กลึงกล่อม ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
กลึงกล่อม งานวิจัยและสรรพคุณ 16 ข้อ
ชื่อสมุนไพร กลึงกล่อม
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะจ้ำ, ผักจ้ำ, ไคร้น้ำ, กำจาย (ภาคเหนือ), ช่องกลอง, มงจาม, ชั่วกลอง, กระทุ่มคลอง, ท้องคลอง (ภาคกลาง), จิงกล่อม, น้ำนอง (ภาคใต้), น้ำน้อย (ภาคอีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Polyalthia suberosa (Roxb.) Thwaites
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Uvaria suberosa Roxb.
วงศ์ ANNONACEAE
ถิ่นกำเนิดกลึงกล่อม
กลึงกล่อม จัดเป็นพืชในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในภูมิภาคเอเชียใต้บริเวณประเทศอินเดีย และบังกลาเทศ จากนั้นจึงมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนในทวีปเอเชีย เช่น ศรีลังกา พม่า ไทย เวียดนาม ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงทางตอนใต้ของจีนอีกด้วย สำหรับในประเทศไทยพบกลึงกล่อม ได้บริเวณตามชายป่าทั่วไป ป่าเบญจพรรณ ที่ราบลุ่มแม่น้ำ หรือ ตามริมแม่น้ำลำคลอง โดยตามได้ทั่วทุกภาคของประเทศ แต่จะพบได้น้อยตามภาคใต้
ประโยชน์และสรรพคุณกลึงกล่อม
- แก้ไข้
- แก้ร้อนในกระหายน้ำ
- ช่วยขับพิษภายใน
- แก้น้ำเหลืองเสีย
- แก้พิษของภาคใต้
- รักษาไข้ พิษไข้กาฬ
- แก้โรคท้องร่วง
- โรคบิด
- ใช้เป็นยาแก้ปวด
- ใช้เป็นยาระบาย
- ใช้รักษาอาการไอ
- แก้หวัด
- รักษาโรคปอด
- ใช้ขับปัสสาวะ
- ใช้ระงับประสาท
- ใช้อุดฟัน
มีการนำกลึงกล่อม มาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ และเพื่อให้ร่มเงาตามอาคารสถานที่ต่างๆ เช่น วัด สถานที่ราชการ ส่วนสาธารณะ เนื่องจากมีทรงพุ่มที่กลมหนาทึบบังแดดได้ดี และยังมีกลิ่นที่หอมจากดอกอีกด้วย ส่วนยอดอ่อนและผลอ่อนก็ถูกนำมาใช้รับประทานเป็นผักสด ในภาคเหนือ ใช้ทำส้าผัก หรือ ใช้ลวกจิ้มน้ำพริกก็ได้
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้แก้ไข้ แก้ไข้ร้อนใน กระหายน้ำ ช่วยขับพิษไข้ ขับพิษภายใต้ แก้น้ำเหลืองเสีย โดยนำรากและเนื้อไม้กลึงกล่อม มาใช้ต้มกับน้ำดื่ม ส่วนการใช้ในตำรับ “ยาหกสิงห์” ให้ใช้รากคนทา 1 ส่วน รากชิงชี่ 1 ส่วน รากเท้ายายม่อม 1 ส่วน รากมะเดื่อชุมพร 1 ส่วน รากย่านาง 1 ส่วน และรากกลึงกล่อม 2 ส่วน มาต้มในหม้อ โดยใส่น้ำพอท่วมยาต้มเดือด 20 นาที จากนั้นแยกน้ำต้มออกมาแล้วใส่น้ำ แล้วต้มซ้ำแบบเดิมอีก 2 รอบ แล้วจึงนำน้ำต้มทั้ง 3 รอบมารวมกัน ต้มให้เดือนอีกครั้ง แล้วใช้ดื่มวันละ 1 แก้วกาแฟ
- ส่วนในต่างประเทศก็มีการใช้กลึงกล่อมเป็นสมุนไพรดังนี้ เปลือกต้นใช้เป็นยาลดไข้ แก้โรคท้องร่วงและโรคบิด ใช้เป็นยาแก้ปวดและยาระบาย ใบใช้รักษาอาการไอ หวัด และท้องร่วง ในเอเชียใต้ใช้ผลรักษาโรคท้องร่วง โรคปอด เมล็ดใช้ขับปัสสาวะ ระงับประสาท ส่วนน้ำยาง ใช้อุดฟัน เป็นต้น
ลักษณะทั่วไปของกลึงกล่อม
กลึงกล่อม จัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ต้นขนาดเล็กไม่ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มกลม มีความสูงได้ประมาณ 2-5 เมตร มักจะแตกกิ่งต่ำ เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อน หรือ สีน้ำตาลเข้ม ผิวเปลือกลำต้นมักย่นเป็นสันนูนขรุขระ กิ่งอ่อนมีขนขึ้นประปราย เมื่อกิ่งแก่ผิวจะเกลี้ยง มีช่องระบายอากาศเป็นตุ่มสีขาว หรือ สีเทาอมชมพูกระจัดกระจายทั่วไป
