ฟักเขียว ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ฟักเขียว งานวิจัยและสรรพคุณ 28ข้อ
ชื่อสมุนไพร ฟักเขียว
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ฟัก,แฟง,ฟักขาว,ฟักแผง,ฟักจีน,ฟักหอม(ภาคกลาง),มะฟักหม่น,มะฟักขี้หมู,ฟักหม่น(ภาคเหนือ),บักฟัก(ภาคอีสาน),ขี้พร้า(ภาคใต้),หลู่สะ,หลู่ซะ(กะเหรี่ยง),ตังกวย(จีน) หมากปักหม่น (ไทยใหญ่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Benincasa hispida (Thunb.) Cogn.
ชื่อสามัญ wax gourd, Ash gourd , Chinese Watermalon
วงศ์ Cucurbitaceae
ถิ่นกำเนิดฟักเขียว
ฟักเขียวเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของฟักอยู่ในเขตร้อน (tropical) แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นที่ใด เพราะพบขึ้นอยู่ตามทวีปเอเชีย แอฟริกา และอเมริกา มีการคาดการณ์กันว่าเหตุที่พบอยู่ทั่วไปทั้งสามทวีปนั้นอาจเกิดจากมนุษย์ในยุคดึกดำบรรพ์ นำจากแหล่งกำเนิดดั้งเดิมไปปลูกในที่ต่างๆ ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับพืชอีกหลายชนิดที่ยังไม่ทราบแหล่งกำเนิดดั้งเดิม แต่ในปัจจุบันพบว่ามีการปลูกกันมากบริเวณทวีเอเชีย เช่นใน ไทย พม่า ลาว กัมพูชา อินเดีย บังคลาเทศ จีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยเชื่อกันว่าฟักเขียวเข้ามาในไทยเมื่อนานมาแล้ว เพราะปรากฏหลักฐานการกล่าวถึงฟักเขียวในคำให้พรในพิธีลงอู่ของเด็กไทยในสมัยก่อน ส่วนในปัจจุบันสามารถพบเห็นฟักเขียวได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคกลางที่นิยมนำมาบริโภค โดยจะพบเห็นได้ตามบ้านเรือนทั่วไป ท้องไร่ท้องนา หรือตามที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป
ประโยชน์และสรรพคุณฟักเขียว
- แก้โรคบิด
- แก้ฟกช้ำ
- แก้ร้อนในกระหายน้ำ
- แก้บวมอักเสบมีหนอง
- แก้พิษผึ้งต่อย
- ช่วยรักษาบาดแผล
- แก้ธาตุพิการ
- ช่วยขับปัสสาวะ
- ช่วยขับเสมหะ
- แก้ไอ
- แก้หลอดลมอักเสบ
- แก้โลหิตเป็นพิษ
- แก้ไข้
- แก้ริดสีดวงทวาร
- แก้โรคทางเดินปัสสาวะ
- แก้ตกขาว
- ช่วยละลายเสมหะ
- แก้ไตอักเสบ
- ช่วยบำรุงผิว
- แก้อาเจียนเป็นโลหิต
- แก้ฝีที่เต้านม
- ช่วยขับพยาธิ
- ช่วยเพิ่มพลังเพศ
- เป็นยาระบาย
- ใช้รักษาโรคชัก
- แก้โรคปอดและหอบหืด
- โรคเส้นประสาท
- รักษาโรคเบาหวาน
ลักษณะทั่วไปฟักเขียว
ฟักเขียวจัดเป็นไม้เถาเลื้อยตระกูลแตง เช่นเดียวกันกับมะระจีน บวบเหลี่ยม หรือแตงกวา มีลำต้นเป็นเถาแข็งแรง เลื้อยไปตามพื้นหรือค้างยาวหลายเมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก ลำต้นหรือเถามีสีเขียวและมีขนค่อนข้างแข็งขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วต้น ขนมีสีเหลืองอมเทา ใบออกเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับตามข้อของเถา