คนทีเขมา ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นและข้อมูลงานวิจัย
คนทีเขมา งานวิจัยและสรรพคุณ 36 ข้อ
ชื่อสมุนไพร คนทีเขมา
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น คนที (ภาคตะวันออก), โคนดินสอ, ดินสอดำ, ผีเสื้อดำ (ภาคกลาง), คนทีสอดำ (ภาคเหนือ), กูนิง, กุโนกามอ (มลายู), หวงจิง, อึ่งเกง (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Vitex negundo Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Vitex arborea Desf., Vitex sinuata Medik., Vitex spicata Lour., Vitex chinensis Mill., Vitex elmeri Moldenke, Vitex gracilis Salisb., Vitex incisa Lam., Vitex paniculata Lam., Vitex laciniata Schauer., Vitex nogondo, Agnus-castus incisa (Lam.) Carrière, Agnus-castus negundo (L.) Carrière
ชื่อสามัญ Negundo chest nut, Chinese chaste, Five-leaved chaste tree, Indian privet.
วงศ์ LAMIACEAE
ถิ่นกำเนิดคนทีเขมา
คนทีเขมา เป็นพันธุ์พืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในทวีปอเมริกา โดยจัดเป็นพรรณไม้พื้นเมืองของทวีปเลยทีเดียว (แต่อีกข้อมูลหนึ่งระบุว่าถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของคนทีเขมาอยู่ในทวีปแอฟริกาด้านตะวันออก) จากนั้นจึงได้มีการกระจายพันธุ์ไปยังเขตอบอุ่น และเขตร้อนทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศที่ระดับความสูง 200-2000 เมตร จากระดับน้ำทะเล
ประโยชน์และสรรพคุณคนทีเขมา
- แก้ไข้
- แก้ฟกบวม
- แก้ริดสีดวง
- แก้ลมเสียดแทงปวดท้อง
- แก้พยาธิ
- แก้ท้องเสีย
- รักษาไข้หวัด
- ช่วยขับปัสสาวะ
- ขับเสมหะ
- แก้โรคกระเพาะอาหาร
- รักษาบิด
- รักษาไข้มาลาเรีย
- แก้เจ็บคอ
- แก้หูอื้อ
- แก้ลำไส้อักเสบ
- แก้ไข้มาลาเรีย
- แก้ดีซ่าน
- แก้กลาก เกลื้อน
- แก้ไข้ป่า
- แก้เหน็บชา
- แก้ฝี
- ช่วยขับเหงื่อ
- แก้หวัด
- แก้เชื้อราที่เท้า
- แก้ไอ
- ช่วยถอนพิษสาหร่ายทะเล
- รักษาอาการปวดศีรษะ
- รักษาปวดท้องโรคกระเพาะ
- แก้เยื่อจมูกอักเสบ
- แก้หอบหืด
- แก้ปวดข้อ
- แก้เหน็บชา
- รักษาแผลพุพองจากไฟไหม้
- รักษาบาดแผลจากของมีคม
- รักษาตะขาบกัด
- รักษาแผลในกระเพาะอาหาร
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้แก้ลม ขับเหงื่อ แก้หวัด แก้ไอ ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ แก้โรคกระเพาะอาหาร ขับพยาธิเส้นด้าย โดยใช้รากต้มคนทีเขมา กับน้ำดื่ม ใช้แก้ลมเสียดแทง ปวดท้อง แก้ไข้ ขับพยาธิ โดยใช้เปลือกต้นแห้งต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ไข้หวัด ขับเสมหะ แก้บิด แก้มาลาเรีย แก้เจ็บคอ หูอื้อ ลำไส้อักเสบ แก้ดีซ่าน โดยใช้ใบมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้หอบหืด โดยใช้ผลแห้ง 50 ลูก หรือ 6-15 กรัม บดเป็นผงแล้วเติมน้ำตาลทรายจำนวนพอควร ชงน้ำกินวันละ 2 ครั้ง ใช้แก้ไข้รากสาดน้อย และไอ ไข้ป่า แผลในกระเพาะ แก้เหน็บชาโดยนำผล 