แก้วลืมวาง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
แก้วลืมวาง งานวิจัยและสรรพคุณ 18 ข้อ
ชื่อสมุนไพร แก้วลืมวาง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ผีเสื้อ , ดอกผีเสื้อ (ไทย , ทั่วไป) , เก็งซุ้งล้อ , ฉวีม่าย , ฉวีไม่ , สืองู (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์Dianthus chinensis Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์Dianthus altaicus Willd.ex Ledeb.
ชื่อสามัญChinese pink , Rainbow pink
วงศ์ CARYOPHYLLACEAE
ถิ่นกำเนิด แก้วลืมวางจัดเป็นพืชในวงศ์คาร์เนชั่น (CARYOPHYLLACEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตอบอุ่นของทวีปเอเชีย เช่นใน จีนตอนเหนือ ,มองโกเลีย , เกาหลี , ญี่ปุ่น รวมถึงทางตะวันออกเฉียงใต้ของรัสเซีย ต่อมาจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตอบอุ่นต่างๆ ของโลก เช่นในยุโรปและอเมริกา สำหรับในประเทศไทยพบการนำมาปลูกเป็นไม้กระถางเพื่อประดับตกแต่งตามอาคารสถานที่ต่างๆ บ้างประปราย
ประโยชน์/สรรพคุณ แก้วลืมวางถูกนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยเพื่อเป็นไม้ประดับ และไม้กระถางเพื่อใช้ตกแต่งอาคารสถานที่ สอนสาธารณะหรือตามสถานที่สำคัญต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการนำแก้วลืมวางมาใช้เป็นยาสมุนไพรโดยมีการระบุถึงสรรพคุณในตำรายาไทย รวมถึงตำรายาจีนเอาไว้ดังนี้
- ทั้งต้นมีรสขมใช้เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อหัวใจ กระเพาะปัสสาวะ และลำไส้เล็ก ใช้แก้ร้อนใน ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะเป็นเลือด รักษานิ่วในทางเดินปัสสาวะ
- ใช้ขับระดูในสตรี รักษาโรคโกโนเรีย รักษาฝี รักษาบาดแผล แก้แผลเน่าเปื่อย แก้โรคผิวหนังผดผื่นคัน แก้โรคมะเร็งผิวหนัง และโรคเรื้อน
- ส่วนในเกาหลี มีการใช้แก้วลืมวาง แก้ไอ ขับปัสสาวะ ขับระดู ใช้แก้หนองใน อีกด้วย
รูปแบบ/ขนาดวิธีใช้
- ใช้แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะเป็นเลือด แก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะ ขับระดูในสตรี แก้โรคหนองใน(โกโนเรีย) โดยนำทั้งต้นแห้ง 5-12 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้ลดอาการบวมโดยนำทั้งต้นแห้ง 100 กรัม มาแช่ในน้ำร้อน 1 ชั่วโมงแล้วนำมาดื่ม
- ใช้แก้ฝีโดยนำทั้งต้นสดมาตำพอกบริเวณที่เป็น ใช้รักษาบาดแผล แก้แผลเน่าเปื่อย แก้ผดผื่นคัน โดยนำต้นสดมาตำหรือคั้นเอาน้ำมาล้างบาดแผล
ลักษณะทั่วไป แก้วลืมวางจัดเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็กอายุปีเดียว ลำต้นตั้งตรงมีความสูง 30-50 เซนติเมตร ลำต้นมีขนาดเล็ก สีเขียว ผิวลำต้นเรียบ มักแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มจำนวนมาก ใบเป็นใบเดี่ยวขนาดเล็กดอกเรียงเป็นคู่ ตรงข้ามกัน โคนใบเชื่อมติดกัน ไม่มีก้านใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-4 มิลลิเมตร ยาว 3-5 เซนติเมตร ใบมีลักษณะเป็นรูปใบหอกแคบ ปลายใบแหลม รอบใบเรียบไม่มีหยัก แผ่นใบบางเรียบสีเขียวอ่อน ดอกออกเป็นช่อบริเวณปลายยอด ใน 1 ช่อจะมีดอกย่อย 1-3 ดอก ดอกย่อยมีกลีบดอกยาว 16-25 มิลลิเมตร ส่วนโคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว 2-2.5 เซนติเมตร ปลายกลีบแยกออกจากันเป็นแฉกแหลม 5 แฉก ขอบกลีบดอกหยักเป็นซี่ ๆ ห่างกันโดยดอกจะมีหลากหลายสีแล้วแต่สายพันธุ์ เช่น สีแดงแกมขาว สีแดงสีม่วงอ่อน สีแดงแกมสีแดงดำ และบริเวณกลางดอกจะมีเกสรเพศผู้ 10 อัน และท่อเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉก 2 แฉก นอกจากนี้ยังมีกลีบรองกลีบดอก ยาว 16-24 เซนติเมตร อีกด้วย ผลเป็นผลแห้งแบบแคปซูลอยู่ในโคนกลีบ บริเวณปลายผลหยักเป็นซี่เลื่อย มี 4 ซีก เมื่อผลแห้งจะแตกออกด้านใน มีเมล็ดแบนกลมสีดำหลายเมล็ด