ใบกลึงกล่อม เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ตรงข้ามบนกิ่ง ใบมีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน หรือ รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ใบมีขนาดกว้าง 1.7-3.5 เซนติเมตร ยาว 5-10 เซนติเมตร โคนใบสอบและเบี้ยวเล็กน้อยปลายใบเป็นติ่งแหลมสั้นๆ ขอบใบเรียบย่นเป็นคลื่นม้วนงอขึ้นเล็กน้อย ใบมีสีเขียว ใบแก่สีเขียวอมเหลืองหลังใบและท้องใบเรียบเกลี้ยงเป็นมัน หรือ อาจมีขนสั้นๆ ตามเส้นกลางใบ ท้องใบจะมีสีเขียวนวล มีเส้นแขนงใบข้างละ 7-8 เส้น และมีก้านใบสั้น 1-3 มิลลิเมตร
ดอกกลึงกล่อม เป็นดอกเดี่ยว โดยจะออกบริเวณด้านข้างของกิ่ง หรือ ออกตรงข้าม หรือ เยื้องกับใบใกล้ปลายยอด เหนือง่ามใบเล็กน้อย ดอกมีสีเหลืองออกห้อยลง โดยดอกจะประกอบด้วยกลีบเลี้ยงดอก 3 กลีบ มีลักษณะเป็นรูปไข่ ด้านนอกมีขน ส่วนกลีบดอกนั้น มี 6 กลีบเรียงสลับกัน 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ มีสีเหลือง หรือ สีเหลืองอมน้ำตาล กลีบดอกมีขนาดใหญ่กว่ากลีบเลี้ยง โดยกลีบดอกชั้นนอกจะมี 3 กลีบ มีขนาดเล็กและสั้นกว่ากลีบดอกชั้นใน กลีบด้านนอกมีขนขึ้นประปราย มีเกสรเพศผู้ขนาดเล็กอยู่ชิดกันแน่นเป็นพุ่มกลมจำนวนมาก ก้านชูดอกมีสีแดง ลักษณะเรียวยาว ประมาณ 1.3-3.2 เซนติเมตร และจะมีใบประดับเล็กๆ ติดอยู่ใกล้โคนก้าน ดอกกลึงกล่อม มีกลิ่นหอมเมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดกว้าง 1-1.6 เซนติเมตร
ผลกลึงกล่อม ออกเป็นกลุ่มอยู่บนแกนตุ้มกลาง ผลมีจำนวนมาก โดยใน 1 กลุ่มจะมีผลย่อยประมาณ 20-30 ผล โดยก้านช่อผลจะยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ผลย่อยมีลักษณะเป็นรูปทรงรี หรือ กลม เป็นผลสดมีเนื้อ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-7 มิลลิเมตร ผิวผลเรียบเป็นมัน เมื่อผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้มจนถึงสีม่วงดำ ภายในผลมีเมล็ด 1-2 เมล็ด ซึ่งเมล็ดมีลักษณะเป็นรูปรี สีน้ำตาล
การขยายพันธุ์กลึงกล่อม
กลึงกล่อมสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด การตอนกิ่ง และปักชำ แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่งกลึงกล่อม นั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่งไม้ยืนต้น หรือ ไม้พุ่มชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้กลึงกล่อมเป็นพันธุ์ไม้ที่ค่อนข้างเติบโตช้า ชอบความชื้น ต้องการแสงแดดเล็กน้อยและเป็นพืชที่ชอบดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำได้ดี
