ตำแยแมว ประโยชน์ดีๆ สรรพรคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

ตำแยแมว งานวิจัยและสรรพคุณ 22 ข้อ


ชื่อสมุนไพร ตำแยแมว
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ตำแยตัวผู้, หญ้าแมว, หญ้ายาแมว (ทั่วไป), หานแมว (ภาคเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Acalypha indica Linn.
ชื่อสามัญ Indian acalypha Tree-seeded mercury
วงศ์ EUPHORBIACEAE


ถิ่นกำเนิดตำแยแมว

ตำแยแมว เป็นพืชที่พบได้ในเขตร้อนแต่สำหรับถิ่นกำเนิดนั้นยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน ว่ามีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมที่ไหน แต่สามารถพบได้ในประเทศที่มีอากาศร้อนชื้นในทวีปอเมริกาใต้ และเอเชียรวมทั้งประเทศไทย โดยในประเทศไทยนั้นสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ตามบริเวณที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป หรือ ตามสองข้างทาง บริเวณแปลงเกษตร และตามสวนหย่อมต่างๆ

ประโยชน์และสรรพคุณตำแยแมว

  • แก้ขับเสมหะ
  • แก้หอบหืด
  • แก้ภูมิแพ้
  • แก้ไอ
  • ขับพยาธิเส้นด้ายในเด็ก
  • ทำให้ทางเดินอาหารระคายเคือง
  • ช่วยบำรุงกำลัง
  • ช่วยบำรุงร่างกาย
  • ช่วยกระจายเลือดลม
  • แก้ปวดเมื่อย
  • ใช่เป็นยาถ่าย
  • ช่วยขับเสมหะในโรคหลอดลมอักเสบ
  • ช่วยขับเสมหะในโรคหอบหืด
  • ใช่เป็นยาระบาย
  • ทำให้คลื่นเหียนอาเจียน
  • ช่วยถอนพิษเบื่อเมา
  • รักษาแผลเนื่องจากนอนมาก
  • รักษาโรคผิวหนัง
  • รักษาโรคปอดบวม
  • รักษารูมาตอยด์
  • ใช้ถอนพิษ ในสัตว์
  • ช่วยขับระดู

           ตำแยแมว ถูกนำมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่ในอดีตแล้วโดยมีการนำมาใช้ประโยชน์ต่างๆ เช่น นำใบสดของตำแยแมวมาใช้ทำแกงเลียง มารับประทานและยังนำมาใช้เป็นยาสมุนไพร ส่วนในต่างประเทศ เช่น อินเดีย แอฟริกา และแม็กซิโก ก็ได้นำส่วนต้น และรากมาใช้เป็นยาสมุนไพรเช่นกัน

ตำแยแมว

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ตำแยแมว

ใช้ขับเสมหะ เสมหะในโรคหอบหืด ขับเสมหะในโรคหลอดลมอักเสบ โดยใช้ใบสดๆ มาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วต้มกับน้ำ 4 ถ้วย เคี่ยวให้เหลือ 2 ถ้วย ใช้ดื่มครั้งละ 1 ถ้วย เช้า และเย็น ใช้ยารักษาโรคหอบหืดภูมิแพ้ โดยใช้ทั้งต้น และราก นำมาต้มกับน้ำประมาณ 1 แก้ว ใช้ดื่ม หรือ นำมาโขลกผสมกับน้ำซาวข้าว กรองผ้าขาวบางให้ได้น้ำข้นๆ 1 แก้ว ดื่มก็ได้ ใช้ขับพยาธิเส้นด้านในเด็กไทย นำใบสดมาต้มกิน หรือ นำมาคั้นเอาน้ำผสม กับกระเทียม กินก็ได้ ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย กระจายเลือดลม แก้อาการปวดเมื่อยโดยใช้รากมาต้มกับน้ำ 3-4 แก้ว ใช้ดื่มก่อนอาหารวันละ 1 แก้ว ใช้ถอนพิษเมาเบื่อในทางเดินอาหาร โดยนำใบมาต้มกับน้ำกิน ใช้ล้างเมือกในท้องโดยนำต้นสดทั้งต้นมาคั้นเอาแต่น้ำกิน ใช้เป็นยาถ่าย ยาระบาย โดยนำรากหรือใบมาต้มกับน้ำดื่ม