การขยายพันธุ์ แก้วลืมวางสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด โดยแก้วลืมวางจะสามารถเจริญเติบโตได้ในดินร่วนที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีการระบายน้ำได้ดี เป็นพืชที่ชอบอากาศเย็น ความชื้นปานกลางแต่ก็ชอบแสงแดดตลอดวัน และไม่ชอบอากาศร้อนจนเกินไป สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและการปลูก แก้วลืมวางนั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการปลูกพืชล้มลุกเมื่องหนาวอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวถึงมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้
องค์ประกอบทางเคมี มีรายงานผลการศึกษาวิจัย เกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนเหนือดินรวมถึงน้ำมันหอมระเหยจากดอกระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนเหนือดินของแก้วลืมวางระบุว่า พบสาร Astragalin, Clitorin, Isoorientin, Kurarinone, jopanin , 1-O‑Vanilloylglucose , Kaempferol glucosides 1–6, methyl ferulate, luteolin‑3’-O‑glucoside, luteolin‑4’-O‑glucoside, genistein 8‑C‑apiosyl glucoside และ apigenin 8‑C‑xylosyl glucoside เป็นต้น
ส่วนสารที่มีรายงานว่าพบน้ำมันระเหยจากส่วนดอก ได้แก่ Eugenol , melosides A,L , Phenytethylalcohol, dianchinenoside A-D , Benzyl benzoate, Benzyl salicylate และ Methyl salicylate
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยา มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดน้ำจากส่วนของทั้งต้น และสารสกัดจากทั้งต้นของแก้วลืมวาง พบว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยระบุว่า เมื่อให้ยาต้มจากทั้งต้นของแก้วลืมวางในขนาด 2 กรัม/กิโลกรัม ทาปากแก่กระต่าย พบว่าปริมาณปัสสาวะเพิ่มขึ้นและเพิ่มการขับคลอไรด์ได้อีกด้วย และเมื่อนำยาต้มดังกล่าวมาฉีดเข้ากระเพาะอาหารของกระต่ายในปริมาณ 2 กรัม/กิโลกรัม พบว่าภายใน 6 ชั่วโมงกระต่ายจะมีปัสสาวะเพิ่มขึ้นประมาณ 1-2.5 เท่าของปกติ นอกจากนี้ยังมีการน้ำต้มจากทั้งของแก้วลืมวางมาใช้ทดสอบในสุนัข พบว่ายาต้มมีฤทธิ์เพิ่มปริมาณปัสสาวะในสุนัขที่สลบ เท่ากับ 1-2.5 และ 5-8 เท่า ตามลำดับ โดยกลไกการออกฤทธิ์อาจเนื่องจากไพแทสเซียมที่มีมากในยาต้มนี้ นอกจากนี้ยาต้มยังมีฤทธิ์กระตุ้นสำไส้ที่แยกจากตัวกระต่าย และลำไส้ที่ไม่ได้แยกจากตัวอีกด้วย
นอกจากนี้สารสกัดแอลกอฮอล์จากทั้งต้นของแก้วลืมวางยังมีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของมดลูกกระต่ายที่ทำให้สลบ ส่วนยาต้มที่เตรียมจากช่อดอกของแก้วลืมวาง พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของหัวใจที่แยกจากกายกบและกระต่าย ส่วนอีกรายงานหนึ่งระบุว่าเมื่อฉีดยาต้มจากช่อดอกในขนาด 0.5 กรัม/กิโลกรัม เข้าหลอดเลือดดำสุนัขที่ทำให้สลบ พบว่าทำให้ความดันโลหิตลดลงอีกด้วย
