โมโกรไซด์
โมโกรไซด์
ชื่อสามัญ Mogroside
ประเภทและข้อแตกต่างของสารโมโกรไซด์
โมโกรไซด์ (Mogrisides) เป็นสารที่ให้รสหวานตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นสารในกลุ่ม ไตรเตอร์ปีน ไกลโคไซด์ (Triterpene Glycosides) เป็นสารที่มีรสชาติหวานมาก (หวานกว่าน้ำตาลซูโครสประมาณ 150-300 เท่า) แต่ให้พลังงานต่ำและยังไม่มีผลกระทบต่อระดับอินซูลินในกระแสเลือด
สำหรับลักษณะของสารโมโกรไซด์ที่ผ่านการสกัดมาแล้วนั้นจะมีลักษณะเป็นผงสีเหลือง และสีขาว สามารถละลายน้ำได้เป็นอย่างดี ส่วนประเภทของโมโครไซด์นั้น พบว่ามีอยู่หลายประเภทอาทิเช่น Mogrol, โมโกรไซด์ IA1,โมโกรไซด์ IIE, โมโกรไซด์ IV, Mogroside V , โมโกรไซด์ VI โดยความแตกต่างกันนั้นจะเกิดจากการเจริญเติบโตของพืชผลไม้ที่เป็นแหล่งของสารโมโกรไซด์ กล่าวคือ ในขณะที่ผลไม้ที่ยังไม่สุกนั้น โมโกรไซด์จะเป็น mogrosides IA1 และ IIE ซึ่งมีรสขม และในระหว่างกระบวนการทำให้สุก จะได้รับไกลโคไซเลชั่น อย่างต่อเนื่องและเมื่อผลสุก mogrosides IA1 และ IIE จะถูกเปลี่ยนเป็นโมเลกุล mogroside IV และ V ซึ่งเป็นสารโมโกรไซด์ที่มีรสหวานมาก และเป็น mogroside ที่นิยมใช้ประโยชน์ในปัจจุบัน
แหล่งที่พบและแหล่งที่มาของสารโมโกรไซด์
สำหรับแหล่งของโมโกรไซด์ที่สำคัญ คือ หล่องฮั่งก๊วย ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการสกัดสารโมโกรไซด์ โดยเริ่มจากนำผลหล่อฮั่งก๊วยที่แห้งมาบดให้มีขนาดเล็ก จากนั้นทำการสกัดด้วยตัวทำละลาย แล้วนำเข้าเครื่องอบด้วยความร้อน แล้วจึงนำบรรจุแบบสุญญากาศ ก็จะได้สารสกัด mogroside ที่มีลักษณะเป็นผงสีขาวหรือเหลือง ละลายน้ำได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีการพบสารโมโกรไซด์ในพืชเถาอีกหลายชนิด เช่น มะระ เป็นต้น
ปริมาณที่ควรได้รับจากสารโมโกรไซด์
สำหรับขนาดและปริมาณของไมโกรไซด์ที่ควรได้รับในแต่ละวันนั้น ในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์หรือขนาดในการใช้อย่างแน่ชัดแต่อย่างใด แต่ทั้งนี้สารโมโกรไซด์ก็ได้รับการยอมรับจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) เมื่อปี พ.ศ.2553 ว่าสามารถใช้เป็นสารให้ความหวานได้อย่างปลอดภัย และยังไม่มีรายงานผลข้างเคียงจากการใช้ในเด็ก สตรีมีครรภ์ หรือในหญิงให้นมบุตร
ประโยชน์และโทษจากสารโมโกรไซด์
ในการนำสารโมโกรไซด์มาใช้ประโยชน์นั้น ปัจจุบันนิยมใช้เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลเช่นเดียวกับหญ้าหวาน ที่ให้พลังงานต่ำและไม่มีผลต่อสารอินซูลินในเลือด แต่จะดีกว่าตรงที่มีกลิ่นที่หอมเหมาะกับกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน หรือผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก
นอกจากนี้ยังนิยมนำมาใช้เป็นสารเพิ่มความหวานในอาหารและเครื่องดื่มในอุตสาหกรรมอาหารต่างๆ อีกด้วย โดยจากการศึกษาพบว่าในปัจจุบันราคาของสารสกัดโมโกรไซด์อยู่ที่กิโลกรัมละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3,000 บาท เลยทีเดียว
การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องสารโมโกรไซด์
มีผลการศึกษาวิจัยของโมโกรไซด์เกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายฉบับดังนี้
มีรายงานการวิจัยฉบับหนึ่งพบว่าสาร mogrosides กระตุ้นการหลั่งอินซูลินของเบต้าเซลล์ในตับอ่อนและทำให้อินซูลินทำงานเพิ่มขึ้นเมื่อทำการศึกษาในหลอดทดลอง
ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีการศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของสาร mogrosides ซึ่งสกัดได้จากหล่อฮั่งก๊วย แบบในหลอดทดลอง (in vitro) ในเซลล์แมคโครฟาจน์ RAW 264.7 ซึ่งถูกกระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบด้วยการเติม Lipopolysaccharides (LPS) แล้วจึงเติมสารสกัด mogrosides เพื่อทดสอบประสิทธิภาพการยับยั้งการเกิดกระบวนการอักเสบของหล่อฮั่งก๊วย และในเซลล์เนื้อเยื่อจากใบหนูของหนูเมาส์โดยทำการฉีดสารสกัด mogrosides เข้าที่ใบหูหนูก่อนกระตุ้นให้เกิดอาการบวมและอักเสบด้วยการฉีด 12-o-tetradecanoylophorbol-13-acetate (TPA) จากนั้นวัดการแสดงออกของยีนส์ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดกระบวนการอักเสบด้วยวิธี RT-qPCR (Reverse transcription real-time polymerase chain reaction) และวิธี ELISA (Enzyme-linked immunosorbent assay) ผลการทดสอบพบว่าสารสกัด mogrosides มีผลลดระดับการแสดงออกของยีนส์ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดกระบวนการอักเสบได้แก่ nitric oxide synthase (iNOS) cyclooxygenase-2 (COX-2) และ interleukine-6 (IL-6) นอกจากนี้ยังมีผลเพิ่มการแสดงออกของยีนส์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการป้องกันการอักเสบได้แก่ poly ADP-ribose polymerase family number 1 (PARP1), BCL2-like 1 (BCL2l1) transformation-related protein 53/p53 (TRP53), mitogen-activated protein kinase 9 (MAPK9) และ peroxisome proliferator activator receptor δ (PPAR δ) ซึ่งผลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสารสกัด mogrosides จากหล่อฮั่งก๊วยมีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้