ลักษณะทั่วไปของตำแยแมว

ตำแยแมว จัดเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก จำพวกวัชพืชเนื้อภายในอ่อน ลำต้นมีลักษณะตั้งตรงมีขนปกคลุมเล็กน้อย สูงได้ประมาณ 80 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านจากโคนต้น และไม่แข็งแรง

           ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับเป็นชั้นๆ จนถึงโคนต้นลักษณะของใบมีขนาดเล็กสีเขียว เป็นรูปมนรี รูปไข่ หรือ รูปกลมโต โคนใบสอบ ปลายใบมน หรือ แหลมเล็กน้อย ส่วนขอบใบหยัก ด้านบนมีขนขึ้นปกคลุม

           ผล เป็นผลแห้ง เมื่อแก่จะแตกออก ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด

ตำแยแมว

ตำแยแมว

การขยายพันธุ์ตำแยแมว

ตำแยแมว สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการปักชำ และการเพาะเมล็ด โดยมีวิธีการเช่นเดียวกันกับการปักชำ และการเพาะเมล็ด เช่นเดียวกับไม้ล้มลุกทั่วไปที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ในอดีตการขยายพันธุ์ตำแยแมวใช้เมล็ดตามธรรมชาติแต่ในปัจจุบันเริ่มมีการขยายพันธุ์ในเชิงพาณิชย์กันมาก จึงได้มีการใช้วิธีปักชำด้วย นอกจากนี้ตำแยแมวยังเป็นพืชที่ชุ่มเย็น มีร่มเงา และชอบดินร่วนปนทราย อีกด้วย


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของตำแยแมว ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด โดยองค์ประกอบของสารประเภท alcohols, aromatic aldehydes, cyclopentene monoterpenes, fatty acids, phenols และ oragic acid ดังนี้ toluene, hexanol, carene, cyclopentanol, eucalyptol, nonanal, octanol, acetic acid, nerol, phenol, benzyl alcohol, pantolactone, butyl hexadecanoate, octadecanoic acid นอกจากนี้ยังสามารถแยกสารเคมีในกลุ่ม nepetalactone ที่มีรายงานว่าสามารถดึงดูด และมีผลต่อพฤติกรรมการตอบสนองของแมว อีก 2 ชนิด คือ isodihydronepetalactone และ isoiridomymecin อีกด้วย

 โครงสร้างตำนมแมว

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของตำแยแมว

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของตำแยแมว ดังนี้ มีการศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพของตำแยแมวทั้งในหลอดทดลอง และในสัตว์ทดลอง โดยใช้สารเคมีที่ได้จากการสกัดทั้งต้นและรากของตำแยแมว ด้วยเอทานอลพบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งการเกิดแผลหลุมในกระเพาะอาหาร และรักษาแผลของพวกพุขาว และยังพบว่า สารสกัดของสารดังกล่าวยังมีฤทธิ์ของฮอร์โมนเอสโตรเจน และมีฤทธิ์ยับยั้งการปฏิสนธิ ของหนูพุกขาว ส่วนสารสกัดที่สกัดด้วยปิโตรเลียมอีเทอร์ และเอทานอลมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก เช่น Stephlococcus epidermidis, Staphylococcus aureus, Bacilus cereus, และแบคทีเรียแกรมลบ เช่น Pseudomonas aeruginosa

การศึกษาทางพิษวิทยาของตำแยแมว

มีรางานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของตำแยแมว ในต่างประเทศดังนี้ มีรายงานการศึกษาการทดสอบฤทธิ์ทางปากของสารสกัดจากต้นตำแยแมวในหนูขาว สายพันธุ์ อันบิโน โดยทดสอบปริมาณของสารสกัดที่ 100 200 300 400 และ 500 มล./กก.น้ำหนักตัว จากการศึกษาพบว่าไม่มีการเพิ่มขึ้นของค่า acid phosphatas, alkaline phosphatase, aspartate aminotransferase, alanine aminotransferase, lactate dehydrogenase ในหนูทดลองแต่ละกลุ่มที่ให้ปริมาณของสารสกัดต่างกันเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ดังนั้นปริมาณสารสกัดจากต้น Acalyphaindica ที่ขนาดความเข้มข้น 100-500 มล./นน.ตัว ไม่มีผลต่อเนื้อเยื่อตับ และไตซึ่งผลขอลสารสกัด ไม่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงต่อค่า โปรตีน ยูเรีย กรดยูริค ครีเอตินีน กลูโคส แคลเซียม และออกซาเลต ในซีรั่ม และปัสสาวะ

