เห็ดหูหนู ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
เห็ดหูหนู งานวิจัยและสรรพคุณ 32 ข้อ
ชื่อสมุนไพร เห็ดหูหนู
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เห็ดหูหนูดำ, เห็ดหูแมว, เห็ดหูหนูบาง, เห็ดหูหนูหนา, เห็ดหูหนูจีน (ทั่วไป), เห็ดหู, เห็ดหูล๊วะ (ภาคเหนือ) เห็ดหู่ยู๋ (ไทใหญ่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Auricularia auricula-judae(Bull.) J.Schröt.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Auricularia auricular (L.ex Hook.) Undrerw, Auricularia polytricha
ชื่อสามัญ Jelly ear fungus, Ear fungus, Wood ear, Jew's ear
วงศ์ AURICULARIACEAE
ถิ่นกำเนิดเห็ดหูหนู
เชื่อกันว่าเห็ดหูหนูเป็นเห็ดที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน เพราะมีการค้นพบบันทึกตำรายาของแพทย์หลวงของจีนที่ใช้รักษาพระราชวงศ์ ซึ่งเป็นตำราที่มีอายุเก่าแก่มากแล้ว โดยในบันทึกได้ระบุถึงการใช้เห็ดหูหนู เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงเลือดลม บำรุงพลังหยิน แล้วต่อมาสันนิษฐานว่าเห็ดหูหนูได้ทั่วทุกภาคของประเทศทั้งในธรรมชาติ และการเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
ประโยชน์และสรรพคุณเห็ดหูหนู
- เป็นยาบำรุงเลือด
- ช่วยบำรุงกำลัง
- ช่วยบำรุงธาตุหยินที่ตับ
- บำรุงรุงธาตุหยินที่ไตไต
- ช่วยวิ่งเส้นลมปราณไต
- ช่วยบำรุงสมอง
- ใช้รักษาเลือดออกเนื่องจากเลือดร้อน
- ช่วยรักษาอุจจาระเป็นเลือด
- แก้ปัสสาวะเป็นเลือด
- แก้ประจำเดือนมากผิดปกติ
- แก้ริดสีดวงทวาร
- แก้โรคบิด
- แก้เลือดจาง
- แก้อ่อนเพลีย
- แก้หอบหืด
- ใช้บำรุงกระเพาะ
- แก้ริดสีดวง
- รักษาความดันเลือดสูง
- รักษาไขมันในเลือดสูง
- รักษาวัณโรค
- แก้อาการท้องผูก
- แก้หลอดเลือดแข็งตัว
- ช่วยขับของเสียในลำไส้
- บำรุงให้ผิวพรรณชุ่มชื้น
- ช่วยขับนิ่วในถุงน้ำดี
- ช่วยขับนิ่วในทางเดินกระเพาะปัสสาวะ
- ช่วยควบคุมการทำงานของอวัยวะสำคัญๆ เช่น สมอง หัวใจ ตับ ไต
- ช่วยหยุดอาการเส้นโลหิตฝอยแตก
- ช่วยการไหลเวียนของโลหิต
- ช่วยในการขับเคลื่อนของลำไส้ดีขึ้น
- ช่วยป้องกันมะเร็ง
- ช่วยลดอาการแทรกซ้อนภายหลังจากการฉายรังสี
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ในการใช้เห็ดหูหนูเป็นสมุนไพรนั้นส่วนมากแล้วจะเป็นการใช้ประกอบอาหาร เพื่อให้มีรสชาติที่ดี รับประทานได้ง่าย และได้สรรพคุณอย่างเดิมทีแต่ก็มีการใช้เป็นสมุนไพรโดดอยู่บ้างเหมือนกัน ซึ่งทางการแพทย์แผนจีนจะมีวิธีใช้เห็ดหูหนูเป็นอาหารในการบำบัดรักษาโรคดังนี้