3-10 กรัม มาคั่ว อย่าให้ไหม้ (เพราะจะทำลายฤทธิ์ของยา) แล้วต้มน้ำกิน ใช้รักษาปวดท้องโรคกระเพาะ โดยใช้ผลแห้ง 3-10 กรัม บดเป็นผง ปั้นเป็นเม็ดกิน ใช้แก้ปวดข้อ โดยใช้กิ่งสด 15 กรัม ต้มน้ำ แบ่งกินเช้า-เย็น ใช้ขับพยาธิเส้นด้าย โดยใช้รากสด 30 กรัม หั่นเป็นชิ้นบางๆ แล้วนำไปคั่วกับเหล้าหวานจนเป็นสีเหลือง ใส่น้ำ 2 ถ้วย ต้มให้เหลือ 1 ถ้วย กินก่อนอาหารค่ำ ใช้แก้ไข้มาลาเรีย โดยใช้ใบสด 180 กรัม เติมน้ำพอท่วมแล้วต้มด้วยไฟอ่อนๆ เคี่ยวให้ข้น จนเหลือประมาณถ้วยครึ่ง แบ่งกินครึ่งหนึ่งก่อนมีอาการ หลังจากนั้น 2 ชั่วโมง กินส่วนที่เหลือ หรือ ใช้รากสด 30 กรัม ต้มน้ำกินก่อนมีอาการ 3 ชั่วโมง ใช้รักษาไข้หวัด ลำไส้อักเสบ บิดไม่มีตัว โดยใช้ใบสด 35-40 ใบ หรือ 10 กรัม ต้มกับน้ำ 3 ถ้วย เคี่ยวให้เหลือถ้วยครึ่ง แบ่งกินวันละ 3 ครั้ง ใช้รักษาเชื้อราที่เท้า โดยใช้ใบสดตำละเอียดพอกบริเวณที่เป็น ใช้รักษาแผลพุพองจากไฟไหม้ โดยนำกิ่งแห้งมาคั่ว อย่าให้ไหม้ บดเป็นผงผสมน้ำมัน ทาบริเวณแผล ใช้รักษาบาดแผลจากของมีคม หรือ ตะขาบกัดโดยใช้ใบสดตำละเอียดพอกบริเวณที่เป็น
ลักษณะทั่วไปของคนทีเขมา
คนทีเขมา จัดเป็นไม้พุ่มกึ่งพลัดใบ ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านมากความสูงประมาณ 3-6 เมตร ลำต้นเป็นสีเทาปนน้ำตาล ผิวลำต้นบาง กิ่งอ่อนมีสีเทาลักษณะเป็นเหลี่ยม มีขนอ่อนขึ้นปกคลุม ส่วนของกิ่ง ก้าน และใบมีกลิ่นหอม รากเป็นสีเหลือง ส่วนเนื้อในรากเป็นสีขาว ใบ เป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ ออกเรียงตรงกันข้าม ใน 1 ช่อใบ จะมีใบย่อย 5 ใบ ซึ่งลักษณะของใบคล้ายรูปหอก หรือ รูปไข่ รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง 1-4 เซนติเมตร ยาว 4-13 เซนติเมตร ปลายใบยาวแหลม ขอบใบเรียบหรืออาจจะหยักเล็กน้อย หลังใบสีเขียวเข้ม ท้องใบมีสีขาว และมีขนอ่อนปกคลุม โดยใบย่อยทั้ง 5 ใบ นั้นใบกลางจะมีขนาดใหญ่ที่สุด ส่วนใบข้างทั้ง 2 ด้าน จะลดลงตามลำดับ ดอกออกเป็นช่อแบบแยกแขนงบริเวณปลายกิ่ง หรือ ตามซอกใบ โดยช่อดอกจะยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ส่วนดอกย่อยมีขนาดเล็ก และมีจำนวนมาก มีกลิ่นหอมอ่อนๆ กลีบดอกเป็นสีขาวแกมม่วงอ่อนหรือสีเหลืองอ่อน กลีบดอกแตกออกเป็น 5 แฉกแบ่งเป็นปากบน 3 แฉก ปากล่าง 2 แฉกมีขนาดไม่เท่ากัน และมีขนขึ้นปกคลุมเล็กน้อยส่วนโคน ดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย และมีกลีบรองดอกเชื่อมกันเป็นถ้วย ปลายแยกเป็น 5 แฉก ดอกย่อยแต่ละดอกจะมีเกสรเพศผู้ 4 อัน ผลเป็นผลสดลักษณะรูปกลมรี แห้งเปลือกแข็ง สีน้ำตาล มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5 มม. ภายในผลมีเมล็ดเล็กๆ 1 เมล็ด
การขยายพันธุ์คนทีเขมา