มีลักษณะเป็นหยักหรือเป็นเหลี่ยม แยกออกเป็น 5-7แฉก ปลายใบแหลม ขอบใบหยัก โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจเป็นสีเขียวเข้ม ใบมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10-20 เซนติเมตร และมีก้านใบ 5-10 เซนติเมตร ผิวใบหยาบ มีขนปกคลุมทั้งสองด้าน ใบมีสีเขียวเข้ม ดอกเป็นดอกเดี่ยวออกตามข้อเถา เช่นเดียวกับใบซึ่งดอกมีสีเหลืองรูปแตร มีขนาด 6-15 เซนติเมตร กลีบดอกเป็นรูปไข่กลับ ยาว 3-5 เซนติเมตร ทั้งนี้ดอกตัวผู้และเมียอยู่กันคนละดอก แต่อยู่ในเถาเดียวกัน ผลเป็นรูปกลมยาว หรือเป็นรูปไข่แกมขอบขนานหรืออาจเป็นทรงกลม แต่โดยพันธุ์พื้นเมืองทั่วไป ผลมีความกว้างประมาณ 20-30เซนติเมตรและยาวประมาณ 30-60 เซนติเมตร ผลอ่อนมีขนผิวผลสีเขียว ส่วนผลแก่ผิวนอกมีนวลเป็นแป้งสีขาวเคลือบอยู่ เปลือกแข็งมีสีเขียว เนื้อด้านในแน่นหนา ฉ่ำน้ำมีสีขาวปนเขียวอ่อน เนื้อตรงกลางฟูหรือพรุน และมีเมล็ดสีขาวอยู่แกนกลางจำนวนมาก เมล็ดเป็นรูปไข่ เมล็ดแบน มีสีขาวกว้างประมาณ 0.5-1เซนติเมตร และยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ผิวเรียบ
การขยายพันธุ์ฟักเขียว
ฟักเขียวสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด โดยเป็นพืชที่สามารถขยายพันธุ์ได้ง่ายมากเพียงแต่หว่านเมล็ดลงพื้นทั่วไปก็สามารถงอกขึ้นมาได้แล้ว แต่หากจะปลูกในแปลง เพื่อนำไปขายสามารถทำได้โดยไถดินลึกประมาณ 25-30 เซนติเมตร ตากดินทิ้งไว้ 1-2 อาทิตย์แล้วย่อยหั่นให้ละเอียด หว่านปูนขาวประมาณ 100-300 กิโลกรัม/ไร่ ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 2,000-2,500 กิโลกรัม/ไร่ ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 30-50 กิโลกรัม/ไร่ คลุกเคล้าให้เข้ากันส่วนวิธีปลูกทำได้โดยหยอดเมล็ด 2-3 เมล็ด ต่อหลุม ลึกประมาณ 3-5 เซนติเมตร แล้วกลบหลุมหรือคลุมด้วยฟางแห้ง เพื่อรักษาความชื้นของดิน และรดน้ำสม่ำเสมอทุกวัน เมื่อต้นกล้ามีอายุ 10-14 วัน หรือมีใบจริง 2-4 ใบ ควรถอนแยกเหลือ 2 ต้นต่อหลุม ทั้งนี้ควรเว้นระยะห่างแถว 1-1.5 เมตร ระหว่าต้น 2-2.5 เมตร เมื่อฟักเริ่มเลื้อยหรือมีอายุประมาณ 15-20 เมตร ควรทำค้างเพื่อให้เลื้อยเกาะขึ้นไปโดยปักไม้ทำค้างยาว 2-2.50 เมตร แล้วเอนปลายเข้าหากัน จากนั้นใช้ไม้ค้างพาดขวางประมาณ 2-3 ช่วง ช่วงละ 40-50 เซนติเมตร เพื่อให้เหมาะสมและสะดวกต่อการทำ และควรหาที่รองผลฟักเพื่อกันไม่ให้ฟักเน่าเพราะโรคหรือแมลงทำลาย หลังจากปลูกได้ประมาณ 60-70 วัน หรือสังเกตได้จากผลว่าเริ่มมีไขสีขาวจับผลก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ โดยใช้มีดคมๆตัดที่ขั้วของผล ควรเหลือขั้วติดไว้ด้วย เพื่อช่วยให้เก็บรักษาได้นานขึ้น
องค์ประกอบทางเคมี
มีการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีในฟักเขียว พบว่าส่วนต่างๆของฟักเขียวมีสาระสำคัญดังนี้ ในผลพบสาร Stigmasterol , daucosterol , β-sitosterol , flavonoid , cucurbitacin , uronic acid ในเมล็ดพบสาร Oleic acid , liroleic acid , palmitic acid และ steaeric acid ในดอกพบสาร β-carotene เป็นต้น
นอกจากนี้ฟักเขียวยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้
คุณค่าทางโภชนาการของฟักเขียวสด (100 กรัม)
- พลังงาน 13 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 3 กรัม
- เส้นใย 2.9 กรัม
- ไขมัน 0.2 กรัม
- โปรตีน 0.4 กรัม
- วิตามินบี 1 0.040มิลลิกรัม
- วิตามินบี 2 0. 110มิลลิกรัม
- วิตามินบี 3 0.4 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 5 0.133 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 6 0.035 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 13 มิลลิกรัม
- แคลเซียม 19 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 0.4 มิลลิกรัม
- แมกนีเซียม 10 มิลลิกรัม
- แมงกานีส 0.058 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 19 มิลลิกรัม
- โพแทสเซียม 111 มิลลิกรัม
- สังกะสี 0.61 มิลลิกรัม
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- แก้ไตอักเสบบวมน้ำ โดยใช้เปลือกฟัก 120 กรัม หนวดข้าวโพด 30 กรัม ต้มกิน โดยแบ่งน้ำที่ต้มได้เป็น 3 ส่วน ใช้กิน 3 เวลา
- รักษาเบาหวาน โดยต้มฟักที่ปลอกเปลือกแล้ว ต้มน้ำกินครั้งละ 60-90 กรัมเป็นประจำ จะทำให้เบาหวานลดลง
- แก้เบาขัดในสตรีระหว่างตั้งครรภ์ นำฟักเขียวมาคั้นเอาน้ำ 1 แก้ว ผสมน้ำผึ้งให้พอมีรสหวาน ดื่มบ่อยๆ
- ไออักเสบเรื้อรัง ใช้เมล็ดฟัก 15-30 กรัม ต้มกินน้ำ
- แก้ร้อนใน ไข้สูง หรือไตอักเสบเรื้อรัง ใช้ฟักเขียว 500 กรัม ต้มน้ำให้ได้ประมาณ 3 แก้ว แบ่งกิน 3 ครั้ง ใน 1 วัน
- แก้ระดูขาว โดยใช้เมล็ดฟัก 30 กรัม บดเป็นผง เติมน้ำตาลกรวด 30 กรัม ตุ๋นกินวันละ 2 ครั้ง
- แก้ริดสีดวงทวาร และอาการอักเสบเจ็บบริเวณทวารหนัก โดยต้มฟักแล้วเอาน้ำล้างบริเวณที่เป็นจะลดการอักเสบได้
- เอวแก้ฟกช้ำบวมเคล็ด โดยใช้เปลือกฟักผิงไฟให้แห้ง บดเป็นผงผสมเหล้ากินครั้งละ 6 กรัมจะช่วยลดความเจ็บปวดได้
- ใบช่วยแก้พิษจากการถูกผึ้งต่อย
- ใช้ลบเลือนรอยด่างดำบนใบหน้า โดยใช้ไส้ในผลสด 30-60 กรัม นำมาต้มหรือคั้นเอาแต่น้ำชโลมบนใบหน้าทิ้งไว้ 3-5 นาทีแล้วล้างออก
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
ฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร มีการศึกษาผลของสารสกัดผลฟักเขียวด้วยเมทานอลในหนูถีบจักร โดยเหนี่ยวนำให้เกิดแผลด้วยกรดเกลือผสมกับอัลกอฮอล์ (0.3 M HCl และ ethanol 60%) indomethacin HCl/อัลกอฮอล์ และแอสไพริน พบว่าสารสกัดดังกว่างสามารถป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ โดยลดการสูญเสียเยื่อเมือก และลดการเกิดแผล
