ยูคาลิปตัส ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย
ยูคาลิปตัส งานวิจัยและสรรพคุณ 16 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ยูคาลิปตัส
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น โกศจุฬารส (ไทย) หนานอัน อันเยี๊ยะ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Eucalyptus globulus Labill
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Eucalyptus globulus subsp., Eucalyptus gigantean Dehnh, Eucalyptus pulverulenta Link
ชื่อสามัญ Eucalyptus
วงศ์ MYRTACEAE
ถิ่นกำเนิดยูคาลิปตัส
ยูคาลิปตัส เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปออสเตรเลียบริเวณเกาะแมสามเนีย จากนั้นจึงได้มีการกระจายพันธุ์ไปยังบริเวณใกล้เคียงได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี รวมถึงหมู่เกาะต่างๆ ในโอเชียเนีย แล้วจึงได้แพ่กระจายไปทั่วโลก ในปัจจุบันสำหรับในประเทศไทยมีหลักฐานระบุว่า เริ่มมีการนำยูคาลิปตัสมาปลูกครั้งแรกที่พระที่นั่นวิมานเมฆ ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2544
ประโยชน์และสรรพคุณยูคาลิปตัส
- แก้ไข้
- แก้หวัด
- แก้ติดเชื้อ
- แก้ไข้หวัดใหญ่
- แก้บิด
- แก้ลำไส้อักเสบ
- ช่วยขับเสมหะ
- ช่วยลดอาการข้ออักเสบ
- แก้โรคกลากเกลื้อน
- แก้ผดผื่นคัน
- แก้ฝีหนองต่างๆ
- ช่วยแก้ไอ
- ช่วยขับเสมหะ
- แก้หวัดคัดจมูก
- แก้วิงเวียน
- แก้ฟกช้ำดำเขียว
เนื้อไม้ยูคาลิปตัสถูกนำมาใช้ทำกระดาษ ใช้เป็นวัสดุก่อสร้าง เฟอนิเจอร์เครื่องเรือน และเครื่องใช้สอยต่างๆ และยังนำมาใช้เผาถ่าน ถ่านไม้ยูคาลิปตัสจะให้พลังงานความร้อน 7,400 แคลอรี่ต่อกรัม ซึ่งมีความใกล้เคียงกับไม้โกงกาง ซึ่งเป็นถ่านไม้ชั้นดีที่สุด เปลือกไม้นำมาบดให้ละเอียดแล้วนำมาผสมกับขี้เลื่อย และกาว ใช้ทำเป็นธูปใช้ทำเป็นส่วนผสมของยากันยุงได้ส่วนของใบนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยซึ่งจะให้กลิ่นหอมสามารถใช้สารฆ่าเชื้อ สารแต่งกิ่งในน้ำหอม สบู่ ยาดม และใช้แต่งกลิ่น และรสชาติ ของอาหารนอกจากนี้ยังใช้เป็นสารป้องกัน และกำจัดแมลงได้อีกด้วย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยูคาลิปตัส
ใช้เป็นยาเย็น แก้ไข้ แก้หวัด ไข้หวัดใหญ่ แก้บิด ลำไส้อักเสบ ข้ออักเสบ ขับเสมหะ โดยใช้ใบแห้ง 10-15 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม หรือ บดชงกับน้ำร้อนดื่มก็ได้ ใช้รักษาโรคผิวหนังต่างๆ เช่น กลากเกลื้อน ผดผื่นคัน ฝีหนอง โดยใช้ใบสด 18-30 กรัม มาตำให้แหลกใช้พอกบริเวณที่เป็น ใช้แก้ไอ ขับเสมหะ โดยใช้น้ำมันที่กลั่นได้จากใบสด 0.5 มิลลิลิตร รับประทาน หรือ หยดในน้ำอุ่นดื่มก็ได้ ใช้แก้อาการหวัดคัดจมูก โดยใช้น้ำมันยูคาลิปตัส สักเล็กน้อย มาเจือจาง ในน้ำมันมะกอก น้ำมันมะพร้าว หรือ น้ำมันโจโจ้บาแล้วนำมาสูดดม หรือ ใช้อมก็ได้ ใช้แก้ปวดเมื่อย ปวดบวม แก้อาการฟกช้ำดำเขียว โดยใช้น้ำมันยูคาลิปตัสมาทาถูนวดบริเวณที่เป็น
ลักษณะทั่วไปของยูคาลิปตัส
ยูคาลิปตัสจัดเป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 10-25 เมตร มีเรือนยอดเป็นพุ่มหนาทึบค่อนข้างกลม แตกกิ่งก้านมากลำต้นตั้งตรง เปลือกเป็นมันบางเรียบ ลอกออกง่ายเป็นแผ่นบางๆ มีสีน้ำตาลอ่อนปนขาว หรือ สีเทาสลับสีขาวและสีน้ำตาลแดง ส่วนกิ่งก้านเล็กเป็นเหลี่ยม
ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกแบบเรียงสลับ เป็นรูปหอกปลายใบแหลม กว้าง 0.5-0.8 นิ้ว ยาว 3-12 นิ้ว ใบเป็นสีเขียวอ่อนหม่นๆ ทั้งสองด้าน ใบห้อยลงมีเส้นใบมองเห็นได้ชัด มีก้านใบยาว 2 เซนติเมตร
