ฝ้ายตุ่น ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย
ฝ้ายตุ่น งานวิจัยและสรรพคุณ 19 ข้อ
ชื่อสามัญ ฝ้ายตุ่น
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ฝ้ายไทย,ฝ้ายหีบ, ฝ้ายขาว (ภาคกลาง), ฝ้ายดอก, ฝ้ายซัน(ภาคเหนือ), ฝ้ายเทศ(ภาคอีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Gossypium herbaceum Linn.
ชื่อสามัญ White cotton, cotton plant
วงศ์ MALVACEAE
ถิ่นกำเนิดฝ้ายตุ่น
ฝ้ายตุ่นเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเชียโดยถูกจัดเป็นพันธุ์พืชดั้งเดิมของทวีปเอเชียของบริเวณเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในแถบประเทศเอเชียตะวันออก แล้วจึงมีการกระจายพันธุ์ไปยังบริเวณอื่นในทวีปเอเชีย รวมถึงประเทศไทย โดยในประเทศไทยพบว่ามีการปลูก กันมากในบริเวณภาคเหนือ ของประเทศส่วนภาคอื่นๆ พบได้ ประปราย
ประโยชน์และโทษฝ้ายตุ่น
- เป็นยาบำรุงกำลัง
- แก้กษัยลม
- ช่วยขับเสมหะ
- แก้ตับอักเสบ
- แก้หลอดลมอักเสบ
- เป็นยาขับประจำเดือนของสตรี
- แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ
- ช่วยขับหรือแก้มุตกิดตกขาว
- ทำให้มดลูกบีบตัว
- แก้หอบ
- แก้บวม
- ใช้ห้ามเลือด
- เป็นยาบำรุงไต
- เป็นยาแก้ริดสีดวง
- ช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ
- แก้กลากเกลื้อน
- แก้โรคผิวหนัง
- แก้ฝีหนองภายนอก
- รักษาผิวหนังให้ชุ่มชื้น
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ฝ้ายตุ่น
ใช้บำรุงกำลัง แก้กษัยลม แก้ไอ ขับเสมหะ แก้หอบ แก้บวม โดยใช้รากแห้ง 15-35 กรัม มาต้มกับน้ำดื่มใช้แก้หลอดลมอักเสบ โดยใช้รากแห้ง 15 กรัม มาเข้ากับสมุนไพรอื่นๆในตำรายาแก้อักเสบ รับประทานวันละ 2-3 ครั้ง ติดต่อกัน 15 วัน ใช้เป็นยาขับโลหิตระดู ทำให้มดลูกบีบตัวอย่างแรง (สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทาน) โดยรับประทานเป็นยาต้ม 1 ใน 5 หรือน้ำยาสกัดจากทิงเจอร์ ครั้งละ 2-4 ซีซี ใช้แก้ริดสีดวง แก้ถ่ายเป็นเลือด แก้ตกเลือด ตกขาว เพิ่มสมรรถภาพทางเพศโดยใช้เมล็ด 6-15 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้ลดไขมันในเลือดโดยใช้น้ำมันจากเมล็ดผสมหรือปรุงในอาหาร หรือใช้บรรจุในแคปซูลรับประทาน เช้า-เย็น ใช้แก้โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน ฝีหนอง โดยใช้น้ำมันจากเมล็ดมาทาบริเวณที่เป็น
ลักษณะทั่วไปฝ้ายตุ่น
ฝ้ายตุ่นจัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก อายุหลายปี มีลำต้นตั้งตรงสูงประมาณ 1-3 เมตร โดยลำต้นมีสีเขียวหรือน้ำตาล มีขนขึ้นปกคลุมแตกกิ่งก้านน้อยซึ่งจะแตกกิ่งเป็น 2 แบบคือ กิ่งใบและกิ่งดอก
ใบ ออกเป็นใบเดี่ยว แบบเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กว้าง และเว้าเป็นแฉก 3-5 แฉก ปลายใบแหลม โคนใบเว้าเล็กน้อย ขอบใบเรียบ ผิวใบด้านบนมีขนปกคลุมส่วนด้านล่างมีขนรูปดาวใบมีขนาดกว้างประมาณ 8-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร มีก้านใบยาวประมาณ 2.5-8 เซนติเมตร
ดอก ออกเป็นเดี่ยวบริเวณซอกใบ มีกลีบเลี้ยงรูปถ้วยแยกเป็น 5 แฉก และมีกลีบดอกสีเหลือง หรือขาวอมเหลืองขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5-7 เซนติเมตร กว้าง 2.5-3 เซนติเมตร ยาว 3-4 เซนติเมตร ก้านดอกยาว 1-2 เซนติเมตร มีขนคล้ายกำมะหยี่ ริ้วประดับเชื่อมติดที่ฐาน เป็นรูปสามเหลี่ยมกว้างยาว 2-3 เซนติเมตร ทั้งนี้เมื่อดอกบานเต็มที่จะเปลี่ยนเป็นสีชมพู ใจกลางดอกเป็นสีม่วงอ่อนๆ
ผล หรือที่เรียกกันว่าสมอฝ้าย เป็นผลแห้ง มีลักษณะเป็นรูปวงกลม ผิวเรียบเมื่ออ่อนจะเป็นสีเขียว และจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำเมื่อแก่ และจะแตกได้ตามพูเป็น 3-4 ซีก ภายในเมล็ดขนาดเล็กสีดำหรือสีน้ำตาล จำนวนมากโดยเมล็ดมีลักษณะค่อนข้างกลมและแข็งยาวประมาณ 1 เซนติเมตร และมีขนปุยสีขาวหุ้มเมล็ดอยู่
การขยายพันธุ์ฝ้ายตุ่น
ฝ้ายตุ่นสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ดโดยควรปลูกในช่วงฤดูฝนเพื่อง่ายต่อการจัดการเรื่องน้ำ ซึ่งสามารถทำได้โดยการขุดหลุมบนร่องที่เตรียมไว้เพื่อหยอดเมล็ด ในแต่ละแถวให้มีความลึกหลุม ประมาณ 10-15 ซม. มีระยะห่างระหว่างหลุมประมาณ 60-80 ซม. ใส่ปุ๋ยเคมีรองก้นหลุมประมาณ 1 หยิบ แล้วจึงหยอดเมล็ดหลุมละ 3-5 เมล็ด จากนั้นกลบดินแล้วหมั่นดูแลต้นกล้าเช่นเดียวกับพืชชนิดอื่นๆ