ใช้ทำเป็นโจ๊กเห็ดหูหนู เพื่อแก้เลือดจาง ไอเป็นเลือด อ่อนเพลีย หอบหืด ช่วยขับนิ่วในถุงน้ำดี และนิ่วในทางเดินกระเพาะปัสสาวะ ใช้ทำเห็ดหูหนูดำตุ่นน้ำตาลกรวด เพื่อรักษาความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง วัณโรค หลอดเลือดแข็งตัว ขับของเสียในลำไส้ บำรุงให้ผิวพรรณชุ่มชื้นสวยงาม
นอกจากนี้ก็ยังมีการใช้เห็ดหูหนู เป็นสมุนไพรอีกเช่น รักษาโรคความดันโลหิตสูง หรือ เส้นเลือดแข็งตัว โดยใช้เห็ดหูหนู ประมาณ 3 กรัม แช่น้ำได้ 1 คืน แล้วนำมานึ่งประมาณ 1-2 ชั่วโมง ใส่น้ำตาลกรวดลงผสมกัน ใช้รับประทานก่อนนอนวันละครั้ง ใช้แก้อาการท้องผูก และริดสีดวงทวารด้วยการใช้เห็ดหูหนู 3-6 กรัม และลูกพลับอบแห้ง 30 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำดื่ม และรับประทาน รักษาอาการตกเลือดในสตรี หรือ ประจำเดือนมามากผิดปกติ โดยใช้เห็ดหูหนูอบแห้งบดให้เป็นผง ใช้ชงกับน้ำรับประทานครั้งละ 3-6 กรัม วันละ 2 ครั้ง
ลักษณะทั่วไปของเห็ดหูหนู
เห็ดหูหนู จัดเป็นเห็ดในกลุ่มเห็ดราชนิดหนึ่งในตระกูลเห็ดฟันไจ มักจะพบตามตอไม้ขอนไม้ หรือ ต้นไม้ที่เน่าเปื่อยผุพัง โดยลักษณะของเห็ดหูหนูดำนั้นคล้ายกับใบหู ซึ่งมีทั้งชนิดแบบบาง และแบบหนาดอกเห็ดจะเป็นแผ่นใสนิ่มคล้ายวุ้น เป็นรูปพัดไม่มีด้าม ด้านบนของดอกเห็ดมีลักษณะมันเป็นเงา มีสีน้ำตาลปนดำ สีน้ำตาลปนแดง หรือ สีขาวนวล (แล้วแต่ชนิด) ส่วนขอบของดอกเห็ดจะมีรอยจีบ หรือ เป็นลอน ด้านล่างมีลักษณะเป็นขนละเอียดอ่อนคล้ายกำมะหยี่ หรือ ขนหยาบ และมีสีอ่อนกว่าด้านบน บางชนิดมีก้านสั้นๆ ยึดติดกับขอนไม้ตรงกลางดอก หรือ ค่อนไปข้างใดข้างหนึ่ง เนื้อเยื่อดอกเห็ดมีความยืดหยุ่นคล้ายวุ้นแต่เหนียวกว่า สำหรับขนาดของเห็ดก็แตกต่างกันไปแล้วแต่ชนิด ซึ่งจะมีขนาดกว้าง ตั้งแต่ 2-15 เซนติเมตร และหนา 1-3 มิลลิเมตร ส่วนสปอร์ของเห็ดหูหนูจะเป็น รูปคล้ายกับไส้กรอก ใส ไม่มีสี ขนาดกว้าง 5-6 ไมโครเมตร ยาว 13-15 ไมโครเมตร มีผิวเรียบ และก้านสปอร์รูปทรงกระบอก
การขยายพันธุ์เห็ดหูหนู
การเพาะเห็ดหูหนู สามารถแบ่งเป็นขั้นตอนใหญ่ๆ ได้ดังนี้
การแยกเชื้อบริสุทธิ์ โดยใช้กรรไกรหรือมีดโกนชุบแอลกอฮอล์ตัดขอบดอกเห็ดโดยรอบ แล้วลอกดอกเห็นออกเป็น 2 ชั้น โดยอย่าให้ส่วนภายในที่ลอกออกมาใหม่ๆ สัมผัสกับสิ่งใดๆ จากนั้นลนเข็มเขี่ยให้ร้อนแดงเพื่อฆ่าเชื้อ แล้วปล่อยทิ้งไว้พอประมาณ ต่อมาจึงใช้เข็มเขี่ยขูดเอาเนื้อเยื่อส่วนในออกมาเล็กน้อยจากนั้น สอดเนื้อเยื่อที่ตัดไว้เข้าไปวางในจุดใดจุดหนึ่งบนอาหารวุ้นในขวดอาหารแล้วรีบปิดจุกสำลีทันที แล้วให้นำไปบ่มไว้ในห้องที่มีอุณหภูมิสม่ำเสมอ ปกติอยู่ระหว่าง 22-26 องศาเซลเซียส ห้องบ่มควรเป็นห้องมืด เพราะเส้นใยเห็ดหูหนูขณะเจริญเติบโตไม่ต้องการแสง