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทานตำแยแมวเนื่องจากยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยที่มากพอส่วนในการใช้ตำแยแมวเป็นสมุนไพร โดยการรับประทานนั้นมีข้อควรรวัง คือ ไม่ควรรับประทานมากจนเกินไปเพราะมีฤทธิ์ทำให้อาเจียนได้ และ ตำแยแมวมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น อาการท้องเสีย ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานตำแยแมว เนื่องจากอาจจะทำให้อาการรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ในประเทศศรีลังกา มีผู้ป่วยที่เป็นโรคพร่องเอนไซม์ G6PD หรือ Glucose-6-phosphate dehydrogenase deficiency ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมโรคหนึ่งซึ่งทำให้เม็ดเลือดแดงแตกเมื่อได้รับสิ่งกระตุ้นต่างๆ เช่น อาหาร การติดเชื้อ ยาบางชนิด ได้รับประทานยาต้มจากใบและทั้งต้นของตำแยแมว แล้วเกิดอาการเม็ดเลือดแดงแตก ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จึงควรระวังในการใช้ตำแยแมว
 

เอกสารอ้างอิง ตำแยแมว
  1. นันทวัน บุญยะประภัศร, อรนุช โชคชัยเจริญพร. สมุนไพรพื้นบ้าน 2. พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ บริษัทประชาชนจำกัด. 2541. 640 หน้า
  2. สมสคมโรงเรียนแพทย์แผนโบราณ. 2524. ประมวลสรรพคุณยาไทยว่าด้วยพฤกษชาติ วัตถุธาตุและสัตว์วัตถุนานาชนิด. สำนักวัดพระเชตุพนฯ ท่าเตียน. กรุงเทพฯ.
  3. อโรคยาศาล วัดป่ากุดฉนวันอุดมพร ตำบลบ้านเขว้า อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ. สมุนไพรในรั้ววัด. พิมพ์ครั้งที่ 1. มีนาคม 2554. หน้า 161-162.
  4. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. ‘ตำแยตัวผู้’ หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 313-314.
  5. พัชนี ศรีงาม และคณะ. การศึกษาฤทธิ์ทางยาของรากต้นตำแยแมว (Acalypha indica L.) ในแมวบ้าน. วารสารสัตว์แพทย์ศาสตร์ มข. ปีที่ 15. ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2548. หน้า 6-17
  6. ตำแยแมว รักษาอาการหอบหิดได้จริงหรือไม่. กระดานถาม-ตอบ. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก Http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=5821
  7. Sathya M, Kokilavani R and Ananta Teepa K 2012. Acute and subacute toxicity studies of ethanolic extract of Acalypha indica Linn in male wistar albino rats. Asian J Pharm Clin Res. 5 (1): 97-100.
  8. Hiremath, S.P. , Rudreoh, K. , Badami, S. , Patil, S.B. and Patil, S.R. 1999. Post-coital antifertility activity of Acalypha indica L. J. of Ethnopharmacology. 67: 253-258.
  9. Rahman AHMM and Akter M 2013. Taxonomy and Medicinal Uses of Euphorbiaceae Res Plant Sci. 1 (3): 74-80.
  10. Nahrstedt, A. , Kant, J.D. and Wary V. 1982. Acalyphin, A cyanogenic glucoside from Acalypha indica. Phytochemistry. 21 (1): 101-105.
  11. Scaffidi A, Algar D, Bohman B, Ghisalberti EL and Flematti G 2016. Identification of the & cat attractants isodihydronepetalactone and isoiridomyrmecin from Acalypha indica. Aust J Chem. 69 (2): 169-173.
  12. Reddy, J.S. , Rao, P.R. and Reddy, M.S. 2002. Wound healing effects of Heliotropium indicum, Plumbago zeylanicum and Acalypha indica in rats. J. of Ethnopharmacology. 79: 249-251.
  13. Govindarajan M, Jebanesan A, Reetha D, Amsath R, Pushpanathan T and Samidurai K 2008. Antibacterial activity of Acalypha indica Eur Rev Med Pharmacol Sci. 12 (5): 299-302.
  14. Satyanaragun, N.D. and Purohit, M.G. 2002. Antiulcer activity of Acalypha indica L. (Euphorbiaceae) on ethanol induced gastric ulcers. J. of Ethnopharmacology. 80: 1-8.