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยในประเทศเกาหลี โดยเป็นการทดสอบฤทธิ์ต้านการสร้างหลอดเลือดจากสารสกัดเมล็ดของฟักเขียวผลปรากฏว่าสารสกัดเมล็ดฟักเขียวลดการแบ่งตัวของเซลล์และการสร้างหลอดเลือด ชนิดที่ต้องการสารกระตุ้นการเจริญจากไฟโบรบลาสต์ (basic fibroblast growth factor bFGF) โดยแปรผันตามความเข้มข้นสารสกัด โดยสารสกัดดังกล่าวไม่มีพิษต่อเซลล์ปกติ นอกจากนั้นแล้วสารสกัดเมล็ดฟักเขียวยังแสดงผลหยุดยั้งการสร้างหลอดเลือดชนิดที่ต้องการ bFGF ในสัตว์ทดลองอีกด้วย
งานวิจัยในประเทศจีน มีการศึกษาฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่นและฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์สร้างแอนจิโอเทนซิน (angiotensin-converting enzyme ACE) ของเนื้อผล ไส้ เมล็ดและเปลือกฟักเขียวด้วยการสกัดต่างวิธี
ผลปรากฏว่าสารสกัดจากเมล็ดมีสารต้านออกซิเดชั่นของกรดไลโนเลอิกมากที่สุด และพบน้อยสุดในเนื้อผล นอกจากนี้สารสกัดเมล็ดยังลดอัตราออกซิเดชั่นของไขมันชนิดไม่ดี (low-density lipoprotein = LDL) และยับยั้งฤทธิ์เอนไซม์สร้างแอนจิโอเทนซิน ได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับสารสกัดจากส่วนอื่นของผลฟัก คาดว่าผลเหล่านี้เนื่องมาจากเมล็ดฟักมีสารประกอบฟีนอลและมีฤทธิ์เอนไซม์ซูเปอร์ออกไซด์ดิสมิวเตสมากกว่าในส่วนอื่นของผล
การศึกษาทางพิษวิทยา
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- เนื่องจากฟักเขียวเป็นผักธาตุเย็น ตามตำรายาแพทย์แผนไทย ดังนั้นผู้ที่มีภาวะเลือดเย็นหรือหยางพร่องไม่ควรรับประทานฟักเขียว
- วิธีการเลือกซื้อฟักเขียวควรเลือกฟักที่มีเนื้อแข็ง ส่วนเนื้อภายในของฟักควรเลือกที่มีขอบของเยื่อเป็นสีเขียวเข้มแล้วค่อยๆจากลงไปถึงตรงกลาง
เอกสารอ้างอิง
- เดชา ศิริภัทร.ฟัก.ผักเนื้อเย็นผิวนวลใย.คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่208.สิงหาคม2539
- เต็ม สมิตินันท์.2523.ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย(ชื่อพฤกษศาสตร์-ชื่อพื้นเมือง).กรมป่าไม้ 379 หน้า.
- ฟักยักษ์(ฟักเขียว).แผ่นพับข่าวประชาสัมพันธ์ปีที่4ฉบับที่1ประจำเดือนมกราคม2555.ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดเชียงใหม่(พืชสวน).กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม.2531.พจนานุกรมสมุนไพรไทย.880หน้า.
- รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ.ฟักช่วยย่อยอาหารและบำรุงร่างกาย.คอลัมน์บทความพิเศษ.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่349.พฤษภาคม2551
- ฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของฟัก.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข.2542 ผักพื้นบ้านภาคกลาง279หน้า.