เมื่อบ่นเชื้อได้ประมาณ 2-3 วัน จะเริ่มมีเส้นใยสีขาวฟูๆ ออกจากเนื้อเยื่อที่ตัดวางไว้ (ถ้าเกิดบริเวณอื่น แสดงว่าไม่ใช่เชื้อเห็ดหูหนู ) ปล่อยให้เชื้อเห็ดเจริญไปประมาณ 5-8 วัน จึงใช้เข็มเขี่ยตัดเอาส่วนปลายของเส้นใยเห็ดพร้อมอาหารวุ้นไปใส่ลงในอาหารวุ้นขวดใหม่ เพื่อจะให้ได้เชื้อเห็ดที่บริสุทธิ์จริง
การทำหัวเชื้อเห็ด โดยนำเมล็ดข้าวฟ่างมาแช่น้ำ 1 คืน น้ำควรเปลี่ยน 2-3 ครั้ง เพื่อป้องกันมิให้บูดเน่า ในตอนเช้าให้ล้างเมล็ดข้าวฟ่างที่เตรียมไว้อีกครั้งให้สะอาด เก็บเมล็ดเสีย และรีบออกทิ้ง นำไปต้มให้เมล็ดข้าวฟ่างนุ่ม แต่ควรระวังอย่าให้เมล็ดข้าวฟ่างแตก
เทเมล็ดข้าวฟ่างลงในผ้าขาวบาง เกลี่ยบางๆ ใช้ขี้เลื่อยที่มีความชื้นประมาณร้อยละ 60 ใส่ลงไปผสมด้วยประมาณร้อยละ 20 และเติมหินปูนประมาณร้อยละ 0.2 ทั้งนี้เพื่อให้เส้นใยเห็ดคุ้นเคยกับขี้เลื่อย หรือ จะใช้เมล็ดข้าวฟ่างเพียงอย่างเดียวก็ได้
หลังจากผึ่งทิ้งไว้จนเย็นพอจับได้ นำมากรอกใส่ขวดที่สะอาด เช่น ขวดแบน กรอกใส่ขวดประมาณ ครึ่งขวด เช็ดปากขวดให้สะอาด อุดจุกสำลี หุ้มสำลีด้วยกระดาษรัดยางอีกชั้นหนึ่ง นำไปนึ่งฆ่าเชื้อด้วยหม้อนึ่งความดันที่ความดันไอน้ำ ประมาณ 15-20 นาที ทิ้งให้เย็น และก่อนที่จะเขี่ยเชื้อเห็ดลงไป ต้องเขย่าขวดจนเมล็ดข้าวฟ่างกระจาย เพื่อให้ความชื้นกระจายไปทั่วๆ ทั้งขวด และป้องกันขวดแฉะ
หลังจากนั้นเขี่ยเชื้อเห็ดบริสุทธิ์จากอาหารวุ้นใส่ลงขวด โดยเชื้อเห็ดจะเจริญจนเต็มขวด และใช้เป็นหัวเชื้อได้ภายในเวลาประมาณ 10-20 วัน แต่ไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 15 วัน เพราะเส้นใยจับกับแน่น ยากแก่การเขี่ยเชื้อ
การเพาะเห็ดหูหนู สูตรอาหารในการเพาะเห็ดหูหนูที่แนะนำให้ใช้ โดยทั่วไปจะประกอบด้วย ขี้เลื่อยแห้ง 100 กิโลกรัม รำละเอียด 3-5 กิโลกรัม ข้าวโพดป่น 3-5 กิโลกรัม แป้งข้าวสาลีหรือน้ำตาลทราย 1-2 กิโลกรัม และหินปูน 0.5-1 กิโลกรัม (ไม่ใส่ก็ได้)
โดยผสมขี้เลื่อย รำละเอียด ข้าวโพดป่น แป้งข้าวสาลีหรือน้ำตาลทราย และหินปูนให้เข้ากัน ใส่น้ำลงไปทีละน้อย คลุกจนเปียกพอดีโดยลองกำดู ถ้ามีความรู้สึกว่าชื้นที่มือ เมื่อแบมือออกขี้เลื่อยจับกันเป็นก้อนแสดงว่าใช้ได้แล้ว แล้วนำมาบรรจุในถุงพลาสติกทนร้อนที่ใช้เพาะเมล็ดลงไปประมาณ 1 กิโลกรัม บรรจุให้แน่นพอประมาณ เมื่อบรรจุจนเกือบถึงบริเวณที่จะใส่คอขวดพลาสติก ควรอัดให้แน่นแล้วจึงสวมคอขวดพร้อมกับดึงถุงพลาสติกพับกลับทับคอขวด รัดยางให้แน่น อุด้วยสำลี