ตาล ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ตาล งานวิจัยและสรรพคุณ 21ข้อ
ชื่อสมุนไพร ตาล
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ตาลโตนด, ตาลใหญ่ (ภาคกลาง), ปลีตาล, ตาลนา, ต๋าน (ภาคเหนือ), โหนด, ลูกโหนด (ภาคใต้), ปอเก๊าะตา (ยลา, ปัตตานี), คาน (ไทยใหญ่), ทอกู, ท้าว (กะเหรี่ยง), ตะนอด, ทะเนา (เขมร)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Borassua laillifer Linn.
ชื่อสามัญ Palmyra Palm
วงศ์ ARECACEAE -PALMAE
ถิ่นกำเนิดตาล
มีการสันนิษฐานว่าถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของตาล อยู่ในทวีปแอฟริกา ต่อได้มีการกระจายพันธุ์มาทางตอนใต้ และตะวันออกของประเทศอินเดีย แล้วจึงได้แพร่มาสู่แถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในปัจจุบันพบว่าปลูกกันมากใน ประเทศไทย พม่า นิวกีนี และในแอฟริกา ส่วนประเทศไทยน่าจะมีการเริ่มการปลูกครั้งแรกบริเวณแถบเมืองท่าของจังหวัดภาคใต้ในอดีต สำหรับในปัจจุบันพบมากบริเวณ เพชรบุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท สงขลา นครปฐม เป็นต้น
ประโยชน์และสรรพคุณตาล
- ใช้เป็นยาระบาย
- ใช้เป็นกระสายยาบำรุง
- ช่วยบำรุงหัวใจ
- ช่วยเจริญอาหาร
- แก้ร้อนใน
- รักษาตาลขโมยในเด็ก
- เป็นยาขับปัสสาวะ
- เป็นยาขับพยาธิ
- ใช้เป็นยารักษาแผล
- แก้ไข้
- ช่วยแก้ร้อนในกระหายน้ำ
- แก้โรคตานขโมย
- แก้ผดผื่นคัน
- แก้ท้องร่วง
- แก้ปวดเมื่อย
- แก้ปากเปื่อย
- ช่วยลดความดันโลหิต
- แก้อาการท้องร่วง ท้องเสีย
- แก้อาการกระสับกระส่ายหลังคลอด
- ช่วยขับเลือด
- แก้ซางเด็ก
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงจิตใจให้ชุ่มชื่น แก้ไข้ แก้ตานขโมย ขับพยาธิ แก้พิษตานซาง แก้ร้อนในกระหายน้ำ ขับปัสสาวะ โดยใช้รากต้มกับน้ำดื่ม ใช้บำรุงกำลัง บำรุงจิตใจให้ชุ่มชื่น เป็นยาระบาย โดยนำน้ำตาลสดจากงวงตาล มาดื่ม ใช้บำรุงหัวใจ ช่วยให้เจริญอาหาร แก้ร้อนใน ขับปัสสาวะ ขับพยาธิ แก้ตานขโมยในเด็ก โดยใช้งวงตาลอ่อนมาฝานแล้วใช้ต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้คัน แก้ผดผื่น โดยนำผลตาล แก่มาคั้นเอาน้ำแล้วจึงใช้แช่กับน้ำอาบ ใช้แก้อาการท้องร่วง ท้องเสีย แก้ปวดเมื่อย ขับปัสสาวะ โดยนำก้านตาลสดมาเผาไฟแล้วคั้นเอาน้ำดื่ม หรือ ใช้อมกลั้วปากเพื่อรักษาปากเปื่อยก็ได้ ใช้ลดความดันโลหิต โดยใช้ใบตาลมาคั่วให้เหลืองแล้วนำมาบดเป็นผงแล้วนำไปสูบ หรือ เป่า
ลักษณะทั่วไปของตาล
ตาลเป็นพืชตระกูล Palmmaceae จำพวกเดียวกับมะพร้าว จาก ชิด สละ สาคู ระกา และอินทผาลัม สามารถแบ่งออกเป็น 2 พันธุ์ คือ ตาล ไข่ และตาลหม้อซึ่งทั้ง 2 พันธุ์ มีลักษณะทั่วไปเหมือนกันจะแตกต่างกันที่ลักษณะของผลเท่านั้น โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นตระกูลปาล์มที่มีอายุยืนประมาณ 80-100 ปี และเมื่อโตเต็มที่จะสูง 18- 25 เมตร ลำต้นคล้ายต้นมะพร้าว เปลือกลำต้นขรุขระเป็นวงซ้อนกัน มีสีคล้ำขี้เถ้าออกดำ ลำต้นกลม ตรง สูงชะลูด ความสูงประมาณ 18-25 เมตร บางต้นอาจสูงถึง 30 เมตร เมื่อต้นมีอายุน้อยจะมีโคนต้นอวบใหญ่ และเมื่อสูงได้ประมาณ 4 เมตร ลำต้นจะเรียวลง และจะขยายใหญ่ที่ความสูงประมาณ 10 เมตร เนื้อไม้เป็นเสี้ยนแข็ง เหนียว ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกันแตกออกบริเวณเรือนยอดเป็นกลุ่มแน่น ลักษณะคล้ายพัดขนาดใหญ่ กว้างประมาณ 50-70 เซนติเมตร แผ่นใบเมื่ออ่อนหนามีสีเขียว เมื่อใบแก่ออกสีน้ำตาล ปลายใบเป็นจักลึกถึงครึ่งแผ่นใบ ส่วนก้านใบหนามีสีเหลืองเป็นทางยาวประมาณ 1-2 เมตร เรียกว่าทางตาล ส่วนขอบของทางก้านทั้งสองข้าง จะมีหนามแข็งคล้ายฟันเลื่อย สีดำ และคมอยู่ตามขอบก้านใบ ส่วนของโคนก้านแยกออกจากกัน และโอบหุ้มลำต้นเอาไว้ ดอกออกดอกเป็นช่อแบบแยกแขนง โดยเป็นดอกแยกเพศต่างต้น แบ่งเป็นดอกตัวผู้ และดอกตัวเมีย ช่อดอกต้นผู้เรียก นิ้วตาล หรือ งวงตาล ซึ่งต้นหนึ่งมีช่อดอก 3-9 ช่อ และจะแตกแขนง 2-4 งวงต่อช่อ โดยงวงหนึ่งงวงจะมีความยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร ส่วนช่อดอกต้นตัวเมีย เรียก “ปลีตาล” หรือ บางทีก็เรียงงวงตาลเช่นเดียวกัน แต่จะมีขนาดใหญ่กว่าดอกตัวผู้ ซึ่งจะออกช่อหลังต้นตัวผู้ ปกติแล้วหนึ่งต้นจะมีประมาณ 10 ช่อ ผลเป็นแบบผลสดแบบมีเนื้อเมล็ดเดียวโดยเจริญมาจากช่อดอกที่ติดผลที่เราเรียกว่าทะลาย ซึ่งผลจะติดกันเป็นกลุ่มแน่น ลักษณะของผลเป็นทรงกลม หรือ เป็นรูปทรงกระบอกสั้น ขนาดประมาณ 15-20 เซนติเมตร ซึ่งผลเป็นเส้นใยหนาวแข็ง และเป็นมัน มักมีสีน้ำตาล ถึงสีม่วงเข้ม ปลายผลมีสีเหลือง เป็นมันหุ้มห่อเนื้อเยื่อสีเหลือง (เมล็ด) ไว้ภายใน ส่วนเมล็ด (จากตาล) จะมีเมล็ดเนื้อเยื่อสีเหลืองเหล่านี้ห่อหุ้มอยู่ซึ่งใน 1 ผล จะมีประมาณ 1-3 เมล็ด
การขยายพันธุ์ตาล
ตาล สามารถพบขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด ซึ่งมีวิธีการปลูกดังนี้ เริ่มจากนำผลตาล สุกมาปอกเปลือก และขำเอาเนื้อตาลออกแล้วจึงนำเมล็ดตาลใส่ถุงแช่น้ำ ประมาณ 5 วัน แล้วนำมากองบนดินนาฟางข้าวมาคลุมทับนาน 15 วัน รากก็จะเริ่มงอกแล้วจึงสามารถนำไปปลูกได้ ส่วนวิธีการปลูกเริ่มจากขุดหลุมให้ลึกพอดีกับเมล็ดตาลที่จะนำไปปลูกแต่ต้องระวังไม่ให้ปลายรากหัก โดยวางเมล็ดโดยต้องวางให้ทำมุมเฉียง 45 องศา จากนั้นกลบดินรดน้ำวันละครั้งหลังจาก 30 วัน ต้นอ่อนจะงอกพ้นดิน ทั้งนี้การปลูกควรเว้นระยะห่าง 6x6 ถึง 8x8 เมตร
องค์ประกอทบทางเคมี
มีการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของตาล พบว่ามีสาระสำคัญ ในกลุ่ม phenolics, saponins tannins และ steroide soponins เป็นต้น และในส่วนอื่นๆ ยังพบสารอีกหลายชนิดเช่น borassoside, dioscin, gallic acid, lignin, anthraquinone, sucrose, fructosc และ Galactose เป็นต้น นอกจากนี้ในลูกตาล อ่อน และหน่อตาลอ่อนยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้
คุณค่าทางโภชนาการของลูกตาลอ่อน (100 กรัม)
- พลังงาน 47 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 9.0 กรัม
- โปรตีน 0.5 กรัม
- เส้นใย 0.5 กรัม
- ไขมัน 1.0 กรัม
- วิตามินบี 1 0.03 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 2 0.01 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 3 0.5 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 2 มิลลิกรัม
- แคลเซียม 6 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 20 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 1.7 มิลลิกรัม
คุณค่าทางโภชนาการของหน่อตาลอ่อน (100 กรัม)
- พลังงาน 103 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 26.6 กรัม
