กะทกรก ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

กะทกรก งานวิจัยและสรรพคุณ 29 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กะทกรก
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ผักแคบฝรั่ง (ภาคเหนือ), กระโปรงทอง, รกช้าง, หญ้ารกช้าง (ภาคใต้), รก, หญ้าถลกบาต, เงาะป่า, เถาสิงโต, รุ้งนก (ภาคกลาง), ยันฮ้าง, เยี่ยววัว, เครือขนตาช้าง, ผักขี้หิด, ผักบ่วง (ภาคอีสาน), ละพุบาบี (มลายู), เล้อทุงจู, เล่งจูก้วย (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์  Passiflora foetida Linn.
ชื่อสามัญ Stinking passion flower, Fetid passion flower, Scarletfruit passion flower
วงศ์ PASSIFLORACEAE


ถิ่นกำเนิดกะทกรก

กะทกรก มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในทวีปอเมริกาใต้ เช่น บราซิล อาเจนติน่า โคลัมเบีย เวเนซุเอลา อุรุกวัย เอกวาดอ และเปรู เป็นต้น จากนั้นจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยสามารพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ บริเวณป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง หรือ ตามที่รกร้างว่างเปล่า ตามสองข้างทาง และตามขอบไร่ชายนาทั่วไป


ประโยชน์และสรรพคุณกะทกรก

  • ใช้เป็นยาควบคุมธาตุ
  • แก้เบื่อเมาทุกชนิด
  • รักษาบาดแผล
  • ใช้แก้หวัด
  • ทำให้สงบ ระงับความเครียดและความวิตกกังวล
  • ช่วยขับพยาธิ
  • ใช้พอกแก้สิว
  • แก้ปวดศีรษะ
  • แก้โรคผิวแห้ง
  • แก้หิด
  • รักษาโรคผิวหนัง
  • แก้อาการคัน
  • แก้หืด
  • ใช้บำรุงหัวใจ
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • ช่วยขับเสมหะ
  • แก้ไอ
  • ช่วยลดอาการบวม
  • แก้ปวด
  • ช่วยบำรุงปอด
  • แก้ไข้
  • แก้กามโรค
  • แก้เบาหวาน
  • ช่วยให้สดชื่น
  • แก้ความดันโลหิตสูง
  • แก้ปัสสาวะขุ่นข้น
  • แก้ไฟไหม้น้ำร้อนลวก
  • แก้แผลเน่าเปื่อย 
  • แก้นิ่ว

           มีการนำรากของกะทกรก มารับประทาน เพราะ มีรสขมเล็กน้อยใช้ลวกจิ้มกับน้ำพริก และใส่แกงเลียง ผลแก่ รวมทั้งรกหุ้มเมล็ดสามารถนำมารับประทานเป็นผลไม้ หรือ นำมาปั้นเพื่อทำเป็นเครื่องดื่มได้ ด้านทางการเกษตรเนื่องจากกะทกรกมีพิษจึงสามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นยาฆ่า และป้องกันแมลงศัตรูพืชได้ โดยเฉพาะตัวด้วงถั่วเขียว

 กะทกรก

รูปแบบและขนาดวิธีใช้กะทกรก

ใช้เป็นยาควบคุมธาตุในร่างกาย ถอนพิษเบื่อเมา โดยใช้เนื้อไม้มาต้ม กับน้ำดื่ม ช่วยให้สดชื่น แก้ความดันโลหิตสูง แก้ไข้ แก้ปัสสาวะขุ่นข้น แก้กามโรค แก้เบาหวาน โดยใช้รากมาต้ม กับน้ำดื่ม แก้อาการไอ ขับเสมหะ โดยใช้ดอกแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม ช่วยบำรุงปอด แก้ปวด โดยใช้ผลสุกมารับประทานสด ใช้ระงับความเครียด และความวิตกกังวล แก้หวัด ขับปัสสาวะ แก้บวม ด้วยการใช้ใบแห้ง 10-15 กรัม (ต่อวัน) มาต้มกับน้ำดื่ม แก้อาการปวดศีรษะ แก้หวัดคัดจมูก ด้วยการใช้ใบมาต้มตำใช้พอก หรือ ประคบที่ศีรษะใช้รักษาโรคผิวหนัง แก้อาการคัน แก้หิด แก้หืด โดยนำใบสดมาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำพอสมควร นำมาทาวันละ 3-4 ครั้ง ใช้แก้ไฟไหม้น้ำร้อนลวก ช่วยทำให้แผลที่เน่าเปื่อยแห้งโดยนำ เปลือกตำเคี่ยว กับน้ำมะพร้าว แล้วนำไปทาบริเวณที่เป็น ทำให้นอนหลับโดยนำยอดอ่อนมานึ่งกิน กับน้ำพริกนำใบ หรือ ดอกมาต้มชงน้ำดื่ม บรรเทาอาการไมเกรนโดยนำส่วนทั้ง 5 (ราก ใบ ดอก ผล ต้น) 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำ 1 ลิตรครึ่ง ต้มให้เดือด 15 นาที ดื่มขณะอุ่นๆ ครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 เวลา แก้นิ่วโดยนำรากกะทกรก รากหญ้าคา, ฝักมะขามป้อม มาต้มดื่มกิน บำรุงหัวใจ โดยใช้ดอกเพศผู้ของกะทกรก (ดอกแล้วจะร่วงลงพื้น) ต้มร่วม กับบัวหลวง หัวร้อยรูแล้วนำมาดื่ม