ดอก ออกเป็นเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุกตามซอกใบ ซึ่งจะมีประมาณ 2-3 ดอก โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลสงของดอกประมาณ 4 เซนติเมตร ดอกสีขาว หรือ สีเหลืองอ่อน มีเกสรเพศผู้หลายก้าน
ผล มีลักษณะเป็นรูปครึ่งวงกลม คล้ายรูปถ้วยแต่ตรงปลายผลจะแหลมเปลือกผลหนามีรอยเส้นสี่เหลี่ยม 2 เส้น มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.8-2 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อผลแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และปลายผลจะแยกออก
การขยายพันธุ์ยูคาลิปตัส
ยูคาลิปตัสเป็นพืชที่มีการแยกย่อย สลายค่อนข้างมาก เพราะมีการพัฒนาสายพันธุ์ อย่างหลากหลายตามความต้องการของตลาดโดยมีพันธุ์ที่นิยมปลูกกัน คือ พันธุ์ออสเตรเลียแดง พันธุ์สีรุ้ง และพันธุ์เรดกัมเป็นต้น สำหรับการขยายพันธุ์ยูคาลิปตัสนั้น สามารถทำได้โดยการเพาะเมล็ด และการปักชำแต่วิธีที่นิยมกันในปัจจุบัน คือ การเพาะเมล็ด ซึ่งการเพาะเมล็ดก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดชนิดอื่นๆ ซึ่งหลังจากเพาะเมล็ด 45 วัน ให้ย้ายต้นกล้าลงถุงเพาะชำ แล้วทำการพรางแสง 50% แล้วเมื่อต้นมีใบ 3 คู่ ให้เด็ดยอดทิ้งเพื่อให้แตกกิ่งแขนง จากนั้นจึงเตรียมลงปลูกในหลุมที่มีขนาด 50x50x50 (กว้างxยาวxลึก) แล้วจึงกลบดินที่ผสมปุ๋ยคอก รดน้ำให้ชุ่มแล้วหาไม้ค้ำยันไว้ด้วย
องค์ประกอบทางเคมียูคาลิปตัส
มีรายงานการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหยจากใบยูคาลิปตัสระบุพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด เช่น 1,8-cineole (Eucalyptol) สูงกว่า 70% ซึ่งสาร Eucalyptol เป็นสารประกอบ monoterpene และยังพบสารอื่นๆ อีกเช่น a-pinene,limonene, terpinen-4-ol, inalool, crytone, cuminaldehyde, linalyl acetate, spathulenol, b-phellandrene, r-cymene, Aromadendrene, Cineole, Pinocarveol, Cuminaldehyde, 1-Acely 1-4, Quercetin Rutin ส่วนในใบพบสาร Eucalyptin , Tannin และ Guaiacol Globulolเป็นต้น
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของยูคาลิปตัส
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของยูคาลิปตัสดังนี้
ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ acetylcholinesterase มีการศึกษาวิจัยน้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้จากใบของพืชในวงศ์ Myrtaceae จำนวน 6 ชนิด ได้แก่ ยูคาลิปตัส (Eucalyptus globulus Labill), เสม็ดขาว (Melaleuca cajuputi Powell), แปรงล้างขวด (Melaleuca citrina (Curtis) Dum. Cours), ฝรั่ง (Psidium guajava Linn.), หว้า (Syzygium cumini (L.) Skeel), และชมพู่น้ำดอกไม้ (Syzygium samarangense (Blume) Merr & L.M. Perry) โดยนำมาศึกษาองค์ประกอบทางเคมี และทดสอบฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ acetylcholinesterase (AChE) พบว่าน้ำมันหอมระเหยจากแปรงล้างขวด มีฤทธิ์ดีที่สุด (71.77±2.11%) รองลงมา คือ ยูคาลิปตัส (47.65±2.26%), ฝรั่ง (24.96±2.38%), เสม็ดขาว (21.18±0.54%), หว้า (19.97±1.10%) และชมพู่น้ำดอกไม้ (13.78±1.52%) ตามลำดับ สาร 1,8-cineole ซึ่งเป็นสารสำคัญหลักที่พบในน้ำมันหอมระเหยจากแปรงล้างขวด และยูคาลิปตัส ซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ AChE ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากเสม็ดขาว หว้า และชมพู่น้ำดอกไม้ ไม่มี 1,8-cineole ในองค์ประกอบ จึงมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ AChE