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหยจากส่วนใบของกลึงกล่อม ระบุว่า พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น α-Pinene, Camphene, Sabinene, D-Limonene, β-Ocimene, 5-Methyl decane, γ-Terpinene, Terpinolene, Linalool, Nonanal, Thujol, α-Copaene, (E)-β-Damascenone, β-Elemene, cis-β-Caryophyllene, 5,5-Diethylundecane, E-β-caryophyllene Nerylacetone, α-Humulene, Neoclovene, Germacrene D, 2-Methyl tetradecane, 3-Methyl tetradecane, β-Selinene, Bicyclogermacrene, α-Farnesene, δ-Guaiene, Caryophyllene oxide, Globulol, Humulene epoxide I, Virdiflorol, 24-Noroleana-3, 12-diene, Stigmasta-3, 5-diene, γ-Sitosterol เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของกลึงกล่อม
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดกลึงกล่อม และน้ำมันหอมระเหยจากส่วนใบของกลึงกล่อมระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ดังนี้
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ acetylcholinesterase ที่เป็นสาเหตุของโรคความจำเสื่อม ของน้ำมันหอมระเหยจากส่วนใบของกลึงกล่อมระบุว่า สามารถยับยั้งเอนไซม์ acetylcholinesterase ได้ โดยมีค่า IC 50 ที่ 91.94 µg/mL โดยคาดว่าฤทธิ์ต้านเอนไซม์ AChE ของน้ำมันหอมระเหยที่ทดสอบอาจเกิดจากฤทธิ์เสริมฤทธิ์กันของส่วนประกอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโมโนเทอร์พีนและเซสควิเทอร์พีน ซึ่งน้ำมันหอมระเหยที่มีโมโนเทอร์พีนมีแนวโน้มที่จะแสดงฤทธิ์ยับยั้ง AChE ได้ดีและยังมีรายงานว่าสาร D-Limonene แสดงฤทธิ์ยับยั้ง AChE ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยมีค่า IC 50 เท่ากับ 3.54 mM ส่วน α -Pinene ก็แสดงฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ AChE ได้ดีเช่นกัน โดยมีค่า IC 50 เท่ากับ 0.22 mg/ml และยังมีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ลดอาการปวด จากสารสกัดแอลกอฮอลล์จากส่วนใบของกลึงกล่อมในหนูทดลอง โดยแบ่งหนูทดลองออกเป็น 4 กลุ่ม แต่ละกลุ่มประกอบด้วยหนู 6 ตัว กลุ่มแรก คือน้ำกลั่นและเป็นกลุ่มควบคุมกลุ่มที่ 2 ได้รับไดโคลฟีแนค (10 มก./กก.)กลุ่มที่ 3 และ 4 ได้รับสารสกัดแอลกอฮอล์ (250 มก./กก.และ 500 มก./กก.) หลังจากนั้น 45 นาที หนูแต่ละกลุ่มจะได้รับการฉีดกรดอะซิติก 0.7 เปอร์เซ็นต์ 10 มล./กก.ทางช่องท้อง พบว่าเมื่อให้สารสกัดในปริมาณ 250 และ 500 มก/กก./น้ำหนักตัว สารสกัดสามารถยับยั้งอาการปวดของหนูทดลองได้ 55.02 เปอร์เซ็นต์ และ 64.33 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ส่วนกลุ่มที่ได้รับ ไดโคลฟีแนค สามารถยับยั้งอาการดิ้นได้ 67.44 เปอร์เซ็นต์ เมื่อให้ในขนาด 10 มก./กก./น้ำหนักตัว
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยฤทธิ์อาการท้องร่วงของสารสกัดเอทิลอซ์เตทจากส่วนใบของกลึงกล่อม ในหนูทดลอง ที่ถูกชักนำให้เกิดอาการท้องเสียก่อนการทดลองโดยให้น้ำมันละหุ่ง 0.5 มล. ทางปาก จากนั้นทำการแบ่งหนูจำนวน 26 ตัว ออกเป็น 4 กลุ่ม ก่อนการทดลอง หนูจะถูกอดอาหารเป็นเวลา 18 ชั่วโมง โดยให้ดื่มน้ำ แต่น้ำกลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุมได้รับน้ำกลั่น (10 มล./น้ำหนักตัว/กก.) ในขณะที่กลุ่มที่ 2 ได้รับยาโลเพอราไมด์ (3 มก./น้ำหนักตัว/กก.) กลุ่มที่ 3 และ 4 ให้สารสกัดเอทิลอะซิเตทจากส่วนใบกลึงกล่อมในขนาด (250 และ 500 มก./น้ำหนักตัว/กก.)