ลักษณะทั่วไปของกะทกรก

กะทกรก จัดเป็นไม้เถาเนื้ออ่อนค่อนข้างคดงอไปมา มีอายุประมาณ 2-5 ปี เถามีขนขึ้นปกคลุมอยู่ทุกส่วน และมีมือสำหรับใช้ยึดเกาะซึ่งจะออกบริเวณง่ามใบ ทุกส่วนของลำต้นเมื่อนำมาขยี้จะมีกลิ่นเหม็นเขียว

           ใบ ออกเป็นใบเดี่ยวแบบเรียงสลับ ลักษณะของใบคล้ายรูปหัวใจ โคนใบเว้า ปลายใบแหลม ขอบใบเว้าเป็น 3 แฉก แผ่นใบสีเขียวอ่อนมีขนขึ้นสีน้ำตาลขนาดเล็กขึ้นปกคลุมทั้งสองด้าน และที่ขนมีน้ำยางเหนียว เส้นใบบริเวณที่ติดต่อกันมีสีแดงเรื่อ ส่วนบริเวณใกล้โคนก้านใบมีแฉกแหลมเล็กเรียงตรงกันข้ามสลับกัน ก้านใบ มีขนาดเท่ากับก้านไม้ขีด ยาว 5-6 เซนติเมตร ดอก เป็นดอกเดี่ยวออกตามซอกใบ ลักษณะกลีบดอกมี 10 กลีบ ด้านนอกสีเขียวอ่อน กลีบด้านในมีสีขาวเป็นกระบังรอบเป็นเส้นฝอยสีขาวโคนม่วง เรียงกันเป็นเส้นรัศมีส่วนกลีบเลี้ยงเป็นเส้นฝอย มีก้านชูเกสรร่วม แยกเป็นเกสรเพศผู้ประมาณ 5-8 ก้าน และเกสรตัวเมียประมาณ 3-4 ก้าน รังไข่เกลี้ยง

           ผล เป็นผลสดค่อนข้างกลม มีใบประดับเป็นเส้นฝอยหุ้มอยู่ เมื่ออ่อนผลสีเขียว เมื่อสุกแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมส้ม ด้านในมีเนื้อหุ้มเมล็ดสีใส หรือ ที่เรียดว่า รก ลักษณะคล้ายเมล็ดแมงลักแช่น้ำ มีรสหวานปะแล่มๆ สามารถรับประทานได้

กะทกรก

 กะทกรก

การขยายพันธุ์กะทกรก

กะทกรกสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด ซึ่งการขยายพันธุ์ของกะทกรก ส่วนมากแล้วจะเป็นการขยายพันธุ์ธรรมชาติ ไม่นิยมนำปลูกไว้ตามบ้านเรือน สำหรับขยายพันธุ์ของกะทกรกนั้นอาศัยสัตว์มากินแล้วคาย หรือ อุจจาระเอาเมล็ดออกมาแล้วจึงออกเป็นต้นใหม่ หรือ รอให้ผลสุกร่วงลงสู่ดินแล้วเมล็ดจะเติบโตเป็นต้นใหม่ต่อไป


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีจากการวิเคราะห์ของสารพฤกษเคมีจากส่วนต่างๆ ของกะทกรก ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น Betacarboline, harmala alkaloid, coumarin, maltol, phytosterol, cyanogenic glycoside, α-alanine, butyric acid, linoleiv=c acid, formic acid, oleic acid, malic acid, linoleic acid, myristic acid, palmitic acids

           ส่วนสารสกัดจาดส่วนต่างๆ พบสารต่างๆดังนี้ Apigenin, chrysoeriol, loliolide, luteolin, Quercetin, Vitexin เป็นต้น

