โกฐชฎามังสี ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

โกฐชฎามังสี งานวิจัยและสรรพคุณ 32 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร โกฐชฎามังสี
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น โกฐชฎามังสี, โกฐจุฬารส (ภาคกลาง, ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Nardostachys jatamansi (D.Don) DC.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Nardostachys grandiflora DC., Nardostachys chinensis Batalin. Patrinia jatamansi D.Don, Valeriana jatamansi D.Don
ชื่อสามัญ Spikenard, Jatamansi.
วงศ์ CAPRIFOLIACEAE

ถิ่นกำเนิดโกฐชฎามังสี

โกฐชฎามังสีมีถิ่นกำเนิดอยู่ในบริเวณเทือกเขาหิมาลัย โดยคาดกันว่าน่าจะอยู่ในบริเวณประเทศอินเดีย และภูฎาน สำหรับในประเทศไทยไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ส่วนมาก การใช้ประโยชน์จากโกฐชฎามังสี ในการนำมาทำตำรายาต่างๆ จะเป็นการนำเข้าจากอินเดีย และประเทศในแถบเทือกเขาหิมาลัย


ประโยชน์และสรรพคุณโกฐชฎามังสี 

  • แก้อาการวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย ใจสั่น
  • แก้คลื่นเหียน
  • แก้อาเจียน
  • แก้ลมจุกแน่นในท้อง
  • ช่วยขับลม
  • แก้ไข้จับ ไข้เรื้อรัง ไข้ในกองธาตุอติสาร
  • ช่วยขับเสมหะ
  • แก้หืดไอ
  • แก้โรคปอด
  • แก้โรคในปากคอ
  • แก้ลมในกองธาตุ
  • ช่วยชูกำลัง
  • ช่วยบำรุงโลหิต
  • แก้หอบ
  • แก้สะอึก
  • ช่วยบำรุงกระดูก
  • แก้ไส้ด้วนไส้ลาม
  • ใช้เป็นยากระจายหนองที่เป็นก้อนอยู่ในร่างกาย
  • ช่วยขับพยาธิ
  • ช่วยขับโลหิตระดูเน่าเสีย (ประจำเดือน)
  • แก้ดีพิการ
  • ช่วยย่อยอาหาร
  • แก้พิษทั้งปวง
  • แก้แผลเนื้อร้าย
  • แก้รัตตะปิตตะโรค
  • ช่วยลดการเกร็ง
  • ใช้บำบัดโรคลมบ้าหมู 
  • ใช้บำบัดโรคฮิสทีเรีย
  • ใช้บำบัดโรคที่มีอาการชักทุกชนิด
  • ใช้บำบัดโรคตา
  • แก้แผลพุพองปวด บวมที่ผิวหนัง 
  • ใช้บำบัดโรคต่างๆ ในศีรษะ

           โโกฐชฎามังสี ถูกนำมาใช้ประโยชน์มาตั้งแต่อดีตแล้ว ส่วนมากจะถูกนำมาใช้ในการทำเป็นยาสมุนไพร หรือ นำมาเป็นส่วนผสมของตำรับต่างๆ เช่น ตำรับ ”ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ ”ยาหอมนวโกฐ” ซึ่งมีส่วนประกอบของโกฐชฎามังสีอยู่ในพิกัดโกฐทั้ง 9 เช่น โกฐพุงปลา โกฐชฎามังสี  โกฐก้านพร้าว ฯลฯ ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ โดยยาหอมทั้ง 2 ตำรับ และยังได้มีการนำมาใช้ในเครื่องยาไทย ที่เรียกว่า “พิกัดโกฐ”  โดยโกฐชฎามังสีจัดอยู่ใน โกฐทั้งเก้า(เนาวโกฐ)


รูปแบบและขนาดวิธีใช้โกฐชฎามังสี 

ขนาดการใช้โกฐชฎามังสี ในรูปแบบยาผงให้ใช้ในขนาด 2-3 กรัม ต่อวัน ส่วนในการใช้ในตำรับยาอื่นๆ ให้ใช้ในขนาดตามที่ตำรับยานั้นๆ ระบุไว้

โกฐชฎามังสี

ลักษณะทั่วไปโกฐชฎามังสี 

โกฐชฎามังสี จัดเป็นพืชล้มลุก ลำต้น มีลักษณะเป็นเหง้า หรือ หัวใต้ดิน มีรากย่อยปกคลุมเป็นเส้นหนาแน่นโดยรอบ รากมีรสขม ให้กลิ่นหอมแรงเฉพาะตัว เหง้ามีความแข็งแต่เปราะง่ายหัก และมีก้านใบติดอยู่เป็นจำนวนมาก ขนาดของลำต้นมีความสูงประมาณ 5-50 ซม. และมีขนขึ้นปกคลุมอยู่ทั่ว

           ใบ มีลักษณะเป็นรูปไข่กลับ หรือ รูปขอบขนาน แผ่นใบมีสีเขียวเข้ม ขอบใบเรียบ ออกเป็นใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามกัน มีขนสีขาวปกคลุมอยู่ทั่วใบ