หุ้มด้วยกระดาษ และฝาครอบคอขวด หรือ ปิดด้วยจุกประหยัดเสร็จแล้วนำไปนึ่งฆ่าเชื้อด้วยหม้อนึ่งสำหรับนึ่งถุงขี้เลื่อยที่อุณหภูมิ 95-100 องศาเซลเซียส นาน 3-4 ชั่วโมง เมื่อครบเวลารอให้อุณหภูมิลดลง 80-85 องศาเซลเซียส แล้วจึงเปิดฝาหม้อนึ่งความดัน นำถุงขี้เลื่อยที่นึ่งออกมา ทิ้งไว้ให้เย็นแล้วนำเข้าห้องใส่เชื้อ แล้วนำหัวเชื้อเมล็ดข้าวฟ่างที่เตรียมไว้เขย่าให้เมล็ดข้าวฟ่างร่วน และลนปากขวดหัวเชื้อเห็ดด้วยตะเกียงแอลกอฮอล์ เทเมล็ดหัวเชื้อประมาณ 10-15 เมล็ดใส่ในถุงขี้เลื่อยที่เตรียมไว้ หลังจากใส่เชื้อแล้วนำไปบ่มเชื้อในโรงเลี้ยงเส้นใยเห็ด อุณหภูมิธรรมดา และมีอากาศถ่ายเทสะดวก เส้นใยเห็ดจะเจริญเติบโตถุงขี้เลื่อยใช้เวลา 25-30 วัน
การทำให้ออกดอก เมื่อเส้นใยเห็ดเจริญเต็มถุง ให้ดึงคอขวดออก แล้วปิดปากถุง และใช้มีดบางๆ หรือ คัดเตอร์กรีดข้างถุงให้เป็นแนวเฉียงยาวลงสลับกันไปจนรอบถุง จากนั้นจึงนำถุงเห็ดไปวางบนชั้น หรือ แขวนในโรงเรือนเห็ด การรดน้ำควรใช้เครื่องฉีดชนิดพ่นฝอยฉีดให้อย่างสม่ำเสมอ ไม่ต่ำกว่า 3 ครั้งต่อวัน
การเก็บผลผลิต ถุงขนาด 1 กิโลกรัม จะให้ผลผลิตโดยเฉลี่ยประมาณ 400-700 กรัม ใช้เวลาเก็บประมาณ 2 เดือน ถึง 2 เดือนครึ่ง โดยจะพบว่า ดอกเห็ดหูหนู ระยะแรกขอบจะหนาและโค้งคล้ายถ้วย เมื่อเจริญเต็มที่แล้ว ขอบของดอกเห็ดจะบางโค้งเป็นลอนถ้าดึงจะหลุดได้ง่าย ในระยะนี้เป็นระยะที่เก็บได้ การเก็บเมื่อดอกเห็ดโตเต็มที่พร้อมกันแล้ว ใช้มือรวบแล้วดึงเบาๆ นำมาตัดก้านพร้อมทั้งเศษวัสดุที่ติดมาด้วยออกทิ้ง
องค์ประกอบทางเคมี
มีการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของเห็ดหูหนู พบว่า มีสารสำคัญต่างๆมากมายอาทิเช่น Licithin, D-Mannanm Glueuronic acid, Sphingomyelin, glutamic acid, adenosine, Cephalin, Ergosterol, Methyl pentose
นอกจากนี้เห็ดหูหนู ยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้
คุณค่าทางโภชนาการของเห็ดหูหนู (100 กรัม)
- พลังงาน 25 กิโลแคลอรี่
- คาร์โบไฮเดรต 6.75 กรัม
- โปรตีน 0.48 กรัม
- ไขมัน 0.04 กรัม
- ใยอาหาร 70.1 กรัม
- โซเดียม 9 มิลลิกรัม
- แคลเซียม 16 มิลลิกรัม
- โพแทสเซียม 43 มิลลิกรัม
- เหล็ก 0.56 มิลลิกรัม
- แมกนิเซียม 25 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 14 มิลลิกรัม
- สังกะสี 0.66 มิลลิกรัม
- วิตามิน บี 1 0.008 มิลลิกรัม
- วิตามิน บี 2 0.2 มิลลิกรัม
- วิตามิน บี 3 0.07 มิลลิกรัม
- วิตามิน บี 9 19 ไม่โครกรัม
- วิตามิน ซี 0.38 มิลลิกรัม
ที่มา : Wikipedia
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของเห็ดหูหนู
มีผลการศึกษาวิจัยทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ ระบุว่าเห็ดหูหนูดำมีฤทธิ์ต้านมะเร็งในหลอดทดลองได้ โดยมีการสันนิฐานว่า กรดกลูตามิคที่พบในเห็ดหูหนู น่าจะเป็นสารออกสารฤทธิ์สำคัญที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองได้
นอกจากนี้จากงานวิจัยฉบับอื่นๆ ยังระบุผลการศึกษาว่าเห็ดหูหนูมีฤทธิ์ต้านการเกาะตัวของเกล็ดเลือด เพราะพบสารอะดีโนซีน ซึ่งเป็นสารตัวเดียวกับที่มีในกระเทียม และหอมหัวใหญ่ โดยเมื่อทานไปแล้วจะช่วยลดความเหนียวข้นของเลือดทำให้เลือดไม่เป็นลิ่มเลือดไปอุดตันเส้นเลือดหัวใจ และยังมีฤทธิ์ลดไขมันในเลือด ฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น
การศึกษาทางพิษวิทยาของเห็ดหูหนู
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- ในทางการแพทย์แผนจีนระบุถึงข้อควรระวังในการบริโภคเห็ดหูหนู ว่าอาหารเหล่านี้มีลักษณะทำให้เกิดความชุ่มชื้น ความเย็น คนที่ระบบการ ย่อยอาหาร หรือ มีภาวะของร่างกายค่อนไปทางเย็นมากๆ ต้องระมัดระวังไม่ควรกินมาก และไม่ควรกินในช่วงกลางคืน
- เห็ดหูหนู มีสารอะดีโนซีน ซึ่งเป็นสารต้านการเกาะตัวของเกร็ดเลือด ดังนั้นผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเกาะตัวของเลือดควรหลีกเลี่ยงการบริโภค
- เด็กสตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เห็ดหูหนูเป็นสมุนไพร รักษาโรคเสมอ เพราะสารบางตัวในเห็ดหูหนูดำอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้
เอกสารอ้างอิง เห็ดหูหนู
- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ. (2554). แนะทาน เห็ดหูหนู สรรพคุณ ลดเลือดอุดตัน. ค้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2554 จาก http://www.thaihealth.or.th/healthcontent
- นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัฒนาวิบูล.เห็ดหูหนู, เห็ดหลืนจือ : สุดยอดของเห็ด. คอลัมน์แพทย์แผนจีน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 300. เมษายน. 2547
- กรมวิชาการเกษตร 2549, เอกสารประกอบบรรยายการเพาะเห็ดสำนักวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตรจตุจักรกรุงเทพฯ
- รัตนา พรหมพิชัย. (2542). เห็ดหูลวะ.ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม 14, หน้า 7618). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “เห็ดหูหนู ”. หน้า 628.
- สุเทพ ญาดี 2552, เอกสารประกอบบรรยายเรื่อง “การเพาะเห็ดต่างๆ” ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กรุงเทพฯ