โครงสร้างกะทกรก

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกะทกรก

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของกะทกรกระบุไว้ดังนี้ มีการศึกษาวิจัยสารสกัดจากกะทกรก พบว่าสามารถเพิ่มระดับสารสื่อประสาทโดพามีน และลดระดับเอนไซม์ MAO-B ในหมองหนูทดลองได้อย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกันกับ Sinemet ซึ่งเป็นยารักษาโรคพากินสัน จึงได้มีการนำมาพัฒนาสูตรตำรับยาเม็ดเคลือบฟิล์มชนิดธรรมดาในชื่อผลิตภัณฑ์จากกะทกรกว่า Parkinpas โดยผ่านการศึกษาชั้นคลินิกในเรื่องความปลอดภัย และประสิทธิผลการบรรเทาจากโรคพาร์กินสันจากอาสาสมัครเปรียบเทียบกับยาหลอกพบว่าผลิตภัณฑ์ Parkinpas สารสกัดจากกะทกรกไม่ก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงในอาสาสมัคร และยังมีการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากกะทกรกทั้งหมด 4 ส่วน ได้แก่ ใบ ดอก เปลือก และเมล็ด โดยวิธี DPPH free radical scavenging assay ที่ความเข้มข้น 1395.00 ไมโครกรัมต่อลิตร พบว่าสารสกัดหยาบชั้นเมทานอลจากใบกะทกรกมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระมากที่สุดเท่ากับร้อยละ 91.24+-0.19 รองลงมา คือ เปลือก ร้อยละ 87.52+-0.65 เมล็ด ร้อยละ 76.79+-0.54 และดอกร้อยละ 47.13+-0.36 ตามลำดับ และจากการศึกษาความเข้มข้นของสารที่มีประสิทธิภาพไรการต้านอนุมูลอิสระ ร้อยละ 50 IC50 มากที่สุด เท่ากับ 494.70 ไมโครกรัมต่อลิตร และรองลงมา คือ เปลือก 629.08 ไมโครกรัมต่อลิตร เมล็ด 897.90 ไมโครกรัมต่อลิตร และดอก 1524.15 ไมโครกรัมต่อลิตร

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ระงับความวิตกกังวล และทำให้สงบของสารสกัดจากกะทกรก ระบุว่าเมื่อให้สารสกัดจากกะทกรกทางปากในหนูพันธุ์วิสตาร์ที่มีน้ำหนักอยู่ในช่วง 180-220 กรัม เป็นระยะเวลา 28 วัน พบว่าสารสกัดดังกล่าวมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง มีฤทธิ์ทำให้สงบสามารถช่วยระงับความวิตกกังวล ช่วยลดอาการซึมเศร้า ลดอาการความจำบกพร่อง และยังช่วยเพิ่มความหนาแน่นของเซลล์ประสาทในสมองส่วนฮิปโปแคมปัส ได้อีกด้วย อีกทั้งในต่างประเทศยังมีรายงานการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสารสกัดจากกะทกรกระบุว่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบ แก้ปวด ต้านอาการท้องร่วง ป้องกันการชัก ต้านมะเร็ง กล่อมประสาท ลดน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต ต้านอาการแพ้ ต้านเชื้อจุลชีพ และต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านอาการซึมเศร้า และปกป้องตับ เป็นต้น


การศึกษาทางพิษวิทยาของกะทกรก

มีรายงานการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาจากส่วนต่างๆ ของกะทกรกระบุว่า ผลอ่อน และใบอ่อนของกะทกรก มีความเป็นพิษเพราะมีสาร Cyanogenic glycoside ส่วนเปลือก ผล เมล็ด และใบ มีสารที่ไม่คงตัวเมื่อสารนี้สลายตัวจะให้ acetone และ hydrocyanic acid ซึ่งสารตัวหลังนี้เป็นสารพิษ ทำให้เม็ดโลหิตแดงขาดออกซิเจน ผลทำให้เกิดการอาเจียน


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการนำกะทกรกมาใช้รับประทานทั้งในรูปแบบของอาหาร ผลไม้ หรือ ในรูปแบบยาสมุนไพร ควรระมัดระวังในการใช้ให้มากเนื่องจาก ทุกส่วนของลำต้นยกเว้นเยื่อหุ้มผล หรือ เนื้อหุ้มเมล็ดมีรสเบื่อเมา เป็นพิษเนื่องจากมีสารไซยาโนเจนิก ไกลโคไซด์ (Cyanogenic glycoside) หากนำมารับประทานสดอาจทำให้เสียชีวิตได้ แต่สารพิษดังกล่าวจะสลายตัวไปเมื่อถูกความร้อน ดังนั้นก่อนจะนำส่วนต่างๆ ของกะทกรก มารับประทานจึงต้องนำไปต้มให้สุกเสียก่อน

เอกสารอ้างอิง กะทกรก
  1. สวนพฤกษศาสตร์ป่าไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2544. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้พิมพ์ครั้งที่ 2 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม). พิมพ์ที่ บริษัทประชาชน จำกัด. 2544

  2. มัณฑนา นวลเจริญ 2009. พรรณไม้ป่าชายหาด. ปทุมธานี. สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ. p.9.