- โปรตีน 2.7 กรัม
- เส้นใย 2.2 กรัม
- ไขมัน 0.2 กรัม
- วิตามินบี 1 0.05 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 2 0.18 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 3 0.9 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 8 มิลลิกรัม
- แคลเซียม 18 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 140 มิลลิกรัม
ที่มา : Wikipedia
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของตาล
ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาพบว่าการป้อนสารสกัดเอทานอลจากงวงตาลขนาด 150-300 มก. แก่หนูทดลองพบว่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยมีฤทธิ์เข้าไปยับยั้งอาการบวมของอุ้มเท้าหนูจากการเหนี่ยวนำด้วยการฉีด corragenan และยับยั้งการสร้าง granuloma จาการใช้ก้อนสำลีเป็นตัวกระตุ้น
ฤทธิ์แก้ปวด เมื่อป้อนสารสกัดเอทานอลจากงวงตาล ขนาด 300 มก./กก. ให้แก่หนูแรทที่ถูกฉีดกรดอะซิติกเข้าช่องท้องเพื่อให้เกิดอาการเจ็บปวด โดยเกิดภาวการณ์หดตัวของช่องท้อง พบว่าสามารถบรรเทาอาการเจ็บปวดในหนูแรทได้
ฤทธิ์ลดไข้ มีการศึกวิจัยทางเภสัชวิทยาพบว่าเมื่อนำสารสกัดเอทานอลจากงวงตาลขนาด 150-300 มก./กก. ป้อนให้หนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นไข้ด้วย east พบว่าสามารถลดอุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้นได้
ฤทธิ์ต้านเบาหวาน มีรายงานผลการทดสองว่าสาร dioscin ที่สกัดได้จากงวงตาล ขนาด 50 มก./กก. มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงด้วยชูโครส
การศึกษาทางพิษวิทยาของตาล
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- ผู้ป่วยเบาหวาน หรือ ผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงควรระมัดระวังในการรับประทานน้ำตาลสด หรือ ผลิตภัณฑ์ที่มีความหวานที่ทำมาจากตาล เช่น น้ำตาลสด น้ำตาลปึก น้ำตาลปีบ น้ำตาลผง เพราะผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีความหวานมาก โดยอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และอาจทำให้เกิดอาการที่ไม่พึงประสงค์ได้
- สำหรับการใช้ตาล เป็นสมุนไพรตามตำรับตำรายาต่างๆ นั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับสมุนไพร ชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่พอดี และไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือ ผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนจะใช้ตาลเป็นสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
เอกสารอ้างอิง ตาล
- ปิฎฐะ บุนนาค.(2524), ปาล์ม,กรุงเทพฯ บรรณกิจเทรดติ้ง
- เดชา ศิริภัทร.ตาลโตนด, มะพร้าว. ตัวแทนความหวานและความสูง. คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่ 159. กรกฎาคม 2535
- อุดม ลคหวั่น (2528) อาชีพเพาะจาวตาล.ชาวเกษตร, 4(46),23-28
- กนกพร อะทะวงษา, พิชานันท์ ลีแก้ว. ดอกไม้ในยาไทย. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 81-84
- กระยาทิพย์ เรือนใจ, (2543), ผลไม้คุณค่านานาเพื่อสุขภาพ. กรุงเทพฯต้นธรรม.
- ตาลโตนด (Palmyra Palm) ประโยชน์และสรรพคุณตาลโตนด. พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com