กาฬพฤกษ์ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย
กาฬพฤกษ์ งานวิจัยและสรรพคุณ 11 ข้อ
ชื่อสมุนไพร กาฬพฤกษ์
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กาฬพฤกษ์ยอดแดง (ทั่วไป), เปลือกขม (ปราจีนบุรี), กาน (เขมร)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia grandis L.f.
ชื่อสามัญ Pink shower, Horse cassia
วงศ์ LRGUMINOSAE- CAESALPINIOIDEAE
ถิ่นกำเนิดกาฬพฤกษ์
กาฬพฤกษ์เป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเขตร้อนของทวีปอเมริกา และอเมริกาใต้ โดยพบครั้งแรกในป่าดิบชื้นของอเมริกากลาง และอเมริกาใต้ เช่น ป่าอเมซอน จากนั้นจึงได้แพร่กระจายไปยังเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลกซึ่งส่วนมากจะเป็นการกระจายพันธุ์โดยมนุษย์ที่นำไปเพาะปลูกเป็นไม้ประดับโดยมีการบันทึกไว้ดังนี้ พบเปอร์โตริโกในปี พ.ศ.2424 มีชื่อพื้นถิ่นว่า canafistula cimarrona พบในเบอร์มิวดาในปี พ.ศ.2461 และในปี พ.ศ.2467 มีรายงานว่าพบในเซนต์โทมัส เซนต์ครอย คิวบา จาเมกา และทวีปอเมริกาเขตร้อน เป็นต้น ส่วนในทวีปเอเชียพบการปลูกอย่างแพร่หลายเป็นไม้ประดับในมาเลเซียประเทศเอเชียใต้ กัมพูชาและเวียดนามตอนใต้ สำหรับในประเทศไทยพบได้ในทุกภาคของประเทศ
ประโยชน์และสรรพคุณกาฬพฤกษ์
- ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ
- ใช้แก้พิษไข้
- เป็นยาทำให้อาเจียน
- เป็นยาถ่ายพิษไข้
- รักษาโรคทางเดินอาหาร
- แก้โรคโลหิตจาง
- แก้อาการปวดม้วน
- แก้โรคกระเพาะ
- รักษาโรคเลือด
- ใช้รักษาแผลติดเชื้อ
- ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
มีการนำกาฬพฤกษ์มาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ หลายด้านดังนี้ คนไทยในสมัยโบราณที่นิยมกินหมากจะใช้เนื้อในฝักของกาฬพฤกษ์มาใช้เคี้ยวกับหมาก ส่วนเปลือกไม้ และเนื้อไม้มีสารที่ให้ความฝาดจึงนิยมนำไปใช้ในการฟอกหนัง อีกทั้งดอกกาฬพฤกษ์มีลักษณะเป็นพวงสีส้มแดงสวยสะดุดตา มีกลิ่นหอมอ่อนๆ จึงนิยมนำไปปลูกเป็นไม้ประดับตามอาคารสถานที่ต่างๆ เช่น บ้าน สวนสาธารณะ วัด รวมถึงสถานที่ราชการต่างๆ อีกด้วย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้กาฬพฤกษ์
กาฬพฤกษ์ใช้เป็นยาแก้พิษไข้และใช้สำหรับเป็นยาระบายอ่อนๆ ระบายอุจจาระธาตุ แก้พรรดึก และระบายท้องเด็ก โดยใช้เนื้อในฝักมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ บดเป็นผงชงกับน้ำดื่ม หรือ ปั้นเป็นยารูปกลอนรับประทานซึ่งสามารถรับประทานได้ถึงครั้งละ 8 กรัม โดยจะไม่ทำให้มีอาการปวดม้วน และไม่ไซ้ท้องใช้เป็นยาถ่ายพิษไข้ และไม่ทำให้อาเจียนโดยใช้เมล็ดมารับประทานสดๆ หรือ ใช้เปลือกนำมาต้มกับน้ำดื่ม
ลักษณะทั่วไปกาฬพฤกษ์