องค์ประกอบทางเคมีฝ้ายตุ่น
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบเคมีในเปลือกรากและเมล็ดของฝ้ายตุ่น ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดเช่น Gossypetin, Accetovanilone, Berbacitrin, Asparagin, Cossypitrin, Quersimeritri, Kaempferol นอกจากนี้ส่วนอื่นๆยังพบสารออกฤทธิ์อีกเช่น apocynin, glutamic acid, glycine, gossyptrin, aspartic acid,gossypol, palmitic acid, phytin, satirane, serine, thrconin, alamine, tocopherol, triacontane
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของฝ้ายตุ่น
มีรายงานการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของส่วนต่างๆของฝ้ายตุ่นระบุไว้ว่า สารที่สกัดได้จากใบ กิ่ง และรากฝ้ายขาว มีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของมดลูกในหนูทดลอง และทำให้มดลูกของหนูทดลองมีกำลังการบีบแรงขึ้น ส่วนสารสกัดจากกิ่งและรากฝ้ายขาว มีฤทธิ์ในการต่อต้านเชื้อ Coccus, Staphelo coccus, และเชื้อไวรัสที่ทำให้เป็นไข้หวัดได้ และมีเกี่ยวกับผลของฝ้ายในการลดไขมันในเลือดสูง ซึ่งได้ทำการทดลองกับหนูเพศผู้ที่ถูกกระตุ้นให้มีไขมันในเลือดสูง โดยทดลองเป็นระยะเวลา 5 สัปดาห์ โดยแบ่งหนูทดลองออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ให้น้ำมันข้าวโพดผสมน้ำมันเมล็ดฝ้ายในอัตราส่วน 1:1 ส่วนกลุ่มที่ 2 ทดลองเปรียบเทียบให้น้ำมันเมล็ดฝ้ายอย่างเดียว และกลุ่มที่ 3 ให้น้ำมันข้าวโพดอย่างเดียว ผลการทดลองพบว่า หนูกลุ่มที่ 1 และ 3 ไม่พบความแตกต่างของระดับไตรกลีเซอไรด์ แต่กลุ่มที่ 2 ที่ให้น้ำมันเมล็ดฝ้าย พบว่ามีผลทำให้คอเลสเตอรอลรวมต่ำลง เนื่องจากน้ำมันเมล็ดฝ้ายมีสารจำพวก saturated fatty acid ระดับต่ำกว่าน้ำมันข้าวโพด และยังมีการศึกษาทดลองในหนูขาว โดยการให้น้ำมันฝ้าย เปรียบเทียบกับหนูที่ให้น้ำมันมะกอก ในหนูขาวที่ถูกกระตุ้นให้มีไขมันในเลือดสูง และให้ Nicoticin acid 10 mg./rat.day ระยะเวลาทำการทดลองนาน 60 วัน ผลการทดลองพบว่า น้ำมันฝ้ายมีผลทำให้คอเลสเตอรอลลดลงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับน้ำมันมะกอก นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยอื่นๆระบุถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของฝ้ายตุ่นว่า มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด เพิ่มการหลั่งของอินซูลิน ยับยั้งการสร้างอสุจิ ลดระดับฮอร์โมนเพศชาย คุมกำเนิดและขับปัสสาวะเป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของฝ้ายตุ่น
มีรายงานการศึกษาทางพิษของน้ำมันเมล็ดฝ้ายดิบระบุว่า น้ำมันฝ้ายดิบในอาหาร 40% เมื่อนำมาให้หนูขาวทั้ง 2 เพศ กินติดต่อกัน 14 เดือน ไม่พบอาการเป็นพิษ
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สตรีมีครรภ์ห้ามใช้ฝ้ายตุ่นเป็นสมุนไพรสำหรับรับประทาน เนื่องจากมีข้อมูลการศึกษาวิจัยระบุว่ามีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของมดลูกอย่างแรง ซึ่งอาจทำให้เกิดการแท้งบุตรได้ และการใช้ฝ้ายตุ่นเป็นสมุนไพรในบุคคลที่มีภาวะเป็นปกติ ควรใช้ในขนาดปริมาณที่เหมาะสมที่ระบุไว้ในตำรายา ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเกินไป หรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกนไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง ฝ้ายตุ่น
- ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “ฝ้ายขาว”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่5. หน้า 517-518.
- เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอกแฝก. “ฝ้าย”. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 40 ชนิด. หน้า 128-129.
- วิทยา บุญวรพัฒน์. “ฝ้ายขาว”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย หน้า 364.
- ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “ฝ้าย (Fai)”. หนังสือสมุนไพรไทยเล่ม 1. หน้า 185.
- ฝ้ายตุ่น.กลุ่มยาขับประจำเดือน. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีฯ (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plant_data/herbs/herbs_26_5.htm
- ฝ้ายประโยชน์สรรพคุณและการปลูกฝ้าย. พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย(ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com