คนทีเขมา เป็นพันธุ์ไม้ที่เลี้ยงง่ายโตเร็ว และยังสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การเพาะเมล็ด การตอนกิ่งหรือการปักชำ ซึ่งกระบวนการและวิธีการขยายพันธุ์ คนทีเขมาทั้ง 3 วิธีนั้น สามารถทำได้ เช่นกันกับการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และการปักชำ ไม้พุ่มชนิดอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆรวมถึงน้ำมันหอมระเหยของคนทีเขมา ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญดังนี้
ราก พบสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ได้แก่ vitexoside สารกลุ่ม lignans (phenyl dihydronaphthalene type) ได้แก่ vitrofolal E และสารกลุ่ม ฟูราโนเอเรโมฟิเลนได้แก่ β-carophyllene, β-salinene
เปลือกต้น พบสารกลุ่มไกลโคไซด์ ได้แก่ leucocyanidin-7-O-rhamnoglucoside และสารกลุ่มฟีนอล ได้แก่ vanillic acid สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ได้แก่ luteolin, leucoanthocyanidin
แก่น พบสารกลุ่ม triterpeneได้แก่ epifriedelinol, β-amyrin
ใบ พบอัลคาลอยด์ ได้แก่ nishindine สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ได้แก่ gardenin A, gardenin B, corymbosin, vitexicarpin, casticin, artemitin, 5-hydroxy 3,6,7,3’4 pentamethoxy flavone, 4,4-dimethoxy trans stilbene (stilbene derivative), acerosine 5,6,7,8,3’, 4’, 5’ heptamethoxy flavone, 5-O- desmethoxynobieletin flavone, สารกลุ่มไกลโคไซด์ ได้แก่ luteolin-7-glucoside สารกลุ่ม iridoid glycoside ได้แก่ agnuside, lagundinin, aucubin, nishandaside, 2-p-hydroxybenzoyl mussaenosidic acid, 4’,5,7-trihydroxy-3’-O-β-D-glucuronic acid-6”-methyl ester, negundoside สารกลุ่มฟีนอล ได้แก่ linalool สารกลุ่ม เซสควิเทอปีน ได้แก่ citral, α-pinene, camphene, sabinene สารกลุ่ม ฟูราโนเอเรโมฟิเลน ได้แก่ virdiflorol สารกลุ่ม furanoeremophilane ได้แก่ α-cedrene สารกลุ่ม diterpene ได้แก่ vitexilactone สารกลุ่ม ไตราเทอร์ปีนได้แก่ friedelin, betulinic acid, ursolic acid ดอก พบ monoterpene ได้แก่ p-cymene สารกลุ่ม ฟูราโนเอเรโมฟิเลนได้แก่ nerolidol, valencene,germacren-4-ol เมล็ด พบสารกลุ่ม สิกแนน (phenyl dihydronaphthalene type) ได้แก่ vitedoin A, vitedoamine A, vitexdoin A, vitexdoin B-E (phenylnaphthalene type), negundin A, vitedoamine B, negundin B สารกลุ่ม ไดเทอร์ปีน ได้แก่ negundol, itedoin C (trinorlabdane type) ผล พบสารกลุ่ม ฟูราโนเอเรโมฟิเลนได้แก่ germacrene D, nerolidol, valencene ส่วนน้ำมันระเหย จากส่วนของใบผลและเมล็ดพบสาร L-Sabine, Camphene, Nishindine, Cineole ,Casticin, Luteolin-7-glucoside และ Pinene เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของคนทีเขมา
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยา สารสกัดคนทีเขมา จากส่วนต่างๆ รวมถึงน้ำมันหอมระเหยจากส่วนต่างๆ ของคนทีเขมาระบุว่ามีฤทธิ์ต่างๆ ดังนี้
ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีการศึกษาวิจัยสารสกัดเมทานอลจากใบ คนทีเขมาพบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH ในหลอดทดลอง โดยมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งได้ร้อยละ 50 (EC50) เท่ากับ 18.70 μg/ml (สารมาตรฐานวิตามินซี EC50 เท่ากับ 2.85 μg/ml)
ฤทธิ์ต้านอาการข้ออักเสบ มีการศึกษาฤทธิ์รักษาข้ออักเสบของสารสกัดมาตรฐาน 80% เอทานอลจากเมล็ดคนทีเขมา (Vitex negundo L.) ในหนูแรทที่ข้ออักเสบจากการกระตุ้นด้วย Freund’s complete adjuvant พบว่าเมื่อป้อนสารสกัดเอทานอลจากเมล็ดคนทีเขมา (EVNS) ซึ่งประกอบด้วยสารลิกแนนชนิด phenylnaphthalene ให้หนูแรทกิน วันละ 85 หรือ 340 มก./น้ำหนักตัว 1 กก. ติดต่อกัน 28 วัน พบว่าช่วยยับยั้งอาการบวมของอุ้งเท้า ลดค่า arthritis score และ spleen index รวมทั้งเพิ่มน้ำหนักของหนูแรท และเมื่อตรวจสอบลักษณะทางพยาธิวิทยาพบว่าการอักเสบของเยื่อหุ้มข้อ (synvial inflammatory infiltration) และการเพิ่มจำนวนของเซลล์เยื่อบุข้อ (synvial lining hyperplasia) ลดลงในหนูแรทที่ได้รับ EVNS ควบคู่ไปกับการลดไซโตคายน์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ ได้แก่ tumor necrosing factor-alpha (TNF-α), interleukin-1-beta (IL-1β) และ interleukin-6 (IL-6) และเพิ่มระดับ interleukin-10 (IL-10) ซึ่งเป็นไซโตคายน์ต้านการอักเสบขึ้น นอกจากนี้ EVNS ยังยับยั้งการแสดงออกของเอนไซม์ที่ก่อการอักเสบ cyclooxygenase-2 (COX-2) และ 5-lipoxygenase (5-LOX) บนเม็ดเลือดแดงด้วย แสดงให้เห็นว่าสารสกัดมาตรฐาน 80% เอทานอลจากเมล็ดคนทีเขมามีศักยภาพในการรักษาข้ออักเสบโดยลดระดับสารก่อการอักเสบ TNF-α, IL-1β และ IL-6 และเพิ่มปริมาณสารต้านการอักเสบ IL-10 ร่วมกับการลดระดับเอนไซม์ COX-2 และ 5-LOX ซึ่งเกี่ยวข้องกับการก่อการอักเสบลง
ฤทธิ์ต้านเชื้อ HIV มีการทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ HIV-1 reverse transcriptase (RT) ซึ่งเป็นเอนไซม์เป้าหมายในการรักษาโรคเอดส์ ของสารสกัด 85% เอทานอล จากใบคนทีเขมา โดยใช้ชุดทดสอบ non-radioactive HIV-RT colorimetric ELISA ซึ่งผลการทดสอบพบว่าสารสกัดขนาด 200 μg/ml มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ HIV-1 RT ได้อย่างมีนัยสำคัญที่ 92.8% ทั้งนี้ฤทธิ์ต้าน HIV อาจเป็นผลมาจากสาร kaempferol, quercetin และ myricetin ที่พบปริมาณมากในสารสกัด
ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดด้วย มีการศึกษาเปรียบเทียบฤทธิ์ของสาร iridoid glucoside จากส่วนของต้นคนทีเขมา กับยารักษาเบาหวานแผนปัจจุบัน คือ glibenclamide ในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำเป็นเบาหวานด้วย streptozotocin พบว่าหนูแรทที่ได้รับ iridoid glucoside ขนาด 50 มก./กก.