาณ 2 นิ้ว และยาว 4-5 นิ้ว เมื่อผลแห้งจะแตกออกได้เป็น 5 พู ภายในผลจะมีนุ่นสีขาวเป็นปุยอยู่ และมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดรูปร่างกลม เป็นสีดำ หรือ สีน้ำตาลดำ มีเส้นใยสีขาวคล้ายเส้นไหมยาวหุ้มเมล็ดเป็นปุย

นุ่น

นุ่น

นุ่น

การขยายพันธุ์นุ่น

นุ่น สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด และการปักชำ โดยมีวีการดังนี้

  • การปลูกด้วยกล้าจากเมล็ดให้ทำการเพาะกล้าในกระบะเพาะ หรือ ในถุงพลาสติก จนกล้ามีความสูง 80-150 ซม. หรือ มีอายุ 6-12 เดือน จึงสามารถย้ายลงปลูกในไร่
  • ส่วนการปลูกด้วยกิ่งปักชำ ให้เลือกตัดกิ่งแขนงของกิ่งใหญ่ไปปักชำในแปลงปักชำที่เตรียมดินอย่างดี โดยให้มีระยะห่างกัน ประมาณ 10-15 ซม. และหมั่นรดน้ำดูแลให้ดี ประมาณ 2-4 เดือน ก็สามารถนำไปปลูกในแปลงได้
  • ส่วนในการปลูกควรมีการไถพรวน และปรับพื้นที่เช่นเดียวกับการปลูกไม้ยืนต้นอื่นๆ และควรเตรียมขุดหลุมปลูกขนาด 50x50x50 ซม. และให้เว้นระยะปลูก 6x6 เมตร จนถึง 8x8 เมตร


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดเมทานอลจากส่วนใบ และเปลือกต้นของนุ่น ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญดังนี้ Cleomyscosin A, Heptadecenoic acid, Hexadecanoic acid, a-tocophero, β-sitosterol, Cyanidin 3-O-glucoside, lupenone, β-tocopherol ส่วนสารสกัดเมทานอลจากส่วนผล และรากของนุ่น พบสาร Verbascoside, Tricine, Palmitoleic acid, β-tocopherol, vavain-3'- O - β-D -glucoside, Cinchonaine la, Luteolin-7- O - β -D-glucoside

โครงสร้างนุ่น

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของนุ่น

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดนุ่น จากส่วนต่างๆ ระบุว่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยสามารถลดอาการบวมน้ำที่อุ้งเท้าที่เกิดจากราคาจีแนน ซึ่งมีการทดสอบอาการบวมน้ำที่อุ้งเท้าหลังของหนูทดลองที่เกิดจากคาราจีแนน โดยการให้สารสกัดน้ำจากส่วนใบ และรากในขนาด 200 และ 400 มก./กก. และใช้มาตรฐานยา ASA ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบในขนาด 50 มก./กก. ซึ่งขนาดยาทั้งหมดนี้ถูกให้ 1 ชั่วโมงก่อนฉีดคาราจีแนน 50 ไมโครลิตร (1 มล./กก.;1% ในน้ำเกลือโดยปริมาตร/ปริมาตร) โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนังเข้าทางด้านข้างฝ่าเท้าด้านหลัง และยังมีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยการทดสอบการกำจัดอนุมูลอิสระ DPPH, DPPH พบว่าสารสกัดเมทานอลจากส่วนราก และเปลือกต้นของนุ่น มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดี


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของนุ่น

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้นุ่น เป็นสมุนไพรเพื่อบำบัดรักษาโรคต่างๆ นั้น ควรต้องใช้อย่างระมัดระวัง เช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมตามที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง นุ่น
  1. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “นุ่น”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 400-401.
  2. ขวัญฤทัย คำฝาเชื้อ 2551 พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยงที่ตำบลบ้านจันทร์ และแจ่มหลวง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 271 หน้า
  3. กัณหา บุญพรหมมา. นุ่น....การปลูกและการจัดการ. เอกสารเผยแพร่ประชาสัมพันธ์. กรมส่งเสริมการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  4. นุ่น .ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpag&pid=62
  5. Madhuri S, Pandey G, Verma KS. Antioxidant, immunomodulatory and anticancer activities of Emblica of cinalis: an overview. Int Res J Pharm 2011; 2: 38–42.
  6. Arbonnier M. Arbres, arbustes et lianes d’Afrique de l’Ouest. Éditions Quae, ed. 4ème. Hors Collection: CIRAD Fr, 2019, 775..
  7. Traore TK, Tibiri A, Ouédraogo N et al. Ethnopharmacological plants used to treat hepatitis and their anti-oxidant activity of district of Bobo-Dioulasso (Burkina Faso). Int J Pharmacol Res 2018; 8: 15
  8. Boton F, Debiton E, Yedomonhan H, Avlessi F, Teulade J, Sohounhloue D. α-Glucosidase inhibition, antioxidant and cytotoxicity activities of semi-ethanolic extracts of Bridellia ferruginea benth and Ceiba pentandra L. Gaerth. Res J Chem Sci. 2012;2(12):31-36
  9. Gopa B, Bhatt J, Hemavathi KG. A comparative clinical study of hypolipidemic ef cacy of Amla (Emblica of cinalis) with 3-hydroxy-3-methylglutaryl-coenzyme-A reductase inhibitor simvastatin.  Indian J Pharmacol 2012; 44: 238–42
  10. Belemlilga MB, Traoré TK, Boly GAL et al. Evaluation of antiox-idant, anti-in ammatory and analgesic activities of leaves of Saba senegalensis (ADC) Pichon (Apocynaceae). Eur J Med Plants 2019; 27: 1–12