จากการศึกษาวิจัยพบว่าสารสกัดเอทิลอะซิเตทจากส่วนของกลึงกล่อมมีผลยับยั้งอาการท้องเสียอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับการรักษา ซึ่งสารสกัดสามารถลดอุบัติการณ์ของการถ่ายอุจจาระออกได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเปอร์เซ็นต์การยับยั้งอาการท้องเสียของสารสกัด (250 และ 500 มก./กก.) คือ 50.07% และ 70.06% ตามลำดับ ส่วนการยับยั้งอาการท้องเสียโดยยาโลเปอราไมด์ HCl (3 มก./กก.) คือ 85.01%
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของกลึงกล่อม
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สำหรับการใช้กลึงกล่อม เป็นสมุนไพร ในการบำบัดรักษาโรคตามตำรับตำรายาต่างๆ นั้น ควรระมัดระวังในการใช้ เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง กลึงกล่อม
- ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “กลึงกล่อม (Klueng Klom)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 39.
- มัณฑนา นวลเจริญ. พรรณไม้ป่าชายหาด. ปทุมธานี. สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2552 หน้า 7.
- ตำรับยาหกสิงห์. แผ่นพันเผยแพร่ความรู้. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข.
- Chen Y-C, Chia Y-C, Huang B-M. Phytochemicals from Polyalthia species: potential and implication on Anti-Oxidant, Anti-Inflammatory, anti-cancer, and Chemoprevention activities. Molecules. 2021;26(17).
- N. Yasmen, M. Aziz, A. Tajmim et al., “Analgesic and anti-inflammatory activities of diethyl ether and n-hexane extractof polyalthia suberosa leaves,” Evidence-Based Complementaryand Alternative Medicine, vol. 2018, Article ID 5617234,8 pages, 2018
- Dohi S, Terasaki M, Makino M. Acetylcholinesterase inhibitory activity and chemical composition of commercial essential oils. J Agric Food Chem. 2009;57(10).
- Z. J. J. O.B. Labu and P. Research, “Phytochemical screeningand in vitro study of antioxidant, antidiarrhoeal and analgesicactivities of Hydromethanol extracts,” Evidence-Based Com-plementary and Alternative Medicine, vol. 2, pp. 52-63, 2013
- Zarrad K, Hamouda AB, Chaieb I, Laarif A, Jemâa JM-B. Chemical composition, fumigant and anti-acetylcholinesterase activity of the Tunisian Citrus aurantium L. essential oils. Ind Crops Prod. 2015;76.
- P. Tuchinda, M. Pohmakotr, B. Munyoo, V. Reutrakul, andT. Santisuk, “An azaanthracene alkaloid from Polyalthiasuberosa,” Phytochemistry, vol. 53, no. 8, pp. 1,079-1,082, 2,000.
- Hung NH, Quan PM, Satyal P, Dai DN, Hoa VV, Huy NG et al. Acetylcholinesterase inhibitory activities of essential oils from Vietnamese traditional Medicinal plants. Molecules. 2022;27(20).