           ดอก ออกเป็นช่อกระจุกที่ปลายยอด ในแต่ละช่อจะประกอบไปด้วยดอกย่อยสีม่วงอมชมพูจำนวนมากมาย มีก้านช่อดอกยาวประมาณ 10-20 ซม. บริเวณโคนกลีบดอกจะเชื่อมติดกันเป็นหลอด ส่วนปลายแยกออกจากกันประมาณ 4-5 กลีบ บริเวณใบประดับมีขนปกคลุมอยู่ทั่ว

           ผล เป็นผลลักษณะยาวที่ปกคลุมไปด้วยขนสีขาว


การขยายพันธุ์โกฐชฎามังสี

โกฐชฎามังสี สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด และการใช้เหง้าปลูก แต่ต้องปลูกในสภาพอากาศที่เหมาะสมที่ใกล้เคียงกับบริเวณเทือกเขาหิมาลัยที่เป็นถิ่นกำเนิดของพืชชนิดนี้ ส่วนวิธีการปลูกนั้นก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการปลูกพืชชนิดอื่นๆ ที่ใช้เหง้าและใช้วิธีการเพาะเมล็ด ในการขยายพันธุ์


องค์ประกอบทางเคมีโกฐชฎามังสี

องค์ประกอบทางเคมี ใน้ำมันหอมระเหยของโกฐชฎามังสี ได้แก่ acetophynone, Camphor, Menthol, ƿ-anethol, Carvacrol และ Eugenol นอกจากนี้ในเหง้ายังพบสารต่างๆ ดังนี้ angelicin (แอนเจลิซิน) jatamansic acid (กรมจาทาแมนซิก) jatamansin (จาทาแมนซิน) jatamansinol (จาทาแมนซินอล) jatamansone (จาทาแมนโซน) jatamol A (จาทามอลเอ) jatamol B (จาทามอลบี) patchouli alcohol (พัตชูลิอัลกอฮอล์)


รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของโกฐชฎามังสี

   โครงสร้างโกฐชฎาบังสี  

ที่มา : wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของโกฐชฎามังสี

มีการศึกษาทางเภสัชวิทยา พบว่าโกฐชฎามังสี มีฤทธิ์ต่างๆ ดังนี้ ลดคอเลสเตอรอลในเลือด ต้านการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ลดความดันโลหิต เสริมฤทธิ์ยานอนหลับ กดประสาทส่วนกลาง เพิ่มการเรียนรู้และความจำ คลายมดลูก ทำให้หัวใจเต้นช้า ต้านการเต้นไม่เป็นจังหวะของหัวใจ ฆ่าอสุจิ กล่อมประสาท ต้านหืด ต้านแบคทีเรีย ลดน้ำตาลในเลือด ลดปริมาณกรดยูริก ต้านการชัก ลดไข้ ต้านการเกิดแผล และมีรายงานการศึกษาทางคลินิกพบว่าสารจาทาแมนโซนบี มีฤทธิ์ลดความดันโลหิตสูง ชนิดปานกลางถึงรุนแรง


การศึกษาทางพิษวิทยาของโกฐชฎามังสี

สำหรับการทดสอบความเป็นพิษพบว่า เมื่อฉีดสารสกัดรากด้วยแอลกอฮอล์-น้ำ (1 : 1) เข้าช่องท้องหนูถีบจักร ขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) คือ มากกว่า 1 ก/กก สำหรับการฉีดน้ำมันหอมระเหยเข้าช่องท้อง พบว่าขนาดที่ทำให้สุนัขและหนูถีบจักรตายครึ่งหนึ่ง (LD50) คือ 93 มก./กก. และ 80.3 มก./กก. ตามลำดับ ส่วนในหนูตะเภาและหนูขาว คือ 2 มล/กก และ 1.5 มล/กก ตามลำดับ และเมื่อใช้สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ 95% ฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักรและป้อนหนูขาว พบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) คือ 1.25 ก./กก. และ  20  ก./กก. ตามลำดับ


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้โกฐชฎามังสี ในการบำบัดรักษาโรค ไม่ว่าจะใช้เป็นสมุนไพรเดี่ยวๆ หรือ การใช้เป็นส่วนประกอบของตำรับยาต่างๆ ควรระมัดระวังในการใช้ คือ ควรใช้ในปริมาณที่พอดีที่ระบุไว้ในตำรับยาต่างๆ และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ส่วนสตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้องรัง หรือ ผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
 

เอกสารอ้างอิง โกฐชฎามังสี
  1. หนังสือสมุนไพร สวนสิรีรุกขชาติ.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล."โกฐชฎามังษี Jatamansi" หน้า 217.
  2. จันคนา  บูรณะโอสถ, ปนัดดา พัฒนาวศิน, ภัทราวดี เหลืองชุวประณีต, ปกรณ์ คามวุฒิ, อุทัย โสธนะพันธุ์, การวิเคราะห์หาองค์ ประกอบของสารหอมระเหยจากเครื่องยาในสกัด เนาวโกฐด้วยวิธีโครบงโทกราฟีแบบแก๊ส-แมสสเปกโทรเมทรี. วารสารไทยไภษัชยนิพนธ์ปีที่ 11.ฉบับที่ 2. กรกฎาคม – ธันวาคม 2559. หน้า 45-60
  3. โกฐชฎามังสี .ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudrug.com/main.php?action=viewpage&pid=29