น้ำหนักตัว ติดต่อกันเป็นเวลา 30 วัน มีปริมาณน้ำตาล และ glycosylated hemoglobin ลดลง ส่วนปริมาณอินซูลิน และฮีโมโกลบินในเลือดก็เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยพบว่า iridoid glucoside มีผลเพิ่มปริมาณเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสลายน้ำตาล และการสร้างไกลโคเจนในตับ รวมทั้งยับยั้งเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างน้ำตาลได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังพบว่า iridoid glucoside ช่วยลดไขมันในเลือด โดยลดระดับคอเลสเตอรอลรวม ไตรกลีเซอร์ไรด์ คอเลสเตอรอลชนิด LDL และคอเลสเตอรอลชนิด vLDL และเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิด HDL ได้อย่างมีนัยสำคัญ อีกมั้งยังลดการทำงานของเอนไซม์ aspartate aminotransferase และ alanine aminotransferase ในตับ ลดปริมาณยูเรีย และ creatinine ในเลือดลง ช่วยป้องกันการลดลงของน้ำหนักในหนูแรทที่เป็นเบาหวานได้อีกด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสาร iridoid glucoside จากใบคนทีเขมาสามารถออกฤทธิ์ได้หลากหลายกว่าการให้ยา glibenclamide เพราะนอกจากจะช่วยลดน้ำตาลแล้วยังช่วยลดไขมันในเลือดในหนูที่เป็นเบาหวานได้
ฤทธิ์ปกป้องตับ มีการทดสอบฤทธิ์ปกป้องตับของสารสกัด ethanol จากเมล็ดคนทีเขมา โดยใช้สาร carbon-tetrachloride ในการเหนี่ยวนำให้เกิดความเป็นพิษต่อตับในหนูทดลอง ผลการทดสอบพบว่าสารสกัด ขนาด 250 mg/kg (1/6 of LD50) มีประสิทธิภาพในการปกป้องตับ ส่วนการทดสอบฤทธิ์ปกป้องตับของสารสกัด ethanol ของคนทีเขมาโดยใช้ thioacetamide เหนี่ยวนำให้เกิดพังผืดในตับของหนูแรทเพศผู้เป็นเวลา 12 สัปดาห์ เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน silymarin ขนาด 100 mg/kg และ 300 mg/kg ของน้ำหนักตัว พบว่าสารสกัดสามารถปกป้องความเป็นพิษต่อตับที่เกิดยาการเหนี่ยวนำด้วยยาได้เทียบเท่ากับยามาตรฐาน
นอกจากนี้ยังมีการทดสอบฤทธิ์ปกป้องตับในหนูของสารสกัด ethanol จากใบคนทีเขมา โดยใช้ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย เป็นสารเหนี่ยนำให้เกิดพิษต่อตับ ได้แก่ isoniazid, rifampin และ pyrazinamide ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดขนาดที่มีประสิทธิภาพในการปกป้องตับ คือ 250 และ 500 mg/kg ซึ่งยืนยันผลทดสอบทางห้องปฏิบัติการโดยใช้ชิ้นเนื้อตับ และตรวจวัดระดับเอนไซม์ตับ พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ปกป้องตับโดยยับยั้ง lipid peroxidation และทำให้เกิดความสมดุลของระดับแคลเซียมภายในเซลล์ รวมถึงยับยั้ง calcium-dependent proteases ได้อีกด้วย
โดยสรุปสารสกัดจากคนทีเขมา สามารถนำมาพัฒนาเพื่อใช้เป็นยาปกป้องตับ จากความเป็นพิษที่เหนี่ยวนำด้วยยาชนิดต่างๆ ได้
ฤทธิ์แก้ปวด มีการศึกษาวิจัยน้ำมันหอมระเหยจาก ใบ และส่วนอื่นๆ ของคนทีเขมาพบว่ามีฤทธิ์ลดอาการปวดในสัตว์ทดลองผ่านระบบประสาทส่วนกลาง และระบบประสาทส่วนปลายได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ยังพบว่าขนาดของสารสกัดที่ต่ำกว่าขนาดที่ใช้รักษาจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของยาแก้ปวด เช่น aspirin, meperidine ฯลฯ จึงอาจใช้ร่วมกับยาแก้ปวดเพื่อเสริมฤทธิ์กันได้