ฤทธิ์ลดอาการคัดจมูกในผู้ป่วยโรคหวัด มีการศึกษาวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มไปข้างหน้าและมีกลุ่มควบคุม (Randomized prospective controlled trial) เพื่อเปรียบเทียบผลของการสูดดมยูคาลิปตัส และหอมแดง ด้วยไอน้ำร้อนต่ออาการคัดจมูกในผู้ป่วยโรคหวัดจำนวน 37 คน โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่สูดดมยูคาลิปตัสจำนวน 19 คน และกลุ่มที่สูดดมหอมแดงด้วยไอน้ำร้อนจำนวน 18 คน ให้ผู้ป่วยสูดดมยูคาลิปตัส หรือ หอมแดงด้วยไอน้ำร้อนอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลา 10 นาที และประเมินอาการคัดจมูกของผู้ป่วยโดยให้ผู้ป่วยให้คะแนนความรุนแรงของอาการคัดจมูกด้วยตนเอง และการใช้เครื่องมือตรวจวัดแรงต้านทานในจมูกโดยเทคนิคไรโนมาโนเมตรีทั้งก่อน และหลังสูดดมไอระเหยเป็นเวลา 40 นาที พบว่าหลังการสูดดมยูคาลิปตัส และหอมแดงด้วยไอน้ำร้อน คะแนนประเมินอาการคัดจมูกของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มดีขึ้นไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับความเชื่อมั่น 99.9% โดยค่าเฉลี่ยของคะแนนอาการคัดจมูกของผู้ป่วยกลุ่มที่สูดดมยูคาลิปตัสลดลงจาก 54.44±10.42% เป็น 40.50±14.94% และในกลุ่มที่สูดดมหอมแดงด้วยไอน้ำร้อนลดลงจาก 55.72±10.59% เป็น 39.72±13.17% ในขณะที่ค่าแรงต้านทานในจมูกของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มเพิ่มขึ้นจากเดิมเล็กน้อยโดยไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และไม่พบผลข้างเคียงที่ร้ายแรงจากการสูดดมทั้งสองวิธี
ฤทธิ์ไล่ยุง มีการทดสอบฤทธิ์ไล่ยุง (repellent activity) ของน้ำมันหอมระเหยจากใบสดของสมุนไพร 4 ชนิด ได้แก่ กะเพรา (Ocimum sanctum), สะระแหน่ฝรั่ง (Mentha piperita), ยูคาลิปตัส (Eucalyptus globulus) และเนียมหูเสือ (Plectranthus amboinicus) ที่สกัดด้วยวิธีการกลั่นด้วยน้ำ (hydrodistillation) และเตรียมเป็นสารละลายน้ำมันหอมระเหยของสมุนไพรแต่ละชนิดความเข้มข้นร้อยละ 20 ในเอทานอล และสารละลายน้ำมันหอมระเหยผสมของสมุนไพรทั้งสี่ชนิดในอัตราส่วนเท่ากัน ความเข้มข้นร้อยละ 5 แล้วทดสอบฤทธิ์ไล่ยุงกับยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) เพศเมียอายุ 3-5 วัน โดยเติมสารละลาย 100 ไมโครลิตรในจานเพาะเชื้อที่วางไว้ในกล่องทดสอบ และประเมินการเกาะของยุง (mosquito landing) ทุกๆ 30 นาที จนครบ 6 ชั่วโมง เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมบวกซึ่งใช้สารไล่แมลงมาตรฐาน DEET (N, N-diethyl-m-toluamide) ความเข้มข้นร้อยละ 20 ในเอทานอล และกลุ่มควบคุมลบซึ่งใช้แอลกอฮอล์อย่างเดียว ผลการทดสอบพบว่าน้ำมันหอมระเหยของกะเพรา สะระแหน่ฝรั่ง เนียมหูเสือ และน้ำมันหอมระเหยผสมสามารถป้องกันการเกาะของยุงได้นานถึง 6 ชั่วโมง เช่นเดียวกับกลุ่มที่ใช้ DEET ส่วนน้ำมันยูคาลิปตัสมีผลป้องกันการเกาะได้ 1 ชั่วโมง 30 นาที ในขณะที่กลุ่มควบคุมลบพบการเกาะและกินอาหาร (feeding) ของยุง
ฤทธิ์ป้องกันกำจัดแมลง มีรายงานว่าสาร1,8-cineole เป็นองค์ประกอบหลักของน้ำมันหอมระเหยจากใบยูคาลิปตัส มีประสิทธิภาพทำให้ด้วงงวงข้าว Sitophilus oryzae L.ตาย 75 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับ น้ำมันหอมระเหยจากใบยูคาลิปตัส อัตราความเข้มข้น 0.01 ml/L มีผลทำให้ตัวเต็มวัยของแมลงวัน (hessian fly) Mayetiola destructor Say มีเปอร์เซ็นต์การตายที่ระยะเวลา 2 ชั่วโมง เท่ากับ 63.33
นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยอื่นๆ อีกเช่น มีรายงานว่าน้ำมันยูคาลิปตัสความเข้มข้นที่ 6% สามารถช่วยยับยั้งเชื้อวัณโรค H37, Rv ได้ สารสกัดอื่นๆ มีฤทธิ์ขับพยาธิปากขอและสามารถยับยั้งเชื้อ Staphylo coccus ได้ โดยฤทธิ์ที่ยับยั้งเชื้อได้ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารสกัด ฯลฯ
การศึกษาทาวพิษวิทยาของยูคาลิปตัส
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
การใช้น้ำมันยูคาลิปตัสควรใช้ภายนอก ไม่ควรนำมารับประทาน และห้ามสูดดม หรือ สัมผัสผิวหนังโดยตรง เนื่องจากมีความเข้มข้นสูง หากเข้าตาให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ก่อนไปพบแพทย์ หากถูกผิวหนังให้รีบล้างออกด้วยสบู่ มิฉะนั้นอาจเกิดอาการแพ้ได้ หากได้รับน้ำมันหอมระเหยทางปากจะมีผลโดยตรง ต่อระบบย่อยอาหาร ซึ่งน้ำมันหอมระเหยจะถูกดูดซึมในกระเพาะอาหาร ทำให้อวัยวะระคายเคือง กระตุ้นน้ำย่อย การหายใจ การไหลเวียนเลือด และการย่อยอาหาร
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าใบยูคาลิปตัส มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ดังนั้นผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงควรระมัดระวังในการใช้ใบยูคาลิปตัส โดยเฉพาะระหว่างที่รับประทานยา รักษาโรคเบาหวาน เพื่อป้องกันระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำจนเกินไป
เอกสารอ้างอิง ยูคาลิปตัส
- วิทยา บุญวรพัฒน์. “ยูคาลิปตัส”. หนังสือสารานุกรมไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 468.
- รศ.ดร. วีณา จิรัจฉริยากูล. กลิ่นหอม บำบัดโรค. คอลัมน์บทความพิเศษ. นิตยาสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 248. ธันวาคม 2542.
- ฤทธิ์ไล่ยุงจากน้ำมันหอมระเหยจากกระเพา สาระแหน่ ฝรั่ง ยูคาลิปตัส และเนียมหูเสือ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- ภานุมาศ จันทร์สุวรรณ. วารสาร อวพช. มีนาคม 2551. หน้า 40.
- ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ acetylcolinesterase ของน้ำมันหอมระเหยจากพืชวงศ์ Myrtaceae. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- นันทิยา จิตธรรมมา. 2549. ประสิทธิภาพในการเป็นสารกำจัดแมลงของน้ำมันหอมระเหยจากใบยูคาลิปตัส (Eucalyptus camaldulensis Dehnh) ต่อหนอนกระทู้ผัก (Spodoptera litura Fabricius). วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตร์ มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,นครปฐม.
- เปรียบเทียบผลของการสูดดม ยูคาลิปตัสและหอมแดงด้ายไอน้ำร้อนต่อการคัดจมูกในผู้ป่วยโรคหวัด. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- วันดี กฤษณพันธ์.2536. เภสัชวินิจฉัย: ยา และผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ เล่ม 2 มหาวิทยัยมหิดล. กรุงเทพมหานคร. 403 หน้า
- ยูคาลิปตัส. กลุ่มสมุนไพรไล่ยุง หรือ แมลง. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีฯ (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants.data/herbs/herbs_25_2.htm
- Lamiri, A., S. Lhaloui, B. Benjilali, and M. Berrada. 2001. Insecticidal effects of essential oils against Hessianfly, Mayetiola destructor (Say). Field Crops Research.71: 9-15.
- Shaaya, E., U. Ravid, N. Paster, B. Juven, U. Zisman, and V. Pissarev. 1991. Fumigant toxicity of essential oil against four major stored-product insects.