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยา ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำ/ข้อควรระวัง สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้แก้วลืมวางเป็นสมุนไพร โดยเฉพาะในรูปแบบการับประทานเนื่องจากมีฤทธิ์บีบตัวของมดลูก ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรได้ ส่วนบุคคลทั่วไปที่มีสุขภาพดีหากจะนำแก้วลืมวางมาใช้เป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด/ปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไปหรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
อ้างอิงแก้วลืมวาง
- วิทยา บุญวรพัฒน์,แก้วลืมวาง,หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.หน้า94.
- Bensky D, Gamble A. Chinese Herbal Medicine: Materia Medica. Revised ed.Washington: Eastland Press Inc.,
- 1993.ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม.แก้วลืมวาง,หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย,ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.หน้า76-77.
- The State Pharmacopocia Commission of P.R. China. Pharmacopoeia of the People's Republic of China. Vol. 1.English ed. Beijing: People's Medical Publishing House, 2005.
- Yan, X., Yang, Y., Hu, F., Zhang, Z., & Zhang, L. (2021). Phytochemistry, pharmacological effects, and application of Dianthus superbus and Dianthus chinensis: A review. Frontiers in Pharmacology, 12, 729880.
- Li, S., & Zhang, Q. (2020). Safety assessment of long-term use of Dianthus chinensis as traditional medicine. Toxicology Reports, 7, 1632–1638.
- Park, H. R., & Lee, S. J. (2021). Isolation and identification of flavonoids from Dianthus chinensis flowers. Molecules, 26(14), 4213.
- Zhang, Y., & Xu, Z. (2017). Toxicological evaluation of Dianthus chinensis L. extract on reproductive function in animal models. Regulatory Toxicology and Pharmacology, 91, 187–193.
- Zhu Y. Chinese Materia Medica: Chemistry, Pharmacology and Applications. Amsterdam: Harwood Academic Publishers 1998.
- Li, J., Zhou, H., & Zhao, Y. (2016). Pharmacognostical identification of Qumai (Dianthus chinensis L.) and related species in Chinese Materia Medica. Journal of Ethnopharmacology, 194, 221–227.
- Lee, K. M., Cho, I. H., & Kim, J. S. (2019). Induction of apoptosis by ethanol extract of Dianthus chinensis in HepG2 cells. Journal of Ethnopharmacology, 235, 208–216.
- Park, D. H., & Lee, H. Y. (2022). Hypolipidemic effect of Dianthus chinensis extract in high-fat diet-induced rats. Journal of Functional Foods, 89, 104931.
- Chen JK, Chen TT. Chinese Medical Herbology and Pharmacology. CA: Art of Medicine Press Inc., 2004.
- Song, M., & Li, Z. (2018). Chemical constituents from Dianthus chinensis L. Chemistry of Natural Compounds, 54(3), 496–498.
- Li, C. Y., & Wang, X. (2015). Diuretic and uterine contraction activities of Dianthus chinensis extracts. Chinese Journal of Integrative Medicine, 21(5), 345–351.