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของคนทีเขมา
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของคนทีเขมา ระบุว่า จากการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลัน โดยการป้อนสารสกัด ethanol จากใบคนทีเขมาให้แก่หนูแรท โดยพบว่ามีค่า LD50 เท่ากับ 7.58 g/kg จึงสรุปได้ว่าไม่พบความเป็นพิษเฉียบพลัน ส่วนรายงานการทดสอบความเป็นพิษอีกฉบับหนึ่งพบว่า เมื่อฉีดสารสกัด ethanol และน้ำ (1:1) ของส่วนเหนือดิน เข้าช่องท้องของหนูถีบจักร พบว่าขนาดที่ทำให้หนูตายครึ่งหนึ่ง มีมากกว่า 1 กรัม/กิโลกรัม
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สำหรับการใช้คนทีเขมาเป็นสมุนไพรควรระมัดระวังในการใช้ เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ นอกจากนี้ในตำรายาจีนได้ระบุไว้ว่าห้ามใช้คนทีเขมา ในผู้ที่มีภาวะพร่อง (ผู้ที่มีสีหน้าซีด ขาว ผอมแห้ง อิดโรค อ่อนเพลีย ไม่มีแรง และหายใจตื้น)
เอกสารอ้างอิง คนทีเขมา
- ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “คนทีเขมา”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพร ไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 202-203.
- ผศ.สุนทรี วิทยานารถไพศาล. คนทีเขมา. คอลัมน์อื่นๆ. นิตยสารหมอชาวบ้าน. เล่มที่ 38. มิถุนายน 2525
- วิทยา บุญวรพัฒน์. “คนทีเขมา”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 148.
- สมบูรณ์ เกียรตินันท์, ลีนา ผุ้พัฒนพงศ์, อดิศร พุกะนัดด์, อำพล บุญเปล่ง, ชนิดา จรัสไพบูลย์, พินิต ชินสร้อย, ประภาส มาสขาว, ประศาสน์ สวัสดิอำไพรักษ์, นฤมล พงษ์โพธิ์, ทศพร อยู่ฤทธิ์. 2553. พืชสมุนไพรประเภทต้น เล่ม 1. สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรี และราชกิจจานุเบกษา:กรุงเทพมหานคร.
- คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “คนทีเขมา”. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. หน้า 207.
- สารสกัดจากเมล็ดคนทีเขมาช่วยรักษาอาการข้ออักเสบ.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ลดน้ำตาลในเลือดด้วย iridoid glucoside จากคนทีเขมา. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
- คนทีเขมา.ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก .http://www.Phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=314
- Tem Samitinand. Thai Plant Names. Revised Edition 2001. 810 p. (553)
- Abidin L, Ahmad A, Mir SR, Mujeeb M, Khan SA. Ethnobotany, phytochemistry and pharmacological potential of Vitex negundo L. (five-leaved chaste tree): An updated review. Journal of Coastal Life Medicine, 2015; 3(10):826-33.
- BGO Plant Database, The Botanical Garden Organization, Ministry of Environment and Natural Resources, Thailand