  3. ราชบัณฑิตยสถาน 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร เพื่อนพิมพ์.

  4. ดร.นิจศิริ เรืองรังสี. ธวัชชัย มังคละคุปต์. กะทกรก Ka thok rok. หนังสือสมุนไพรเล่น 1. หน้าที่ 42.

  5. อรทัย เนียมสุวรรณ. นฤมล เล้งนนท์ กรกนก ยิ่งเจริญ พัชรินทร์ สิงห์ดำ 2012. พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของพืชกนได้จากป่าชายเลน และป่าชายหาดบริเวณเขาสทิงพระ จังหวัดสงขลา วารสารวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 40: 981-991.

  6. วัลย์ลิกา สุขสำราญ กัณฐมณี โพธิวัฒน์ อรนงค์ ประนนท์. องค์ประกอบทางพฤกษเคมี และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของกะทกรก. วารสารวิจัย และพัฒนาวลัยอลงกรณ์ในพระราชนูปถัมป์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปีที่ 17. ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2565. หน้า 29-43.

  7. กฤติยา ทิสยาการ. 2562. ผลิตภัณฑ์สำหรับบรรเทาอาการจากโรคพาร์กินสันในผู้สูงอายุ ParkinPas ในสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ. Thailand teach shoe 2019. น. 114. ปทุมธานี. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ.  

  8. Femandes J., Noronha M.A., Fernandes R., 2013, Evaluation of Anti-intiammatory activity of stems Passiflora foetida Linn. in rats, Res. J. Pharm. Biol. Chem. Sci. 4, 1236-1241.

  9. Asadujjaman M., Mishuk A.U., Hossain M.As Karmakar U.K., 2014, Medicinal potential of Passiflora foetida L. plants extracts: biological and pharmacological activities, J. Integr. Med: 12, 121-126.

  10. Balasubramaniam A., Manivannan R.. Baby E., 2010, Anticarcinogeneic effect of Passiflora foetida Linn root on the development of liver cancer induced by den in rats: a research, Int. J. Drug Form. Res. 1, 144-151.

  11. Sasikala V., Saravanan S., Parimelazhagan T., 2011, Analgesic an anti-inflammatory activities of Passiflora oetida L, Asian Pac. J. Trop. Med. 4, 600-603.

  12. Chen, Y-Z; wei, X; Li,M; Duan X; Sun Y-M; Yang R-L; Su X-D; Huang R; Wang H. Nutritional composition and antioxidant properties of the fruites of a Chinese Wild Passiflora foetida. Molecules 2018, 23, 459.

  13. nandan R., Jayakar B.. Jeganathan S.. Manavalan R., Kumar R.S., 2009, Effect of ethanol extract of fruits of Passiflora foetida Linn. on CCl induced hepatic injury in rats, J. Pharm. Res. 2, 413-415.

  14. Chivapat S., Bunjob M., Shuaoprom A., Bansidhi J.y Chavalittumrong P. Rangsripipat A., Sincharoenpokai P.. hronic toxicity of Passiflora foetida L. extract, Int.J. Appl. Res. Nat. Prod. 24-31.

  15. Santosh P., Venugopl R., Nilakash A.S., Kunjbihari S., DR. Mangala L.. 2011, Antidepressant activity of methanolic extract of Passiflora foetida leaves in mice, Int. J. Pharm. Pharmac. Sci. 3, 112-115.

  16. Ranganatha N., Kuppast D.R.I.J., Veerashekar T., 2013, Study of Anti-Hypertension Activity of Aerial Parts of Passiflora foetida Linn, Int. Res. J. Pharm. Plant Sci. 1, 1-12.

  17. Asir P.J., Hemmalakshmi S., Priyanga S., Devaki K., 2014, Antidiabetic activity of aqueous and ethanolic extracts of Passiflora foetida L. in alloxan induced diabetes rats, World J. Pharm. Res. 3, 1627-1641.