กาฬพฤกษ์จัดเป็นพรรณไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่มีความสูง 10-20 เมตร โดยลำต้นมีพูพอนซึ่งลักษณะลำต้นคล้ายคลึงกับต้นคูน หรือ ต้นราชพฤกษ์ โดยจะแตกเป็นร่องลึกเปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลเข้มลึก เรือนยอดเป็นพุ่ม หรือ แผ่กว้าง ตามกิ่งอ่อน ใบอ่อน และช่อดอกจะมีขนนุ่มสีน้ำตาลขึ้นปกคลุม ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ แกนกลางใบประกอบยาว 15-30 ซม. ก้านใบประกอบยาว 2-3 ซม. มีใบย่อย 10-20 คู่ เรียงจากเล็กไปหาใหญ่ รูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง 1-2 ซม. ยาว 3-5 ซม. ปลายมนมีติ่ง หรือ หยักเว้าเล็กน้อย โคนเบี้ยว แผ่นใบด้านบนเกลี้ยงเป็นมัน หรือ มีขนประปราย ด้านล่างมีขนหนาแน่นเมื่อใบอ่อนเป็นสีแดงแต่เมื่อใบแก่จะเป็นสีเขียว ดอก ออกเป็นช่อแบบช่อกระจะโดยจะออกตามกิ่งพร้อมกับใบอ่อน ซึ่งช่อดอกจะยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร และมีก้านดอกยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร มีใบประดับรูปไข่ ใบแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ดอกกลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับหรือค่อนข้างกลม มีขนาดกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 5-8 มิลลิเมตร มีขนนุ่มส่วนกลีบดอกลักษณะเป็นรูปไข่กลับมีขนาดความกว้างประมาณ 8-10 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1.2-1.5 เซนติเมตร มี 5 กลีบ เมื่อเริ่มบานจะมีสีแดงคล้ำแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูอมส้ม มีกลิ่นหอม ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน มีขนาดยาวไม่เท่ากัน รังไข่มีลักษณะเรียวโค้ง มีขนหนานุ่ม เกสรดอกเป็นสีเหลือง ผล ออกเป็นฝักค่อนข้างกลม เป็นรูปทรงกระบอก โคนและปลายสอบ เปลือกหนาแข็ง ขรุขระ ที่ขอบฝักเป็นสันตามแนวยาวทั้ง 2 ข้าง ขนาดกว้าง 0.8-1.2 ซม. ยาว 1.3-1.8 ซม. ฝักแก่แห้งไม่แตก เมล็ดเป็นรูปรีรูปไข่ หรือรูปขอบขนานในฝักจะมี 20-40 เมล็ด ซ้อนกันเป็นชิ้นมีสีเหลือง กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร มีรสขม และมีกลิ่นเหม็น
การขยายพันธุ์กาฬพฤกษ์
กาฬพฤกษ์สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด และการตอนกิ่ง แต่วิธีที่นิยมในปัจจุบัน คือ วิธีการเพาะเมล็ด โดยการตัดและทำแผลที่ปลายเมล็ด หรือ แช่น้ำกรดเข้มข้นประมาณ 4-5 นาที จากนั้นอีกประมาณ10 วัน เมล็ดจะงอกอีก แล้วจึงนำไปเพาะในถุงเพาะชำ และเมื่อระยะผ่านไปประมาณ 6 เดือน กล้าจะมีขนาดความสูงประมาณ 20 เซนติเมตร จึงสามารถย้ายปลูกได้ สำหรับวิธีการปลูกกาฬพฤกษ์นั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการปลูกไม้ยืนต้นทั่วไป กาฬพฤกษ์เป็นพรรณไม้ที่ปลูกเลี้ยงง่ายมีความทนทานต่อสภาพอากาศร้อนได้ดี และไม่ต้องการน้ำมาก ดังนั้นจึงสามารถกระจายพันธุ์ได้ทุกพื้นที่ได้เป็นอย่างดี และในประเทศไทยก็ยังสามารถพบเห็นได้ทั่วไปทุกภูมิภาคอีกด้วย
องค์ประกอบทางเคมีกาฬพฤกษ์
มีผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของกาฬพฤกษ์ดังนี้ ในต่างประเทศมีการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของราก กาฬพฤกษ์พบว่ามีสาร D-manitol, Vanilic acid และ Lupeol ส่วนเปลือกต้นพบสาร Moracin B, n-heptacosan-l-ol และ bis(2,3-dyhydroxypropyl) –tetracosandioate และในส่วนสารสกัดเมล็ดพบสาร O-anisic acid, pulmatin, chrysophanol และ (-)-epiafzelechin เป็นต้น
การศึกษาทางเภสัชวิทยากาฬพฤกษ์
มีผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดเนื้อในฝักของกาฬพฤกษ์พบว่า แสดงฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดโดยมีขนาดยา 200 มก./กก. ซึ่งไม่มีความแตกต่างทางสถิติ กับยาไกลเบนคลาไมด์ที่ 25 มก./กก. นอกจากนี้ยังพบว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และมีผลการยับยั้งเอนไซม์ α-glycosidase ที่ดีอีกด้วยส่วนอีกงานวิจัยหนึ่งระบุว่า สารสกัดจากเมล็ดกาฬพฤกษ์มีฤทธิ์ ต้านมะเร็ง สารต้านอนุมูลอิสระ และต้านจุลชีพอาทิเช่น E. coli, B.subtillis และ S.aureus เป็นต้น
การศึกษาทางพิษวิทยากาฬพฤกษ์
มีการศึกษาทางพิษวิทยาจากสารสกัดเนื้อในฝักของกาฬพฤกษ์ที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดพบว่ามีค่า LD50 (ค่าที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง) =>2000 กก./มก. และหลังจากการให้ยาอย่างต่อเนื่อง (1000มก./กก., 28 วัน) ค่าพารามิเตอร์ทางโลหิตวิทยา และชีวเคมีของสัตว์ทดลองก็ยังมีค่าเป็นปกติอีกด้วย
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ในการใช้กาฬพฤกษ์เป็นยาสมุนไพรบำบัดรักษาโรคตามสรรพคุณดังที่กล่าวมานั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ เนื่องจากเปลือก และเมล็ดทำให้อาเจียนได้ โดยหากรับประทานมากเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันนานจนเกินไป อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ ดังนั้นก่อนการใช้สมุนไพรชนิดนี้ทุกครั้งควรปรึกษาแพทย์ หรือ ได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง
เอกสารอ้างอิง กาฬพฤกษ์
- ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “กาลพฤกษ์”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 หน้า 62.
- ราชบัณฑิตยสถาน.2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.
- กาฬพฤกษ์. กลุ่มยาถ่าย. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โดยการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีฯ (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants.data/herbs/herbs_05.htm.
- Britton NL; Wilson P, 124. Scientific survey of Porto Rico and the Vergins islands, Volume V, Botany and Porto Rico and the Virgin Islands. New York academy of Sciences, New York.
- Luan, N., Tao, N.C., Hai Tien, V.T., Nghia, N.B., Dung, L.T., Tri, M.D., Han, N.N., & Phi Phung N.K. (2016). Natural compounds from seeds of Cassia grandis L.f. Vietnam Journal of Chemistry, 54(2), 256.
- Bello Espinosa D, 1881. [English title not available]. (Apuntes para la flora de Puerto Rico. Primera parte.) Anal. Soc. Espanola de Hist. Nat, 10:231-304.
- Smitinand T. and Larsen, K., eds. 1984. Flora of Thailand (Vol.4:1). Bankok: TISTR Press.
- Kumar S; Sane PV, 2003. Legumes of South Asia: A check-list. Richmond, UK:Royal Botanic Gardens, 536 pp.
- Britton NL, 1918. Flora of Burmuda. New York, USA: Charles Scribner’s Sons. 585 pp.