ฤทธิ์ต้านเบาหวาน มีการศึกษากลไกการออกฤทธิ์ต้านเบาหวานของสาร cucurbitane glycosides ซึ่งเป็นสารในกลุ่ม mogrosides ที่แยกได้จากผลหล่อฮั่งก๊วย (Siraitia grosvenori) จำนวน 18 ชนิด ในหลอดทดลอง โดยใช้เซลล์มะเร็งตับของมนุษย์ (HepG2 cells) และเปรียบเทียบกับยามาตรฐาน metformin พบว่าสารทุกตัวมีฤทธิ์ทำให้การเก็บกลูโคสเข้าสู่เซลล์ (glucose uptake) เพิ่มขึ้น โดยมีประสิทธิภาพสูงสุดที่ความเข้มข้น 1 μmol/L ซึ่งผลดังกล่าวเทียบเท่าหรือดีกว่ายา metformin ที่ความเข้มข้นเดียวกัน
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาความเป็นพิษของโมโกรไซด์พบว่าการรับประทานสารโมโกรไซด์ที่สกัดจากหล่อฮั่งก๊วยในรูปแบบของเครื่องดื่มและอาหารมีความปลอดภัยสูง เช่นเดียวกับสาร mogrosides ซึ่งมีความเป็นพิษต่ำมาก ในการทดลองกับหนูเม้าส์โดยการให้เข้าทางกระเพาะอาหารพบค่าความเข้มข้นที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) คือ 10 ก./กก. ส่วนผลการทดสอบการกลายพันธ์แบบย้อนกลับของ mogrosides พบว่าผลเป็นลบซึ่งบ่งชี้ว่าไม่มีการกลายพันธุ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ
ถึงแม้ว่าจะมีการศึกษาวิจัยถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่ระบุว่าสารโมโกรไซด์มีผลดีในด้านต่างๆ ต่อสุขภาพ อีกทั้งยังมีการศึกษาความเป็นพิษที่ระบุว่าไม่มีพิษ หรือมีพิษน้อยมาก แต่อย่างไรก็ตามในการใช้สารโมโกรไซด์ก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สารสกัดชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสมและไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ในระยะยาวได้ นอกจากนี้ควรระมัดระวังการบริโภคหล่อฮังก๊วยในผู้ที่ตับอ่อนทำงานผิดปกติ หรือทำงานหนักมากเกินไป เพราะหากรับประทานโมโกรไซด์ในปริมาณมาก ร่างกายสร้างอินซูลินมากเกินความต้องการ จะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง และอาจทำให้เกิดอาการหน้ามืดวิงเวียนศีรษะ หรืออาจเป็นลมหมดสติได้ ควรระมัดระวังการบริโภคหล่อฮังก๊วยในผู้ที่ตับอ่อนทำงานผิดปกติ หรือทำงานหนักมากเกินไป เพราะหากรับประทานโมโกรไซด์ในปริมาณมาก ร่างกายอาจจะสร้างอินซูลินมากเกินความต้องการ จะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง และอาจทำให้เกิดอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ หรืออาจเป็นลมหมดสติได้
เอกสารอ้างอิง โมโกรไซด์
- ฤทธิ์ต้านการอักเสบของหล่อฮั่งก๊วย (Momordica grosvenori).ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- วรรณดล เชื้อมงคล.สารให้ความหวาน:การใช้และความปลอดภัย.วารสารไทยเภสัชศาสตร์และวิทยาการสุขภาพปีที่ 3.ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2551.หน้า 161-168
- ฤทธิ์ต้านเบาหวานของสาระสำคัญจากหล่อฮั่งก๊วย.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
- เครือวัลย์ พรมลักษณ์.Monk fruit (ผลหล่อฮังก๊วย) ทางเลือกใหม่ของสารให้ความหวานจากธรรมชาติ.ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหารสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
- นิศารัตน์ สุขเอม และ ปรัศนี ทับใบแย้ม.(2556).การใช้หล่อฮั้งก๊วยแทนน้ำตาลมะพร้าวในผลิตภัณฑ์วุ้นน้ำนมข้าวยาคู.รายงานวิจัย.คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคงพระนคร.
- หล่อฮั่งก๊วย.กระดาษถาม-ตอบ (ออนไลน์) .สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.เข้าถึงได้จาก http://www.wedplant.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=762
- Su X, Xu Q, Liang R, Tang Z, Wei Y. Experiments studies on the non-toxicity action of mogrosides. Shipin Kexue. 2005;26(3):221-4.
- Zhou Y, Zheng Y, Ebersole J, Huang CF. Insulin secretion stimulating effects of mogroside V and fruit extract of luo han kuo (Siraitia grosvenori Swingle) fruit extract. Yao Xue Xue Bao. 2009;44(11):1252-7.